ความไว้วางใจต่อกันในอุดมศึกษา


 

ในสังคมยุคปัจจุบัน ความเห็นต่าง เป็นเรื่องธรรมดา   คนต่างรุ่นมีแนวโน้มจะคิดไม่เหมือนกัน    การจัดการความแตกต่างจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ    ทั้งในระดับบุคคล  ครอบครัว สถาบัน  ชุมชน  สังคม ประเทศ  และโลก   

ในครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่นขึ้นไป พ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะเคารพความรู้สึกนึกคิดของลูก ที่เติบโตมาในต่างสภาพแวดล้อมกับตน   จึงย่อมมีโลกทัศน์และความเชื่อที่แตกต่าง    ไม่ทำให้ความรักความผูกพันในฐานะมาพ่อ (แม่)   ลูกถูกทำลายโดยความต่างระหว่างรุ่น    ประเด็นนี้ผมมีประสบการณ์ตรงในครอบครัวของตนเอง      

บทความ How to Manage Intergenerational Conflict in the Workplace    บอกว่า ความแตกต่างระหว่างรุ่น ไม่สำคัญเท่ากับท่าทีรับฟัง และให้เกียรติ ซึ่งกันและกัน     รวมทั้งความเข้าใจความแตกต่างระหว่างรุ่นที่มีอยู่จริง ในหลากหลายด้านทั้งด้านความคิดและด้านทักษะ   และใช้ความแตกต่างนั้นให้เกิดผลด้านบวก   เช่นคนรุ่นใหม่เก่งเทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นเก่า     คนรุ่นเก่าก็ขอให้คนรุ่นใหม่ช่วยสอน หรือแนะนำ   ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนต่างรุ่น    ต่างก็ให้การยอมรับนับถือในจุดแข็งของกันและกัน       

คือไม่เน้นมองความต่างเป็นปัญหา     แต่เน้นมองเป็นโอกาส    โดยมีตัวเชื่อมสัมพันธ์คือ เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน (common purpose)    และเขาให้คาถา ๕ ข้อคือ (1) Acknowledge ทำความเข้าใจความแตกต่างนั้น  (2) Appreciate  โดยตั้งคำถาม why  ไม่ใช่ what   ความเข้าใจนี้จะช่วยเชื่อมสัมพันธ์  (3) Flex  - ยืดหยุ่น  ตกลงกันว่าจะอยู่กับความต่างนี้อย่างไร  (4) Leverage  ใช้จุดแข็งของคนแต่ละรุ่น  (5) Resolve  หาทางออกร่วมกันหากแนวทางยืดหยุ่นยังไม่เพียงพอ   

เท่ากับว่า ต้องเริ่มจากการยอมรับ   ว่าความต่างมีอยู่จริง  และเป็นได้ทั้งปัจจัยบวก และปัจจัยลบ   ต้องร่วมกันทำให้ความต่างนั้นเป็นพลังสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลาย    โดยเขาแนะนำเครื่องมือที่เป็นตัวช่วยคือ AI – Appreciative Inquiry   (๑)   (๒)   

ในสังคมไทยปัจจุบัน   ชนวนข้อขัดแย้งระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความเชื่อในระบอบสังคม  และระบบการบริหารมหาวิทยาลัยแบบที่ใช้กันอยู่     ผู้บริหารและอาจารย์มีแนวโน้มจะยอมรับระบอบเดิมมากกว่า   นักศึกษามีแนวโน้มจะต้องการการเปลี่ยนแปลงมากกว่า     

ที่จริงแนวโน้มนี้มีมาตั้งแต่ครึ่งศตวรรษที่แล้ว     สมัยผมเป็นอาจารย์อาวุโสน้อย    ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่พอใจระบบเดิมๆ ในมหาวิทยาลัย    และตั้งใจหาทางเปลี่ยนแปลง    ผมเติบโตมีความสำเร็จในชีวิตมาได้ก็ด้วยพลังขับเคลื่อนนี้    โดยผมใช้พลังนี้ในทางบวก    คือหาทางสร้างส่วนดี  ไม่ได้มุ่งทำลายล้างระบบที่มีอยู่เดิม    เพราะเจียมตัวว่าไม่มีพลังพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน   

โชคดีที่ผมมุ่งใช้พลังของ common purpose  คือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน   นำไปร่วมกันหาทางสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อค่อยๆ บรรลุเป้าหมายนั้น   

ที่จริงไม่ว่าสมัยใด    ในสังคมมีคนจำนวนหนึ่งมีความอึดอัดขัดข้อง ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม   และคนแบบนี้มักเป็นคนหนุ่มสาว   และนี่คือพลังบริสุทธิ์ เพราะเป็นวัยที่ยังไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบผลประโยชน์    คนหนุ่มสาวที่มีพลังสังคมสูงคือนักศึกษามหาวิทยาลัย   

แต่สมัยนี้ อาจจะดูรุนแรงหน่อย   และทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่สบายใจ   เพราะผู้บริหารต้องตอบสนองต่อระบบและระบอบที่มีอยู่    นำสู่ประเด็นความไว้วางใจกัน (mutual trust) ระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัย กับนักศึกษา

คนเราจะรู้สึกดีต่อกันหากคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน   และเข้าใจระบบคุณค่าของกันและกัน   โดยที่คนหนุ่มสาวอุดมคติมันแรง    ผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวในปัจจุบันก็มีอุดมคติรักชาติรักประเทศรักสังคมไม้ด้อยกว่าคนหนุ่มสาวสมัยผม    แต่การแสดงออกอาจจะต่างกัน    เพราะสมัยนี้มีลู่ทางให้แสดงออกง่าย    ทำให้กลุ่มที่ไปในทางรุนแรงแสดงออกชัดเจนและทำให้คนเหมารวมว่าคนหนุ่มสาวหรือนักศึกษาเป็นอย่างนั้นคิดอย่างนั้นทั้งหมด    ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่   สมัยนี้คนหนุ่มสาวมีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าสมัยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว   

ทำอย่างไร ความสัมพันธ์ของคนในสถาบันอุดมศึกษาหนึ่งๆ จึงจะเป็นความสัมพันธ์ที่มีความไว้วางใจต่อกันและกัน    เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน   แต่มีเป้าหมายร่วมในการสร้างสรรค์สถาบันให้ทำหน้าที่เกื้อหนุนสังคมตามหน้าที่    ผมยังเชื่อในพลังความสัมพันธ์แบบไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างอาจารย์กับศิษย์   

ค้นพบหนังสือในชุด Higher Education Dynamics    ที่ปีหน้าหนังสือ Trusting in Higher Education จะออก    ผมเล็งไว้ว่า จะหาทางศึกษานำมาเล่าต่อ        

 ค้นพบหนังสือ Trust in Universities (2013) ที่เน้นเรื่องความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยต่อสังคมภายนอก    และผมติดใจที่เขาบอกว่า ความเชื่อเป็นสองด้านที่ขัดกันสำหรับมหาวิทยาลัย   เพราะมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่สอนให้คนไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ต้องตั้งคำถามไว้ก่อน   แต่ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ต้องได้รับความเชื่อถือจากสังคม    เชื่อในที่นี้น่าจะหมายถึงเชื่อในความบริสุทธิ์ใจ  เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน   

ที่จริงหนังสือเล่มนี้ ชื่อก็บอก Trust in Universities  ว่าเน้นที่ความเชื่อถือต่อมหาวิทยาลัย   

แต่ที่ผมสนใจในขณะนี้ เป็นเรื่องความไว้วางใจต่อกันระหว่างนักศึกษากับอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย    ที่เมื่อคิดย้อนกลับไปช่วงปี ๒๕๑๙  ที่ผมอยู่ในเหตุการณ์ที่อาจารย์ป๋วย ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องเผชิญความท้าทายเรื่องความไว้วางใจ/ความระแวง จากทั้งสองฝ่าย    คือฝ่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กับฝ่ายผู้บริหารประเทศ     ผมเห็นชัดเจนว่า อาจารย์ป๋วยมีจิตใจบริสุทธิ์ และเข้าใจทั้งฝ่ายนักศึกษา และฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ    แต่สองฝ่ายนั้นต่างก็ไม่เชื่อใจอาจารย์ป๋วย   

ผมจึงมีคำถามสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ทำอย่างไร นักศึกษากับผู้บริหาร และอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงจะมีความไว้วางใจต่อกัน     ค้นพบบทความ 8 Trust-Building Strategies to Try With Your Students ที่น่าจะใช้ได้ทั้งในเด็ก  และในนักศึกษา    แต่นั่นเป็นเรื่องในชั้นเรียน    ผมอยากได้คำแนะนำสำหรับสถาบัน

ค้นพบรายงานผลการวิจัย Trust and reliability in building perfect university (2015)    ที่นิยามความหมายของความไว้วางใจว่า  “.. the trust is a dynamic phenomenon, stemming in the mind and soul of the individual, and affecting the understanding of all social and value elements and acts of other individuals or groups. It is affected by many types of factors and elements, e.g. material, time, spatial, and especially, relational, intelligential, emotional, commemorational, experiential, cognitional, etc.”    และ “”From the viewpoint of utilizing trust in building perfect university, a wide range of factors such as the curriculum itself, pedagogical styles, assessment procedures, financial circumstances, employment and/or career/domestic responsibilities may all enhance or inhibit student retention and success”   เขาไม่เอ่ยประเด็นมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งยุทธการทางการเมืองอย่างในบ้านเรา    ความไว้วางใจเชื่อมั่นต่อมหาวิทยาลัยในยุโรป เน้นที่ความเชื่อมั่นต่อคุณภาพด้านการศึกษา     และปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์     ที่ในบ้านเราไม่เป็นประเด็น    ในบ้านเราประเด็นไปอยู่ที่นักศึกษาบางกลุ่มต้องการใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่แสดงออกทางการเมือง   

ความยากลำบากในเรื่อง trust  อยู่ที่ความจริงใจ

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ธ.ค. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 696579เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2022 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2022 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท