สุริยา แปลว่า ดวงอาทิตย์ อันที่จริง สุริยาเป็นคำบาลี ส่วน อาทิตย์เป็นสันสกฤต ส่วนคำไทยแท้น่าจะเป็น ตะวัน
อนึ่ง อาทิตย์ ตามสันสกฤตนี้ แปลว่า เร้าร้อนหรือแผดเผา ซึ่งในบาลีก็มีใช้เช่นเดียวกัน แต่เขียนว่า อาทิจโจ ซึ่งแตกต่างกันเล็กน้อย
สุริยา ตามที่เคยเห็นมา แปลได้ ๒ นัย โดยนัยแรกเป็น ศัพท์นามกิตก์ (ปรุงศัพท์ขึ้นจากธาตุ) และนัยที่สองเป็น ศัพท์ตัทธิต (ใช้ปัจจัยแทนความหมายบางอย่าง)
ตามนัยแรก สุริยา แปลว่า เบียดเบียนทุกข์คือความกลัวของสัตว์โลก
วจนัตถะ โลกานํ ภยทุกฺขํ สุนาตีติ สุริโย สภาวะใดย่อมเบียดเบียนทุกข์คือความกลัวของบรรดาสัตว์โลก ดังนั้น สภาวะนั้นชื่อว่า สุริยะ (ผู้เบียดเบียนทุกข์คือความกลัวของสัตว์โลก)
อธิบายว่า เมื่อเกิดความมืดนั้น คนก็รู้สึกกลัว หวาดเสียว แต่เมื่อค่อยๆ มีความสว่างเกิดขึ้นมากำจัดความมืด ความรู้สึกหวาดกลัวของคนก็ค่อยๆ หมดไป นั่นคือ เบียดเบียนทุกข์คือความกลัวของสัตว์โลก
ตามนัยที่สอง สุริยา แปลว่า สร้างความกล้าหาญให้เกิดขึ้นแก่สัตว์โลก
วจนัตถะ โลกานํ สุรภาวํ ชเนตีติ สุริโย สภาวะใดยังความเป็นผู้กล้าหาญให้เกิดขึ้นแก่บรรดาสัตว์โลก ดังนั้น สภาวะนั้นชื่อว่า สุริยะ (ผู้สร้างความกล้าหาญให้เกิดขึ้นแก่สัตว์โลก)
อธิบายว่า เมื่อเกิดความมืด คนก็รู้สึกขลาด หวาดระแวง แต่เมื่อค่อยๆ มีความสว่างเกิดขึ้นมากำจัดความมืด ความรู้สึกขลาดหวาดระแวงก็ค่อยๆ ลดน้อยลง และความมั่นใจในตัวเอง ความเป็นผู้กล้าหาญก็ค่อยๆ เกิดขึ้น ...ประมาณนี้แหละ
ตามหลักไวยากรณ์บาลี
สุริยะ ตามนัยแรกที่บอกว่าเป็นนามกิตก์นั้น มาจากรากศัพท์ว่า สุ แปลว่า เบียดเบียน (สุ+ร+อิยะ) ซึ่ง สุ รากศัพท์นี้ มีความหมายอื่นๆ อีกหลายนัย เช่น สุตะ การฟัง (สุ ธาตุในความฟัง) หรือ สุรา เหล้า (สุ ธาตุในความไหล ใครเคยต้มเหล้าก็คงจะรู้ว่าจะไหลลงทีละหยดๆ 5 5 5)
สุริยะ ตามนัยที่สองซึ่งบอกว่าเป็นตัทธิตนั้น มาจาก สุระ แปลว่ากล้าหาญแล้ว ใช้ อิยะ ปัจจัยแทนเนื้อความว่า สร้างความกล้าหาญ (สุระ+อิยะ)
หมายเหตุ
ผู้เชียวชาญบาลีบางท่านเคยตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ปัจจัยแทนเนื้อความทำนองนี้ ในภาษาไทยก็มี เพียงแต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเท่านั้น เช่น คำว่า ชาว ในภาษาไทย สามารถเทียบเคียงเป็นปัจจัยในตัทธิตของบาลีได้ ดังตัวอย่าง
ชาวบ้าน คือ ผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน (ชาว = ผู้อาศัยอยู่)
ชาวสวน คือ ผู้ประกอบอาชีพทำสวน (ชาว = ผู้ประกอบอาชีพ)