เมื่อวาน ในวงอาหารมื้อเย็น เจ้าเพชร (หนึ่งในก๊วน "ธนารุณ" : ทอง เพชร พลอย) เล่าให้พวกเราฟังว่า วันนี้ ที่โรงเรียน อาจารย์ได้จัดให้ตัวแทน (พี่ๆ ที่เรียนอยู่ใน ม.) จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตมานำเสนอ การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่น่าสนใจและแปลกกว่า มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็คือ เขาเตรียมข้อสอบมาให้สอบด้วย 50 ข้อ ถ้าทำได้ตามเกณฑ์ ก็สามารถใช้ผลสอบนี้ เป็นใบเบิกทางเข้าสู่ระบบรับตรงของ ม. นี้ ได้เลยโดยไม่ต้อง Ent. หรือถ้ายังไม่แน่ใจ จะเก็บผลเอาไว้ แล้วตอนพลาดหวังจากการ Ent. ไม่ติด ค่อยมาง้อทีหลังก็ไม่ว่ากัน เจ้าเพชรเก็บความมาได้เท่านี้ เพราะเขาไม่สนใจในสาขาใดใดที่ ม. นั้นนำมาเสนอ จึงไม่ได้ร่วมวงไพบูลย์ดังกล่าว แต่ ดิฉัน รู้สึกตื่นเต้นมาก ที่ทราบว่า การบริการเชิงรุกแบบรับตรงเข้ามหาวิทยาลัยถึงที่ มีด้วยเหรอเนี่ย ช่างเป็น idea ที่เฉียบมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นมหาวิทยาลัยจากกรุงเทพฯ ที่เปิดโอกาสแก่เด็กต่างจังหวัดที่ด้อยโอกาสทั้งหลาย หาก ม.ราชภัฎในพื้นที่ต่างจังหวัด ต่างๆ จะทำบ้าง เด็กๆก็ไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯให้เปลืองสตางค์ คงดียกกำลัง 100
เมื่อวานอีกเช่นกัน ที่ดิฉันมีโอกาสเข้าร่วมรับฟัง การตรวจประเมินการประกันคุณภาพภายในของบัณฑิตวิทยาลัย ม.นเรศวร ได้ฟังทั้งท่านคณบดี และท่านประธานผู้ตรวจประเมิน แสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งที่พ้องกันว่า เดี๋ยวนี้ มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐ และเอกชนที่มีมาแต่ก่อน ถูกสถาบันที่ได้รับการปรับโครงสร้างให้เทียบเท่ามหาวิทยาลัยต่างๆ หลายสิบโรง ดูดเอาลูกค้า (ทั้งตรี ทั้งโท) ไปหมด เฮ้อ! ทำงัย ดีเนี่ย? จะเลี้ยงตัวเองได้งัยเนี่ย?
ดิฉันขมวดเรื่องเล่าทั้งสองเข้าด้วยกัน จึงเกิด idea ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยนเรศวรจะใช้กลยุทธ์ "การบริการถึงที่ " แบบมหาวิทยาลัยราชภัฎ แต่แทนที่จะใช้เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณบัณฑิต เปลี่ยนเป็นใช้เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณงานวิจัย จะดีกว่าไหมค่ะ โดย เน้น บริการวิจัยถึงที่ ณ ชุมชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยต้องสามารถนำชุมชนให้ใช้เงินที่ทางรัฐบาลทุ่มเทอุดหนุนโดยตรง สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง (ไม่เพียงแต่ก่นว่า ว่ารัฐบาลใช้เงินในทางที่ผิด) โดยสนับสนุนให้อาจารย์ นิสิต สร้างงานวิจัย ที่เป็นความต้องการของชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง อาจารย์แก่กล้าในวิชาการ นิสิตเรียนรู้จากชีวิตจริง
นิสิตปริญญาโท ถ้าหากสามารถกำหนดเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา ให้ต้องส่งผลงานวิทยานิพนธ์ ลงตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการด้วย จะสามารถควบคุมคุณภาพของงานวิจัยไปได้ในตัว และหากจะส่งเสริมความสามารถด้านภาษาอังกฤษของนิสิต ระดับดุษฎีบัณฑิตกันอย่างแท้จริง ก็ควรกำหนดให้ทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษเสียเลย แทนที่จะต้องสอบภาษาอังกฤษที่ไม่ได้เอาไปใช้งาน ให้ผ่านให้จงได้
วันนี้ ดิฉันค่อนข้างจะจริงจังกับชีวิต มากเกินไปเสียแล้ว