คนดีวันละคน : (1) ศ. ดร. อมเรศ ภูมิรัตน


ศ. ดร. อมเรศ จับงานอะไรเป็นเชื่อได้ว่าจะเกิดผลดี เป็นคนที่นิ่มนวล ใจเย็นและทำงานจริงจัง

         ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะเขียนเล่าเรื่องคน "เก่งและดี"  ที่ผมประทับใจสั้น ๆ ลงใน Gotoknow วันละคน   แต่ก็เกรงจะทำไม่ได้ตลอด

         วันนี้เป็นวันสิ้นปี   ภรรยาบอกว่าห้องนอนรกเอกสารเกินไปแล้ว   ขอให้จัดห้องเสียหน่อย   รื้อเอกสารพบเอกสารหลายชิ้นที่น่าจะนำมาประกอบการเขียนบันทึก "คนดีที่ผมประทับใจ"   จึงลองเริ่มดู   ไม่รับรองว่าจะทำได้ตลอดเหมือน "KM วันละคำ" และ "ชีวิตที่พอเพียง"

         คนเก่งและดีในประเทศไทยมีมากมาย   ผมรู้จักนิดเดียว   ดังนั้นคนที่ผมไม่ได้เขียนถึงไม่ได้เป็น "คนเก่งที่ไม่ดี"  หรือ "คนดีแต่ไม่เก่ง"  นะครับ

         นอกจากนั้น  ผมไม่มีเจตนาเล่าประวัติคนนะครับ   เพราะเดี๋ยวนี้ค้นประวัติคนได้ง่ายมากจาก Google

         เจตนาของผมก็เพื่อบันทึกความประทับใจของผมออกแลกเปลี่ยนกับชุมชน Gotoknow   หวังสร้างสังคม "ชื่นชมคนดี"   โดยที่ผมเขียนออกมาจากใจ   ไม่ได้พยายามค้นคว้าข้อมูลให้ครบถ้วน

         ผมได้ยินชื่อ ดร. อมเรศ ครั้งแรกจาก ศ. พญ. สุภา ณ นคร  เมื่อราว ๆ พ.ศ.2517  เมื่อท่านมารับราชการที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดลใหม่ ๆ  ศ. พญ. สุภา บอกว่ามีหลานชายมาเป็นอาจารย์ที่นั่น

         เมื่อผมมาเป็น ผอ.สกว. ก็มีโอกาสรู้จักใกล้ชิด ดร. อมเรศ มากขึ้น   โดย สกว. ได้ขอให้ท่านทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาเครือข่ายงานวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมหมักถั่วเหลือง (เต้าหู้ยี้,  เต้าเจี้ยว, ซีอิ๊ว)   ผลงานที่เกิดขึ้นก่อผลดีต่ออุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทยมาก   ทำให้เราผลิตสินค้าคุณภาพสูงขึ้นอย่างมากมาย   และสร้างความร่วมมือไว้วางใจระหว่างผู้ประกอบการที่เรามักคิดว่าเขาเป็นคู่แข่งกัน  แต่ในสภาพที่ ศ. อมเรศ เข้าไปสนับสนุนเกิดบรรยากาศของความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไม่น่าเชื่อ   เครือข่ายนี้น่าจะเรียกได้ว่าเครือข่าย KM อุตสาหกรรมหมักถั่วเหลือง   คุณธวัชและทีม PC ของ สคส. น่าจะลองไปจับภาพเครือข่ายนี้

         ศ. ดร. อมเรศ ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในปี 2535   เป็นเมธีวิจัยอาวุโสปี 2540   และเป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ปี 2542 - 2546   แล้วกลับมาเป็นอีกตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเพราะทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว   ช่วงปี 2546 - 2547 เป็นรองอธิการบดีและรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาวิชาการและพัฒนาวิชาชีพ   เป็น ศ.11 ปี 2544 เมื่ออายุ 53 ปี   เป็น visiting professor ที่มหาวิทยาลัยโอซาก้า ปี 2540

         ศ. ดร. อมเรศ จับงานอะไรเป็นเชื่อได้ว่าจะเกิดผลดี   เป็นคนที่นิ่มนวล  ใจเย็นและทำงานจริงจัง   เมื่อประมาณ 13 - 14 ปีมาแล้ว   ลูกสาวคนเล็กของผมไปสอบสัมภาษณ์ทุนเล่าเรียนหลวงที่ กพ.   มี ดร. อมเรศ เป็นกรรมการด้วย   เขาติดใจในบุคลิกและคำถามของ ดร. อมเรศ มาจนทุกวันนี้

         ศ. ดร. อมเรศ จบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ (แบคทีเรียวิทยา) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส   ปริญญาเอกจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท   เมื่อมาทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดลสังกัดภาควิชาจุลชีววิทยา   ต่อมาย้ายไปก่อตั้งภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ

                                  

                             ศ. ดร. อมเรศ  ภูมิรัตน

วิจารณ์  พานิช
 31 ธ.ค.49

หมายเลขบันทึก: 70675เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2007 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณมากค่ะที่นำเรื่องราวของคนดีและคนเก่งมาให้ทราบ  ซึ่งคิดว่าเป็นกำลังใจที่ดีให้กับคนที่พยายามที่จะเป็นทั้งคนดีและเก่งค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท