พื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต


 

คำว่า lifelong learning เป็นสัจธรรมทางการศึกษาในยุคนี้   ที่ผมมองว่า ต้องวางพื้นฐานไว้ตั้งแต่เด็ก    โดยที่ครูรู้วิธีจัดการเรียนรู้เพื่อให้ศิษย์ค่อยๆ พัฒนาสมรรถนะด้านการเรียนรู้ของตนเองขึ้นมา   โดยกลไกสำคัญคือการเป็น “ผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง” (self-directed learner) ได้   

เริ่มจากการมีเป้าหมายการเรียนรู้ของตนเอง    รู้คุณค่าของเป้าหมายนั้นต่อชีวิตในอนาคตของตนเอง   และรู้ว่าเป้าหมายของการเรียนรู้ในระดับผลงานของบทเรียน ที่เป็นการเรียนรู้แบบ active learning ของตนเป็นอย่างไร   และระดับคุณภาพของตัวผลงานเป็นอย่างไร   รู้ว่าผลงานคุณภาพดีเยี่ยม  ดี  ปานกลาง พอใช้  และต้องปรับปรุง เป็นอย่างไร   แล้วกำหนดเป้าหมายว่าในการทำงานตามบทเรียนนั้นๆ ตนต้องการผลิตผลงานในระดับใด   ตามด้วยการกำหนดกลยุทธการทำงาน และลงมือทำ    และหมั่นสังเกตว่างานดำเนินไปตามความคาดหมายหรือไม่  ต้องปรับปรุงอย่างไร     

จนในที่สุดได้ผลงานออกมา    ก็มีทักษะในการประเมินคุณภาพผลงานของตนเอง (self-assessment)    จะยิ่งดี หากครูฝึกให้นักเรียนประเมินผลงานซึ่งกันและกัน (peer assessment) และให้ feedback แก่กัน    ว่าจะยกระดับคุณภาพผลงานได้อย่างไร   

สมมติว่า ดช. ก ตั้งเป้าผลิตผลงาน X ไว้ที่ระดับดี    แต่เมื่อผลงานออกมาจริงๆ ทั้งตนเอง และเพื่อนคือ ดญ. ข เห็นพ้องกันว่า ผลงานอนู่แค่ระดับพอใช้เท่านั้น   จึงปรึกษาหารือกันในกลุ่ม ดช. ก, ดญ. ข  และ ดช. ค   ว่าในโอกาสหน้า หากจะมีการทำงานทำนองนี้อีก ดช. ก ควรปรับปรุงตรงไหนบ้าง   โดยที่นักเรียนทั้งสามอาจช่วยกันค้นคว้าหาความรู้ทั้งเชิงทฤษฎี (ความรู้เชิงสาระวิชา) และเชิงปฏิบัติมาประกอบการปรึกษาหารือ    และอาจหารือครูด้วย    ตัว ดช. ก เองอาจเอาไปปรึกษาพ่อ เพราะรู้ว่าพ่อพอจะมีความรู้เรื่องงาน X   

จะเห็นว่า การเรียนในที่นี้เป็นแบบลงมือทำ ที่เรียกว่าการเรียนรู้เชิงรุก (active learning)     และเป็น visible learning เพราะนักเรียน “เห็น” เป้าหมายของการเรียนทั้งเชิงนามธรรม (คุณค่าต่อชีวิตในอนาคตของตน)  และเชิงรูปธรรม (ระดับคุณภาพของชิ้นงาน)    และยังมีสติ “เห็น” กระบวนการทำงาน (เรียน) ของตนเอง    และ “เห็น” ผลงาน   ที่พิจารณาระดับคุณภาพ และ “เห็น” ระดับคุณภาพของชิ้นงานของตน    นำไปสู่การคิดใคร่ครวญ (reflection) ว่าจะยกระดับผลงานได้อย่างไร  หากจะทำงานเดิมซ้ำ จะปรับปรุงกระบวนการทำงานนั้นอย่างไร   

นี่คือการเรียนรู้ที่ซับซ้อน  ที่นำไปสู่สมรรถนะในการกำกับการเรียนรู้ (การทำงานเพื่อการเรียนรู้) ของตนเอง    สมรรถนะนี้ จะนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต   

พัฒนาความเป็น self-directed learner    เพื่อปูพื้นฐานสู่ความเป็น lifelong learner 

ครูต้องมีทักษะหรือสมรรถนะในการจัดพื้นที่ และบรรยากาศ ให้ศิษย์ได้เรียนรู้ในลักษณะดังกล่าว   เพื่อปูพื้นฐานชีวิตที่ดีแก่ศิษย์ในอนาคต    ที่ต้องการการเรียนรู้ที่มากกว่าการเรียนวิชา   

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ต.ค. ๖๔ 

      

 

หมายเลขบันทึก: 693496เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2021 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2021 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท