@ คุยกันฉันท์#มิตรให้
.....ปัญญา
ผองเพื่อนเชิญกันมา
.....คิดซึ้ง
ประสบการณ์แบ่งปันหา
.....มูลเหตุ
ผนึกซึ่ง"รู้ก้นบึ้ง"
.....สยบร้ายล้างเข็ญ
# แก้ไขครับ
ฉันท์มิตร แก้เป็น ฉันมิตร
ขอบคุณ
อจ. สุวัฒน์ ไวจรรยา ครับ
ฉันมิตร หรือ ฉันท์มิตร
ผู้ใช้ภาษาไทยจำนวนมากยังคงสับสนระหว่างคำ ฉันมิตร ที่ไม่มี ท ทหาร การันต์ กับ ฉันท์มิตร ที่มี ท ทหาร การันต์ ว่าคำใดเป็นคำที่เขียนถูกต้อง สังเกตจากที่มีผู้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเจ้าหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถานอยู่บ่อยครั้ง จึงขอนำปัญหาการใช้คำดังกล่าวมาอธิบายผ่านคอลัมน์ “องค์ความรู้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสถาน” อีกครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้ภาษาไทยคนอื่น ๆ ด้วย
คำว่า ฉัน เป็นทั้งสรรพนามบุรุษที่ ๑ กริยา และคำวิเศษณ์ ถ้าเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ หมายถึง คําที่ใช้แทนตัวผู้พูดเมื่อพูดกับผู้ที่เสมอกันหรือเมื่อผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย ถ้าเป็นคำกริยา หมายถึง กิน (ใช้แก่ภิกษุสามเณร) และถ้าเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง เสมอเหมือน หรือหมายถึง มีแสงกล้า มีแสงพุ่งออกไป
ส่วนคำว่า ฉันท์ เป็นคำนาม หมายถึง คำประพันธ์ประเภทหนึ่งที่วางคำ ครุ ลหุ เป็นแบบต่าง ๆ และหมายถึง ความพอใจ ความรักใคร่ ความชอบใจ ความยินดี; ความร่วมความคิดความเห็นกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ
จากความหมายของคำทั้งสองที่นำเสนอไปข้างต้นนั้น ผู้เขียนเชื่อว่า คงมีผู้อ่านจำนวนหนึ่งที่เข้าใจว่า คำ ฉันท์มิตร ที่มี ท ทหาร การันต์ เป็นคำที่เขียนถูกต้อง เพราะพิจารณาจากความหมายของคำว่า ฉันท์ ในความหมายที่ ๒ ที่นิยามว่า ความรักใคร่ ความชอบใจ ฯลฯ แต่อันที่จริงแล้ว คำที่เขียนถูกต้องคือ ฉันมิตร ที่ไม่มี ท ทหาร การันต์ เพราะคำนี้มีความหมายว่า เสมอเหมือนเพื่อน ไม่ได้มีความหมายว่า เพื่อนรักใคร่ หรือ เพื่อนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ อย่างที่ผู้ใช้ภาษาไทยส่วนใหญ่มักเข้าใจ
* ดังนั้น หากจะเขียนคำว่า ฉันมิตร ฉันเพื่อน หรือฉันญาติ ให้เขียนรูป ฉัน ที่ไม่มี ท ทหาร การันต์.
พรทิพย์ เดชทิพย์ประภา
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
* บทความจาก สำนักงานราชบัณฑิตสภา
เมื่อ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๓