ชีวิตที่พอเพียง ๔๐๙๐. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๑๖) จัดการวงจรสร้างนวัตกรรม สู่การเรียนรู้ 


    

หลังการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ของ กสศ.  เมื่อเช้าวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔   ตกเย็นทีมงานของ สำนักครูฯ ก็ส่งสรุปคำแนะนำมาให้ช่วยเสริมความเห็น ต่อ ร่าง แผนงานพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (2565 – 2567)    ทำให้ผมคิดชื่อบันทึกนี้ออก    ว่าในช่วง ๓ ปีที่สอง สำนักครูควรเน้นทำงานหนุนวงจรเรียนรู้ในโรงเรียน และระหว่างโรงเรียน 

  ย้ำว่า ควรเน้นให้โรงเรียนเป็นหน่วยปฏิบัติการ หรือหน่วยกระทำการ (agency)    กสศ. เข้าไป empower และ networking   ผ่านการร่วมเรียนรู้และตีความความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้น   ไม่เน้นเข้าไปโค้ชโรงเรียนอีกต่อไป   เพราะการโค้ชส่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้ดีกว่ากับผู้รู้น้อย (ความสัมพันธ์แนวดิ่ง)   ต่อไปนี้เราต้องการหนุนให้ครูมีความมั่นใจที่จะเป็น “ครูผู้กระทำการ” (agentic teacher)    ตามในบันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อเป็นครูผู้ก่อการ   กสศ. เข้าไปหนุนความสัมพันธ์แนวราบให้แก่โรงเรียนและครู      

 โรงเรียนและครูที่ได้รับการสนับสนุนคือผู้ที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้กระทำการ    ไม่ใช่ผู้รอรับการช่วยเหลือ หรือการโค้ช    เป็นผู้กระทำการ หรือริเริ่มการพัฒนาเพื่อยกระดับการพัฒนานักเรียนของตนอย่างมีเป้าหมาย    ทั้งเป้าหมายใหญ่ เป้าหมายรายปี  เป้าหมายรายเทอม  เป้าหมายรายคาบ และเป้าหมายรายคน (นักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ)     การบรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่งที่มีข้อมูลหลักฐานพิสูจน์   เมื่อนำมาตีความว่าผลดีนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร  ก็เป็นนวัตกรรม 

๓ ปีที่สองของ กสศ. ควรมุ่งหนุนการสร้างนวัตกรรมโดยทีมโรงเรียน    ตามแนวทางข้างต้น    และหาทางสื่อสารสาธารณะในวงกว้าง และสื่อสารนโยบายสู่จุดจำเพาะของหน่วยนโยบาย  เพื่อสร้างเงื่อนไขและสร้างระบบนิเวศเพื่อให้โรงเรียนดำเนินการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน และการดูแลให้นักเรียนได้รับ AREQ ได้สะดวกขึ้น มีพลังยิ่งขึ้น    A = Access (ได้เข้าเรียนในระบบการศึกษา), R = Retention (ไม่หลุดออกนอกระบบ), E= Equity (ความเสมอภาคในการได้รับการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม), Q = Quality (คุณภาพของผลลัพธ์การเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้)     

ย้ำว่า ๓ ปีที่สอง (2565 – 2567) สำนักครูฯ ต้องไม่บริหารงานแบบเดิมๆ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เลิกส่งเสริมการโค้ชครูและโรงเรียน    เปลี่ยนไปเน้นการหนุน (empower) และสร้างเครือข่ายนักสร้างนวัตกรรม และนักเรียนรู้จากการทำหน้าที่โรงเรียนและครูอย่างมีอุดมการณ์    และมีความมุ่งมั่นยกระดับศักดิ์ศรีวิชาชีพครู   

ในช่วง ๓ ปีแรก (2562 – 2564) สำนักครูฯ ดำเนินการแบบ exclusive คือทำในโรงเรียนนำร่องประมาณ ๗๐๐ โรงเรียน    ในช่วง ๓ ปีที่สอง (2565 – 2567) สำนักครูฯ ควรเปลี่ยนมาทำงานแบบ inclusive คือเปิดกว้างแก่โรงเรียนที่ต้องการเข้าร่วมอุดมการณ์   

ในช่วง ๓ ปีแรก (2562 – 2564) สำนักครูฯ มีเงินทุนสนับสนุนเป็นเสน่ห์ดึงดูด     ในช่วง ๓ ปีที่สอง (2565 – 2567) สำนักครูฯ ควรเลิกใช้เสน่ห์นั้น   หันไปใช้เสน่ห์ของการจัดการความสัมพันธ์   ที่ช่วยให้โรงเรียนและครูผู้มีอุดมการณ์ทำงานง่ายขึ้น    ที่มีที่ยืนและพื้นที่กระทำการ เป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” (agent for change)   ไม่ใช่ผู้ถูกเปลี่ยนแปลง   

ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าในเรื่องใด ต้องทำงานในวงจรการเรียนรู้เข้มข้นและระมัดระวัง    เพราะธรรมชาติของกิจการสร้างสรรค์นั้น มีความเสี่ยงสูง ความไม่ชัดเจนสูง โอกาสไม่สำเร็จสูงกว่าโอกาสสำเร็จ    การทำงานจึงต้องทำในสภาพที่มีการเรียนรู้สูง  จุดนี้แหละที่ กสศ. ควรเข้าไปปฏิบัติการ    คือหนุนวงจรการเรียนรู้ของ “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” ในระดับโรงเรียน    เพื่อช่วยโรงเรียนและครูนวัตกรให้กระทำการได้สำเร็จ   ให้ทีมงานของโรงเรียนกล้าตั้งเป้าหมายการพัฒนาโรงเรียนในระดับ “คาดหวังสูง” (high expectation)    กสศ. และภาคีเข้าไปให้ “การสนับสนุนสูง” (high support)  แก่ทีมเหล่านั้น    

หลักการ High Expectation, High Support เป็นหลักการของการเรียนรู้ ทั้งในระดับบุคคล    และในระดับระบบ    ดังระบุในหนังสือ สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน   การศึกษาไทยในปัจจุบันขาดแคลนความมั่นใจตนเองทั้งในระดับผู้เรียน  และระดับโรงเรียนและครู    เราต้องช่วยกันเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศของโรงเรียนและครู   ให้เป็นระบบที่ให้ความไว้วางใจและศรัทธาให้ทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง    และเข้าไปหนุน (empower) ให้ทำหน้าที่นั้นได้สำเร็จ     

นำเอา High support   เข้าไปแทนที่ high control ตามสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   

กสศ. หนุนความมั่นใจแก่โรงเรียนและครู ผ่านการจัดกระบวนการร่วมกันตีความ หาความหมายหรือคุณค่า และทำความเข้าใจ (คำถาม why) ผลของการริเริ่มสร้างสรรค์ที่ดำเนินการ    และนำเอานวัตกรรมน้อยใหญ่ ออกเฉลิมฉลองร่วมกันในสังคมไทยผ่านการสื่อสารสาธารณะ   

ทั้งหมดนั้น เท่ากับ กสศ. หันไปเน้นการจัดการผลกระทบ   แทนที่การจัดการทุนสนับสนุนที่ใช้ในช่วง ๓ ปีแรก                   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๖๔ 

 

  



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท