การเรียนรู้ปรัชญาด้วยอรรถปริวรรตศาสตร์ (Hermeneutics)


การเรียนรู้ปรัชญาด้วยอรรถปริวรรตศาสตร์

 

            อรรถปริวรรตศาสตร์ (hermeneutics) คือ วิชาว่าด้วยการตีความ 

            การตีความ คือ การกำหนดความหมาย (interpretation) เป็นการใช้ปัญญาพิจารณาข้อมูลที่มีอยู่จนถึงขั้นสถิติ เพื่อขยายผลให้เกิดความเข้าใจ หรือขยายความเข้าใจเดิม เป็นความเข้าใจใหม่ๆ ได้อย่างไม่รู้จบ การฝึกฝนการตีความจึงเท่ากับการลับปัญญาให้เฉียบคมสำหรับการสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา 

            ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ ใช้ศัพท์ อรรถปริวรรต โดยมีรากศัพท์และความหมายมาจาก“อรถ” (คำสันสกฤต) และ “อตฺถ” (คำมคธ) แปลว่า “เนื้อความ” รวมกับ “ปริวรรต” (คำสันสกฤต) และ “ปริวัตต” (คำมคธ) แปลว่า “หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไป แปรไป” รวมเป็น “อรรถปริวรรต” จึงแปลได้ว่า “การแปรเนื้อหาจากความหมายตามตัวอักษรเป็นความหมาย ตามเกมภาษา” (กีรติบุญเจือ, 2549)

บ่อเกิดของความหมาย

1. ตีความตามเจตนาของเจ้าของเรื่อง (author) เสนอโดย ฟรีดริช ชลายเออร์มาเชอร์ (Friedrich Schleiermacher, 1768-1843) เป็นการตีความจากความคิดเห็นและความรู้สึก (opinion and sentiment)

2. ตีความตามตัวบท (text) เสนอโดย โปล รีเกอร์ (Paul Ricoeur, 1913-2005) พบว่า ตีความจากตัวบทจะได้ความหมายที่แน่นอนกว่าการตีความตามเจตนาของเจ้าของเรื่อง เพราะเมื่อตัวบทหลุดออกมาจากเจ้าของเรื่องแล้วก็เป็นอิสระอย่างเต็มที่ เพราะตัวบทจำนวนมากไม่อาจระบุเจ้าของเรื่อง หรือแม้จะระบุได้ก็ยากที่จะกำหนดไว้ว่าขณะที่สร้างตัวบทนั้นมีความคิดเห็นโน้มเอียงไปทางไหน

3. ตีความตามเจตนาของผู้อ่าน (reader) เสนอโดย ฮันส์ แกดเดอเมอร์ (Hans Gadamer, 1900-2002) พบว่า ในที่สุด ความหมายก็ย่อมต้องขึ้นกับกรอบความรู้ (horizon) และเป้าหมาย (purpose) ของผู้ตีความเองในขณะตีความ

          ทฤษฎีการหลอมรวมครอบฟ้า (Fusion of horizons)

            Fusion of horizons (2016) เป็นแนวคิดของนักปรัชญาแกดเดอเมอร์ ใช้หลักการ แลกเปลี่ยนความคิดด้วยการเสวนากันและกันเพื่อหาจุดเหมือน จุดต่าง จุดเชื่อมโยง จุดเพิ่มเติมที่มีประโยชน์ เนื่องจากทุกคนมีระบบความจริงในความคิดของ ตนเองโดยจะเป็นระบบความจริงเดียวกับความคิดของผู้อื่นหรือไม่ ก็ต้องเปิดใจเปิดความคิด เสวนาแลกเปลี่ยนความคิดว่ามีจุดใดที่ตรงกัน จุดใดที่ต่างกันถ้าตรงกันก็ถือว่ามีความคิด เดียวกับผู้อื่น กาดาเมอร์กล่าวว่า ทฤษฎีการหลอมรวมครอบฟ้าช่วยให้เกิดความเข้าใจและ ตระหนักถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกันและกันดีขึ้น จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ผู้แต่งหรือผู้ประพันธ์บทความสื่อความหมาย ความตั้งใจในอดีตถึงผู้อ่านในปัจจุบัน เมื่อผู้อ่าน ศึกษาประวัติศาสตร์จะทราบจุดมุ่งหมายของคนในอดีตได้ดียิ่งขึ้น

            การเรียนรู้ด้วยการตีความ เป็นตรรกะใหม่ (new logic) ที่ปรัชญาหลังนวยุคใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษา เรียกว่า อรรถปริวรรตศาสตร์ คือ วิชาว่าด้วยการตีความ เช่น ตีความตามรากคำ (root of word) ตีความตามตัวบท (text) ตีความตามเจตนารมณ์ของผู้เขียน ตีความตามเจตนารมณ์ของผู้อื่น ตีความตามตัวอักษร ตัวความตามบริบท เป็นต้น

            หากนำทฤษฎีการหลอมรวมครอบฟ้ามาเปรียบเทียบกับหลักสาราณียธรรม

สาราณียธรรม 6 ทฤษฎีการหลอมรวมครอบฟ้า
เมตตากายกรรม ช่วยเหลือกิจธุระผู้ร่วมกลุ่มด้วยความเต็มใจ แสดงความเคารพนับถือกันด้วย กริยาสุภาพ แสดงความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยความ เคารพ
เมตตาวจีกรรม ช่วยบอกแจ้งข่าว สั่งสอน แนะนำ ตักเตือนสิ่งที่มีประโยชน์ด้วยความ ปรารถนาดี ด้วยวาจาสุภาพ ด้วยความเคารพนับถือ ร่วมเสวนา แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล สุภาพด้วยความปรารถนาดี เพื่อหาจุดร่วมที่มีประโยชน์เป็นที่ ยอมรับได้ร่วมกัน ส่วนที่เห็นต่างก็ เคารพไม่ก้าวก่าย
เมตตามโนกรรม มีจิตใจที่ปรารถนาดี คิดทำสิ่งดีเป็นประโยชน์ให้กันด้วยจิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน ต่างมองเห็นกันในแง่ดี เปิดใจกว้างและเปิดความคิด ยอมรับฟัง ความคิดเห็นผู้อื่น มีความคิดในแง่บวกว่าทุกศาสตร์ความรู้ล้วนมีคุณประโยชน์
สาธารณโภคี แบ่งปัน จุนเจือช่วยเหลือในทรัพย์ที่ ได้มาโดยชอบธรรม ให้กับผู้อื่นด้วยความ ปรารถนาดี มีจิตใจที่เป็นมิตร พร้อมแบ่งปันความคิดเห็นที่มีประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วยการ เสวนา
สีลสามัญญตา มีศีลบริสุทธิ์เสมอกัน กระทำแต่สิ่งที่ดี งาม มีความประพฤติที่สุจริต ถูกต้อง ตามระเบียบกฎเกณฑ์ เคารพความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยความสุภาพ ไม่ล่วงละเมิดหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
ทิฏฐิสามัญญตา มีความคิดดี เห็นชอบในสัจธรรมความ จริงที่สำคัญ เพื่อค้นหาทางดับทุกข์ ดับปัญหา นำไปสู่ความหลุดพ้น มีความคิดที่มีเหตุผลและวิจารณญาณ ในการวิเคราะห์ (แยกแยะสิ่งต่างๆ) วิจักษ์ (ประเมินค่าสิ่งที่ได้วิเคราะห์มาแล้ว) วิธาน (การรู้จักประยุกต์ใช้อย่างรอบคอบ) เพื่อขจัดปัญหาและนำชีวิตไปสู่ความสงบสุข
หมายเลขบันทึก: 710625เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท