ขยะแห่งการยกระดับใจ


ต้นตอของการแยกขยะอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ การรณรงค์ให้คนมีจิตสำนึกที่จะแยกขยะด้วยการโฆษณา เป็นถ้อยคำและตัวหนังสือ แต่อยู่ที่สำนึกภายใน

ช่วงเดือนกันยายน ที่ผ่านมา คณะพวกเราทั้งหมดเกือบหกสิบชีวิต ได้พากันเดินทางไปดูงานที่นาของอาจารย์แสวง ที่ขอนแก่น  ตามคำท้าทายของอาจารย์ว่าให้ไปดู ความเป็นไปได้ของการทำนาไม่ไถ ซึ่งเป็นที่กังขาของชาวบ้านมากว่า เป็นไปได้อย่างไร หญ้ามันจะไม่ขึ้นหรือ มันจะได้กินข้าวหรือ  ก่อนหน้านั้นอาจารย์ได้มีโอกาสมาพบปะเสนอความคิดกับชาวบ้านของเราแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นก็กระตุกความคิดชาวบ้านมาก ดิฉันก็เห็นเป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้ทดลองสิ่งที่เป็นสุดยอดของการทำนา ซึ่งจริง ๆ  แล้วชาวบ้านเคยได้มีโอกาสปะทะกับความคิดแบบนี้แล้วครั้งหนึ่งครั้งที่พากันไปดูงานที่บุรีรัมย์ ค้างกับพ่อคำเดื่อง ๑  คืน แต่คิดว่าตอนนั้นสิ่งที่รู้นั้นยังมีฐานรองรับไม่พอ ทำให้สิ่งนั้นก็ลอยไปตามลม ไม่ลงหลักปักฐาน 

คราวที่ได้เจอกับอาจารย์แสวง ชาวบ้านเหลือใจมากพูดไม่ทันอาจารย์ คิดก็ไม่ทัน แต่ก็เป็นบรรยากาศที่ท้าทายความคิดอ่านอย่างดุเดือด ดูเหมือนชาวบ้านก็อยากต่อสู้กับการท้าทายของอาจารย์ หรือว่าบริบททางเศรษฐกิจสังคมมันช่วยทำให้ต้องสนใจมากขึ้น เนื่องจากมูลค่าการลงทุนในนาแพงขึ้นทุกกปี เหนื่อยเพิ่มมากขึ้นทุกปี แรงงานคนก็น้อยลงไปเรื่อย  ๆ ไม่แน่ใจ  การทำนาที่จะปรับมาเป็นการปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของเขาตามแบบของเขา เราเป็นเพียงแต่ผู้ช่วย แต่ที่แน่ ๆ  คือการพบปะครั้งนั้นเป็นโอกาสที่จะชาวบ้านจะได้ปะทะสังสรรค์กับนักวิชาการ(เดินดิน)ผ่านการทำงานในวิถีของชาวบ้านเอง ส่วนดิฉันเองก็คิดว่าก็จะได้พลังจากอาจารย์แสวงมาช่วยทำให้น้ำหนักของการผลักดันการทดลองของชาวบ้านซึ่งเป็นงานของดิฉันโดยตรง  เมื่อได้ประจักษ์แก่สายตา ชาวบ้านก็กลับมาซุบซิบ ซุบซิบ กัน 

เพิ่นปลูกต้นไม้หลาย     

  ต้นไม้อยู่แน่นกันเลย  "                                 

  ผมยังไม่เชื่อ แต่ผมจะทดลองก่อน                                     "ปลาก็มี ผักก็มี                                                                    ข้าวงามหลาย แต่ว่ามันปนกันไปหมด เพิ่นจะขายได้หรือ หรือว่าจะเกี่ยว จะกินอย่างไร

พวกเราได้เห็นการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุที่ย่อยสลายได้มาคลุมดิน ถนอมดินไว้จากความรุนแรงของดินฟ้าอากาศ การออกแบบนาที่ใช้ความรู้เข้ามาประกอบ และความพากเพียรของอาจารย์และอาจารย์แม็คที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ

เดิมดิฉันก็สนใจเศษวัสดุที่เหลือใช้จากครัวเรือน จากร้านค้า จากต้นไม้ จากแม่ค้า จากเพื่อนบ้านเหมือนกัน ดิฉันกับคุณปุ๊  คุณทุวัน ประกิต เก้า หนุ่ย  น้อง ๆ  ที่เคยทำงานด้วยกันต่างคราวต่างวาระ ล้วนมีประสบการณ์การขนเศษจากข้างถนนเพื่อไปถมในนา ก็ดีที่น้อง ๆ เหล่านี้ไม่รู้สึกอายกับการไปขน ขยะ ในความรู้สึกของผู้อื่น

สำหรับดิฉันการได้เรียนรู้จากอาจารย์แสวงทำให้รู้สึกคึกคักว่า สิ่งที่เราทำนั้น มีคนอื่นเขาก็ทำอยู่แล้ว สิ่งที่เคยขนก็มีเปลือกมะพร้าว ฟาง  เศษทุเรียน เขาเอามาเททิ้งให้ในบ้าน

ดิฉันรู้สึกว่าแรงเหนี่ยวนำจากขยะต่อดิฉันมีมากขึ้นทุกที จะว่ามากก็ไม่เชิง แต่เป็นแบบที่เกี่ยวข้องกันมากขึ้น ๆ  เรื่อย ๆ  นับตั้งแต่ได้ยินเรื่อง นาไม่ไถ ซึ่งจำเป็นต้องมีวัสดุคลุมดิน ต่อมาแถวบ้านดิฉันโค่นต้นฉำฉาลง  ถากลำต้นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย  วันรุ่งขึ้นดิฉันก็รีบไปขนมากองไว้ที่บ้าน ต่อมาก็ทยอยไปขนใบของมัน ช่างที่ทำงานอยู่บอกว่ามาเอาเลยครับ ขนอยู่หลายวัน คนก็มอง บ้างก็ถามเอามาทำอะไร ต่อมาเห็นกองใบไม้ที่พนักงานกวาดถนนกวาดกองไว้รอเก็บไปทิ้งที่อื่น  ก็ไปเก็บ แสนสบายใบไม้สะอาดและเบา สนุกกับการเก็บมาก คนผ่านมาถามว่าทำอะไร ดิฉันบอกว่ามาช่วยเทศบาลกวาดถนน  ต่อมาดิฉันก็ยกระดับขึ้นมา เพื่อนบ้านขายยำสารพัดยำ หนึ่งในนั้นคือยำหอยแครงวันละเกือบ ๑๕  กก. ก็เลยลองเอามาปูทางเดินในสวนที่บ้าน แล้วก็คิดเผื่อมันจะทำประโยชน์ได้ เป็นแคลเซียมหรืออื่น ๆ  ก็เลยขออาจารย์ทนาย ( เพื่อนร่วมงาน )  ให้ช่วยขุดหลุมเก็บหอยไปเลย เผื่อจะใช้จะได้ตักเอาในหลุม ทำหลุมเป็นทางเดิน ทางน้ำไปสู่กอไผ่หลังบ้าน เผื่อได้กินแกงหน่อไม้นอกฤดู แล้วก็คิดจะทดลองอื่น ๆ  ต่อไป พี่ข้างบ้านกระซิบเบา ๆ  รู้ไหม เขาเรียกบ้านตุ๊ว่า  บ้านขยะ  ดิฉันชอบใจเป็นอันมาก  เหรอ...ดี...

ยกระดับขึ้นมาอีก คราวนี้ปั่นจักรยานไปไหน ก็เที่ยวได้สอดส่ายมองเศษวัสดุต่าง ๆ  เห็นเยอะแยะเลยที่จะเอามาทำประโยชน์ได้ 

ดิฉันได้ทำโครงการที่จะจัดการเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ไม่ผ่านการอนุมัติ   ดิฉันคิดว่าต้นตอของการแยกขยะอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ การรณรงค์ให้คนมีจิตสำนึกที่จะแยกขยะด้วยการโฆษณา เป็นถ้อยคำและตัวหนังสือ แต่อยู่ที่สำนึกจากภายในที่จะเห็นคุณค่าของสิ่งที่สลายตัวเองไปตามธรรมชาติของเขา เราไปจัดวางเขาไว้ให้ถูกที่ก็จะกลายเป็นคุณูปการต่อเนื่องให้กับสิ่งอื่นๆ   และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตการปลูก การกินของเขาเอง

ล่าสุดนี้เราไปล่าขยะในงานกาชาดเลย ไปเก็บเศษเปลือกมะพร้าวน้ำหอมที่เขาเอามาขาย กองเป็นภูเขาเลากา ก็พากันไปเก็บ เห็นลูกมะพร้าวที่เขาคว้านเนื้อไม่หมด กินก็ยังได้ เอามาทำน้ำหมักหอมสมชื่อ เอามาทำกับข้าวส่วนหนึ่ง เพราะมะพร้าวที่แก่เขาจะทิ้งเลย เราก็มีความสุขกับการเก็บ   หลัง ๆ  มาดิฉันเป็นเอามากถึงขั้นว่า ผ่านไปเห็นกองใบฉำฉาที่ทิ้งอยู่ข้างทาง ถึงกับน้ำลายไหล นึกจินตนาการไปว่า เอาไปคลุมโคนต้นไม้ ต้นไม้คงกินแซ่บอีหลี อะไรก็ไม่ร้ายเท่าเวลาไปกรุงเทพแล้วไปเห็นเศษสิ่งของพวกนี้  โอย  ถ้ามีใครทำอะไรขึ้นมาจากวัสดุเหล่านี้น่าจะเป็นนวัตกรรมอันวิเศษ

สิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่อง ใหม่  ก่อนหน้าที่ดิฉันทำ มี อาจารย์แสวง พ่อคำเดื่อง ฟูกูโอกะ และอาจมีใครอื่น ๆ  อีกหลายจนนับไม่ถ้วนได้ทำแล้ว แต่เราไม่รู้ดิฉันถึงกับบังอาจคิดสงสัยว่า  มันไม่มีคำว่า ใหม่   เหมือน ๆ  กับคำว่า ล้มเหลว สำเร็จ ถูก ผิด ....และอาจมีชุดคำอื่น ๆ    ที่มันถูกสร้าง ถูกนำไปใช้โดยใครก็ไม่รู้ แล้วมันก็แพร่หลายมนุษย์  มีพัฒนาการมา เป็นแสน เป็นล้านล้านปี   มันไม่น่าจะมีอะไรใหม่  ประเด็นความ ใหม่ น่าจะเกี่ยวพันกับบริบทอื่นๆ ....ขอหยุดไปเก็บขยะก่อนค่ะ  ความคิดกำลังพลุ่งพล่านแต่ยังเขียนออกมาให้ลงตัวไม่ได้ ......ติดตามอ่านตอนต่อไปค่ะ....ที่จะตอบคำถาม อาจารย์แสวง  การ "รู้ใหม่".....  

คำสำคัญ (Tags): #ใหม่#สำนึก
หมายเลขบันทึก: 70104เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2006 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • อะไรไม่ใหม่สำหรับใคร ก็ยังใหม่สำหรับผมอยู่ดีแหละครับ
  • ผมจะสู้จนหมดแรงสู้ในทุกมุมชีวิต
  • แต่ผมก็มีขีดจำกัดเหมือนกัน
  • หรือผมจะมีที่ที่ทำให้หยุด
  • หรือผมเป็นคนเพ้อฝันเกินไป
  • ผมเริ่มไม่แน่ใจ ว่าโลกที่แท้จริงที่น่าจะเป็นคืออะไร
  • ผมกำลังหลับหรือตื่น
  • ถ้าหลับ ใครมาสะกิดให้ผมตื่นได้ไหม
  • คุณตุ๊ ผมว่าคุณไปเขียนนิยายขายน่าจะรุ่งนะครับ

ดิฉันไม่ชอบสู้ค่ะ กลัวหมดแรง ดิฉันชอบดันในเงื่อนไขที่มีฐานอยู่แล้วและสอดคล้องกับตัวเองด้วย ดิฉันรู้ว่าจะเคลื่อนแบบไหนมันถึงจะอบอุ่นในใจตัวเอง ดิฉันชอบสัมพันธภาพของชีวิตโดยเฉพาะกับผู้คนที่ดำรงชีวิตอยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติตรง ๆ 

แน่นอนดิฉันมีขีดจำกัดด้วย และดิฉันคิดว่า ความเพ้อและความฝัน ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง คืนเดือนดับ หน้าเกี่ยวข้าว ในความรัก ความห่วงใยกันและกัน แสงนวลของพระจันทร์นั้นอ่อนหวานนะคะอาจารย์ จะอ่อนหวานมากยิ่งหลายเท่า ถ้าหมู่ชาวบ้านของเราเป็นไทแก่ตนเอง เพราะถ้าถึงตอนนั้น เราก็จะสามารถไปนอนในทุ่งนาที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องกลัว หวาดระแวง ชาวบ้านก็จะพากันฟื้นประเพณี สร้างสรรค์ศิลปอันอ่อนหวานให้เราได้ดื่มชิม ข้าวปลาอาหารก็จะดกดื่นเต็มผืนแผ่นดิน...... ความเพ้อฝันได้สร้างแผนที่เดินทางในอนาคตเตรียมไว้ให้เราล่วงหน้า...(บางคำยืมมาจาก พี่ใหญ่..วิศิษญ์  วังวิญญู)

หลับหรือตื่นก็หาใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป 

ความคิดสุดท้าย ชมหรือว่าไร้สาระคะอาจารย์

  • ดีนะที่ใจไม่เป็นขยะ
  • ถ้าขยะเต็มหัวใจ ไม่รู้จะเอาไปทำปุ๋ยชีวภาพได้ป่าว
  • แหมพูดออกมาได้ดิฉันชอบดัน แบบนี้ต้องพกแม่แรงติดตัวแล้วหละ
  • อ.แสวง นี่มีประชาสัมพันธ์เยอะไปหมด
  • แบบนี้ใครไปดูที่นา ก็คุ้มหลายด้าน หลายมิติ

  ตุ๊..เขาเขียนนิยายอยู่แล้ว เล่าฮูไม่รู้อะไร

นี่คือนวัตกรรมนิยาย

คนอื่นเขียนชีวิตจริงเป็นนิยาย

แต่ยายคนนี้ เขียนนิยายให้เป็นชีวิตจริง

ไม่ดังก็ยังมีข้าวมีผักปลากิน

เพราะแกทำชีวิตให้อร่อยและปลอดภัย

นี่แหละมนุษย์อินทรีย์ตัวจริง

ขนาดลมหายใจยังไร้สารพิษเล๊ย ยายคนนี้หน่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท