การเรียนรู้ปรัชญาด้วยวิภาษวิธี (dialectical method)


การเรียนรู้ปรัชญาด้วยวิภาษวิธี 

การคิดเชิงวิภาษวิธี (dialectics) เป็นกระบวนการคิดพื้นฐานทางปรัชญาที่สามารถสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้ รูปแบบการคิดเชิงวิภาษวิธีแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ บทตั้ง บทแย้ง และบทสรุป

            การคิดเชิงวิภาษวิธีสามารถทำให้เกิดการระเบิดจากข้างในได้ด้วยกระบวนการคิดดังนี้

            1. บทตั้ง (thesis) เปรียบได้กับ “สิ่งเก่า” ที่มีอยู่แล้ว

            2. บทแย้ง (anti- thesis) เปรียบได้กับ “ข้อคำถาม” หรือ “ปัญหา” ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิดทบทวนเพื่อต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม

            3. บทสรุป (synthesis) เปรียบได้กับ “คำตอบ” หรือ “ข้อสรุป” ที่ได้จากการสังเคราะห์และต่อยอด ซึ่งก็คือ “นวัตกรรม” นั่นเอง

            วิภาษวิธี นอกจากจะมีกระบวนการคิดโดยทั่วไปอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีส่วนต่างซึ่งเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อ เจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ต่างกันของนักปรัชญาแต่ละท่าน เช่น เฮเกล (Hegel) ใช้วิภาษวิธีโดยเน้นอธิบายถึงพัฒนาการของจิต ส่วนคาร์กซ์ มาร์ก ใช้วิภาษวิธีโดยเน้นอธิบายถึงพัฒนาการในเชิงสสาร รูปธรรม ตลอดถึงความเป็นไปในทางสังคมและการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อสรุปกระบวนการ 3 ขั้นตอนของวิภาษวิธีที่ทั้งสองท่านอธิบายไว้ สามารถแบ่งลำดับขั้นแห่งวิภาษวิธีได้ดังนี้ 

หนึ่ง วิภาษวิธี กล่าวถึง “ความเปลี่ยนแปลง” 

สิ่งต่างๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ดังนั้นคนที่พูดว่า อะไรๆมีมานานแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง ก็ไม่จริง เช่น รูปแบบสังคม ความเชื่อ ภาษา ทุกอย่างย่อมอยู่กับการเปลี่ยนแปลง

สอง วิภาษวิธี กล่าวถึง “ความขัดแย้ง” 

สิ่งต่างๆ เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างคู่รัก ชนชั้น ความขัดแย้งระหว่างความคิดในหัวเรา หรือแม้แต่ความขัดแย้งที่อยู่ในธรรมชาติ เช่น การที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ก็เกิดจากความขึงตรึงของ แรงโน้มถ่วงและพลังงานหลายๆอย่าง เป็นต้น

สาม วิภาษวิธีให้ความสนใจกับ “ความสัมพันธ์” 

สิ่งต่างๆในโลกไม่ใช่ “สิ่ง” หรือ thing เฉยๆ แต่ “สรรพสิ่ง” ในตัวมันเองเป็นความสัมพันธ์ชุดหนึ่ง และสรรพสิ่งอยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆด้วยพร้อมๆกัน ดังนั้นเราจะเข้าใจโลก สังคม รวมทั้งความคิดในใจของแต่ละบุคคล โดยไม่มองว่ามันเป็นความสัมพันธ์ไม่ได้

ตัวอย่างเช่น เวลาเราพูดถึง กำแพง กำแพงนั้นสะท้อนความสัมพันธ์อย่างน้อย 3 ระดับ

ระดับแรก : กำแพงอิฐนั้นประกอบจากการที่เราเอาอิฐ ปูน น้ำที่ก่อปูน อากาศ ความร้อนที่เหมาะสม เพื่อสร้างกำแพงขึ้นมา อันนี้เป็นความสัมพันธ์ระดับวัตถุ

ระดับที่สอง : นอกจากกำแพงจะสะท้อนการผสมผสานกันเชิงวัตถุในระดับที่หนึ่งแล้ว กำแพงยังสะท้อนการใช้แรงงานของมนุษย์ในตัวกำแพงด้วย อิฐ น้ำ ปูน อากาศ ความร้อน ไม่สามารถประกอบเป็นกำแพงได้เอง แต่ต้องผสมด้วยแรงงานของมนุษย์ ดังนั้นกำแพงจึงสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ผู้สร้างกำแพง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง วัตถุ กับตัวมนุษย์ ที่สะท้อนผ่านกำแพง

ระดับที่สาม : กำแพงยังสะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมที่อยู่รายรอบตัวมันด้วย เช่น กำแพงวัด สะท้อนระบบอุดมการณ์ศาสนา กำแพงวัง บ้านคนร่ำรวยใหญ่โต ที่มีรั้วลวดหนาม สะท้อนสังคมที่ยึดถือในกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่เจ้าของบ้านต้องล้อมรั้วเพื่อกันคนอื่น และสะท้อนความกลัว ความแปลกแยกในสังคมทุนนิยม ความสัมพันธ์ในระดับนี้จึงเกิดขึ้นในหลายมิติและกว้างออกไป สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และความคิดความเชื่อมากมาย

นอกจากนี้ “ความสัมพันธ์” ในระดับต่างๆ ของกำแพงเองก็ยังสามารถสะท้อนองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อของวิภาษวิธีไว้ด้วย เช่น กำแพง สะท้อนความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันระหว่างแรงงานผู้สร้าง กับ ผู้ปกครองและนายทุนที่สั่งบังคับหรือจ้างงานแบบกดขี่แรงงานให้มาสร้างกำแพงด้วย หรือในระดับวัตถุ กำแพงสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของ ดินธรมดาๆ มาสู่กระบวนการเผาให้กลายเป็นอิฐ จนในที่สุดนำมาสร้างกำแพง เป็นต้น

            นอกจากนี้ยังมีวิภาษวิธีที่น่าสนใจ มาจากวิธีการของซาเครอทีส ซึ่งเพลโต ผู้เป็นลูกศิษย์ของซาเครอทีส ได้กล่าวสรุปถึง “วิธีการของซาเครอทีส” ในการค้นหาคำตอบเพื่อให้ก่อเกิดออกมาเป็น ปัญญา ว่ามีขั้นตอนดังนี้ 

            (1) สมมติว่าคู่สนทนาของซาเครอทีสยกหัวข้อขึ้นมาวิพากษ์ว่า “ความกล้าหาญคือ ความอดทนอดกลั้นแห่งจิตวิญญาณ” ซึ่งซาเครอทีสเชื่อว่าข้อความนี้เป็นเท็จ และต้องการจะหาจุดซัก เพื่อให้ข้อความนี้ตกไปให้ได้

            (2) ซาเครอทีสจะใช้องค์ประกอบในหัวข้อสนทนาดังกล่าวที่คู่สนทนายกขึ้นมา เพื่อ สร้างประเด็นหัวข้อข้างเคียงที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบในหัวข้อเดิมขึ้นมาเช่น “ความกล้าหาญเป็น สิ่งที่ละเอียดอ่อน” หรือ “ความกล้าหาญไม่ใช่สิ่งที่ละเอียดอ่อน” เป็นต้น 

            (3) ถ้าเกิดข้อตกลงสรุปตามข้อสันนิษฐานตาม (2) ได้แล้ว และพบว่าข้อตกลง ดังกล่าว ขัดแย้งกับหัวข้อที่ถูกยกขึ้นมาใน (1) ก็จะสามารถกล่าวไปในทำนองที่ว่าข้อสนทนาใน (1) นั้น ไม่เป็นความจริง 

            (4) ซาเครอทีสก็จะสรุปว่า ที่คู่สนทนายกขึ้นมานั้นเป็นเท็จ ดังนั้นความเชื่อของซาเครอทีสจึงเป็นฝ่ายถูก

            จะเห็นได้สิ่งที่เพลโทว์เขียนไว้เกี่ยวกับการซาเครอทีส โดยให้ซาเครอทีสถ่อมตัวว่าเป็นผู้ไม่มีความรู้ แต่อยากรู้ จึงตั้งปัญหาถามเพื่อขอความรู้จากผู้รู้ ซึ่งส่วนมากได้แก่ชาวซาฟิสต์ (sophist) ซึ่งปกติชอบโอ้อวดว่าตนเป็นผู้รอบรู้ ครั้นเมื่อผู้รู้ที่สมมติขึ้นได้แถลงความรู้ของตนแล้ว ซาเครอทีสก็จะตั้งข้อสงสัยไต่ถามไล่เรียงต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดต้องยอมจำนนต่อเหตุผลของซาเครอทีสว่า ตนยังรู้เรื่องนั้นไม่พอ ส่วนซาเครอทีสก็ไม่แถลงว่าตนเองคิดอย่างไรในเรื่องนั้น (ราชบัณฑิตยสภา, 2560, หน้า 231)

            สังเกตจากวิธีของซาเครอทีสแบบผิวเผินเบื้องต้น จะพบว่าราวกับจะเป็นวิธีหาเรื่องข่มขู่ผู้ สนทนา แต่ถ้ามองในแง่มุมเชิงบวก นั่นคือ การสร้างบรรยากาศแห่งการวิพากษ์จนกระทั้งสิ้นสงสัย ทำให้สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากแต่เดิมที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งก็จะก่อให้เกิดปัญญาเกิดขึ้น จาก มุมมองในการกระตุ้นความคิดด้วยการโต้เถียงเชิงหลักการเหตุผลดังกล่าว ซาเครอทีสนั้นต้องการให้ เยาวชนหรือนักศึกษา (เป็นกลุ่มคนที่ซาเครอทีสให้ความสนใจที่จะสั่งสอน) ให้รู้จักที่จะกล้าตั้งข้อ ซักถาม และใช้การโต้กันด้วยเหตุและผลจนกว่าจะได้คำตอบ ไม่ใช่ได้ยินอะไรมาก็จ าไว้เพียงอย่าง เดียว ฟังอย่างเดียว เชื่ออย่างเดียวโดยไม่ได้คิดตามไปด้วย (สุทน ทองเล็ก, 2562, หน้า 147)

            เมื่อสรุปวิธีการของซาเครอทีสออกมาเป็นรูปแบบของกระบวนการ สามารถเรียงลำดับได้ 5 ขั้นตอน ดังนี้ 

1. สงสัย ซาเครอทีสเริ่มต้นการสนทนาด้วยการยกย่องคู่สนทนาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ท่านเองก็ใคร่รู้อยู่พอดี เนื่องจากท่านไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ท่านจึงขอให้เขาตอบคำถามของท่านเกี่ยวกับเรื่องนั้น การออกตัวทำนองนี้ถือกันว่าเป็นการถ่อมตัวของนักปรัชญา

2. สนทนา จากนั้นซาเครอทีสก็เป็นฝ่ายตั้งปัญหาให้คู่สนทนาตอบ การสนทนาจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา คู่สนทนาจะต้องหาคำจำกัดความของหัวข้อที่สนทนากัน ซาเครอทีสจะวิจารณ์ว่า คำจำกัดความนั้นมีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง อีกฝ่ายหนึ่งจะเสนอคำจำกัดความใหม่ที่ดูรัดกุมกว่า ซาเครอทีสจะขัดเกลาคำจำกัดความนั้นอีก การสนทนาจะดำเนินไปอย่างนี้ จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้คำจำกัดความที่น่าพอใจ

3. หาคำจำกัดความ จุดมุ่งหมายของการสนทนาจึงอยู่ที่การหาคำจำกัดความที่ถูกต้อง ซาเครอทีสเชื่อว่า ถ้าเราพบคำจำกัดความที่ถูกต้องของสิ่งใด นั่นแสดงว่าเราพบความจริงแท้เกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเป็นอันเดียวกับการค้นพบมโนภาพของสิ่งนั้นนั่นเอง

4. อุปนัย การสร้างคำจำกัดความจะเริ่มจากสิ่งเฉพาะไปสู่สิ่งสากล เช่น เมื่อหาคำจำกัดความของคำว่า สิทธิ ซาเครอทีสและคู่สนทนาจะพิจารณาตัวอย่างจากสิทธิต่างๆ ในสังคมแล้วดึงเอาลักษณะที่เป็นแก่นหรือที่เป็นสากลมาสร้างเป็นคำนิยาม

5. นิรนัย คำจำกัดความที่มีผู้เสนอมาจะถูกพิสูจน์โดยการนำไปเป็นมาตรการวัดสิ่งเฉพาะต่างๆ ว่ามีลักษณะร่วมกับลักษณะที่ระบุไว้ในคำจำกัดความนั้นหรือไม่ เช่น ถ้าเราได้คำจำกัดความของสิทธิมาเราก็ต้องตรวจสอบดูว่า กรรมสิทธิ์ ถือเป็นสิทธิตามคำจำกัดความที่เราตั้งไว้หรือไม่เพียงใด

 

แหล่งอ้างอิง

ราชบัณฑิตยสภา. (2560). พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา ฉบับราชบัณฑิตยสภา. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์.

สุทน ทองเล็ก. (2562). คิดอย่างปราชญ์ กระบวนการวิภาษวิธี : ซาเครอทีส. วารสารวิจยวิชาการ. ปีที่ 2. ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม).

หมายเลขบันทึก: 710624เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 08:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 08:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท