13 ปีของเรื่องเล่าชาวหอ (เด็กหอใน)


เรื่องที่เขียนถึงได้ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นภาพชีวิตของนิสิตชาวหอพักที่ต้องสู้รบปรบมือกับโควิดฯ  ทั้งการปรับตัวในระบบเรียนออนไลน์ การไม่จำนนต่อความยากลำบากและไม่ยอมงอมืองอเท้าเป็นภาระของผู้ปกครอง ซึ่งมีหลายเรื่องสื่อให้เห็นถึงการสร้างรายได้พิเศษภายในหอพักอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการเพาะต้นไม้ขาย


แทบไม่น่าเชื่อว่า “เรื่องเล่าชาวหอพัก” ของงานบริการหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะเดินทางมายาวนานถึงปีที่ 13  เพราะเมื่อครั้งชวนเจ้าหน้าที่บุกเบิกเรื่องนี้ จำได้แม่นยำว่าแต่ละคนดูเหมือนจะยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญ หรือแม้แต่ไม่มั่นใจว่าจะต้องดำเนินการไปในทิศทางใดบ้าง  และนั่นอาจรวมถึงการตั้งคำถามว่า ทั้งนิสิต เจ้าหน้าที่ อาจารย์ ผู้บริหาร หรือแม้แต่ผู้ปกครองจะได้ประโยชน์จากเรื่องที่นิสิตชาวหอขีดเขียนขึ้นหรือไม่

เอาเป็นว่า “ถ้าไม่ดีจริง” ก็คงไม่ขับเคลื่อนต่อเนื่องมาจนถึง 13 ปีกระมัง –




2-3 ปีให้หลัง ต้องยอมรับว่ากระบวนการทำงานถูกยกระดับขึ้นเป็นอย่างมาก เรื่องเล่าที่นิสิตเขียนขึ้นถูกนำมาจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  มีนิทรรศการย้อนหลังตั้งแต่เล่มแรกมาจนถึงเล่มปัจจุบัน มีสัมภาษณ์นิสิตที่เป็นเจ้าของผลงาน มีการนำบางเรื่องไปผลิตเป็นสื่อสร้างสรรค์ในรูปของ “หนังสั้น” หรือกระทั่งแว่วๆ ว่าปีล่าสุดนี้จะยกระดับไปสู่การเป็นบทละครเลยก็ว่าได้

นั่นคือพัฒนาการอันน่าชื่นชมของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มบรรดาเจ้าหน้าที่งานบริการหอพัก ซึ่งต้องยอมรับว่า “จริงจัง-จริงใจ” ต่อการงานนี้มาก  เรียกได้ว่าเป็น “การงานแห่งชีวิต” ก็คงไม่ผิดกระมัง


 

นอกจากกระบวนการทำงานที่มีพัฒนาการอันน่ายกย่องข้างต้น  ปีนี้ต้องยอมรับว่า “เรื่องเล่าชาวหอ” มีสถานะที่แตกต่างไปจากอดีตกาลอย่างชัดแจ้ง  เพราะแทนที่จะบันทึกเรื่องราวชีวิตของนิสิตชาวหอทั่วๆ ไป แต่กลับบันทึกเจาะจงลึกลงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวหอในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19

ใช่ครับ – ในอดีตเรื่องเล่าชาวหอมักสะท้อนถึงการบันทึกเรื่องราวชีวิตของชาวหอทั่วๆ ไป ทั้งการเรียน การใช้ชีวิต หรือแม้แต่ความรัก รวมถึงการเชื่อมร้อยให้เห็นความสัมพันธ์ของนิสิตชาวหอพักกับ “ระบบ-กลไก” การบริการของมหาวิทยาลัยที่มีต่อนิสิต ผ่านตัวตนของเจ้าหน้าที่  แม่บ้าน กิจกรรม หรือโครงการต่างๆ รวมถึงระบบนิเวศวัฒนธรรมรายรอบหอพัก ทั้งที่เป็นห้องนอน ห้องสุขา ห้องอ่านหนังสือ อาคารประกอบการ ต้นไม้ หมู่นก ตลาดน้อย รถราง – สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของนิสิตชาวหอแบบไม่ต้องสงสัย



ทว่าปีนี้ –ปีที่ 13 ประเด็นที่ถูกหยิบจับมาสื่อสารนั้น ทำได้มากกว่าที่ผมกล่าวถึงข้างต้น  เพราะเรื่องที่เขียนถึงได้ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นภาพชีวิตของนิสิตชาวหอพักที่ต้องสู้รบปรบมือกับโควิดฯ  ทั้งการปรับตัวในระบบเรียนออนไลน์ การไม่จำนนต่อความยากลำบากและไม่ยอมงอมืองอเท้าเป็นภาระของผู้ปกครอง ซึ่งมีหลายเรื่องสื่อให้เห็นถึงการสร้างรายได้พิเศษภายในหอพักอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการเพาะต้นไม้ขาย ต้องยอมรับว่าน่าประทับใจเป็นอย่างมาก

ผมชอบมากๆ เพราะหลายต่อหลายเรื่องยืนยันได้ว่า “ในวิกฤตมีโอกาส” และ “ในโอกาสก็คือรักษาโอกาสด้วยการลงมือทำ” นั่นเอง



ท้ายที่สุดนี้ ผมยืนยันหนักแน่นอีกรอบว่า “เรื่องเล่าชาวหอ” มิใช่แค่บันทึกประจำวันหรือบันทึกส่วนบุคคลเท่านั้น แต่มีคุณค่าและมูลค่าเชิงสาธารณะอย่างไม่ต้องสงสัย เรื่องแต่ละเรื่องมีกลิ่นอายของการสะท้อนภาพสังคมในแบบฉบับ “เรื่องเล่าเร้าพลัง” (Story telling) ไม่ใช่อ่านแล้วเห็นแค่วิถีชีวิตประจำวันของผู้เขียนเพียงคนเดียว แต่เชื่อมโยงมิติต่างๆ เข้ามาทั้งระบบความสัมพันธ์ของนิสิตกับนิสิต นิสิตกับเจ้าหน้าที่ นิสิตกับแม่บ้าน นิสิตกับมหาวิทยาลัย นิสิตกับกระแสสังคม 

 


และจริงๆ หากจะเรียกว่าเรื่องเล่าหอพักเป็นเสมือนแบบสำรวจความคิดเห็นเชิงคุณภาพก็ไม่ผิด เป็นข้อมูลที่ผู้บริหารต้องเปิดใจที่จะรับรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในมิติต่างๆ เพราะอ่านแล้วจะเห็นมุมมอง –ข้อมูลที่เป็นจริงเพราะเป็นข้อมูลที่มาจาก “คนหน้างาน” ขนานแท้ 

ถ้าไม่เชื่อ ผมว่าเราทุกคนมาอ่านร่วมกันอีกรอบก็ได้ครับ

ภาพ : งานบริการหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 703836เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2022 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2022 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

น่าอ่านเนอะ คุณแผ่นดิน 555

ให้เด็กที่มหาวิทยาลัยทำน่าจะดีครับ Wasawat Deemarn

สวัสดีครับ อาจารย์ Wasawat Deemarn

ล่าสุดผมหอบหิ้วไปฝากนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นหลายสิบเล่มเลยครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง

โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมเชื่อว่า การเขียนเรื่องเล่า ช่วยพัฒนาทักษะหลายๆ เรื่องของนักศึกษาได้เป็นอย่างดีเลยครับ เช่น การคิด วิเคราะห์ การสังเกต การสื่อสาร ฯลฯ ครั้นเขียนเสร็จ มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ก็กลายเป็นการแบ่งปัน ทั้งในมิติการพูดคุย หรือแม้แต่การอ่าน -

จริงๆ ก็อยู่ในองค์รวมของ สุ จิ ปุ ลิ ด้วยเหมือนกันครับ

ขอชื่นชมเรื่องเล่า เร้าพลัง ที่ทำให้เด็กได้แลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ค่ะ

เวทีนี้ ดีจริงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท