เหตุการณ์ : 14 ปี สงครามแห่งความขัดแย้ง


“ย้อยรอย ประวัติศาสตร์”

“เหตุการณ์ :  14 ปี สงครามแห่งความขัดแย้ง”

    ย้อนรอย ภาพประวัติศาสตร์การสู้รบบนเขาค้อ ที่หาดูได้ยากมาก  ถ่ายจากเหตุการณ์จริงทั้งหมด : ข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

 

*ที่มาของเหตุการณ์ 

   -ภูขี้เถ้า – เขาค้อ   พื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย      -ประกอบด้วย ดังนี้

    -พื้นที่ อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ 

    -พื้นที่ อ.ด่านซ้าย อ.นาแห้ว จ.เลย  

    -พื้นที่ อ.นครไทย อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก 

   - ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน มีป่าเขาที่สูงชันปกคลุมไปด้วยพันธุ์ไม้จนรกทึบอยู่บนยอดสูง และต่ำลงมาเป็นป่าโปร่ง  เทือกเขาสำคัญ ได้แก่ เทือกเขาเพชรบูรณ์ มียอดเขาเเละสันเขาที่สำคัญ คือ ภูสอยดาว ภูเมี่ยง ภูขัด และภูหินร่องกล้า (ประกอบด้วย ภูลมโล- ภูขี้เถ้า ภูเเผงม้า-  เขาปู่- เขาย่า –เขาค้อ- เขาผ้าขาว และเขาวัง  มีราษฎรชาวเขาเผ่าม้ง บุกรุกถากถางพื้นที่ทำกินบริเวณไหล่เขา บางพื้นที่เป็นแหล่งปลูกพืชเสพติด เช่น ฝิ่น  กัญชา บริเวณที่ราบเชิงเขาและซอกเขามักจะเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน

   *ปฏิบัติการของ ผกค.

     -ปี พ.ศ. 2508  เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)  ที่เปิดฉากแทรกซึมมาจากแนวชายแดนด้านทิศเหนือ และได้ยึดเอา 

 “ภูหินร่องกล้า” เป็นฐานที่มั่น หลังจากนั้น ผกค. ได้ขยายงานรุกเข้าเขาค้อ เพื่อเตรียมสถาปนาเขาค้อให้เป็นฐานที่มั่นในการรุกคืบต่อไป

    -เขาค้อ  มีสภาพเป็นป่ารกทึบสูงชันยากต่อการตรวจการณ์ทางอากาศและทางพื้นดิน  และยังมีถ้ำอยู่มากมายเหมาะสำหรับเป็นที่หลบซ่อนและสะสมอาวุธ เสบียงไว้เป็นอย่างดี โดยบริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขาค้อ เขาปู่ เขาย่า เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงเล็งเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ในการที่จะเข้ามาเผยแพร่ลัทธิ และทำสงครามกองโจร เพื่อปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาล ล้มล้างการปกครอง และสถาบันพระมหากษัตริย์

     -ปี พ.ศ. 2511  ผกค.กลุ่มม้งแดง (แม้วแดง) จากบริเวณภูหินร่องกล้า (บ้านแม้วหินร่องกล้า) ภูขัด และ ภูเมียง ที่ยึดเป็นฐานที่มั่นเริ่มมีการเคลื่อนไหวและปฏิบัติการรุนแรงขึ้น ได้มีการซุ่มยิง ซุ่มโจมตี และเข้าโจมตีที่ตั้งฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย

   -โดยเริ่มจาก มีนาคม 2511 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ส่ง ผกค. เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ มีการปลุกระดมชาวม้งให้เกลียดชังเจ้าหน้าที่และให้หันมาร่วมมือกับฝ่าย ผกค. ด้วยการชี้นำให้ราษฎรจับอาวุธ ขึ้นต่อสู้กับเจ้าหน้าที่โดยอ้างว่า เพื่อปลดแอกอำนาจรัฐ  กองทัพภาคที่ 3 ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดตั้ง ราษฎรอาสาสมัครคุ้มครองหมู่บ้าน ที่บ้านห้วยทรายเหนือ  ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งที่ตั้งบ้านเรือนกันอย่างหนาแน่น

    * 3 เมษายน ผกค. ลอบยิงผู้ใหญ่บ้านที่บ้านแม้วป่าหวาย 

    * 14 พฤษภาคม ลอบยิงผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม้วนางอุ้ง เรื่อยมาจน  

    * 20 พฤศจิกายน ก็บุกโจมตีค่ายฝึกอบรมชาวเขา บ้านห้วยทราย  ผกค. จำนวนหนึ่งนำโดย สหายพิชัย ได้จัดกำลังเข้าโจมตีอาสาสมัครคุ้มครองหมู่บ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บเสียชีวิตหลายนาย และ ผกค. ได้ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ไปได้บางส่วน จึงถือว่าเป็น วันเสียงปืนแตก ของที่นี่ จากนั้นก็ส่งกำลังเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของฝ่ายรัฐบาลหลายครั้ง ทำให้มวลชน

    -ส่วนใหญ่เกรงกลัวอิทธิพล ผกค. ประกอบกับการโฆษณาชวนเชื่อของ ผกค. ทำให้มวลชนอพยพเข้าไปอยู่ในป่า ร่วมเป็นสมัครพรรคพวกกับ ผกค. และได้จัดตั้งสำนักอำนาจรัฐขึ้นมา

   -7 วันต่อมา ผกค.ซุ่มโจมตียานพาหนะของเจ้าหน้าที่พัฒนาชาวเขา

    * 29 พ.ย. 2511 กองกำลังของ พคท.ได้เข้าโจมตีฐานบ้านเล่าลืออีกครั้ง  การเข้าตีฐานของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนั้น พคท. มีจุดมุ่งหมายอยู่  2 ประการ คือ 

   1. ทำลายกำลังรบของเจ้าหน้าที่เพื่อให้พื้นที่นั้นปลอดอำนาจรัฐ  

   2. มุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่รัฐทำการตอบโต้ เพราะในสมัยนั้นการปราบปรามยังใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน เมื่อฐานถูกตีแตกก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเพิ่ม และต้องมีขั้นตอนการหาข่าว ก็คือการจับตัวชาวบ้านซึ่งเป็นญาติพี่น้องของสมาชิก พคท.นั่นเอง ทำให้ชาวบ้านที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ พคท.ด้วยตั้งแต่ทีแรกเกิดความหวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย (เหมือนอย่างที่หมู่บ้านไมไลที่เวียดนามใต้ที่ทหารอเมริกันเผาและฆ่าทิ้งทั้งหมู่บ้านเพราะเข้าใจว่าชาวบ้านให้การสนับสนุนพวกเวียดกง   ที่ไทยก็มีเช่นกรณีถีบลงเขา เผาลงถังแดง หรือบ้านละหารทราย ที่เผาทั้งหมู่บ้านเหมือนกัน)   พวกชาวบ้านจึงอพยพเข้าไปอยู่กับ พคท.ทุกครั้งที่มีการเข้าตีฐานด้วยกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะมาจับตัวไปสอบสวน ซึ่งการขยายตัวของผู้ปฏิบัติงานของ พคท. นั้นทำให้   พคท.  สามารถจัดตั้ง กองกำลังทหารบ้าน ทหารประจำถิ่น และทหารหลัก ได้อย่างครบถ้วนในช่วงเวลานั้น และสามารถสถาปนา ภูหินร่องกล้า เป็นฐานที่มั่นได้

 *วันที่ 2 ธันวาคม 2511  ผกค. โจมตีที่ตั้งชุดคุ้มครองหมู่บ้าน บ.ทับพริก

 *วันรุ่งขึ้น 3 ธันวาคม 2511  โจมตีที่ตั้งฐานของ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ชุดคุ้มครองหมู่บ้าน บ.แม้วภูขี้เถ้า ได้เผาที่ตั้งฐานโรงเรียน และรถยนต์ของ ตชด. หลังจากนั้นได้ปิดล้อม บ.แม้วภูขี้เถ้าไว้

    -เมื่อกองกำลังของ พคท.ขยายตัวมากขึ้น และมีขีดความสามารถในการรบมากขึ้น รัฐบาลจึงได้เริ่มนโยบายนำกำลัง ทหาร เข้าสู้รบกับ พคท. จากเดิมที่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ตชด.เพียงอย่างเดียว 

    * 4-27 ธ.ค.2511  รัฐบาลได้เปิด ยุทธการภูขี้เถ้า ขึ้น โดยใช้กำลังจากกองทัพภาค 3 และกำลังพลร่มจากป่าหวายเข้าร่วม

   *ยุทธการภูขี้เถ้า – ยุทธการชูชีพ

     -กองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้า ได้พยายามคลี่คลายสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน  ประมาณ 23 คน   ที่ตกอยู่ในวงล้อมของ ผกค. แต่ถูกต่อต้านจาก ผกค. อย่างรุนแรงระหว่าง

   *วันที่ 4 – 7 ธันวาคม จึงขอกำลังทางอากาศสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดิน คือ “กำลังรบเฉพาะกิจ” ประกอบด้วย บก.ฉก.๑ ร้อย.รบพิเศษ จาก กรพ. (พร.) ๒ ชุด ตชด. จาก พัน.พิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนา และนายทหารติดต่อจาก ทภ.๒ สน.

*วันที่ 8 – 9 ธันวาคม  ฝูงบินที่ 243 ได้ส่ง บ.จฝ.13 ไปโจมตีเป้าหมายฐานที่มั่นและกองกำลัง ผกค. (แม้วแดง) บริเวณ บ.แม้วขี้เถ้า แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น

*วันที่ 10 ธันวาคม ฝูงบินที่ 61 และฝูงบินที่ 62 (ฐานบินดอนเมือง) ได้ส่ง บ.ล.4 (C-123) ไปลำเลียงทหาร  “กำลังเฉพาะกิจชูชีพ”  จากสนามบิน จ.สกลนคร ไปส่งที่สนามบินหล่มสักและเข้าที่รวมพลเรียบร้อย

  *วันที่ 14 – 28 ธันวาคม ฝูงบินที่ 223 (ฐานบินอุดรธานี) ฝูงบินที่ 224 (ฐานบินโคกกะเทียม) และฝูงบินที่ 221 (ฐานบินเชียงใหม่) ได้สนับสนุนกำลังเฉพาะกิจชูชีพโดยใกล้ชิดตามแผน จนกระทั่งกำลังเฉพาะกิจชูชีพ กองทัพภาคที่ 2 และ “กำลังรบเฉพาะกิจกองทัพภาคที่ 3”  บุกเข้ายึดที่หมาย และนำธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดเสาที่ บ.เเม้วภูขี้เถ้าบนยอดเขาลมโล ในวันที่ 27 ธันวาคม

  * จากนั้น กำลังเฉพาะกิจชูชีพ ทภ.2 และกำลังรบเฉพาะกิจ ได้รวมกำลังกันออกปฏิบัติการลาดตระเวนตรวจค้นทุกวัน เพื่อทำลายสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ ผกค.แม้วเเดง และกวาดล้าง ผกค.ที่เหลืออยู่บริเวณ บ.แม้วป่ายาบ บ.น้าขมิ้น บ.แม้วป่าหวาย และ บ.แม้วภูหินร่องกล้า

** หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งในพื้นที่ตอนใต้เส้นทางถนนสายพิษณุโลก – หล่มสัก มีจำนวนมาก เช่น บ.เล่านะ บ.เล่าเพ้ง บ.เล่าลือ บ.พ้อย บ.หูช้าง บ.สะเดาะพง ฯลฯ ในปี 2511 มีเหลือเป็นของฝ่ายเราเพียงหมู่บ้านเดียว คือ บ.เล่าลือ นอกนั้นพากันอพยพจากถิ่นที่เดิมไปอยู่ตามไร่ในป่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ ผกค. ทั้งสิ้น ในแผนที่จะปรากฏชื่อ “เขาค้อ” อยู่หลายแห่งอาจเป็นเพราะพื้นที่นี้อุดมไปด้วยต้นค้อ (ไม้ยืนต้นคล้ายตาล) ชาวเขาเผ่าม้งมักนิยมนำไปมุง หลังคาบ้าน

 *ยุทธการชูชีพ หรือ ยุทธการภูขี้เถ้า  เป็นการปฏิบัติยุทธการติดต่อกันทั้ง 2 ครั้งนี้ นับเป็นการรบกับ ผกค.อย่างรุนแรงครั้งแรกในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย) และนับเป็นการใช้กำลังทางอากาศครั้งใหญ่ ทำให้ฝ่ายเราทราบขีดความสามารถในระยะแรกของ ผกค.ในพื้นที่ดังกล่าว โดยพบว่ากำลังติดอาวุธชาวเขาเผ่าแม้วเป็นพวกที่ชำนาญภูมิประเทศป่าเขา จะทำการรบอย่างไม่เผชิญหน้า เนื่องจากเสียเปรียบด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่สามารถรวมกำลัง หรือกระจายกำลัง เพื่อต่อสู้หรือหลบหนีได้อย่างรวดเร็ว มีขีดความสามารกในการดัดแปลงภูมิประเทศเป็นหลุมขวากเพื่อกีดขวาง หน่วงเหนี่ยวการปฏิบัติฝ่ายเรา ซึ่งเป็นการชดเชยความเสียเปรียบในด้านกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างได้ผล

   -ปัจจัยแห่งความสำเร็จเกิดจากการใช้กำลังทางอากาศโจมตีทำลายฐานที่มั่น และยิงทำลายกองกำลังติดอาวุธ ผกค. อย่างรุนแรงและต่อเนื่องกัน ประกอบกับการจู่โจมโดยกำลังภาคพื้นเคลื่อนที่เข้าสู่ที่หมายด้วยการรักษาความลับและเข้าตีเจาะวงล้อม ด้วยการยิงที่รุนแรงและเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ทำให้ ผกค. ไม่มีเวลาเพียงพอในการรวมกำลังเพื่อขัดขวางการปฏิบัติของฝ่ายเรา

    -ภายหลังแม่ทัพอากาศเผย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เสด็จทอดพระเนตรเหตุการณ์เหนือภูขี้เถ้า ทำให้ทหาร-ตำรวจขวัญดี ยึดคืนพื้นที่ได้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เผยเบื้องหลังการที่เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ บุกตีภูขี้เถ้าจากพวกม้งแดง (แม้ว) คืนมาได้ว่า เป็นเพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จไปพระราชทานกำลังใจ ทำให้ทหารมีขวัญดีขึ้น ทรงรับสั่งให้ทหารอากาศ นำพลุส่องสว่างไปทิ้งรอบบริเวณที่ทหาร-ตำรวจถูกล้อมเพื่อป้องกันข้าศึกล่วงล้ำเข้ามา กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินเเบบ ที-28 บ.จฝ13. ออกทำการทิ้งระเบิดรอบ ๆ บริเวณที่ตำรวจ 50 คน และเฮลิคอปเตอร์ถูกล้อมขึ้นไม่ได้ทุกวัน จนทำให้พวกแม้วแดงไม่สามารถจะเข้าตีตำรวจได้  จนเหตุการณ์ทางด้านต่าง ๆ สงบเรียบร้อยลงแล้ว  ยุทธการครั้งนี้ได้มีผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญรามาธิบดีอยู่ 2 ท่าน คือ พ.ต.อ.กฤช สังขทรัพย์ และ พ.อ.นฤนาท ไตรภูวนาถ

   -ซึ่งแม้ว่าจะปฏิบัติการได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการดำเนินงานของ พคท.ได้ เนื่องจากขณะนั้นสถานการณ์รอบประเทศกำลังรุนแรง ไทยเริ่มที่จะส่งทหารเข้าไปร่วมรบในเวียดนาม และสถานการณ์ในลาวก็เอื้อต่อการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในไทย

   -คำว่า พตท. หลายท่าน อาจจะเข้าใจว่ามีเฉพาะภาคใต้หรือเพิ่งมาจัดตั้งกัน แต่จริงๆแล้วมีมานานแล้ว 
   -โดยส่วนนี้จะกล่าวถึง งานแรกของหน่วยรบพิเศษ ไทยที่เริ่มเป็นรูปร่างขึ้น

   *รบพิเศษ VS ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เกลือจิ้มเกลือ

  -ภารกิจที่เด่นๆอีกงานหนึ่งคือ การปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่เป็นที่เลื่องลือไปทั่ววงการรบพิเศษ ของนานาชาติ เป็นกรณีศึกษา ที่สำคัญในงานสงครามกองโจร และการปราบปรามการก่อความไม่สงบ จากวันที่ 7 ส.ค. 2508 ที่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถือว่า “วันเสียงปืนแตก” โดยเรียกชื่อ กำลังติดอาวุธ ของตน ว่า  “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ” โดยรวมกินระยะเวลาการต่อสู้ครั้งนี้นานถึง 18 ปี หลังจากเหตุการณ์ วันนั้น 4 เดือน รัฐบาลได้จัดตั้ง พตท.1 กองบัญชาการผสมพลเรือนทหารตำรวจ ที่ อ.มุกดาหาร จ.นครพนมย โดยมี

 -พล.ต. บุญ รังคะตัง   ผู้อำนวยการ

 -พ.อ. เทียนชัย ศริสัมพันธ์  ผู้อำนวยการฝ่ายทหาร

 -พ.ต.ท. เริงณรงค์ ทวีโภค ผู้อำนวยการฝ่ายตำรวจ

 -นาย วิเชียร เวชสวรรค์   ผู้อำนวยการฝ่ายพลเรือน

  -ในส่วนนี้ มีกำลังทั้งตำรวจ พลเรือน ทหารทุกเหล่าทัพ มากมาย ซึ่งแต่ละส่วนก็มีบทบาทในการปฏิบัติที่สำคัญทั้งสิ่ง แต่ ในส่วนกำลังทหารพลร่ม ประกอบด้วย

   -.กองร้อยรบพิเศษ ตอนนั้น ใช้ชื่อว่า "หน่วยจู่โจม" ชื่อย่อว่า “นจ. พตท. 1” จัดจาก กองรบพิเศษ ( พลร่ม ) ซึ่งแปรสภาพมาจากย กองพันทหารพลร่ม

   -.กองร้อยทหารราบผสม ชื่อย่อ ว่า "ร้อย ร.ผสม .พตท.1"  ที่จัดมาจาก กองพันส่งทางอากาศที่ 1 ย ซึ่งปัจจุบัน คือ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รอ.

  *ยุทธการชูชีพ

     -ในครั้งนั้น มีการปฏิบัติภารกิจมากมาย นายทหารผู้ใหญ่หลายท่านก็เคยผ่านงานในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น ร้อยโท ฉลองชัย แย้มสระโสย , ร้อยเอก เจอ โพธิ์ศรีนาค , ร้อยโทอุดม เกษพรหม , พันตรี ชาญยุทธ นุชนารถย นอกจานี้ในภารกิจนี้ยัง มีการ กระโดดร่มลงเพื่อเข้าปฏิบัติการ รบ หลายครั้ง

    -เมื่อ 18 ธ.ค. 2510  บ. ซี123ได้นำ กำลังไปกระโดดร่มลงที่ บ้านเทา กิ่ง อ.สังคม จ.หนองคาย เพื่อ เข้าตี โดยมีกำลัง จำนวนทั้งสิ้น 45 นายย ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติการในครั้งนั้น จะได้รับการประดับดาวสีทองที่ปีกร่มเพื่อ แสดงถึงการผ่านการกระโดดร่มลงในสมรภูมิ หรือที่ ฝรั่งเรียกว่า Combat Jump

    -นอกจากนี้ยุทธการ ที่ น่ารับการยกย่องอีกยุทธการหนึ่งคือ ยุทธการชูชีพ ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 โดยสถานการณ์โดยสรุปคือ มีกำลังของเจ้าหน้าที่ถูกล้อมอยู่ในฐานที่มั่นในบริเวณพื้นที่ รอยต่อ จว. พิษณุโลก  เพชบูรณ์ , และเลยย ก่อนที่จะจัดกำลังเฉพาะกิจนั้น ทภ. 2 ได้ส่งเครื่องบินกองทัพอากาศขณะนั้น ใช้ ที 28 เข้าโจมตีที่มั่นโดยรอบ แต่ไม่เป็นผล ผู้ก่อการร้ายแม้วแดง ยังคงล้อมเจ้าหน้าที่ไว้ได้ ดังนั้น ทภ. 2 ส่วนหน้า จึงได้ร้องขอ กองทัพบกขอกำลังเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขสถานการณ์โดย ทบ.สั่งการให้ ใช้กำลังพลจาก 

   -กองรบพิเศษ ( พลร่ม ) ศูนย์สงครามพิเศษ จำนวน 104 นาย   

   -หน่วยจู่โจมเฉพาะกิจ ของ ทัพภาค 229 นาย 

   -ทหารจาก ทัพภาค 2 อีก 130 นาย 

   -ตำรวจภูธร เขต 4  143 นาย รวมกันจัดตั้งเป็น “หน่วยเฉพาะกิจชูชีพ” 

   -10 ธ.ค. 2513 กำลังของ กองรบพิเศษ ได้เคลื่อนย้าย ด้วย บ.ย ซี ๑๒๓ จากไปยังพิษณุโลก

   -14 ธ.ค. 2511 กำลังพล ทั้งหมดของ หน่วยเฉพาะกิจ ได้เคลื่อนย้าย ด้วยอากาศยาน ปีกหมุน (เฮลิคอปเตอร์) จากสนามบิน อ. หล่มสัก ไปส่งลงที่ บ้านแม้วป่าหวาย อยู่ห่างจากภูขี้เถ้าประมาณ 4 กม.

  - ซึ่งภูขี้เถ้านี้ เป็นที่ ซึ่งกำลังของตำรวจถูกผู้ก่อการร้ายล้อมอยู่ นับจากนั้น หน่วยเฉพาะกิจได้ตีฝ่าวงล้อมเข้าไปยังฐานและพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ สามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และทำการกวาดล้าง ผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ได้สำเร็จ รวมระยะเวลาในการปฏิบัติการทั้งสิ้น 69 วัน 

   -กำลังพลท่านหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการครั้งนี้กล่าวว่า พวกเรา เรียกปฏิบัติการนี้ว่า “การรบ 2 ปี”… เพราะ เริ่ม ใน เดือน ธ.ค. 11 จบ ในเดือน ธ.ค. 12 

    -และสิ่งที่ ต้องจดจำและระลึกถึงคือ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ กำลังมีความสุข สนุกสนาน สุขสำราญ ในวันขึ้นปีใหม่ แต่หน่วยรบเฉพาะกิจ ต้องตกอยู่ในห้วงทุกทรมาน ความยากลำบากแสนสาหัส โดยเฉพาะ ผู้บาดเจ็บ พ่อ แม่ ลูก เมียญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต ว่าเขาเหล่านั้นมีความรู้สึกอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่อยู่คู่กับความภาคภูมิใจเงียบๆของพวกเขา..

 

หมายเลขบันทึก: 710467เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2022 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2022 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท