หาตัวอย่าง "เรื่องเล่า...ครูอาชีวฯ กับการเรียนรู้ของชาวบ้าน"


"ตลาดนัดความรู้ครูอาชีวฯ กับการเรียนรู้ของชาวบ้านเพื่อการต่อสู้ความยากจน"

"เรื่องเล่าความสำเร็จ"  เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเตรียม  เพื่อใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในตลาดนัดความรู้   ผมได้รับมอบหมายให้เป็นวิทยากรกระบวนการ ใน  "ตลาดนัดความรู้ครูอาชีวฯ กับการเรียนรู้ของชาวบ้านเพื่อการต่อสู้ความยากจน"    โดยมีคุณนภินทร  ศิริไทย ร่วมทีมสนับสนุน   ผมก็จำเป็นต้องหาตัวอย่างเรื่อง  ที่ต้องเอาไปให้ครูอาชีวะเขาดูเป็นตัวอย่างด้วย     ผมเลยต้องหาตัวอย่างที่มีความใกล้เคียงกับงานมากที่สุด     แต่เท่าที่ค้นหาตอนแรก  ยากเหมือนกันครับ  เราะรู้กันดีว่าเรื่องเล่าดีๆมีอยู่เยอะ   แต่ไม่มีการบันทึก   ได้ยิน  ได้ฟังผ่านหูมา      โดยเฉพาะงานนี้เป็นเรื่องประสบการณ์ของครูอาชีวะที่เข้าถึงการเรียนรู้ของชาวบ้านเพื่อใช้ต่อสู้กับความยากจน    เลยนึกขึ้นได้ว่ามีหนังสือแนว  อาชีพแก้จน  อยู่หลายเล่ม     จึงแวะไปร้านหนังสือ   หาอยู่นาน  เพราะหนังสือที่ว่านั้น   ส่วนใหญ่เป็นกรณีของคนที่ผ่านการเรียนในระบบมาพอสมควร    แต่ผมต้องการ case ที่เป็นชาวบ้านเกี่ยวข้องกับ  อาชีวศึกษา   อีกทั้งต้องเขียนให้เห็นภาพของการเรียนรู้ด้วย   เลยคิดว่าคงหาไม่ได้เสียแล้ว    แต่โชคช่วย   เจอวารสารที่ไม่เคยเห็นมาก่อน    "วิถีชุมชน"  เพื่อชีวิตชุมชนไทย ราคาจำหน่ายเล่มละ 40 บาท     มีคุณบวร  ยสินทร เป็นผู้อำนวยการบรรณาธิการ  และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงหลายท่าน  อาทิ ศ.ดร. ระพี  สาคริก,  อาจารย์วิทยา  เชียงกูร  ฯลฯ     และเป็นวารสารที่ได้รับการสนับสนุนจาก  บริษัท ระยองเพียวฟายเออร์ จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์  จำกัด (มหาชน)  ให้การสนับสนุนเผยแพร่สู่  สำนักงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ   จึงขอยกเรื่องเล่าที่ผมจะเอาไปเป็นตัวอย่างครับ

"ทั้งครูและลูกศิษย์ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่   ได้เปิดประตูรั้วสถาบัน  ให้นักศึกษาออกไปเรียนรุ้กับชุมชนมากขึ้น  เน้นการปฏิบัติจริง   เพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่น    อาจารย์ฉวีวรรณ  วงศ์แพทย์   อาจารย์ประจำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่   ได้ทดสอบแนวคิดบูรณาการในพื้นที่ชุมชน บ้านธรรมเมือง  หมู่ 4    ตำบลช่อแฮ  อำเภอเมือง  จังหวัดแพร่   ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  มีที่นาน้อยและขาดความอุดมสมบูรณ์    ชาวบ้านจึงหันมาเพาะเห็ดเป็นรายได้เสริม   ต่อมากลายเป็นรายได้หลักของบ้านธรรมเมือง       ไม่นานนัก  "ฟาง" กลับกลายเป็นปัญหา   เพราะชาวนาไม่มีระบบกำจัดวัสดุเหลือใช้ที่ดีพอ   เศษฟาง  เศษเห็ดหลังเก็บดอกเห็ดไปแล้วถูกปล่อยทิ้งไว้ในนา  กลายเป็นผลกระทบ  ข้าวไม่โต  ผลผลิตน้อย  ในเบื้องต้นชาวบ้านแก้ปัญหาด้วนวิธีการเผาทิ้ง  แต่ก๋อเกิดปัญหาเรื่องควันไฟฟุ้งไปทั่วทั้งหมู่บ้าน

อาจารย์ฉวีวรรณ และคณาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรฯแพร่ จึงได้ทำโครงการรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากการผลิตเห็ดฟาง"  โดยให้นักศึกษามีหน้าที่ทดลองร่วมกับชาวบ้าน   ซึ่งจะดูตั้งแต่การปรับปรุงดิน   ด้วยการให้นักศึกษาที่เรียนมาทางการปรับปรุงดินโดยเฉพาะมาทดลอง  และปฏิบัติร่วมกับกลุ่มเกษตรกร  โดยใช้พื้นที่ของเกษตรกรในการปฏิบัติงาน    นักศึกษาจะเป็นผู้จดบันทึกทุกขั้นตอนและจัดทำรายงาน    สลับกับการให้เกษตรกรเข้ามาใช้บริการของวิทยาลัยในช่วงการฝึกอบรม  เช่น  การเพาะเชื้อเห็ดฟาง  การต่อเชื้อเห็ด  การผลิตและการดูแลผลผลิตเห็ด   โดยวิทยาลัยสนับสนุนวิทยากร  ห้องทดลอง  วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น     ประโยชน์ก็เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย    ชุมชนได้รับประโยชน์โดยตรงในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง ได้เสริมความรู้เชิงวิชาการที่เกี่ยวกับอาชีพของตน    ส่วนวิทยาลัย ได้ในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน   นักศึกษาได้เรียนรู้ร่วมกับชุมชน   ได้ทดลองปฏิบัติบนสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง   เห็นโจทย์ของจริง   ได้ขยายความรู้ปฏิบัติสู่ชุมชนอื่นมากขึ้น   ค้นพบแนวทางในการนำเอาบทเรียนจากการทำงานร่วมกับชาวบ้านมาปรับใช้กับการเรียนการสอนของวิทยาลัยในอนาคต"

จากคอลัมภ์ วิถีการศึกษา

ชื่อเรื่อง   "ความรู้นอกห้องเรียนของเด็กเกษตรแพร"   วารสารวิถีชุมชน  ปีที่ 2  ฉบับที่ 22  ประจำเดือนตุลาคม 2548

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7094เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2005 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท