มอง “คนชายขอบ” ด้วยสายตา Empathy ต้องมองในมิติเชิงซ้อนอย่างน้อมใจ


 

วันนี้ 8 มีนา 65 เป็นอีกวันดีๆ ที่ได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษแก่นักศึกษาสาขาการจัดการทางสังคม ม.บูรพา อีกครั้ง วันนี้มาในหัวข้อ การจัดการทางสังคมของคนชายขอบ ยุค COVID-19 : ปฏิบัติการของครอบครัว เครือญาติ และชุมชน

หัวข้อร่วมสมัยเลยทีเดียว อืม ประเด็นนี้ก็ไม่ง่ายซะด้วย เพราะต้องเชื่อมโยงถึงระบบครอบครัว เครือญาติ ชุมชน คนชายขอบ

แต่ก็ถือเป็นการลับสมองตัวเองไปในตัว เพราะต้องทำการบ้าน ค้นคว้า ออกแบบว่า 3 ชั่วโมงของการสอนออนไลน์นี่ เราจะเอาไงให้มีสีสัน มีความสดใหม่ในการเรียนรู้ ร่วมกับนักศึกษาด้วย

การเรียนวันนี้ก็จบลงด้วยดี มีการบ้านที่ฝากไปทั้งงานกลุ่ม งานเดี่ยว เดี๋ยวไม่นานก็จะได้รอดู ถือเป็นการประเมินตัวเองไปในตัว อันนี้ นักศึกษาก็จะได้สะท้อนเราด้วย

อีกด้านหนึ่ง ในการจัดการเรียนการสอนวันนี้ เราก็พบเนื้อหาที่น่าสนใจ และน่าจะสกัดออกมาเผื่อผู้เรียนได้ทบทวน และน่าจะเป็นประโยชน์สู่วงกว้าง ก็เลยเอามาลงไว้ ก็คัดมาในเรื่องที่จำได้ก่อน ตามนี้ครับ


เวลามอง “คนชายขอบ” อย่ามองด้านเดียว
และให้มองแบบ “น้อมใจ”

ถ้าเราจะเข้าใจใคร เราอย่ามองเขาด้านเดียว 
พอพูดถึง “คนชายขอบ” เราก็มักจะนึกถึงคนจน คนที่อยู่ในป่าดง ชายแดน
แต่ คนมั่งมีในกรุง เช่น คุณหญิงที่มีเงินร้อยล้าน แต่เข้าบ้านไปโดนสามีทำร้าย สามีนอกใจ บอกใครก็ไม่ได้ อยากฆ่าตัวตายวันละสามรอบ ในบริบทแบบนี้ คุณหญิงก็เป็นคนชายขอบเรื่องเพศสภาพ

ดังนั้นเวลามอง “คนชายขอบ” อย่ามองด้านเดียว
พยายามเปิดหู เปิดตา เปิดใจ มองคนชายขอบหลายๆด้าน 
มองเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่เป็นเครื่องประกอบสร้าง “ความเป็นชายขอบ” นั้นขึ้น อันนี้เรียกว่า มองแบบเชิงซ้อน

หมั่นตรวจสอบ ตั้งคำถามกับวิธีคิดเชิงเดี่ยวของตัวเอง เออ จริงๆ เราถูกปิดกั้นไหม เราทำไมถึงถูกทำให้เชื่อแบบนั้นแบบนี้

อันนี้ น้อมใจ น้อมอัตตาลงก่อน เออ เราไม่รู้ แถมที่รู้ก็รู้แบบผิดๆมาก็มาก แต่อย่าเพิ่งโทษใครแรงๆ เพราะพอไปเพ่งโทษ  จิตจะเศร้าหมอง พอจิตเครียด เศร้าหมอง มันจะไปจะปิดกั้นการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง

ไปจุดหนึ่ง เราจะเริ่มเห็นความผิดพลาด เห็นโทษ เห็นการครอบงำ เห็นกักขังทางความคิด ที่อยู่ในหัวเรา แต่อย่าไปติดเพ่ง ไปติดการตำหนิติโทษ มันจะบล็อคไม่ให้เราเห็นด้านอื่นๆ ที่จะนำไปสู่ความจริง และการพลิกแพลงใช้ประโยชน์

อันนี้ เป็นศิลปะของการคิดเชิงซ้อนที่ทำให้เราเข้าใจ คนชายขอบ รวมถึงผู้คน ตัวแปรที่แวดล้อมปรากฏการณ์นั้นๆ

 


ปรุง Sympathy ให้เข้ากับ Empathy อย่างกลมกล่อม

ที่นี้จะรู้ “ความจริง” มากขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องมีทิศทางที่ถูก มีวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม 
ทิศทางที่ถูกคือ มุ่งสู่ Empathy คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา พยายามมองจากมุมของเขา แล้วเอามุมของเรา เครื่องไม้เครื่องมือ ความรู้ ฯลฯ ที่เรามีบ้างไม่มีบ้าง ไปช่วยเขาปรุง คือ ไปช่วยอย่างเป็นเพื่อน เคารพในคุณค่า ในการตัดสินใจ ไม่มาคิดเรื่องบุญคุณมากมาย  คือเป็นความสัมพันธ์แนวราบ

ส่วน Sympathy นี่ แปลเป็นไทย ก็คือการสงสาร อยากไปสงเคราะห์ อันนี้ เป็นมุมที่มองจากตัวเรา  อาจจะบอกว่า เขาเองก็ต้องการ แต่ลึกๆมาจากเรากำหนด ก็จะมีลักษณะความสัมพันธ์เชิงอุปถัมป์ เชิงผู้ให้ผู้รับที่ผู้ให้ดูสูงส่งกว่า จะโดยเจตนาไม่เจตนาก็ตามแต่ แต่สื่อมันฟ้องสายตาแบบนั้น อันนี้จะสะท้อนความสัมพันธ์แนวดิ่ง

ผมก็เปรียบเทียบให้นักศึกษาฟังว่า Sympathy นี่ก็เหมือนเอาผ้าห่มไปแจก ก็จำเป็นอยู่นะ บรรเทาแบบเร่งด่วน แต่ถ้าจะให้ดี ให้ยั่งยืน ไม่วนอยู่กับที่ ก็ต้องขยับไปสู่ Empathy ที่เหมือว่า อ้อ ผ้าห่มไม่มี แล้วมีฝ้ายไหม มีที่ปลูกผ้ายไหม มีเครื่องทอ ทอเป็นไหม เราไปเสริม เขาร่วมลงแรง ช้าหน่อย แต่ไม่นานเกินรอ เป็นการช่วยที่สอนให้เขาเก่งขึ้น เราเองก็เก่งขึ้นด้วย เพราะนี่เป็นงานยาก

ระวังอย่าไปตัดสินว่า Sympathy กับ Empathy เป็นคนละขั้วกัน คิดอย่างนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร จริงๆถ้ารู้จักใช้ ก็ใช้ให้เสริมกัน แต่เราเทคไซต์ให้น้ำหนักอะไรมากกว่า ก็จัดให้เข้ากับสถานการณ์ ผู้คน บริบท เป็นจังหวะๆไป อันนี้เป็นศิลปะ และเราต้องมี Sensing นะ ไม่งั้นเข้าไปทื่อๆ แตก ไปๆมาๆเราเป็นปัญหาซะเอง อันนี้ต้องระวัง หมั่นทบทวน ตรวจสอบตนเอง มีครูบาอาจารย์ กัลยาณมิตรมาช่วยสะท้อนยิ่งดี และครูที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือคนชายขอบ คนในชุมชน อันนี้เป็นท่าที เป็นสนามพลังภายใน คนในชุมชนก็ดี คนชายขอบทั้งหลายก็ดี ส่วนใหญ่เขาจะสังเกตได้ ว่าเรา Fake ไม่ Fake

อีกเรื่องที่อยากให้นักศึกษาเข้าใจคือ เวลามอง “คนชายขอบ” (ด้วยจิตนุ่มนวล ควรแก่งาน คือ มีสติไม่พลุ่งพล่าน ไม่เซื่องซึม ไม่ด่วนสรุป) แล้ว จะเข้าใจเขา ก็ต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสิ่งต่างๆ ทั้งต่อ คนกลุ่มต่างๆ ต่อธรรมชาติ ต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ดูโปรไฟล์ชีวิตเขาย้อนไปยาวๆ ดูถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สาแหรกโคตรเหง้าได้เลยยิ่งดี

แต่ต้องดูอย่างมีบริบทนะ คือ ดูว่า เกิดสิ่งไหน ในบริบทแบบไหน พอได้ข้อมูลมาเแล้วสมองเราก็จะประมวลผลไปเรื่อยๆ ถึงบอกว่าไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากไป แต่ผลที่ได้คุ้มกว่ามาก

ถ้าเราจะทำงานบริการสังคม งานสุขภาวะชุมชน งานอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนชายขอบ นี่เป็นหนทางที่นำไปสู่ Empathy เลยนะ มานั่งคิดว่าเราจะมี Empathy อย่างนั้นไม่มีทางเลย มันต้องปรับวิธีการคิด วิธีการแสวงหาความรู้ และหากเราจะมีอารมณ์ร่วมไปกับความทุกข์ยาก ความเหลื่อมล้ำ ที่พวกเขาได้รับ อันนี้เป็นสิ่งดี แสดงว่า เราเป็นมุษย์ที่รู้สึกรู้สม ไม่ใช่กลไกหุ่นยนต์ แต่ก็ต้องเปลี่ยนพลังอารมรณ์ไปสู่พลังแห่งสติปัญญา อย่าไปตัดอารมณ์ออก

แต่พอมีอารมณ์รู้ร้อนรู้หนาวกับคนชายขอบ เราก็รู้เท่าทัน เล่นกับมันให้เป็น เปลี่ยนรูปไปสู่พลังสร้างสรรค์ที่มีเมตตาธรรมกำกับได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่กำลังมีพลังมากมายควรรู้จัก Self-regulation หรือการจัดการตนเองตรงนี้

(มีประเด็นอื่นๆ ที่ผมจัดการเรียนรู้ให้นักศึกษาวันนี้อีกสามสี่หัวข้อ รอบนี้ สกัดออกมาบางส่วนก่อน เอาไว้ทบทวนตนเอง เผื่อนักศึกษาในชั้น และผู้ที่สนใจเอาไปใช้ประโยชน์ต่อนะครับ)

#คนชายขอบ
#EMPATHY
#SMPATHY
#การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม
#วิธีคิดเชิงซ้อน

หมายเลขบันทึก: 698718เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2022 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2022 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท