ชีวิตที่พอเพียง 4061. KM ระดับองค์กร


 

วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔ มีการประชุมคณะทำงานการจัดการความรู้ ด้านการพัฒนาองค์กร ของ สกสว.  ผมเข้าร่วมประชุมในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการ    เปิดโอกาสให้ได้ใคร่ครวญสะท้อนคิดเรื่องการดำเนินการ KM ระดับองค์กร   

ถามว่า  “องค์กรที่ต้องการเอา KM มาใช้  ควรตั้งเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ ขององค์กรไว้อย่างไร”    คำตอบของผมคือ เป็นองค์กรเรียนรู้ และองค์กรสมรรถนะสูง มีการปรับตัวสูงและรวดเร็ว     หลักการสำคัญยิ่งคือ ในการปฏิบัติงานใดก็ตาม ต้องหวังผล ๓ ด้าน คือ  (๑) ผลงาน  (๒) การพัฒนาคน  (๓) การเรียนรู้ขององค์กร   

นำสู่คำถามที่สอง  “ความรู้สำคัญที่สุดสำหรับองค์กร ๕ ประการแรกคืออะไร”     ถามง่าย แต่ตอบยาก    ต้องร่วมกันตอบ    และต้องโยงสู่ core business ขององค์กร   คำถามจึงต้องเปลี่ยนเป็น “เพื่อบรรลุเป้าหมายตามภารกิจหลักขององค์กร ความรู้สำคัญที่สุด ๕ ประการแรกคืออะไร” 

คำถามที่สาม  “ระบบ ICT สำหรับหนุนการสร้าง แลกเปลี่ยน เข้าถึง และสั่งสมความรู้สำคัญ เป็นอย่างไร”  ในยุคนี้ ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยหนุน KM อย่างชาญฉลาด 

คำถามที่สี่  “มีกลวิธีอย่างไรบ้าง เพื่อให้มีการปลดปล่อยความรู้ในตัวคน ออกมาเป็นความรู้ส่วนรวมขององค์กร”   ทั้งที่เป็น explicit knowledge ขององค์กร  และ tacit knowledge ของเพื่อนพนักงาน   

คำถามที่ห้า “ระบบส่งเสริมการสร้างความรู้สำคัญขององค์กรเป็นอย่างไร”   ทั้งที่เป็นกกไกส่งเสริมการสร้างสรรค์ระดับบุคคล  และระดับทีมงาน    นี่คือการส่งเสริม creativity ในองค์กร   

คำถามที่หก  “ระบบส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหน่วยงาน และในองค์กร เป็นอย่างไร”   โดยที่ knowledge sharing เป็นกลไกส่งเสริม knowledge creation   และ knowledge capture ไปด้วยในตัว    

คำถามที่เจ็ด  “ทำอย่างไรให้กิจการ KM ใช้ทรัพยากรไม่เกินร้อยละ ๑๐ ขององค์กร แต่ก่อผลกระทบมากกว่านั้นหลายเท่า”    นี่คือการจัดระบบการทำงานทึ่บูรณาการการจัดการความรู้ไว้ในระบบงาน   มีส่วนของการจัดการความรู้ที่แยกออกมาน้อยที่สุด    และทำให้ระบบ KM ขององค์กร เป็นระบบที่เรียนรู้และปรับตัวด้วย 

คำถามที่แปด  “ทำอย่างไรให้การเรียนรู้ขององค์กร เป็น Double-loop Learning (DLL)”    คำถามนี้สำคัญมากสำหรับ สกสว. ที่เป็นองค์กรภาครัฐ ที่ไม่ใช่หน่วยราชการ   และทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ    ในสภาพเช่นนี้    การทำงานแบบมีการเรียนรู้สูง    จะพบว่า สมมติฐานหรือกระบวนทัศน์ที่ใช้อยู่เดิมบางประการไม่เหมาะสม    หากข้อค้นพบนี้ไม่สอดคล้องกับสมมติฐานเดิมของ สกสว. และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสมมติฐาน ก็เท่ากับเกิด DLL ขึ้นใน สกสว.  แต่หากข้อค้นพบนั้นไม่สอดคล้องกับ กฎหมาย จึงต้องเฉยๆ ไว้     สกสว. ก็จะอยู่ในฐานะไม่สร้าง DLL ระดับประเทศ    และไม่สร้างพัฒนาการที่แท้จริงของระบบ ววน. ของประเทศ   

จะเห็นว่า สกสว. เป็นองค์กรหลัก ในการพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ    KM ของ สกสว. จึงน่าจะต้องส่งผลต่อการพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ    ทั้งในส่วนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย    และในส่วนที่กฎหมายคิดไม่ถึง  หรือคิดผิด   

ข้างบนนั้นเขียนก่อนการประชุม    ในการประชุมจริง ประธานคือ ผศ. เชิญโชค ศรขวัญ เตรียมตัวมาดีมาก   และท่านเข้าใจเรื่อง KM ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของ LO  และ HPO อย่างดีมาก    จึงมีการคิดโครงสร้างของ KM อย่างเป็นระบบ และบูรณาการกับงานหลัก    ผมได้ตระหนักว่า กระบวนการจัดการคุณภาพได้วางโครงสร้าง KM ไว้อย่างดีมาก                  

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๖๔

   

หมายเลขบันทึก: 692724เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2021 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2021 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท