ผลการใช้การดูแลสุขภาพทางเลือกในผู้ป่วยกลุ่มทุกข์ทรมาน




นวพร ไพรวัลย์สถาพร, ศศิญา บุญรัตน์
โรงพยาบาลพระปกเกล้า


ภาวการณ์เจ็บป่วยไม่สามารถรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยต้องเผชิญกับอาการเจ็บปวดหายใจเหนื่อยหอบ นอนไม่หลับ สับสน ความเครียดที่รุนแรง และในช่วงภาวะวิกฤติของชีวิตที่กำลังรอความตาย ผู้ป่วยจะมีความหวาดกลัว สิ้นหวังและทุกข์ทรมาน  ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาวะทางจิตวิญญาณของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง การได้รับการเยียวยา เอื้ออาทร เมตตา จากผู้ดูแล จะทำให้ผู้ป่วยมีความสุข สงบ ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรืออยู่ในวาระสุดท้าย ศึกษารายกรณีเปรียบเทียบ  ก่อนและหลังการให้การพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มทุกข์ทรมานในโรงพยาบาลพระปกเกล้า เพื่อศึกษาผลของการใช้การดูแลสุขภาพทางเลือก ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มทุกข์ทรมานแบะศึกษาความพึงพอใจด้านจิตวิญญาณในผู้ป่วยและครอบครัว ในผู้ป่วยจำนวน 40 ราย ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2548 ถึง กรกฏาคม 2549 ซึ่งแพทย์เห็นควรให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลสุขภาพทางเลือก กระบวนการศึกษารายกรณี ประกอบด้วยการใช้กระบวนการพยาบาลในการประเมินสภาพร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ การวางแผนการพยาบาล โดยใช้ทฤษฎีการดูแลมนุษย์ของวัตสัน และการสอนสมาธิไทย จินตภาพ (เทคนิคลิขสิทธิ์ SKT6) การกดจุดประสาท ( เทคนิคลิขสิทธิ์ SKT8)

การเยียวยาพลัง และดนตรีบำบัด การสร้างความเชื่อถือ ศรัทธาและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ป่วย ทำการบันทึกข้อมูลเปรียบเทียบผลก่อนและหลังให้การพยาบาลโดยใช้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ  ผลการรักษาของแพทย์ แบบประเมินความปวด และแบบประเมินความพึงพอใจด้านจิตวิญญาณ จากการศึกษาพบว่า จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 40 ราย ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด จำนวน 7 ราย ลดความเจ็บปวดทั้ง 7 ราย มีภาวะสับสน เครียดนอนไม่หลับ จำนวน 6 ราย ลดลง 6 ราย อาการเหนื่อยหอบ จำนวน 5 ราย อาการเหนื่อยหอบลดลง 5 ราย การที่หย่าเครื่องช่วยหายใจไม่ได้จำนวน 2 ราย สามารถหย่าเครื่องช่วยหายใจได้ 2 ราย อาการแน่นท้องขนาดรอบท้องโต จำนวน 2 ราย พบว่า ขนาดรอบท้องลดลง 2 ราย  ผู้ป่วยวาระสุดท้าย ที่มีภาวะหายใจลำบาก จำนวน 15 ราย  ลดความทุกข์ทรมานจากภาวะหายใจลำบากและเสียชีวิตอย่างสงบ จำนวน 9 ราย ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีจำนวนเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น  2 ราย และผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งผิวหนังระยะที่ 3 หายเป็นปกติ ไม่ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัดและฉายแสงจากการเยียวยาตนเองเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน สามารถประกอบอาชีพเดิมได้

การศึกษานี้ ผู้ป่วยและครอบครัวมีความพึงพอใจในระดับมาก การดูแลผู้ป่วยกลุ่มทุกข์ทรมานโดยวิธีการให้การดูแลสุขภาพโดยสุขภาพทางเลือกอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน จะช่วยให้ผู้ป่วยลดความทุกข์ทรมาน และเสียชีวิตอย่างสงบสุข อย่างไรก็ตามการประยุกต์เทคนิคนี้ ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจและไม่สามารถควบคุมการฝึกหายใจได้



จาก บทคัดย่อผลงานวิชาการนำเสนอ
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๙
วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร


หมายเลขบันทึก: 69339เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2006 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท