ออกงิ้ว


ออกงิ้ว

งิ้ว หรือ อุปรากรจีน (Chinese opera) เป็นการแสดงที่ผสมผสานการขับร้องและการเจรจาประกอบลีลาท่าทางของนักแสดงให้ออกมาเป็นเรื่องราว โดยสมัยนั้นได้นำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเป็นบทแสดง รวมทั้งนำเอาความเชื่อทางประเพณีและศาสนาเข้าไปผสมผสานกับการแสดงงิ้วด้วย เดิมประเทศจีนมีงิ้วราว 300 กว่าประเภท ส่วนใหญ่จะเป็นงิ้วท้องถิ่น ส่วนงิ้วระดับประเทศ ได้แก่ งิ้วปักกิ่ง งิ้วเส้าชิง งิ้วเหอหนัน และงิ้วกวางตุ้ง โดยงิ้วปักกิ่งเป็นงิ้วที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มีประวัติยาวนานถึง 200 ปี มีชื่อในภาษาจีนว่า "จิงจวี้" เป็นงิ้วที่สมบูรณ์ที่สุด รวมการขับร้อง การพูด การแสดงลีลา การแสดงศิลปะการต่อสู้ และระบำรำฟ้อนไว้ด้วยกัน โดยปัจจุบันถือว่างิ้วปักกิ่งเป็นตัวแทนงิ้วประจำชาติจีน

ในบรรดางิ้วจีนกว่า 300 ประเภท งิ้วคุนฉวี่ งิ้วกวางตุ้ง และงิ้วปักกิ่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในปี 2001, 2009 และ 2010 ตามลำดับ

ประวัติงิ้ว 

เริ่มต้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1179 - ค.ศ. 1276) ทางภาคใต้ของจีนมีคณะงิ้วที่มีชื่อเสียงได้เปิดการแสดงที่มีบทพูดเป็นโคลงกลอนสลับกับการขับร้อง โดยใช้วงเครื่องดีดสีตีเป่าประกอบการแสดง

ทางภาคเหนือนั้นราวช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ในสมัยราชวงศ์หยวนเกิดรูปแบบของงิ้วเรียกว่า "จิงจวี้" โดยมักแบ่งการแสดงออกเป็น 4 องก์ โดยตัวละครเอกเท่านั้นที่จะมีบทร้องเป็นทำนองเดียวตลอดเรื่อง ส่วนตัวประกอบอื่นอาศัยการพูดประกอบ ขณะที่อุปรากรฝ่ายเหนือเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางชั้นสูง เรื่องราวที่แสดงจึงมักดัดแปลงมาจากพงศาดารหรือประวัติศาสตร์ ส่วนทางใต้นั้นผู้คนนิยมดูงิ้วที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องเล่าพื้นบ้าน

ในศตวรรษที่ 16 บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบ ผู้คนเริ่มมีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้วงการวรรณกรรมเฟื่องฟูไปด้วย ซึ่งส่งผลทำให้บทร้องอุปรากรสละสลวยยิ่งขึ้น โดยนายเว่ย เหลียงฝู่ได้นำนิยายพื้นบ้านเรียกว่า “คุนฉวี่” มาเขียนเป็นบทร้อง มีสไตล์การร้องที่อ่อนหวาน ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น ส่วนใหญ่คือกลองและขลุ่ย

ในศตวรรษที่18 เกิดอุปรากรแบบใหม่ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบของงิ้วปัจจุบัน อุปราการดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายนับตั้งแต่เปิดการแสดงในงานฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของเฉียนหลงฮ่องเต้ (1736 - 1796) ในจำนวนคณะงิ้วที่เข้ามาแสดงเหล่านี้รวมถึงคณะงิ้วของนายเว่ย จางเฉิน จากเสฉวน ซึ่งนำเทคนิคการแสดงงิ้วแบบใหม่เข้ามาเผยแพร่ในเมืองหลวง จนกระทั่งปลายราชวงศ์ชิง งิ้วจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไปหลายร้อยแบบ ทั้งในด้านการร้อง การจัดฉาก เพลง แต่ส่วนใหญ่นำเนื้อเรื่องมาจากคุนฉวี่ หรือนิยายที่เป็นที่นิยมนั่นเอง

สมัยของพระนางซูสีไทเฮา การแสดงงิ้วในเมืองจีนถือว่าได้รับความนิยมสูงสุด จนกระทั่งสิ้นสุดสมัยของพระนาง คณะงิ้วที่เคยได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากราชสำนักและขุนนางต่างๆ ก็ต้องหันมาพึ่งตัวเองและแพร่ขยายออกไปสู่ผู้คนทั่วไปมากขึ้น
การแสดงงิ้วตามเอกสารเก่าที่สุดที่มีการพูดถึงการแสดงงิ้ว คือ บันทึกของบาทหลวงชัวซีย์ที่เข้ามาอยุธยาเพื่อเจริญไมตรีเมื่อพ.ศ.2228 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการกล่าวถึงการแสดงในงานฉลองที่ทำเนียบของพระยาวิชเยนทร์ (คอนแสตนติน ฟอลคอน) นักเดินทางและพ่อค้าที่ภายหลังรับราชการในราชสำนักจนเจริญรุ่งเรือง ข้อความตอนหนึ่งมีว่า


"...งานฉลองปิดท้ายรายการลงด้วยงิ้วหรือโศกนาฏกรรมจีน มีตัวแสดงจากมณฑลกวางตุ้งคณะหนึ่ง และจากเมืองจินเจาคณะหนึ่ง..."

ส่วนบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด (Tachard) ผู้เดินทางเข้ามาสมัยเดียวกับบาทหลวงชัวซีย์ ก็กล่าวถึงการแสดงรื่นเริงต้อนรับราชทูต การแสดงเป็นงิ้วบู๊แนวตลก หลังจากนั้นก็มีหุ่นกระบอกของชาวลาว ฟ้อนรำของชาวสยาม และการแสดงของอีกหลายกลุ่ม ปิดท้ายด้วยการแสดงจากจีนอีก

ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเป็นราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพ.ศ. 2230 และมีบันทึกอีกช่วงหนึ่งเมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในสมัยกรุงธนบุรี ครั้งมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตล่องน้ำมายังพระนคร นอกจากขบวนแห่จะมี โขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์แล้ว ยังมีคณะงิ้วอีก 2 ลำเรือแสดงล่องลงมาด้วยกันอีกด้วย


ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ งิ้วถูกนำมาประกอบพิธีในราชสำนัก อาทิ งิ้วประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระศพ ในการสร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ท้องสนามหลวง ปีพ.ศ. 2354 สร้าง "โรงโขน โรงละคร โรงงิ้ว สิ่งละ 2 โรง"
เวลาต่อมาการแสดงงิ้วในเมืองไทยได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมัยนั้นมีทั้งคณะของไทยและจีน และยังมีการเปิดโรงเรียนสอนงิ้วและโรงงิ้วแสดงเป็นประจำมากมายบนถนนเยาวราช 

ต่อมาความนิยมงิ้วลดลงอย่างมาก โรงเรียนสอนงิ้วและโรงงิ้วที่เคยมีตามถนนสายเยาวราชพากันปิดตัวลง โรงงิ้วที่ให้ความบันเทิงก็แทบจะไม่หลงเหลือ มีเพียงแค่คณะงิ้วที่เร่ร่อนเดินสายไปแสดงตามศาลเจ้าต่างๆในงานฉลองประจำปี

งิ้วในละครโทรทัศน์

เสน่ห์นางงิ้ว เป็นละครโทรทัศน์แนว พีเรียต-ดราม่า-โรแมนติก จากบทประพันธ์ของ ภราดร ศักดา สร้างเป็นละครโทรทัศน์มาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2542 , 2551 และ 2561 มีเนื้อหาสาระสะท้อนสังคม ความแตกต่างทางสังคมของชาวจีนที่อาศัยในประเทศไทย ผ่าน 2 ครอบครัว คือ ครอบครัวเกียรติกำจรเจ้าของกิจการโรงน้ำปลา และครอบครัวแซ่โง้วเจ้าของคณะงิ้วไซป้อ และละครโทรทัศน์เรื่องเลือดมังกร ตอนหงส์ ซึ่งเป็นเรื่องราวของลูกสาวคนเล็กของเถ้าแก่สุง หัวหน้าแก๊งหงส์ดำ และเจ้าของคณะงิ้วเฟิ่งหวง คณะงิ้วเก่าแก่ของเยาวราช

งิ้วในภาพยนตร์

ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของฮ่องกงและเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ดีที่สุดของ โจว เหวินฟะ ในรอบ 10 ปี เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้คนสุดท้าย The last Tycoon ภาพยนตร์ในปี 2013 มีเนื้อหาเกี่ยวกับคณะงิ้วปักกิ่ง และการเดินทางมาเปิดการแสดงงิ้วรอบพิเศษในเมืองเซี่ยงไฮ้ นับเป็นการแสดงงิ้วครั้งสุดท้ายก่อนที่เมืองเซี่ยงไฮ้จะถูกทำลายล้างจากไฟสงคราม

สำนวน " ออกงิ้ว " หมายถึง การแสดงอาการโกรธโดยท่าทางและส่งเสียงเอะอะตึงตังอย่างเล่นงิ้ว

ที่มาของสำนวน มาจากการแสดงงิ้ว เมื่อถึงบทโกรธ ผู้แสดงจะส่งเสียง ว๊าก! ด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด เครื่องดนตรีก็จะรับ ทำให้ผู้ชมพลอยมีอารมณ์ตื่นตระหนกไปด้วย ผู้ที่แสดงอาการโกรธจนออกนอกหน้า จึงใช้สำนวนว่า “ออกงิ้ว”

ตัวอย่างการใช้สำนวน"ออกงิ้ว"

หล่อนโกรธจนออกงิ้วขนาดนี้ อย่าเพิ่งเข้าไปจะดีกว่า เดี๋ยวจะโดนลูกหลงเอา

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต 

 

 

หมายเลขบันทึก: 692723เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2021 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท