เล่าเรื่องวัดมัชฌิมาวาส บ้านเขว้า


บ้านเขว้า

          เล่าเรื่องวัดมัชฌิมาวาส บ้านเขว้า

     วัดมัชฌิมาวาส หรือวัดกลาง หรือวัดใหญ่ บ้านเขว้า ตั้งอยู่ที่ 439 หมู่ 2 ตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ 

 บ้านข่าว ถึง บ้านเขว้า
     ในพื้นที่อำเภอบ้านเขว้า มีหลักฐานร่องรอยเป็นที่อยู่อาศัยของคนสมัยโบราณ 2 ที่ คือ “บริเวณกู่แดง บ้านกุดยาง ตำบลตลาดแร้ง สันนิษฐานว่าผู้คนอยู่อาศัยบริเวณนี้ ในศตวรรษที่ 16 คือ ปี พ.ศ. 1600 นับเป็นเวลา 1000 กว่าปีที่ผ่านมา” [1]  และที่ “เมืองหามหอก  ซึ่งพบหลักฐานที่แสดงว่ามีความเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 2,500 ปีมาแล้ว และสันนิษฐานว่าเมืองนี้มีอยู่ในสมัยทวารวดีหรือสมัยอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ( พ.ศ. 2119-2231 นับเป็นเลา 334 ปีที่ผ่านมา )  ต่อมาเมืองร้างไปจะด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ 
     เมืองหามหอก ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านไร่ ตำบลลุ่มลำชี ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่ามีกำแพงเมืองสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทั้งด้านกว้างและด้านยาว ประมาณด้านละ 12 กิโลเมตร แต่ตามแผนที่ปัจจุบันกำแพงเมืองเป็นรูปวงกลม วัดโดยรอบประมาณ 4,500 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1,800 เมตร มีคูเมือง 2 ชั้น และคันดิน 4 ชั้น เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณต้นน้ำชี แต่ปัจจุบันเหลือคูเมืองอยู่ทางด้านทิศใต้ ซึ่งยังมีน้ำขังอยู่ ส่วนคูเมืองด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ตื้นเขินจนไม่มีร่องรอย อาณาเขต ทิศเหนือจรดบ้านโปร่งเกตุ ตำบลชีลอง อำเภอเมืองชัยภูมิ ทิศใต้และทิศตะวันออก จรดบ้านไร่ ตำบลลุ่มลำชี อำเภอบ้านเขว้า ทิศตะวันตก จรดบ้านกุดฉนวน ตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า ปัจจุบันเมืองหามหอกมีเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ แต่ที่ดินเป็นที่มีกรรมสิทธิ์มี ในบริเวณเมืองยังมีคู คลอง หนอง และน้ำตลอดปี  มีความเชื่อว่าเมืองหามหอกเป็นเมืองชัยภูมิเก่า” [2]
     “ประมาณ 300 ปีที่ผ่านมา เซียงสี เซียงทอง เซียงหวิง และเซียงย้อย ชาวบ้านจาก บ้านข่าว (เขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา) ได้เดินทางล่าสัตว์มาถึงบริเวณแห่งหนึ่ง เต็มไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ พิจารณาแล้วเห็นว่าที่แห่งนี้เหมาะสมที่จะตั้งหลักปักฐาน ตั้งบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัย จึงได้ชวนกันอพยพญาติพี่น้อง มาตั้งบ้านเรือนจนเกิดเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้น แล้วมีการอพยพมาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีการตั้งชื่อหมู่บ้านตามภูมิลำเนาเดิมของตนว่า บ้านข่าว”[3]
     ช่วงเวลาที่ เซียงสี เซียงทอง เซียงหวิง และเซียงย้อย อพยพมาอยู่ที่บ้านข่าว น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีเมืองหามหอกอยู่ในบริเวณนี้ เพราะมีระยะเวลาใกล้เคียงกัน ประกอบกับ “ดอนแก้ว” ที่เป็นเนินโคกสูง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้านเขว้า มีการขุดพบโครงกระดูกของมนุษย์โบราณ และเศษภาชนะดินเผา หลักฐานเหล่านี้น่าจะอยู่ในสมัยเดียวกันกับหลักฐานที่พบที่เมืองหามหอก 
     ดอนแก้ว เป็นพื้นที่ที่พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ โครงกระดูกใหญ่มาก พวกเราถึงกับเรียกว่า”คนแปดศอก”(ปัจจุบันนักวิชาการไม่ยอมรับว่ามีจริงเพียงแต่เป็นลักษณะของคน ภาวยักษ์ Gigantism เท่านั้น) และเครื่องใช้สมัยโบราณเป็นประจำ ในปัจจุบันก็ยังพบอยู่ เดิมเมื่อยังไม่ทำถนนเชื่อมระหว่างดอนแก้วกับคุ้มส้มโฮง เป็นคลองน้ำ (ฮ่องควายน้อย) มีขั่วะ ไม้แผ่นหนึ่ง/สองแผ่น ทอดยาวตามคลอง ให้ผู้คนเดินไปที่ดอนแก้วในหน้าน้ำ ลอดอุโมงค์ป่าไผ่ต้นไม้ใหญ่ข้ามดอนแก้วไปจะมี ขัวะ “ฮ่องควายใหญ่” ไปถึงสามแยกทางหนึ่งไปบ้านโนนตาด อีกทางหนึ่งไปป่าตาล ซีลองหน้าฝาย ที่ที่ทำร้านจุดบั้งไฟของหมู่บ้านปัจจุบัน บริเวณต้นฮ่องควายน้อย เป็นหนองบอน ศาลาคุ้มขุมทองปัจจุบัน  เดิมเป็นทางน้ำไหลผ่านจากหมู่บ้านลง “ฮ่องควายน้อย” ที่นี่มีการพบลูกปัดหินสีและของโบราณบ่อย ๆ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ขุมทอง” ยืนยันว่าพื้นที่บ้านเขว้าเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมานานนับพันปีแล้ว
     คนสมัยก่อนเล่าว่า ในวันพระใหญ่ กลางคืนตอนดึก จะได้ยินเสียง ดนตรี/มโหรี จากดอนแก้ว บางคืนเห็น “แก้วเสด็จ” ระหว่างดอนแก้วกับหมู่บ้าน หากเห็นอยู่ใกล้ตัวให้แก้ผ้าออกหมดแล้วตะครุบเอาแก้วนั้น หากเห็นแก้วขึ้นหรือลงไกลตัวให้จดจำที่ลงไว้ให้ดี เช้ามาให้รีบไปดู จะเห็นรอย “ไหเงินไหคำ” สิ้นสุดลงที่ไหนให้ขุดหา เงินไหไหคำ นั้น
     ประมาณ ปี พ.ศ. 2393 สมัยพระยาภักดีชุมพล (เบี้ยว) เจ้าเมืองชัยภูมิคนที่ 3 ( พ.ศ. 2383-2406) [4] “ทางการทำการสำรวจหมู่บ้าน มีหมู่บ้านข่าว ตามสำเนียงของชาวบ้าน แต่เมื่อบันทึกเป็นหลักฐานทางราชการ เพี้ยนไปเป็น บ้านเขว้า”[3] 
     “วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2497 บ้านเขว้ายกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ และยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อ 23 กรกฎาคม  พ.ศ. 2501”[5]  ปัจจุบัน (กันยายน 2565) มีคนบ้านเขว้าคุ้มส้มโฮง เป็นนายอำเภอคือ นายสุวิทย์ ถนอมสัตย์ นายอำเภอบ้านเขว้าคนที่ 24

วัดกลาง วัดใหญ่ วัดมัชฌิมาวาส บ้านเขว้า
      ชุมชนบ้านเขว้ามีผู้คนเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ “ปี พ.ศ. 2437 ได้สร้างวัดแรกของบ้านเขว้าขึ้นเรียกว่า วัดกลางบ้านเขว้า” [6]  เพราะอยู่กลางหมู่บ้าน “ปัจจุบันมีที่ดินวัด 11 ไร่ 3 งาน 38 ตารางวา (รวมที่ดินของปู่เตย ที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือของวัดแล้ว) [7] ตรงกับสมัย เจ้าพระยาภักดีชุมพล (แสง) เจ้าเมืองชัยภูมิ คนที่ 6 ( พ.ศ. 2425-2440 ) [4] ต่อมามีการสร้างวัดขึ้นอีก 2 วัด คือวัดน้อยส้มโฮง(วัดสง่าศาลาลอย/วัดศาลาลอย)  และวัดน้อยหางขั่วะ(วัดเจริญผล) ชาวบ้านจึงนิยมเรียกวัดกลางว่า “วัดใหญ่”  และตั้งวัดป่า (วัดปทุมวนาราม/วัดปทุมาวาส) วัดหนองตะไก้  ตามลำดับ หมู่บ้านเขว้าปัจจุบัน มีวัดอยู่ 5 วัด
     1.วัดมัชฌิมาวาส (วัดใหญ่/วัดกลาง) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2437 [6]   ( ปี พ.ศ. 2458 ได้ตั้งโรงเรียนบ้านเขว้า โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดกลางบ้านเขว้าเป็นที่เรียน ) [8]  ปี พ.ศ. 2470 ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา 24 มิถุนายน พ.ศ. 2539 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย [9]  ปัจจุบัน(กันยายน 2565) มีพระ จำนวน  7 รูป พระอธิการแดนไทย ฐิตเมโธ เป็นเจ้าอาวาส 
     2.วัดศาลาลอย (วัดสง่าศาลาลอย/วัดน้อยส้มโอง)  สร้างก่อน ปี พ.ศ. 2463 ( ปี พ.ศ. 2463 โรงเรียนบ้านเขว้า มาเปิดทำการสอนที่ศาลาการเปรียญวัดสง่าศาลาลอย ) [8]   ปี พ.ศ. 2486 ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  พ.ศ. 2509 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย [9]   ปัจจุบัน(กันยายน 2565) มีพระ จำนวน  5 รูป พระอธิการพงษ์ศักดิ์ อาภสฺโร เป็นเจ้าอาวาส ๆ ลำดับที่ 25 ตั้งแต่เริ่มตั้งวัด
     3.วัดเจริญผล (วัดน้อยขางขั่วะ) ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ปี พ.ศ. 2465 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2500 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย [9]    ปัจจุบัน (กันยายน 2565) มีพระ จำนวน  5 รูป พระอธิการสำเริง ชุตินฺธโรนฺ เป็นเจ้าอาวาส
     4.วัดปทุมาวาส (วัดป่า/วัดปทุมวนาราม ) สร้างปี พ.ศ. 2500  เมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2514  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย [9]   ปัจจุบัน(กันยายน 2565) มีพระ จำนวน  5 รูป พระครูวิมล จันทโสภณ เป็นเจ้าอาวาส
     5.วัดหนองตะไก้  “สร้างเป็นที่พักสงฆ์ดอนตะไก้ เมื่อปี พ.ศ. 2527  ปี พ.ศ. 2535 เป็นสำนักสงฆ์ดอนตะไก้ [10] และเมื่อ 14 ธันวาคม 2541 ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นวัดหนองตะไก้ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย [9]   ปัจจุบัน (กันยายน 2565) มีพระ จำนวน  5 รูป พระอธิการประยูร สญฺญจิตโต เป็นเจ้าอาวาส ๆ ลำดับที่ 3  ของวัด [10]

สร้างศาลาไม้เสาใหญ่
     นายเงิน  สางห้วยไพร (เกิด ปี พ.ศ. 2479) เล่าว่า “ปู่ทองและปู่บง เข้านาคที่วัดใหญ่ ได้ร่วมกับชาวบ้านไปตัดไม้เสาศาลาวัดใหญ่ที่บริเวณ ดอนหัน,โคกขวางและห้วยหลุบปูน    สมัยก่อนประเพณีบ้านเขว้า ปกติบวชพระจะบวชเป็นกลุ่มพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน ชายที่มีอายุครบบวช (20 ปี) ต้องมีการเข้านาคที่วัดในเดือน 3 เพื่อศึกษาเล่าเรียน ทำวัตร สวดมนต์ ท่องบ่น ขานนาค เรียนหนังสือธรรม ท่องเจ็ดตำนาน บวชพระในเดือน 6 เดือน 8 เข้าพรรษา ออกพรรษเดือน 11 รับกฐินแล้วจึงลาสิกขาบท” [11] “ปู่บง วรรณชาติ สามีย่าน้อย วรรณชาติ เกิด ปี พ.ศ. 2452 เสียชีวิต ปี พ.ศ. 2535 รวมอายุ 83 ปื” [12] เข้านาคเมื่ออายุ 20 ปี ประมาณ ปี พ.ศ. 2472
     ประมาณ พ.ศ. 2472 “ชาวบ้านเขว้าได้ร่วมมือกันจัดสร้างสร้างศาลาไม้เสาใหญ่ หลังคาสังกะสี  โดยมีการจัดสรรการจัดหาเสาไม้ให้แต่ละคุ้ม แต่ละคุ้มจะนำลูกบ้านของตนเองไปตัดไม้ที่บริเวณดอนหัน (ทางไปบ้านโนนเสาเล้า ตั้งแต่ทางแยกร้านอาหารครัวดอนไผ่ ปัจจุบัน ขึ้นไปทางทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ) บริเวณโคกขวาง,ห้วยหลุบปูน (ทางไปบ้านโนนเสาเล้า บริเวณวัดป่าบ้านโนนเสาเล้า,โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำห้วยหนองบัวฮี ปัจจุบัน ไปทางทิศตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้) ห่างจากวัดประมาณ 4-5 กิโลเมตร แล้วใช้ ท่อล่อ ให้ผู้คนช่วยกัน ลาก ดึง ดัน มาที่วัด”[11]  ทางที่ขนเสาไม้มา ผ่านป่า ดินทราย ก็ถือว่ายากลำบากอยู่แล้ว มาถึงห้วยยางแล้ง เป็นทางลาดชันมากลงห้วยยางแล้ง แล้วเป็นทางลาดขึ้นดอนอีหล่า (ทางไปบ้านโนนเสาเล้าช่วงผ่านทุ่งนาก่อนถึงทางแยกเข้าครัวดอนไผ่- ปัจจุบัน) ช่วงนี้ต้องใช้ความระมัดระวังและจำนวนคนมากเป็นพิเศษ แต่ละคุ้มต่างลากท่อล่อขนไม้มารวมกันก่อนข้ามห้วย และเข้าช่วยกันลากท่อล่อข้ามห้วย ที่ละท่อน ๆ แล้วจึงแยกไปลากท่อล่อคุ้มของตนเอง นับเป็นงานที่สร้างความเห็นอกเห็นใจ ความสัมพันธ์ ความสามัคคี ของคนบ้าน เขว้าเราสมัยก่อน
     หลังจากสร้างศาลาเสร็จยังมีท่อล่อ วางเป็นแถวอยู่หน้ากุฏิ  เวลามีงานบุญจะนำท่อล่อออกมาทำเป็นนั่งร้านวางสิ่งของต่าง เช่น นั่งร้านไต้น้ำมัน ใต้คันกระธูป ในงานออกพรรษา ซึ่ง ท่อล่อนี้จะทนทานต่อแรง กระโพก(ประทัด)ใบลานใหญ่ เป็นอย่างดี ถ้าท่อล่อที่เป็นโพงกลาง ยิ่งทำให้เสียงกระโพกใบลานดังกึกก้องยิ่งขึ้น
     ท่อล่อ มีลักษณะคล้ายกับ “ตะเฆ่ ที่คนโบราณใช้ในการชักลากของหนัก สร้างขึ้นโดยใช้ไม้เป็นแม่สดึง(โครงตะเฆ่) แล้วปูพื้นไม่กระดานบนแม่สดึงเป็นที่รองรับของหนัก ส่วนล้อใช้ท่อนไม้ที่กลึงให้กลม รองไว้ข้างล่างตะเฆ่หลาย ๆ ท่อน การชักลากใช้แรงคนดึง เมื่อตะเฆ่เคลื่อนไปทางด้านหน้า จนท่อนไม้กลมท่อนหนึ่งหลุดออกมาทางด้านหลัง ก็นำไปรองรับทางด้านหน้า แล้วชักลากตะเฆ่ต่อ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงที่หมาย”[13] แต่ ท่อล่อ ของชาวบ้านเขว้า จะใช้เฉพาะท่อนไม้กลมหลาย ๆ ท่อน รองรับเสาไม้ใหญ่ ไม่มีไม้กระดานทำแม่สดึง แล้วชักลากในลักษณะเดียวกัน

     ลักษณะศาลาวัด ศาลาวัดตั้งอยู่บริเวณกลางวัด (สมัยก่อน) เป็นศาลาไม้ทรงปั้นหยา มีเสาประมาณ 35 ต้น (ลักษณะคล้ายกับศาลาการเปรียญวัดไพรีพินาศ / วัดกลางเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งสร้างในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันศาลาการเปรียญวัดไพรีพินาศ กรมศิลปากรได้บูรณะและยกสูงขึ้น ) หันหน้าไปทางด้านทิศใต้ทอดยาวทางด้านตะวันออก-ตะวันตก มุงสังกะสี พื้นมี 2 ระดับ ด้านหลังเว้นแต่ห้องตะวันตกสุดยกพื้นขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร ด้านหลังตีฝาไม้ตลอดทุกห้องที่ยกพื้นขึ้น บันได ประมาณ 5 ขั้น ขึ้นทางด้านตะวันออก ตะวันตก และด้านทิศใต้มุมตะวันตก เป็นบันไดเล็ก ด้านทิศใต้เต็มห้องตะวันออกสุดเป็นบันไดใหญ่ ในศาลาวัด บริเวณกลางศาลาจัดวางธรรมาสน์ไม้ ปิดไม้ฉลุ ลายไทย รูปสัตว์ตามตำนานสวยงามมาก มีปู่รอด เขียวเขว้า คุ้มขี้มอด เป็นหัวหน้าช่างไม้ในการสร้าง บริเวณที่ยกพื้นขึ้นเรียก “หน้าครอง” ไว้เป็นที่พระเณรนั่ง เวลามีงานประเพณีต่าง ๆ ตะวันออกสุดของหน้าครอง เป็นที่วางพระพุทธรูปประธาน 1 องค์ นอกนั้นมีพระพุทธรูปไม้ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ใต้ขื่อ เว้นไว้ ข้างละ 1 ห้อง ทั้ง 4 ด้าน  จัดทำราวไม้ 2 ชั้น ไว้ประดับตกแต่งดอกไม้เวลามีงานประเพณีต่าง ๆ  โดยเฉพาะช่วงงานออกพรรษา มีการประดับดอกไม้ที่ทำจากต้นโน ย้อมสีต่าง ๆ และห้อยกระธูป ประดับล้อมรอบ สวยงามมาก ด้านล่างศาลาใต้หน้าครองห้องที่วางพระพุทธรูป ทำเป็นร้านไว้ให้ชาวบ้านนำกระดูกญาติ ไปเก็บไว้รวมกัน 
      โรงเรียนบ้านเขว้า ได้ใช้ศาลาการเปรียญวัดกลางบ้านเขว้า เป็นที่เรียนตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2458 ปี พ.ศ. 2497 ได้เริ่มทยอยย้ายนักเรียนไปเรียนที่โรงเรียนบ้านเขว้า (โรงเรียนอนุบาลบ้านเขว้า ปัจจุบัน) ครบหมดทุกชั้นเรียน ประมาณ ปี พ.ศ. 2505
     ศาลาวัดใหญ่ นอกจากใช้ในการจัดงานบุญประเพณีต่าง ๆ ตามฤดูกาล เป็นโรงเรียนแล้วยังเป็นที่จัดกิจกรรมบันเทิงอื่น เช่น หนังปิดวิก ลิเกปิดวิก โดยเฉพาะลิเก/หมอลำขอข้าว จะมาทำการแสดงให้ดูฟรี และตอนกลางวันเข้ามาขอข้าวเปลือกในหมู่บ้าน เวลามีหนังหรือลิเกปิดวิก พวกเด็ก ๆ ขี้ดื้อจะไปมุดเข้าช่องตรงที่พื้นยกสูงขึ้นเป็นหน้าครองกับห้องตะวันตกสุดที่ไม่ได้ยกพื้นขึ้น
     ต่อมาได้รื้อศาลาการเปรียญไม้ และยังเก็บรักษาเสาไม้ไว้ แล้วสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ 2 ชั้นขึ้นทดแทน และรื้อศาลาการเปรียญ 2 ชั้น เมื่อ ประมาณ ปี พ.ศ.2560
     ปี พ.ศ. 2551 ได้นำเสาไม้ศาลาการเปรียญหลังเก่ามาจัดสร้าง วิหาร ชาวบ้านร่วมกันสร้าง ในปี พ.ศ. 2551-2558 จึงยังเห็นเสาไม้ใหญ่ที่อนุรักษ์ไว้ถึงปัจจุบัน ที่วิหารหลังนี้

อุโบสถ
     อุโบสถวัดมัชฌิมาวาส บ้านเขว้า นางสำรอง ถนอมสัตย์ (เกิดปี พ.ศ. 2478) เล่าว่า ”สมัยพระอุปฌาย์ศรี เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างอุโบสถ โดยร่วมกับชาวบ้านไปขุดดินเหนียวที่นาน้อย มาย่ำกับแกลบ ปั้นอิฐ และเผาเอง จ้างช่างจากบ้านอื่น ชื่อ กาน มาดำเนินการก่อสร้าง”[14]   เดิมไม่มีประตูหลัง ต่อมาถึงปัจจุบัน มีการปรับปรุงขยาย อีก  2 ครั้ง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2539

เคี่ยนไม้ (รั้วไม้)
     เมื่อ “สร้างศาลาการเปรียญเสร็จแล้ว ชาวบ้านได้ช่วยกันจัดทำเคี่ยนไม้”[14] ลักษณะเป็นเสาไม้ ขนาด 4x4 หรือ 5x5 นิ้ว หัวเสาถากเป็นลักษณะบัวเหลี่ยม ต้นเสาเจาะทะลุไว้สอดไม้คานรั้ว ประมาณ 3-4 ขั้น ล้อมรอบวัด เปิดประตูใหญ่ด้านทิศเหนือ(บริเวณประตูใหญ่ปัจจุบัน) ประตูด้านทิศตะวันออก,ทิศใต้ (บริเวณปัจจุบัน) ประตูด้านทิศตะวันตก (มุมด้านทิศเหนือของศาลาพระปริยัติธรรมปัจจุบัน)  เคี่ยนด้านเหนือ จะเป็นจุดที่คนเคยเป็นหนุ่มสาวสมัยนั้นนึกถึงรื้อฟื้นความหลัง เพราะเป็นจุดที่สาว ๆ ตักน้ำสระวัดหรือสระหลวง เดินผ่าน หนุ่ม ๆ จะมานั่งเคี่ยนใต้ร่มมะขามใหญ่รอให้กำลังใจสาว ๆ บริเวณนี้เป็นประจำ บ้างใช้เป็นที่นั่งดูหนังขายยา ช่วงหลังมายังใช้เป็นจุดนั่งรอรถโดยสาร ปัจจุบันได้รื้อออกสร้างใหม่

เครื่องปั่นไฟเครื่องขยายเสียง เครื่องแรกของบ้านเขว้า
     นายพิชัย คุ้มเขว้า (เกิด ปี พ.ศ. 2480) เล่าว่า “เมื่ออายุ 15 ปี (พ.ศ. 2595) ตนเองบวขเณรที่วัดใหญ่ เจ้าอาวาสขณะนั้นคือพระมหาดาวเรือง ได้พาไปซื้อเครื่องปั่นไฟพร้อมเครื่องขยายเสียง ที่ร้านสยามกลการ ในกรุงเทพฯ กลับมาถึงวัดนำดอกบักเขียบ้า(ลำโพง) ขึ้นไปมัดติดบนต้นมะพร้าว ทดลองติดเครื่อง,ติดหลอดไฟ,กระจายเสียง มีผู้คนออกมามุงดูมากมาย และเมื่ออายุครบ 20 ปี (พ.ศ. 2500) ได้บวชพระที่วัดใหญ่ ตอนนี้มีอาจารย์แท่น โชติโก เป็นเจ้าอาวาส”[15] ในปีนี้ได้ไปช่วยทำกุฏิให้หลวงพ่อโพน (พ่อยายเที่ยง ตาจ่อย)และหลวงพ่อเหรียญ (พ่อยายเฮียน ตามี) ซึ่งอยู่ที่วัดใหญ่ ได้แยกไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่ป่าช้าวัดป่า และเป็นที่มา/จุดเริ่มต้นของวัดปทุมาวาส

ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส บ้านเขว้า
     (ก่อนนี้ไม่มีข้อมูล)   พ.ศ. 2437 -
     พระอาจารย์ทองดี   ก่อนพระอุปฌาย์ศรี
     พระอุปฌาย์ศรี       ก่อน พ.ศ.2494-2494         
     พระมหาวิจิตร        พ.ศ. 2494-2495
     พระมหาดาวเรือง    พ.ศ. 2495-2496   (นายดาวเรือง กุลชูศักดิ์)
     พระอธิการสิงห์       พ.ศ. 2496-2498   (นายสิงห์  บุตรราช)
     พระอาจารย์แท่น โชติโก/พระครูโชติวราจารย์  พ.ศ. 2498-2 กันยายน 2559
     พระอาจารย์แดนทัย ฐิตเมโธ  1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน
 

ปูชนียสถานที่สำคัญภายในวัด
     1.อุโบสถ
     2.วิหาร
     3.ศาลาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ปัจจุบันใช้เป็นศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ วัดมัชฌิมาวาส
     4.กุฏิที่พักสงฆ์ 3 หลัง
     5.กุฏิเจ้าอาวาส
     6.ศาลาพระครูโชติวราจารย์
     7.ศาลาอเนกประสงค์ กำลังดำเนินการก่อสร้าง

 

                                       ………………………………………………………………………

 


 

หมายเลขบันทึก: 707908เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2022 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2022 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วัดเจริญผล (วัดน้อยขางขั่วะ)  » หางขั่ว หมายถึงวัดที่อยู่ปลายหางของสะพาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท