เศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นองค์รวม


เศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นองค์รวม

เมื่อมองเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นองค์รวม แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ การมองเศรษฐกิจพอเพียงผ่านนิยาม 5 หรือกฎทั้ง 5 ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

อุตุนิยาม : กฎแห่งวัตถุ 

เป็นการมองเศรษฐกิจพอเพียงแบบประจักษ์นิยม คือมองผ่านกายภาพภายนอก ซึ่งอยู่ในขอบข่ายของวิชาฟิสิกส์ ได้แก่ สิ่งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ดิน น้ำ ลม ไฟ การจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะต้องรู้จักกฎธรรมชาติ โดยทำให้เป็นกฎที่ตายตัวตัวแน่นอน มีวิธีการที่ถูกต้อง โดยเชื่อว่า วิธีการที่ถูกต้องย่อมนำมาซึ่งคำตอบที่ถูกต้องเสมอ เมื่อสนใจศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงก็จะสนใจสูตรสำเร็จรูปที่สามารถนับได้ คำนวณได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น เมื่อศึกษาทฤษฎีใหม่ก็จะสนใจตามสูตร 3 : 3 : 3 : 1 ได้แก่ การแบ่งพื้นที่ 10 ไร่สำหรับการทำเกษตรผสมผสานตามมาตราส่วนที่แน่นอนตายตัว ดังนี้ 

- แบ่งเป็นที่นา จำนวน 3 ไร่ 

- แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกผักผลไม้ จำนวน 3 ไร่ 

- แบ่งเป็นพื้นที่แหล่งน้ำสำหรับการเกษตร และเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง จำนวน 3 ไร่ 

- แบ่งเป็นพื้นที่อาศัย จำนวน 1 ไร่ 

นอกจากผู้ที่สนใจกฎแห่งวัตถุจะให้ความสำคัญในเรื่องของฟิสิกส์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์และเรขาคณิต เมื่อศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงมโนทัศน์ (concept) ก็จะคิดถึง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข แล้วทำการถอดรหัส 3 ห่วง 2 เงื่อนไขนั้นผ่านทฤษฎีใหม่ หรือทฤษฎีที่ตนให้ความสนใจที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง 

พีชนิยาม : กฎแห่งชีวิต 

เป็นการมองเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกฎแห่งชีวิต ซึ่งอยู่ในขอบข่ายของวิชาชีววิทยา ได้แก่ การที่ทุกชีวิตล้วนต้องอยู่รอดปลอดภัย จึงถือหลักการพึ่งพาตนเอง ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างต้องรับผิดชอบชีวิตตนเองให้ได้ อย่าให้เดือดร้อนคนอื่น ถ้าสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นต้องมีกฎกติกาเข้ามาบังคับควบคุม เมื่อสนใจศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงก็จะสนใจศึกษาผ่านวิถีชีวิตของตนเอง เมื่อพึ่งพาตนเองทางด้านเศรษฐกิจได้แล้วก็ขยายออกไปสู่ระดับครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ จนถึงระดับโลก โดยเอาตนเองเป็นศูนย์กลางในการจัดการควบคุมทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด

กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม 

เป็นการมองเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการปฏิบัติ หรือการกระทำให้เห็นผล เช่น การปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ เป็นต้น มุมมองนี้เป็นแนวคิดแบบหวังผลจากการกระทำ เพราะเชื่อว่าทุกการกระทำย่อมส่งผลเสมอ (action = reaction) 

จิตนิยาม : กฎแห่งจิต 

เป็นการมองเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงนามธรรม เช่น การระเบิดจากภายใน การปลูกต้นไม้ในใจคน เป็นต้น เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงก็จะเน้นในเรื่องความพอเพียงจากภายใน ใช้ชีวิตมักน้อย หลีกเร้นสังคมเพื่อหาเวลาดื่มด่ำกับความสงบจากภายใน ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ทำไร่ทำนา อยู่อย่างสงบ พยายามกลับไปสู่ชีวิตดั้งเดิมในอดีต ทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีปนเปื้อน ใช้ควายไถนาแทนเครื่องจักร รถไถ พยายามกลับไปสู่ความเรียบง่ายและมักน้อยให้มากที่สุด 

ธรรมนิยาม : กฎแห่งธรรมชาติ 

เป็นการมองเศรษฐกิจพอเพียงแบบองค์รวม โดยศึกษาจากมโนทัศน์ที่เป็นองค์รวม เช่น มโนทัศน์ของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดยศึกษาเรียนรู้ให้ครอบคลุมในทุกมิติที่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถครอบคลุมได้อย่างทั่วถึง เช่น ศึกษาผ่านองค์รวมของชีวิต ศึกษาผ่านปรากฏการณ์ของรูปธรรมและนามธรรมหรือทั้งภายนอกและภายใน ศึกษาความพอเพียงในทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ศึกษาผ่านวิถีชีวิตที่มีความเชื่อแตกต่างกันแบบพหุวัฒนธรรม ศึกษาผ่านกระบวนทรรศน์ 5 ตลอดถึงการสังเกตปรากฏการที่เปลี่ยนแปลงในองคาพยพอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยเครื่องมือที่เหมาะสม เช่น การใช้สติปัญญา ใช้โยนิโสมนสิการ หรือวิจารณญาณในการตีความสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวม 

หมายเลขบันทึก: 710627เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท