ชีวิตที่พอเพียง  4222. KM กับ Kolb’s Experiential Learning Cycle


 

KM เป็นเครื่องมือเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ  ผ่านการทำงานและเรียนรู้เป็นทีม   ผ่านการนำความรู้ไปใช้ในการทำงาน  และสะท้อนคิดจากประสบการณ์หรือผลที่ได้รับออกมาเป็นความรู้ใหม่   

ผมเพิ่งค้นพบเครื่องมืออีกตัวหนึ่ง ที่จะช่วยให้การจัดการความรู้มีพลัง   เกิดการยกระดับความรู้ และก่อเกิดนวัตกรรมได้ง่าย    คือ Kolb’s Experiential Learning Cycle 

                                      TimelineDescription automatically generated

 อ้างอิง https://www.medical-interviews.co.uk/blog/benefits-experiential-learning-kolbs-learning-cycle-training       

Kolb’s Experiential Learning Cycle เป็นวงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ    เริ่มจากการปฏิบัติหรือประสบการณ์ตรง (concrete experience) หรือการทำงานนั้นเอง    จะเกิดการเรียนรู้ที่ดีผู้นั้นต้องช่างสังเกต เก็บข้อมูลจากประสบการณ์การทำงานนั้น   เอามาคิดแบบที่เรียกว่าสะท้อนคิด หรือใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ตามขั้นตอนที่ ๒ ในรูป    ทักษะของการใคร่ครวญสะท้อนคิดให้ลึกและกว้างหรือเชื่อมโยง (critical reflection) จึงสำคัญมากต่อการจัดการความรู้   คนที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีคลังความรู้ในตัวมาก ที่เรียกว่ามี long-term memory มาก   สำหรับดึงออกมาใคร่ครวญตรวจสอบประสบการณ์จากงานที่กำลังเกิดขึ้น   

การใคร่ครวญที่มีพลังต้องนำไปสู่การคิดหลักการ (concept) ตามในขั้นตอนที่ ๓ ในรูป   การเรียนรู้จากการปฏิบัติที่แท้จริงอยู่ที่ขั้นตอนนี้   คือการสร้างความรู้ใหม่ในระดับหลักการหรือทฤษฎีจากการปฏิบัติ    ที่อาจเป็นหลักการเล็กๆ แต่มีความหมายต่องานนั้น    โดยที่ต้องเอาหลักการที่คิดขึ้นไปทดลองใช้ในสถานการณ์ใหม่ ว่าใช้ได้ผลจริงหรือไม่   หรือเอาไปใช้ในสถานการณ์เดิม เพื่อใช้หลักการไปปรับวิธีการให้ได้ผลลัพธ์ของงานคุณภาพดียิ่งขึ้น (ขั้นตอนที่ ๔ ในรูป)    ก็จะครบวงจรของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่ให้ผลสูงส่ง   

ผู้ที่หมุนวงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติของศาสตราจารย์ Kolb ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งบ่อยๆ    การเชื่อมโยงใยประสาทในสมองส่วนนอก (neo-cortex) จะเป็นระบบและแน่นแฟ้น    ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น   

ยิ่งถ้าหมุนวงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติของ Kolb ร่วมกันในหมู่สมาชิกของทีมงาน   ระดับการเรียนรู้จะยิ่งสูงขึ้นในแต่ละบุคคล    เพราะในช่วง reflection แต่ละคนจะสะท้อนออกมาต่างกัน   เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายกว้างขวางยิ่งขึ้น    รวมทั้งได้เรียนรู้ฝึกฝน collaborative skills, และ listening skills  ที่เป็นส่วนหนึ่งของ leadership skills อีกด้วย   

หลักการ KM ที่มีอยู่ เน้น การสร้างความรู้ (knowledge creation) มาก    วงจร Kolb’s Cycle ช่วยเตือนเราว่า    การสร้างความรู้ในรูปแบบที่สำคัญมากคือการพัฒนาหลักการหรือทฤษฎีจากการปฏิบัติของเราเอง (conceptualization)                  

บันทึกนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากการเข้าร่วมประชุมคณะทำงานจัดการความรู้ของ สกสว. เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๕   เช่นเดียวกับบันทึกเรื่อง KM ตอนที่แล้ว (๑) ที่ได้รับจากการประชุมคณะทำงานชุดนี้เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔   

วิจารณ์พานิช   

๑๙ เม.ย. ๖๕   

 

        

หมายเลขบันทึก: 702755เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2022 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2022 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Somehow, I relate that to practice-to-research and research-to-practice in cycle.

And I can relate Kolb’s ELC back to ขันธ์ 5 (concrete) รูป; (abstract) เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ. ขันธ์ 5 can be viewed as steps in a learning process. Here, ‘Learning’ is a cycle of ‘concrete experience’ (รูป) getting ‘perceived’ ( เวทนา) , recognized (สัญญา), synthesized (สังขาร) and ‘learned’ (วิญญาณ); then from applications of what have been learned ‘concrete experience’ arises and …

It is unfortunate that Thai meanings for these Palī terms obscure the greater understanding of the Buddha teaching and prevent its applications in Thailand.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท