มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา ตอน 3 (1)


ความคิดริเริ่ม ผลงานที่มีคุณภาพสูง และคนเก่งมาก ๆ จึงยากที่จะเกิดขึ้นหรือประสบความสำเร็จใน “วัฒนธรรมราชการ” ซึ่งเน้น “ความเหมือน” และสนใจ “ภาพเฉลี่ย” (Average out) มากกว่า “ความแตกต่างหลากหลาย” เพื่อส่งเสริมให้เกิด “ความเป็นเลิศ” ในแต่ละด้าน

         < เมนูหลัก >

         ตอน 3 (1)

         “ปฏิวัติวัฒนธรรม” เพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา

         ความเหมือน-ความแตกต่างหลากหลาย

         เนื่องจากมหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้ระบบราชการมาโดยตลอด จึงถูกครอบงำโดยแนวความคิดแห่งความเหมือน (Homogeneity) เช่น อัตราเงินเดือนเดียวกัน การที่จะต้องได้เงินเดือนปีละ 1 ขั้น เหมือน ๆ กัน การที่จะต้องได้รับสวัสดิการด้านต่าง ๆ เหมือน ๆ กัน โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างในการทำประโยชน์ให้แก่องค์กรมากนัก

         ภายใต้ระบบราชการ การจำแนกแยกแยะระหว่างคนเก่งกับคนไม่เก่ง ระหว่างคนดีกับคนไม่ดีแยกแยะได้ไม่ชัดเจน การจำแนกแยกแยะระหว่างผลงานริเริ่มกับผลงานที่ทำตาม ๆ กันเป็นประจำ ไม่ชัดเจน การจำแนกแยกแยะระหว่างผลงานที่มีคุณภาพสูงกับผลงานที่มีคุณภาพต่ำไม่ชัดเจน

         ทั้งนี้เพราะคนเก่ง ผลงานริเริ่ม ผลงานที่มีคุณภาพสูง เป็นเรื่องของ “ส่วนน้อย” จึงยิ่งมีแนวโน้มที่จะถูกละเลยหรือไม่ได้รับการยกย่อง ความคิดริเริ่ม ผลงานที่มีคุณภาพสูง และคนเก่งมาก ๆ จึงยากที่จะเกิดขึ้นหรือประสบความสำเร็จใน "วัฒนธรรมราชการ" ซึ่งเน้น "ความเหมือน" และสนใจ "ภาพเฉลี่ย" (Average out) มากกว่า "ความแตกต่างหลากหลาย" เพื่อส่งเสริมให้เกิด "ความเป็นเลิศ" ในแต่ละด้าน

         ความแตกต่างหลากหลายเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นฐานของความมั่นคงและสมดุลของธรรมชาติและของระบบในระบบชีววิทยา มีกลไกเกิดการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างความหลากหลายขึ้นในระบบ สำหรับตรวจสอบความเหมาะสมสูงสุดต่อสภาพแวดล้อมใหม่ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

         ระบบวิชาการมีเป้าหมายที่การสร้างสิ่งแปลกใหม่ สร้างองค์ความรู้ใหม่ เป็นระบบที่จะต้องมีการปรับตัวสูง มีการเคลื่อนไหว มีการริเริ่ม มีการลองรูปแบบและวิธีการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาจึงไม่เหมาะสมที่จะยึดถือวัฒนธรรมความเหมือนของระบบราชการซึ่งมุ่งดึงรั้งให้เกิด “ความคงที่”

         ระบบวิชาการต้องการวัฒนธรรมหรือแนวคิดที่ส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย และนำข้อดีของการมีความหลากหลายมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งจำแนกแยกแยะความหลากหลายส่วนที่มีคุณภาพสูง นำมาเชิดชูยกย่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้อนุชนที่มีความสามารถทางสมองสูงเข้ามาทำงานสร้างสรรค์วิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะต่อไป

         บทความพิเศษ ตอน 3 (1) นี้ได้ จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2795 (105) 16 พ.ค.39 พิเศษ 6 (บทความไอที)

         เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช

         วิบูลย์  วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 6964เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2005 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท