ความงดงามของชีวิตนักวิจัย


 

ผมเคยฝันต้องการเป็นนักวิจัยที่ดีมีผลงานที่เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง    แล้วผมก็เป็นผู้ทำลายความฝันนั้นเสียเองใน ๒ เหตุการณ์ ด้วยสถานการณ์พาไป    เมื่อได้อ่านบทความ Living Science : Maintaining the Joy of Discovery    ความทรงจำในอดีตก็หวนคืนมา    เป็นเพียงความทรงจำ    ไม่ใช่สิ่งที่จะเรียกคืนมาได้   

แม้ผมไม่มีโอกาสมีความสุขจากการเป็นนักวิจัยชั้นยอด    แต่ผมก็โชคดี ที่ได้โอกาสมีความสุขจากการวางระบบหนุนนักวิจัยชั้นยอดของประเทศไทย    ในช่วงทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สกว. ปี ๒๕๓๖ – ๒๕๔๔   เป็นการวางระบบที่มีการกล่าวขานตื่นเต้นในวงการวิจัยของประเทศไทยในช่วงนั้น   

แล้วระบบและบรรยากาศเหล่านั้นก็ระเหยหายไปกับการเปลี่ยนสภาพ สกว. ไปเป็น สกสว. ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒      อนิจจังไม่เที่ยงเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน     

ชีวิตนักวิจัยมีหลายแบบ    แบบที่เอ่ยถึงในบทความ Living Science : Maintaining the Joy of Discovery เป็นงานวิจัยพื้นฐาน   เพื่อการค้นพบความจริงใหม่ๆ    ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าของมนุษยชาติ    ที่สังคมไทยโดยทั่วไปไม่ให้คุณค่า   

เพราะฝรั่งเขาให้คุณค่า    และสร้างระบบสนับสนุนให้นักวิจัยมีชีวิตที่ดี มีความมั่นคง เพื่อทุ่มเททำงานค้นคว้าหาความรู้ใหม่ได้    ทำให้เขาค้นพบความจริงทางธรรมชาติ และทางสังคม   ที่หนุนให้เขามีพลังยิ่งใหญ่และครองโลกในช่วง ๕๐๐ ปีที่ผ่านมา

มีขึ้นก็มีตก    แล้วอารยธรรมตะวันตกก็ถึงคราวเสื่อม    เห็นได้จากความอ่อนแอลงของมหาอำนาจโลกหมายเลขหนึ่ง    ที่ผมตีความว่าเป็นปรากฏการณ์สนิมเกิดจากเนื้อใน    อ่อนแอเพราะระบบสังคมที่ขาดความเสมอภาค     ขาดคุณธรรมที่แท้   

บัดนี้ บทความ  Living Science : Maintaining the Joy of Discovery ช่วยชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบปัญญาด้านการค้นพบในสังคมตะวันตก ที่เสื่อมถอย     

แต่ระบบปัญญาเป็นสิ่งซับซ้อน    ไม่ได้มีเฉพาะส่วนของการค้นพบ (discovery) หรือปัญญาขาขึ้น เท่านั้น   ยังมีปัญญาขาออก หรือการประยุกต์ใช้ (application) อีกด้วย     

ระบบงานของปัญญาด้านการค้นพบในอดีตเน้นการเจาะลึกแยกส่วน    ส่งผลให้เกิดการค้นพบใหม่ๆมากมาย   มีคุณประโยชน์ต่อพัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์ในช่วง ๕๐๐ ปีที่ผ่านมา    บัดนี้แนวทางนั้นถึงจุดอิ่มตัว    หรือมีแนวทางอื่นเกิดขึ้น เพื่อการค้นพบในแนวทางใหม่   คือแนวทางเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์   

การเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ นำสู่การค้นพบเพื่อการใช้งาน หรือการประยุกต์   วิธีการตั้งโจทย์คนละแบบกับศาสตร์ด้านการค้นพบ    และวิธีจัดระบบเพื่อสนับสนุนการสร้างความรู้ในศาสตร์เชิงประยุกต์ก็เป็นคนละแนว

ประเทศผู้มาทีหลัง (catch-up) ไล่กวดประเทศตะวันตกทัน ก็ด้วยการคิดค้น platform การทำงานวิชาการเพื่อการประยุกต์ออก   แต่ชาลาเพื่อการประยุกต์นี้มีพลังอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น   ในที่สุดก็ต้องหนุนด้วยพื้นฐานที่มั่นคงด้านการวิจัยพื้นฐาน    ดังเสนอใน (๑) ในกรณีประเทศเกาหลีใต้   

ประเทศไทย เป็นประเทศมาทีหลังของประเทศผู้มาทีหลัง   จึงต้องคิดยุทธวิธีเอง ว่าจะไล่กวดอย่างไร    หรือจะไม่ไล่กวดแบบเดิมๆ    แต่จะสร้างฐานปัญญาเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศรายได้สูงสังคมดี    ด้วยนวัตกรรมพัฒนาประเทศแนวใหม่ ในรูปแบบของเราเอง     ไม่เลียนแบบใคร    ได้อย่างไร

ผมมีแต่คำถาม    ไม่มีคำตอบ

วิจารณ์ พานิช

เช้าตรู่วันที่ ๖ ก.ค. ๖๕   reflection ของคนนอนไม่หลับ   

         

หมายเลขบันทึก: 705342เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2022 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2022 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I think most people (and countries) have ‘no ideas’ but most can follow and support some people who have. Visionaries (people with visions) need followers. Only when leaders and followers unite, change can happen in society – fast.

It is quite common that followers are those who believe and trust.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท