< เมนูหลัก >
ตอน 3 (2)
“ปฏิวัติวัฒนธรรม” เพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา
ความสัมพันธ์แบบใหม่
ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับมหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีลักษณะเป็นเชิงอุปถัมภ์ คือ อาจารย์คาดหวังให้มหาวิทยาลัยจ่ายเงินเดือนให้ มีสวัสดิการต่าง ๆ ให้ และจัดเครื่องอำนวยความสะดวกในการทำงานให้โดยอาจารย์มีหน้าที่ทำ “งาน” สร้างผลงานให้แก่สาธารณชนและแก่ตัวเอง
ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ มหาวิทยาลัยก็ยังต้อง “อุปถัมภ์” อาจารย์เหมือนกัน หรืออาจจะต้องยิ่งกว่าเดิม แต่อาจารย์จะต้องไม่แค่ทำ “งาน” เท่านั้น ต้องทำ “เงิน” ให้แก่สถาบันด้วย การหารายได้ให้แก่สถาบัน อาจทำโดยการสอน ได้ค่าบำรุงการศึกษาเข้าสู่มหาวิทยาลัย อาจโดยการหาทุนวิจัย ได้ค่าธรรมเนียม (Overhead) การวิจัยเข้ามหาวิทยาลัยหรือทำงานบริการสังคมมีรายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่มีความสามารถสูง ประสบการณ์มาก เคยมีผลงานที่มีคุณภาพดี ก็จะรับงานได้มากราคาแพง หาเงินเข้าสถาบันได้มาก ถือเป็นความดีความชอบ และเป็นกำลังต่อรองกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จะต้องจัดอำนวยความสะดวก และให้ค่าตอบแทนมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม อาจารย์ที่มีความสามารถต่ำ หาเงินเข้าสถาบันได้น้อยก็จะต้องเร่งปรับปรุงตัวเอง เพิ่มขีดความสามารถเพื่อให้สามารถดำรงตำแหน่งอยู่ได้
ความสัมพันธ์แบบใหม่ในลักษณะพึ่งพาและเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างสถาบันกับอาจารย์ จะเป็นวัฒนธรรมที่ชักนำไปสู่คุณภาพและการสร้างสรรค์
บทความพิเศษ ตอน 3 (2) นี้ได้ จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2795 (105) 16 พ.ค.39 พิเศษ 6 (บทความไอที)
เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
วิบูลย์ วัฒนาธร