ข้อจำกัดของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online)


           แม้ว่าจะยังไม่เปิดเทอมอย่างเป็นทางการ แต่กระทรวงศึกษาธิการได้ทดลองการเรียนออนไลน์ผ่านการสอนทางไกล DLTV ให้นักเรียนสามารถเรียนผ่านโทรทัศน์ดิจิทัลรวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่รับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้
           การเรียนออนไลน์ คือการใช้อุปกรณ์มาเป็นตัวช่วยรับสาร เช่น โทรทัศน์, คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ ลักษณะการเรียนระบบออนไลน์นี้ถูกนำมาใช้ในช่วงโรคโควิด-19 กำลังระบาดอยู่ และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่   นักเรียน นักศึกษาที่เปิดเทอมในช่วงปี 2021 นี้ จะต้องปรับตัวกับการเรียนแบบใหม่ สิ่งแรกที่ต้องปลูกฝังให้กับเด็กยุคโควิด-19 คือต้องปลูกฝังให้พวกเขารู้จักโรคระบาดนี้

การเรียนออนไลน์ในประเทศไทยพร้อมแค่ไหน

          สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้หยิบยกข้อมูลแบบสอบถามนักเรียนอายุ 15 ปี และผู้บริหารโรงเรียนของ PISA 2018 ใน 79 ระบบการศึกษาในกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ของไทย พบว่า

  • นักเรียนไทยยังขาดแคลนปัจจัยสำหรับการเรียนออนไลน์ ได้แก่ สถานที่ที่เงียบสงบ, อุปกรณ์สำหรับเรียนรู้ และอินเทอร์เน็ต
  • เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ครูไทยมีความพร้อมในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการเรียนการสอนออนไลน์มากกว่ากลุ่มประเทศสมาชิก

                                      กราฟแสดงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนออนไลน์ที่บ้าน

ข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ (Online)

1. นักเรียนอาจจะขาดสมาธิในการเรียนได้

        เด็กนักเรียนบางคนอาจจะมีปัญหาในการนั่งเรียนเป็นเวลานานๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาพื้นที่ที่เงียบสงบหาคอร์สออนไลน์ที่ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน จัดสรรเวลาในการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ ให้ตรงกับ “ช่วงเวลาทอง” ที่มีในแต่ละวัน ช่วงเช้าระหว่างเวลา 9.00 – 11.00 น. และ 2) ช่วงบ่ายระหว่างเวลา 15.00 – 16.00 น. รวมไปถึงช่วงเวลาพัก โดยแต่คาบละในการเรียนไม่ควรเกิน 20 – 25 นาที

2. ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

        การเรียนออนไลน์ทำให้เด็กขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียน ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาการด้านสังคม แทนที่จะได้มีส่วนร่วมกับเพื่อนในห้องเรียน ทำงานกลุ่มร่วมกัน ทานอาหาร และเล่นด้วยกันในช่วงพักกลางวันกลับกลายเป็นว่าเด็กจะต้องอยู่คนเดียว และทำทุกอย่างด้วยตนเอง โดยเฉพาะเด็กที่กำลังย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จริงๆ แล้วในวัยนี้เป็นวัยที่กำลังต้องการเพื่อน ต้องการความเข้าใจจากคนรุ่นเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องลองปรับตัวเองให้เป็นเพื่อนกับเด็กๆ ดูเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาทางด้านนี้ไม่ให้ขาดหายไป

3. ต้องสร้างแรงจูงใจในการเรียน

        เป็นเรื่องยากที่เด็กๆ ต้องโฟกัสอยู่หน้าจอนานๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องสร้างแรงจูงใจด้วยการเลือกคลาสเรียนที่มีขนาดเล็ก คุณครูสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง มีการถามโต้ตอบ คลาสมีเกมให้เล่นเพื่อจูงใจให้เด็กๆ รู้สึกสนุกและอยากเรียน

4. ต้องใช้อุปกรณ์ในการเรียนที่มีประสิทธิภาพ

        การเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนที่มีประสิทธิภาพนั้นสำคัญมากในการที่จะทำให้การเรียนออนไลน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้ปกครองทุกคนจะสามารถรองรับค่าใช้จ่ายตรงนั้นไหว ทั้งแท็บเล็ต แล็บท็อป หรือโทรศัพท์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ และยังค่าอินเทอร์เน็ตทั้งแบบรายเดือน และเติมเงินอีก ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากเลยทีเดียว 

5. คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เวลาในการดูแลมากขึ้นเป็นพิเศษ

        หลายคนเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์เพียงแค่ปล่อยเด็กนักเรียนไว้กับหน้าจอก็พอแล้ว แต่เปล่าเลย ผู้ปกครองยังคงต้องจับตาดูเด็กๆ อย่างเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เด็กๆ เหลวไหลแอบไปดูยูทูป (Youtube) หรือเล่นเกมได้ เรียกได้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะละสายตาไปจากเด็กๆ ไม่ได้เลย

        ข้อเสนอแนะจากการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนออนไลน์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ตีพิมพ์ในวารสารราชพฤกษ์ ปี พ.ศ. 2561 ระบุว่า การเรียนโดยใช้สื่อออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและสภาพปัญหาของแต่ละโรงเรียน หากต้องการดึงประสิทธิภาพของสื่อออนไลน์มาใช้ให้มากที่สุด ควรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหามาตรการร่วมกันหลายฝ่าย
        เชื่อว่าอีกไม่นานนี้ แต่ละโรงเรียน จะมีทางออกให้กับการสอนออนไลน์ของตน เพื่อเน้นประโยชน์ของเด็กๆ เป็นส่วนสำคัญที่สุด

 

ที่มา  :  ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/1848004?fbclid=IwAR1oUCDqbB39EQLC0H3elM6XF2hgoYYLuLvlOK032qy80LF8SCDWddI6u_A)
            LingoAce (https://www.lingoace.com/th/pros-and-cons-for-online-learning/)

 

หมายเลขบันทึก: 693660เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2021 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2021 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท