ทัศนะเรื่อง การเปลี่ยนสถานภาพพระไปสู่ไม่ใช่พระ


มิติทางสังคม
 

๑. พระคือสถานภาพทางสังคมที่่มีรูปแบบอย่างหนึ่ง ไม่แตกต่างจากครู ผู้ใหญ่บ้าน หมอ พยาบาลฯลฯ คือสถานภาพทางสังคมเช่นกัน

๒. การเปลี่ยนสถานภาพจากพระไปสู่ไม่ใช่พระ ไม่แตกต่างจาก การเปลี่ยนสถานภาพจากครูไปสู่นักธุรกิจ พยาบาลไปสู่สถานภาพอาจารย์ หมอไปสู่นักการเมือง

๓. บุคคลที่เข้าไปศึกษาเรียนรู้ในสถานพระ อย่างน้อยๆที่บุคคลจะได้รับคือ (๑) คุณธรรมจริยธรรม (๒) แนวปฏิบัติ (๓) ทักษะในการคิด

๔. การเปลี่ยนสถานภาพจากพระไปสู่ไม่ใช่พระ ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น/เป็นเรื่องปกติ และอาจจะดีกว่า อย่างน้อยๆคือการเรียนจบบทเรียนเรื่องการเป็นพระ ที่เหลือคือจะนำวิธีคิดแบบที่เรียนรู้มานั้นไปใช้กับสถานภาพอื่นอย่างไร

ข้อสังเกตมิติทางจริยธรรมทางสังคม

๑. มีผู้เห็นด้วยกับการที่พระเปลี่ยนสถานภาพไปสู่ไม่ใช่พระ ใน ๒ ลักษณะคือ (๑) ดีแล้วที่เปลี่ยนสถานภาพ เพราะหากอยู่แล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น การเปลี่ยนไปเป็นอื่นแล้วทำให้ชีวิตดีขึ้นก็ควรจะเปลี่ยน (๒) ดีแล้วที่เปลี่ยนสถานภาพ ศาสนาจะได้เจริญ ลักษณะแรกเป็นลักษณะเชิงกุศล มีคุณธรรมเรื่องความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์เป็นฐานในการมีความเห็นแบบนั้น ลักษณะที่สอง เป็นลักษณะที่คล้ายกับมีอกุศลเป็นฐาน อกุศลในที่นี้ที่ชัดเจนคือ ความรังเกียจ ความโกรธ ความอาฆาต

๒. เหตุผลอันหนึ่งของพระที่ตัดสินใจเปลี่ยนสถานภาพคือ ความคิดว่าพฤติกรรมของตนส่งผลต่อการที่พระที่ตนคิดว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่ได้รับตำแหน่งการปกครองของวัด ทั้งที่โดยวิถีของคณะสงฆ์แล้ว รักษาการของวัดควรจะได้เป็นเจ้าอาวาสเหมือนๆกับวัดทั่วประเทศ ตลอดถึงบุคคลิกภาพส่วนตัวที่ติดมาตั้งแต่เด็กที่ไม่สามารถถอดออกให้อยู่ในกรอบสองแบบคือ (๑) กรอบคือความคิดของบุคคลที่เข้าใจสิ่งที่ตนตีกรอบไว้นั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าใครไม่เป็นไปตามที่คิดจะคือผู้ไม่ถูกต้อง (๒) กรอบคือแบบที่ระบุอยู่ในคัมภีร์ อันเป็นกรอบที่เกิดขึ้นเมื่อสองพันกว่าปี และเมื่อสองพันกว่าปีนั้นชาวบ้าน/ระบบคิดของคนในยุคนั้นแตกต่างจากยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะวิธีคิดแบบอินเดียที่เต็มไปด้วยความเชื่อและวิธีการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายของความเชื่อ

ข้อสังเกตเชิงวัฒนธรรม

๑. วิธีคิดที่มีอยู่ในวัฒนธรรมแบบพุทธที่ว่า "บุคคลผู้มีศีลน้อยกว่าจะต้องให้ความยำเกรงต่อบุคคลผู้มีศีลมากกว่า ชาวบ้านแม้จะมีศีลสมบูรณ์ก็ต้องให้ความยำเกรงต่อพระผู้มีศีลไม่สมบูรณ์" วิธีคิดแบบนี้กำลังจะถูกลบล้างลงไป จะเห็นได้จากการแสดงความคิดในเชิงลบต่อสถานภาพพระในสังคม มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเรื่องนี้ บุคคลจำนวนหนึ่งเมื่อได้รับรู้ข่าวสารจากสื่อ จะมีความคิดเชิงลบเช่น การทับถม การสมน้ำหน้า ฯลฯ ถ้าน้ำที่อยู่ในถังเป็นน้ำคล่ำ การเทน้ำออกจากถังก็ต้องเป็นน้ำคล่ำ ถ้าน้ำที่อยู่ในถังเป็นน้ำใส การเทน้ำจากถังก็เป็นน้ำใส บุคคลอาจตรวจสอบใจตนได้ว่า ท่าทีต่อสิ่งที่สื่อนำเสนอมีเรื่องอะไรออกมาก่อนระหว่างความคิดเชิงลบที่มีฐานคืออกุศล และความคิดเชิงบวกที่มีฐานคือกุศลอย่างน้อยคือความกรุณา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า น้ำที่อยู่ในถังความคิดที่อยู่ในใจที่เรารับรู้และเก็บสะสมนั้นมาจากไหน คำตอบที่พอจะตอบได้คือมาจากการเรียนรู้ และสิ่งที่สื่อนำเสนอคือความคิดที่ตกลงไปในใจ

๒. วิธีคิดที่มีอยู่ในวัฒนธรรมแบบที่ว่า "เมื่อพระรูปใดอาพาธ พระที่อยู่ในอาวาสเดียวกันต้องคอยดูแล ผู้ดูแลพระที่อาพาธคือผู้ดูแลศาสดา" ดูเหมือนว่า วัฒนธรรมแบบนี้กำลังขาดหาย เพราะเมื่อมีพระที่อาพาธ คนที่เข้ามาดูแลคือญาติของพระ กรณีพระที่บวชมานานกำลังสับสนกับการอยู่ในสถานภาพพระ ไม่แตกต่างจากผู้กำลังอาพาธ มีนักคิดทางพุทธจำนวนหนึ่งระบุว่า โรคมี ๒ แบบคือ โรคทางกาย และโรคทางใจ กรณีใจกำลังดิ้นรนกับสถานภาพที่เป็นอยู่/อยู่ไม่สุขกับสถานภาพนั้น แสดงถึงโรคทางใจเกิดขึ้น ถ้าใช้วิธีคิดแบบการดูแลพระภิกษุไข้คือการดูแลพระศาสดา แต่กรณีของพระที่เป็นทรัพยากรบุคคลของศาสนาต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว (โดดเดี่ยวในความหมายของความเป็นสังฆะ ไม่ใช่โดดเดี่ยวของการปลีกตัวออกไปอยู่ป่า) จะบ่งถึงระบบการดูแลเยียวยาที่หายไป

บุคลิกบุคคลในศาสนา

บุคลิกคือลักษณะความเป็นบุคคล ภาษาแบบง่ายคือนิสัยใจคอและการกระทำของคนๆนั้น งานทางจิตวิทยาระบุว่า (๑) มาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (๒) มาจากการเรียนรู้และการปรับตัว ในแบบแรกคือบุคลิกเฉพาะตัวที่ยากต่อการถอดถอน แบบที่สองปรับเปลี่ยนได้ตามกรอบการเรียนรู้ ในเนื้อหาทางพุทธศาสนาได้พูดถึงบุคคลิกบุคคลไว้หลายแบบ ถ้าเราศึกษาจากประวัติบุคคลผู้ตามรอยศาสดาจะพบว่า ในอนุพุทธ ๘๐ องค์ แต่ละรูปจะมีบุคลิกที่แตกต่างกัน เวลาเราพูดถึง "พระดี" คำนี้กว้างเกินไป ถ้าใช้ในกรอบของบุคลิกตามกอนุพุทธ อาจต้องจำแนกเป็นดีด้านใด เช่น บางคนมีสติปัญญาดี บางคนเก่งในการออกแบบสิ่งก่อสร้าง (นวกรรม/นวัตกรรม) บางคนเสน่ห์ดี ฯลฯ จำนวนหนึ่งของบุคลิกที่โดดเด่นคือความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้และการปรับตัวที่สอดคล้องกับรหัสทางพันธุกรรม ดังนั้น ข้อความที่ว่า เราไม่สามารถจะทำให้คนอื่นเป็นอย่างที่เราคิดได้ อาจมีความหมายให้น่าใคร่ครวญในการคิดที่จะให้คนอื่นเป็นอย่างที่เราคิด ถ้าทุกอย่างเป็นอย่างที่เราคิดได้ โลกนี้อาจมีเพียงสีเดียวคือ ถ้าไม่ขาวก็ดำ

..............................

๒๕๖๔๑๒๐๑

๐๗.๕๗

หมายเลขบันทึก: 693668เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2021 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2021 08:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท