เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สอ.ต.หนองธง


เพราะผมต้องหมุนเวียนกินข้าวบ้านชาวบ้านตามคำเชิญ ทีละบ้าน ทุกวัน "หมอโสดคนนึงให้รู้ไปว่าคนหนองธงเลี้ยงไม่ได้"

     ขอชดใช้ “ค่าติด” ที่ค้างไว้นะครับ คือการได้รับรางวัลคุณอำนวย (ที่ยังงง ๆ) แห่งเดือนกันยายน 2548 (ดูที่ ประกาศรางวัลจตุรพลัง ประจำเดือนกันยายน 2548) หลังจากได้เล่ามาแล้ว 1 ตอน คือ เล่าเรื่องจากประสบการณ์ชีวิต ตอนความรักถือเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งก็เหมือนการออกปรายหน้าบท ของหนังตะลุง ที่นี่จะเริ่มชีวิตการทำงาน ขอย้อนไปอีกสักนิดคือ ชีวิตใน วิทยาลัยการสาธารณสุข ภาคใต้ จังหวัดยะลา ซึ่งถือว่าผมได้เริ่มต้นการเป็นหมออนามัย ที่นั่นสอนให้ช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อน ระหว่างพี่ ระหว่างน้อง ดีมาก ชื่อตั้งของผมคือ ผีแห้ง 47 ตัวเลขจะบอกรุ่นที่เข้าเรียนครับ ชื่อผีแห้งคือ คนที่มีบุคลิกขี้เมา เมาเหล้าขาว เหล้าถื่อน หรือถ้าเป็นเหล้าแดง ก็จะกินเพียว ๆ อันนั้นแหละคือผม ตัวดำ ๆ ผมหยิก ๆ เล็กน้อย หรือหยักศก ถ้าหล่อเหล่าจะไม่ได้รับชื่อนี้ ฉะนั้นต้องไม่หล่อด้วย ชื่อแต่ละคนก็จะมีบุคลิกที่ถูกถ่ายทอดมา เรื่องนี้จริง ๆ พี่หรอย 45 หรือ พี่ ๆ อีกหลาย ๆ คนน่าจะเล่าได้ดี กว่าเล่าคนเดียว (ปิ้งขึ้นมา ต้องดำเนินการ) นิสัยขี้เมาของผมนี้ติดมาจนถึงตอนที่ก่อนลาบวช และเมื่อสึกมาแล้ว ผมค่อย ๆ ห่างไป ๆ ก็มีบ้างที่ต้องสูญเสียสังคมนี้ไป แต่น่าจะได้อะไรกลับมาเยอะกว่า เช่นเวลา และการเรียนรู้

     เมื่อได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานจริง ๆ ผมก็บรรจุครั้งแรกที่ สอ.ต.หนองธง ก่อนหน้านั้นก็ใช้ชีวิตอยู่ที่ สสจ. และสสอ. ประมาณ 1 เดือน เพื่อเรียนงาน และรู้จักพี่ ๆ หมออนามัยด้วยกัน ได้รู้จักนะใช่เลยครับ แต่เรียนงานไม่เลย เพราะเมา ๆ แล้วก็ เมา เป็นส่วนใหญ่ มาทำงานก็เลยไม่ค่อยรู้เรื่อง เป็นกรรมกรแบกขนมากกว่าง่ายดี ด้วยตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ระดับ 2 ประจำสถานีอนามัยตำบลหนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ชาวบ้านเรียก “หมอชา” และเป็นถิ่นชาวไทยมุสลิม ผมชักจะหาที่เมายากขึ้น แต่ก็ยังพอหาได้ในตอนแรก ๆ คือบ้านหลักสิบ เป็นชาวไทยพุทธ แต่เมาได้ตอนค่ำ ๆ แล้ว กินข้าวเย็นแล้วด้วย เพราะผมต้องหมุนเวียนกินข้าวบ้านชาวบ้านตามคำเชิญ ทีละบ้าน ทุกวัน ดังคำพูดในมัสยิด ที่โต๊ะอิหม่ามพูดว่า "หมอโสดคนนึงให้รู้ไปว่าคนหนองธงเลี้ยงไม่ได้" อันนี้เป็นผลพวงจากที่เคยเขียนถึงไว้แล้วที่ เริ่มต้นที่หนองธง (ได้สวย) ซึ่งชาวบ้านที่นี่รักผมมาก

     หลัง ๆ มาเริ่มมีกิจกรรมพัฒนาสถานีอนามัย (สอ.) กันกับเด็กวัยรุ่น เพื่อออกกำลังกายกันไปด้วย เช่นซ่อมฝาไม้ ของอาคาร สอ. ที่ผุ วางระบบประปาโดยไม่จ้าง ทำศาลาที่พักหน้า สอ.ด้วยไม้ กระเบื้อง ปูน ตะปู บริจาค ขอดินลูกรังจากรถที่บรรทุกผ่าน ได้ 3 รถสิบล้อ คืนเดียววัยรุ่นใช้แรงเกลี่ยหมดทั้ง สอ.พี่วาสนา (หัวหน้า สอ.) มาตอนเช้าตกใจเลย เลยยิ่งห่างหายเรื่องการเมา มาเป็นเรื่องการเมือง เพราะชุมชนที่นี่ชอบการเมืองทุกระดับมาก ผมก็พอตัวอยู่เช่นกัน ก็เลยไปกันได้ดี สิ่งหนึ่งที่ต้องทำเป็นตัวอย่างคือ การที่พ่อแม่ของวัยรุ่นเห็นมาอยู่กับผมก็สบายใจ เพราะเป็นหมอ คงไม่กินเมา ไม่เล่นการพนัน ไม่เที่ยว อีกทั้งเห็นผมเอาจริงเอาจังกับการพัฒนา (เป็น จนท.ผู้ชายคนเดียว อีกคนเป็นผู้หญิง คือพี่ปราณี) ทำให้ผมต้องค่อย ๆ เลิกเมาได้โดยปริยาย ส่วนเรื่องเที่ยว หรือการพนัน ผมไม่ยุ่งอยู่แล้ว ตอนนี้กลุ่มผู้ใหญ่ อสม. คนเฒ่าคนแก่ก็เริ่มมานั่งพูดคุยกันที่ศาลา หน้าสอ.ทุกคืน ช่วงหน้าฝนตัดยางไม่ได้ ก็มาอยู่กันที่บ้านพัก ต้มน้ำร้อน (ใบชา) กาแฟ นั่งกินกัน คุยกัน ผมว่าทักษะการสนทนา การฟัง การคิด และการบันทึกเริ่มที่นี่แหละครับ ส่วนกับเจ้าหน้าที่ สอ.อื่น ๆ ผมยังห่าง ๆ ไม่ค่อยได้เจอใครนัก เพราะอยู่ออกมาไกลและเดินทางมายาก

     เรื่องมาเริ่มเศร้าเอาตอนที่ทราบผลการตรวจว่าแม่เป็นโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ พร้อม ๆ กัน และแพทย์ให้ยามาทาน นัดวัดผ่าตัดโดยดูให้อาการโรคหัวใจดีขึ้นก่อน แต่หลังจากกลับมาจาก รพ.หาดใหญ่ ประมาณ 7 วัน แม่ตกเลือดมากต้องนำส่ง รพ.หาดใหญ่ ทีมแพทย์ได้ช่วยผ่าตัดด่วน แม่อยู่ในห้อง ICU อีก 15 วัน แพทย์ลงความเห็นว่ามีโลหิตเป็นพิษด้วย ท่านเสียในตอนดึกของคืนที่ 15 หลังจากผ่าตัด ที่บ้านเลยเหลือพ่ออยู่คนเดียว ผมเลยต้องคิดหาทางย้ายกลับบ้าน (ตอนนั้นเริ่มไปกลับ เช้า – เย็น แล้ว) เพื่อไปอยู่เป็นเพื่อนพ่อ ส่วนพี่สาว น้องชาย และน้องสาว ทั้ง 3 คนกำลังเรียนกันอยู่ที่อื่นทุกคนครับ รวมเวลาที่ผมได้อยู่ที่ สอ.ต.หนองธง 2 ปี แต่เหมือน 20 ปี ทุกวันนี้ยังแวะเวียนไปหา ไปงานศพ งานบุญ หรือวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม ก็จะแวะไปตลอด ยังเชื่อมถึงกันเป็นอย่างดีครับ

[ความรัก ถือเป็นจุดเริ่มต้น]
[เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สอ.ต.หนองธง, สอ.ต.นาปะขอ, สสอ.บางแก้ว, สสจ.พัทลุง]
[วิธีการไปชักชวนคนทำงานอื่น ๆ ในแวดวงมาพูดคุยกัน]
[วิธีการสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นฉันมิตร]
[การอำนวยให้เกิดเวทีพูดคุยต่าง ๆ ทั้งในส่วนคนทำงาน และชุมชน]

[บทสรุปย่อ]

หมายเลขบันทึก: 7057เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2005 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท