เศรษฐกิจพอเพียง 5 กระบวนทรรศน์


เศรษฐกิจพอเพียง 5 กระบวนทรรศน์

เขียนโดย ผศ.ดร.เมธา หริมเทพาธิป

…………………………………………………………………………..

1. เศรษฐกิจพอเพียงกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์

เมื่อนำความเชื่อพื้นฐานของกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์มาตีความเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมให้ความสำคัญกับความพอเพียงในระดับปัจเจกบุคคลเป็นหลัก รองลงมาคือระดับครอบครัว ความพอเพียงขั้นต้นของคนกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ก็คือ ความอยู่รอดปลอดภัย คือ มีอาหารกิน มีน้ำดื่ม มีที่อยู่อาศัย มีเครื่องนุ่งห่ม มียารักษาโรค มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันระวังภัย เพราะชีวิตของคนกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่แน่นอน จึงคิดถึงความอยู่รอดของตนเองเป็นหลัก โดยมีที่พึ่งทางใจคืออำนาจลึกลับจากเบื้องบน จึงลองผิดลองถูกเพื่อเดาว่าน้ำพระทัยเบื้องบนต้องการสิ่งใดก็จะทุ่มเททำสิ่งนั้นให้อยู่เรื่อย ๆ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยนั่นเอง หากยังไม่รู้สึกว่าอยู่รอดปลอดภัยก็ยังไม่รู้สึกว่าพอเพียง และเมื่อเริ่มมีครอบครัว มีคู่ครอง มีลูกมีหลานก็จะเริ่มคิดถึงความอยู่รอดปลอดภัยของครอบครัวหรือคนในตระกูลของตนเท่านั้น ไม่ได้คำนึงว่าครอบครัวอื่นจะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ ขอให้คนในครอบครัวของตนอยู่รอดได้เป็นพอ เมื่ออยู่รอดปลอดภัยแล้วจึงได้ชื่อว่า พออยู่ พอกิน พอใช้ ส่วนจะแบ่งปันหรือไม่นั้นก็จะต้องคิดถึงครอบครัวเป็นหลัก อีกส่วนหนึ่งต้องแบ่งปันเพื่อเอาใจน้ำพระทัยเบื้องบนตามโอกาสต่าง ๆ 

2. เศรษฐกิจพอเพียงกระบวนทรรศน์ยุคโบราณ

เมื่อนำความเชื่อพื้นฐานของกระบวนทรรศน์ยุคโบราณมาตีความเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมให้ความสำคัญกับความพอเพียงในระดับองค์กร เนื่องจากคนกระบวนทรรศน์ยุคโบราณนั้นให้ความสำคัญกับเจ้าสำนักและเพื่อร่วมสำนัก ซึ่งปัจจุบันเทียบได้กับองค์กร สถาบันต่าง ๆ รวมถึงห้างร้าน บริษัท ที่มีเพื่อนร่วมงานอยู่ในสังกัดเดียวกัน โดยเชื่อว่า ถ้าองค์กรอยู่รอด ครอวครัวและตนเองก็จะอยู่รอดปลอดภัย มีความมั่นคงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องเอาชนะองค์กรอื่น ความจงรักษ์ภักดีต่อองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำให้องค์กรเข้มแข็งมั่นคงและขยับขยายโครงสร้างองค์กรหรือกิจการให้กว้างขวางออกไปให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญขององค์กรอยู่ที่องค์ความรู้ที่ตรงกับความเป็นจริง มีเหตุมีผล ผู้ที่รู้จักระบบเครือข่ายความรู้ที่สอดคลองกับธรรมชาติจะเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำองค์กรหรือเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญขององค์กรที่จะกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ เกณฑ์เกณฑ์ ระเบียบภายในองค์กร โดยเชื่อว่าโครงสร้างการบริหารต่าง ๆ ที่ผู้รู้นี้ได้วางเอาไว้มีความสอดคล้องและสมเหตุสมผลต่อการพัฒนาองค์กรได้อย่างพอเพียง โดยถือเป็นสิ่งปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของคนในองค์กรทุกคนที่ต้องเดินตามกฎระเบียบเหล่านี้ เพื่อความพอเพียง มั่นคง ยั่งยืน ขององค์กรสืบไป

ส่วนผู้ใดที่มีความเห็นขัดแย้งกับกฎระเบียบที่ทางองค์กรวางไว้ก็จะหาทางพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้มาก จากนั้นก็จะแยกออกไปจากองค์กรเดิมเพื่อไปก่อตั้งองค์กรใหม่ โดยสร้างความน่าเชื่อถือจากความรอบรู้ รู้จริง ในกฎธรรมชาติ หากใครเลื่อมใสศรัทธา ให้ความเชื่อถือ ก็จะมีคนเข้ามาขอศึกษาเรียนรู้หรือมาร่วมงานในฐานะลูกจ้างหรือลูกศิษย์ บางคนอาจลาออกมาจากองค์กรอื่นเพื่อพึ่งใบบุญหรือเพราะเห็นว่าองค์กรนี้มีความรู้จริงเห็นจริง สามารถพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ได้มากกว่า สามารถสร้างความพอเพียงได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนมากกว่า มีวิสัยทัศน์ที่ตรงกับความเป็นจริงมากกว่า เมื่อได้ลงใจเช่นนี้ก็จะเกิดความอุ่นใจ เกิดความพอเพียงอย่างมั่นคงเพราะองค์กรมีความมั่นคงนั่นเอง

3. เศรษฐกิจพอเพียงกระบวนทรรศน์ยุคกลาง

เมื่อนำความเชื่อพื้นฐานของกระบวนทรรศน์ยุคกลางมาตีความเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมให้ความสำคัญกับความพอเพียงในโลกหน้ามากกว่าโลกนี้ เพราะเห็นว่าความเพียงพอในโลกนี้เป็นความพอเพียงชั่วคราว ไม่จีรังยั่งยืน เพราะตัณหาของมนุษย์มีอยู่ไม่จำกัดจึงไม่มีทางที่จะเกิดพอเพียงได้ตลอดไปชั่วนิจนิรันดร์ การพยายามลดละกิเลสในเชิงของเศรษฐกิจพอเพียงจึงได้แก่ “การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ให้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ (ตัณหา) ที่มีอยู่ไม่จำกัด” ยิ่งมักน้อยยิ่งดี เช่น กินให้น้อยเหมือนนักบวช โยคี เน้นการฝึกภาวนาเพื่อความสงบใจมากกว่าการสรรสร้างวัตถุอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย บ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็สร้างให้พอเพมาะพอดีแก่ตนเองและครอบครัว ไม่ต้องใหญ่โต แค่พออยู่ได้ก็พอเพียง คือเน้นการพอที่ใจ ส่วนกายนั้นอาจลำบากขึ้นบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะรู้ดีว่าคำสอนของศาสนาได้ค้ำประกันความสุขในโลกหน้าให้แล้ว สิ่งที่ควรทำให้เกิดความพอเพียงของคนกระบวนทรรศน์ยุคกลางจึงได้แก่ การพยายามปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด และเพื่อให้ไม่พลาดในโลกหน้า จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลในคัมภีร์ทางศาสนาให้แตกฉานว่าโลกหน้าเป็นอย่างไร ให้ความสุขอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเข้าสู่ความสุขนั้น บางศาสนาอาจไม่ได้ระบุถึงความสุขในโลกหน้าเป็นสำคัญมากไปกว่าความหลุดพ้นจากกองทุกข์ เช่น พระพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความพอเพียงสูงสุดที่ให้ความจีรังยั่งยืนมากกว่าความพอเพียงในโลกนี้ ดังนั้น เพื่อให้ไม่พลาดความสุขที่เหนือกว่าความสุขในโลกนี้จึงต้องทำให้เกิดความพอเพียง หากยังรู้สึกว่าไม่พอเพียงก็ให้ปฏิบัติเกินกว่าคำสอนของศาสนา โดยถือว่า “เกินดีกว่าขาด” ก็จะยิ่งประกันความสุขในโลกหน้าได้อย่างมั่นใจ เพราะถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วยศรัทธาที่แน่วแน่ แม้แต่ชีวิตก็สามารถสละให้ศาสนา ในรายที่สุดโต่งนั้น พร้อมที่จะแลกชีวิตด้วยสงครามทางศาสนาเพื่อปกป้องรักษาศาสนาหรือทำให้ศาสนาที่ตนนับถือมั่นคงเหนือกว่าศาสนาอื่น ๆ ก็ยิ่งมั่นใจได้ว่า ความสุขในโลกหน้านี้จะถูกส่งต่อเป็นมรกดกธรรมสู่รุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป เกิดเป็นความพอเพียงที่ยั่งยืน

4. เศรษฐกิจพอเพียงกระบวนทรรศน์นวยุค

เมื่อนำความเชื่อพื้นฐานของกระบวนทรรศน์นวยุคมาตีความเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมให้ความสำคัญกับความพอเพียงในโลกนี้มากกว่าโลกหน้า เพราะเห็นว่า กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะสามารถสร้างสวรรค์ในโลกนี้ได้โดยที่ไม่ต้องรอโลกหน้า สิ่งที่มนุษย์เกรงกลัวหรือไม่ปรารถนาจะได้เป็น ได้แก่ ความเจ็บ ความแก่ และความตาย วิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่จะทำการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัยให้ได้มาซึ่งความรู้ที่ถูกต้องและเป็นสากล เพื่อเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ พร้อมหาวิธีรักษาเยีวยาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นทีละโรคๆ จนกว่าจะครบทุกโรค ในขณะนั้นเองก็คิดค้นวัคซีนที่สามารถฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อมนุษย์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ก็หาสาเหตุของความแก่ แล้วผลิตยาหรือวัคซีนที่เอาชนะความแก่ ฟื้นฟูเซลล์ให้ดูเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดกาล ใครที่แก่ก็สามารถฟื้นฟูเซลล์ให้กลับมาหนุ่มสาวได้ แล้วชะลอให้แก่ช้าหรือหยุดความแก่ได้เลยก็ยิ่งดี จากนั้นมนุษย์ก็จะเหลือเพียงความเจ็บความตายที่อาจเกิดขึ้นได้จากอุบัติเหตุ วิทยาศาสตร์ก็จะสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยป้องกันอุบัติภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยทำเป็นเครื่องติดตัวแต่ละคนเพื่อให้สามารถรักษาชีวิตของทุกคนได้ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น หากเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตก เพียงทุกคนมีเครื่องนี้ติดตัวก็สามารถกดปุ่มเพื่อให้ตนเองลอยค้างในอากาศได้ สามารถร่อนลงพื้นได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น หากสามารถทำได้เช่นนี้ก็เรียกได้ว่า พอเพียงอย่างนวยุคภาพ (ความเป็นสมัยใหม่) นวยุคภาพสามารถสร้างสวรรค์บนดินได้โดยไม่ต้องรอโลกหน้าแต่อย่างใด โลกหน้านั้นจะมีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ สู้เสียสละมาส่งเสริมค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ดีกว่า เพราะเห็นผลเชิงประจักษ์ได้มากกว่า และเป็นสากล เมื่อทำเช่นนี้ได้ก็ชื่อว่ามีชีวิตที่พอเพียงอันเกิดจากการได้รับประโยชน์สุขในโลกนี้ ซึ่งประโยชน์สุขที่กล่าวถึงนี้คือความสะดวกสบายจากการวิทยาการที่เกิดจากวิทยาศาสตร์ มีทั้งประโยชน์ส่วนตน มีทั้งประโยชน์ส่วนรวม ยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญเติบโตขึ้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้มนุษย์เกิดความพอเพียงมากขึ้นในหลายมิติ มิติใดที่ยังไม่มีวิทยาศาสตร์เข้ารองรับ มิตินั้นก็ยังไม่ขึ้นชื่อว่าพอเพียง ยัง “ขาด” ความรู้ที่แท้จริง หรือเป็นความจริงที่ “เกิน” ความเป็นจริง เช่น ความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติที่มาจากไสยศาสตร์ ศาสนา หรือเทววิทยา สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น แต่ยังไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้อง ส่วนปรัชญาเป็นเพียงเรื่องของตรรกะเหตุผล หากปรัชญาจะทรงคุณค่าจะต้องมาเป็นสาวรับใช้วิทยาศาสตร์เท่านั้น เช่น การที่วิทยาศาสตร์ถือเอาตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการหาความจริง หลักตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์นี้ก็กลายเป็นสิ่งทรงคุณค่าขึ้นมาเพราะวิทยาศาสตร์เอาไปใช้ได้ ส่วนความรู้เชิงคุณค่าที่ไม่สามารถพิสูจน์เชิงข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาสตร์ได้ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าพอเพียง หากเป็นความรู้ที่พอเพียงต้องสามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

5. เศรษฐกิจพอเพียงกระบวนทรรศน์หลังนวยุค

          เมื่อนำความเชื่อพื้นฐานของกระบวนทรรศน์หลังนวยุคมาตีความเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยถือว่าคุณภาพชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความพอเพียง โดยการพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเน้นการระเบิดจากภายใน เพื่อให้รู้ถึงสภาพปัญหา รู้ถึงความต้องการที่ทำให้เกิดความไม่พอเพียงว่ามาจากสาเหตุใด โดยมองเป็นหาอย่างเป็นระบบหรือเป็นองค์รวม แต่เมื่อเริ่มต้นแก้ปัญหาให้แก้จากจุดเล็ก ๆ แต่จุดเล็ก ๆ นี้จะต้องเป็นจุดเล็กที่ทรงพลัง ดังที่นักยุทธศาสตร์เรียกว่า จุดคานงัด นั่นเอง ปัญหาใดที่ทำให้เกิดความไม่พอเพียงส่วนตนก็ใช้หลักการพึ่งพาตนเองเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้เกิดความอยู่รอดปลอดภัย มีพอกิน พอใช้ พอสำรอง เหลือจากสำรองก็สามารถแบ่งปัน เหลือจากแบ่งปันก็สามารถนำไปขายได้ โดยยึดเอาความต้องการของตลาดเป็นเป้าหมาย ปัจจุบันช่องทางการขายสามารถขายทางออนไลน์ได้ด้วยก็ยิ่งเพิ่มช่องทางการขายได้มากขึ้น จะขายคนเดียวก็ได้ จะรวมกลุ่มก็ได้ หากต้องการรวมกลุ่มก็ใช้หลักความร่วมมือ ซึ่งเป็นหลักทรงงานที่สำคัญที่เป็นหัวใจของการสร้างเครือข่ายกิน ใช้ สำรอง แบ่งปัน ด้วยความรู้รักสามัคคี อาจรวมเป็นวิสาหกิจชุมชนก็ได้ โดยมีระบบสหกรณ์สนับสนุนทุนโดยมีระเบียบเงื่อนไขที่ส่งเสริมไม่ให้เกิดการก่อหนี้สิน มีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ ให้ทักษะวิชาชีพ พัฒนาสติปัญญา คุณธรรมจริยธรรมด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจเพียง ทั้งแบบองค์รวมและแบบเฉพาะวิชาชีพที่สนใจ นอกจากนี้ยังสามารถนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในทางธุรกิจทั่วไปได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ SE หรือ SME ขอให้มีการรับผิดชอบสังคม มีการแบ่งปันผลกำไรคืนสู่สังคม เช่น การทำ CSR. เป็นต้น โดยสามารถนำงบประมาณไปช่วยพัฒนาคนให้มีวิจารณญาณ รู้เท่าทันตนเองและสังคม ดูแลตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ด้วยความตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปัน ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปด้วยความสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา

 

หมายเลขบันทึก: 710626เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท