KM ฉบับนักศึกษา


การจัดการความรู้ ในฐานะเครื่องมือช่วยการเรียนรู้ของนักศึกษา

การจัดการความรู้ (KM – Knowledge management) เป็นศาสตร์ด้านการจัดการ   และด้านการเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติงาน   เพื่อช่วยหนุนให้องค์กรเป็นองค์กรเรียนรู้ (learning organization) (๑)  (๒)    เมื่อจะนำมาเสนอให้นักศึกษาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของตนเอง จึงต้องมีการเรียบเรียง หลักการและเทคนิค KM ขึ้นใหม่    เป็นฉบับเพื่อนักศึกษา เพื่อช่วยให้นักศึกษานำมาประยุกต์ใช้ เพื่อหนุนการเรียนรู้ของตนเอง 

 

KM คืออะไร

KM คือเครื่องมือหนุนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ     การเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือจากประสบการณ์   ในภาษาวิชาการ  เรียกว่า experiential learning   

ตามหลักการ KM    การปฏิบัติช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้ “ความรู้ฝังลึก” (tacit knowledge)    จะให้เกิดการเรียนรู้ยกระดับขึ้นไป    บุคคลต้องรู้จักแปลงความรู้ฝังลึก ไปสู่ “ความรู้แจ้งชัด” (explicit knowledge)    แล้วหมุนวงจรยกระดับการเรียนรู้ผ่าน “วงจร เซ็กซี่” (SECI Model)

 

SECI Model 

เป็นวงจรยกระดับความรู้ ผ่านการตีความ และผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นทีม    อ่านคำอธิบายได้จากหน้า 18-20 ของบทความ (๓)  ดูรูปใน (๓.๑) 

สรุปว่า ใน  SECI Model มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งเพื่อแชร์ความรู้  และเพื่อยกระดับและ/หรือเชื่อมโยงความรู้    จึงกล่าวได้ว่า SECI Model เป็นวงจรประเทืองปัญญา  

วงจร SECI Model สะท้อนว่า การเรียนรู้ และ KM เป็นกระบวนการทางสังคม    คือเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล    ที่ช่วยให้ปัจเจกบุคคลเรียนรู้ได้ง่าย และเรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยงขึ้น   หรือเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) นั่นเอง 

 

นักศึกษาจัดการความรู้เพื่อยกระดับสมรรถนะ (competencies) ของตนเอง

สมรรถนะประกอบด้วย ๔ องค์ประกอบคือ VASK (๔)    เป็นเรื่องที่ต้องเรียนโดยการฝึก หรือโดยการเรียนรู้เชิงรุก   เป็นวงจรยกระดับความลึก และยกระดับความเชื่อมโยง ขึ้นไปเรื่อยๆ    ผ่านวงจร Kolb’s Experiential Learning Cycle (๕)  (๖)  (ดูนาทีที่ ๑๐ – ๑๖)    และวงจรเรียนรู้สองเด้ง (double-loop learning) (๖) (ดูนาทีที่ ๑๖ - ๑๙)        

 

จัดการความรู้สู่การพัฒนาปัญญา

เริ่มจากข้อมูล (data)    ที่เมื่อมีการจัดระบบ ก็จะยกระดับเป็น สารสนเทศ (information)   และเมื่อมีการตีความหาความหมายเพื่อใช้ประโยชน์ ก็ยกระดับเป็น ความรู้ (knowledge)    ซึ่งมีหลายมิติของความลึกและความเชื่อมโยงดังกล่าวแล้ว     คนเราจัดการความรู้เพื่อเป้าหมาย ๓ ประการ คือ  (๑) ยกระดับและเชื่อมโยงปัญญาของตนเอง  (๒) ยกระดับผลงาน  (๓) ทำให้หน่วยงานของตนเป็นองค์กรเรียนรู้   ซึ่งอาจขยายสู่เป้าหมายประการที่ ๔ คือ สังคมมีการเรียนรู้    เป้าหมายที่ ๓ และ ๔ จึงเป็นเรื่องของปัญญารวมหมู่ หรือปัญญาของส่วนรวม   

 

เริ่มที่ทักษะการฟัง หรือรับฟัง

การเรียนรู้ที่แท้ เป็นการตีความประสบการณ์ตรง    ผ่านการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจึงเรียกว่า reflective learning    โดยธรรมชาติของมนุษย์ แต่ละคนจะคิดไม่เหมือนกัน    การรับฟังซึ่งกันและกัน ผสานกับการเปิดใจบอกข้อตีความโดยสมาชิกแต่ละคน    จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้เป็นทีมที่ทรงพลังมาก    นักศึกษาพึงฝึกสมรรถนะการเรียนรู้นี้    ซึ่งจะเป็นคุณต่อตนเองไปตลอดชีวิต   

ทักษะการฟังหรือรับฟัง โดยเฉพาะการรับฟังความเห็นที่ต่างจากความเห็นของตนเอง จึงเป็นทักษะ KM ที่มีค่ายิ่ง   

 

การจัดการความรู้ในมุมของนักศึกษา

 การจัดการความรู้ในมุมของนักศึกษา เป็นเครื่องมือให้มีกระบวนการเรียนรู้แบบ เรียนรู้เชิงรุก (active learning)   ใช้ทั้งพลังของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการเรียนรู้จากทฤษฎีหรือวิธีการที่มีผู้คิดหรือกำหนดไว้ก่อนแล้ว    ให้เกิดการเสริมพลัง (synergy) กัน    เป็นกระบวนการที่หนุนให้นักศึกษากล้าคิดหลักการหรือทฤษฎีในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยตนเอง     ผ่านการสะท้อนคิดจากการปฏิบัติ (reflective learning)    หมุนเป็นวงจร 

เท่ากับ KM เป็นเครื่องมือหนุนให้นักศึกษาพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning skills) ให้แก่ตนเอง 

 

Knowledge Sharing

การจัดการความรู้ เป็นการหมุนวงจรการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง   เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจขึ้นไปอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด    โดยที่การหมุนวงจรดังกล่าวทำเป็นทีม    ไม่ใช่ทำคนเดียว   

การจัดการความรู้จึงเป็นเครื่องมือของการเรียนเป็นทีมของนักศึกษา     หนุนโดยบรรยายกาศของการร่วมมือช่วยเหลือกัน (collaboration) เป็นหลัก    ไม่ใช่มุ่งแข่งขันกัน (competition) แบบตัวใครตัวมัน    อาจารย์ต้องมีวิธีสร้าง ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการร่วมมือ ไม่ใช่ระบบที่เอื้อต่อการแข่งขัน   

วัฒนธรรม แชร์ความรู้   แชร์การตีความจากมุมของตนเอง แบบพูดออกมาจากใจ และรับฟัง ให้เกียรติ ซึ่งกันและกันจึงมีความสำคัญยิ่ง   นักศึกษาพึงร่วมกันสร้างวัฒนธรรมนี้ตลอดเวลา ... ปีที่เรียนด้วยกัน   

วิจารณ์ พานิช

๑๒ มิ.ย. ๖๕       

    

หมายเลขบันทึก: 703017เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2022 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2022 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท