ประสบการณ์ชีวิตของพยาบาลชุมชนในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช


วิภาวี เผ่ากันทรากร, สุชาดา หุณฑสาร, กชกร พนัสนอก

วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษาประสบการณ์และวิธีการของพยาบาลชุมชนในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในระหว่างการเยี่ยมบ้าน

ผลการศึกษา
- ผู้ให้ข้อมูลเป็นเพศชาย 1 คน เพศหญิง 52 คน มีอายุระหว่าง 36-51 ปี มีประสบการณ์การทำงานในชุมชน 10-31 ปี ส่วนใหญ่มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยจิตเวช ทั้งหมดมั่นใจว่ามีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับชุมชน แต่ความรู้ทางจิตเวชมีเพียงขั้นพื้นฐานจากการเรียนระดับปริญญาตรี และบางคนรับรู้ว่าตนเองไม่มีความรู้ทางจิตเวชเลย ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของผู้ป่วยจิตเวชของประชาชนทั่วไปโดยผ่านความ คิดเห็นของพยาบาล พบว่า ส่วนใหญ่ ประชาชนทั่วไปมี่ภาพพจน์ในทางลบต่อผู้ป่วย คือ เชื่อว่าผู้ป่วยจิตเวชเป็นคนบ้า เสียสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ กลัวว่าผู้ป่วยจะทำร้าย และยิ่งผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมเอะอะอาละวาดจะยิ่งกลัวมาก บางชุมชนจะขับไล่ผู้ป่วยออกจาทกชุมชน ญาติจะปกปิดไม่ให้ใครรู้ว่า มีคนป่วยอยู่ในบ้าน จนบางครั้งผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แต่ในบางชุมชนที่ผู้ป่วยไม่ทำร้ายและอยู่ในชุมชนมานาน ชาวบ้านจะสงสารแต่ก็ยังไม่ไว้วางใจ และไม่ให้ลูกหลานเข้าใกล้ ส่วนประสบการณ์โดยตรงของพยาบาล ส่วนใหญ่รู้สึกกลัว กลัวผู้ป่วยทำร้ายโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติทางด้านการทำร้ายคนอื่นหรือ มีคดี จนบางครั้งการเยี่ยมบ้านต้องมีเพื่อนไปด้วย นอกจากนี้ ความรู้สึกกลัวการพูดคุยกับผู้ป่วย กลัวช่วยผู้ป่วยไม่ได้ กลัวทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น ความกลัวต่างๆ มีทั้งรูปแบบของความวิตกกังวล ความเครียด ความไม่มั่นใจ ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับความรู้ทางจิตเวชที่มีน้อยมากจนไม่ สามารถทำบทบาทของพยาบาลได้ การที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกต่างๆ ดังกล่าว ทำให้พยาบาลจัดการการดูแลผู้ป่วยตามความเข้าใจและประสบการณ์ของตน ได้แก่ การพูดด้วยดีๆ การถามอาการจากญาติมากกว่าคุยกับผู้ป่วยเอง การแวะเยี่ยม เมื่อผู้ป่วยอาหารดีขึ้นพยาบาลจะเยี่ยมบ้านต่อเป็นระยะๆ แต่กรณีที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ได้ จะเปลี่ยนความสนใจและให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยทางกายหรืองานประจำ มากกว่า การดูแลผู้ป่วยจิตเวชจึงต้องการให้หน่วยงานจิตเวชส่งเสริมให้ความรู้ทาง จิตเวชกับพยาบาลชุมชน เพื่อให้มีความรู้มากพอที่จะดูแลผู้ป่วยระหว่างเยี่ยมบ้านได้ มีระบบพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาในการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษาใน กรณีที่มีผู้ป่วยยุ่งยากเกินความสามารถ และรวมถึงมีศูนย์ให้คำปรึกษาเวลาที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ต้องการความช่วย เหลือเร่งด่วน

ข้อเสนอแนะ
- ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของระบบการเตรียมความพร้องให้กับ บุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ให้สามารถดูแลผู้ป่วยจิตเวช ได้อย่างมั่นใจและมีเจตคติทางบวกต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเพื่อคุณภาพชีวิต ที่ดีของทั้งบุคลากรผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในชุมชน

จาก บทคัดย่อผลงานวิชาการนำเสนอ
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๙
วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร

หมายเลขบันทึก: 70340เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2006 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท