เรียนรู้ "การศึกษาทั่วไป" จาก ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร


วันนี้ ๑๒ พ.ย. ๒๕๖๔  ถือเป็นวันดีที่สุดวันหนึ่งของการเรียนจากผู้รู้  ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหมวกอีกหลายใบ ทั้งที่ท่านเคยใส่ในอดีตและกำลังใส่อยู่ในขณะนี้… หลังจากได้นั่งฟังตลอดเกือบ ๓ ชั่วโมง ในบทบาทของหนึ่งในตัวแทนฝ่ายผู้ฟังที่มานั่งในห้องประชุมของสำนักศึกษาทั่วไป  ….   ขอนำเอาสิ่งที่เห็นว่ามีประโยชน์สำคัญมาแบ่งปันท่านผู้อ่านครับ 

ท่านปรับชื่อการบรรยายครั้งนี้ให้มีเครื่องหมาย +++ ต่อท้ายหัวเรื่องที่ GE กำหนด และเริ่มด้วยสไลด์ด้านล่างนี้ …. “การสร้างพลเมืองอนาคตด้วยการศึกษาทั่วไป +++ ”  …. เน้นความหมายว่า  การสร้างพลเมืองในอนาคตนั้น ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกส่วน ไม่เฉพาะการศึกษา แต่ต้องเป็น  all for education   พ่อ แม่ ครู ชุมชน สังคม มหาวิทยาลัย +++ …..

ท่านบอกว่า โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่มีใครรู้อนาคต …  “การศึกษาไม่ให้คำตอบในปัจจุบัน แต่เป็นสิ่งที่ให้ผลในอนาคต" ดังนั้น การศึกษาทั่วไปจึงควรเน้นการเตรียมสำหรับอนาคตที่ไม่รู้ ไม่ใช่เรียนเฉพาะสิ่งที่เป็น เห็น และคิดว่าจะมีในอนาคตเท่านั้น

ที่มาและที่ไปของการศึกษา 

ท่านบอกประโยคหนึ่งว่า …. การเป็นอาจารย์ (หมายถึงอาจารย์ผู้สอนวิชาศึกษาทั่วไป) จะสอนหนังสือได้ดี ต้องรู้ที่มาและที่ไป….   ในการบรรยายท่านก็เล่าที่มาที่ไป ก่อนจะจบตอนท้ายว่า การศึกษาทั่วไป คืออะไร อยู่ตรงไหนของการศึกษา 

ถ้าแบ่งการศึกษาออกเป็นยุค สอดคล้องตามการปฏิวัติทางเศรษฐกิจที่คุยกันทั่วไป จะได้ดังสไลด์ด้านล่าง 

 

ผมสรุปความให้สั้นที่สุดที่ท่านต้องการจะสื่อได้ว่า 

  • ยุคที่ ๑  เป็นการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนทำงาน  โดยมีสมาคมวิชาชีพที่เรียกว่า กิลด์ (Guilds) เป็นกลุ่มคนที่ทำธุรกิจเดียวกัน โดยเฉพาะสมาคมพ่อค้า …  ครูคือผู้ประกอบอาชีพ ไม่ได้สอนหนังสือ ไม่ได้เรียนวิชา แต่เอาคุณภาพสินค้าตัดสินจากคุณภาพการศึกษา … ที่น่าสนใจคือ ทุกที่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ฯลฯ ล้วนแต่มี กิลด์ …. แต่ประเทศไทยไม่มี … ท่านบอกว่านี่คือเหตุผลคนไทยขาดวัฒนธรรมการทำตลาดขยายการขาย…. (ขายไม่เป็น) … 
  • ยุคที่ ๒  เป็นการศึกษาเพื่อสร้าง “เสรีชน” เตรียมคนสำหรับการดำเนินชีวิตในทุกสถานการณ์… คือการศึกษาเพื่อสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์….สอนคนให้มีคุณธรรม รอบรู้ คิดเป็น  ด้วยการเน้นทักษะการคิด คิดวิเคราะห์ คิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ (เหมือนกับการศึกษาที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ตอนนี้)…. ยุคนี้เป็นยุคแห่งปรัชญา ศาสนา และราชา …. รากฐานการศึกษาแบบนี้มาจากการศึกษายุคเก่าของยุโรปกลาง ที่สอนวิชาศิลปศาสตร์ (Liberal Arts) ๗ วิชา ได้แก่ ไวยากรณ์ ตรรกะ เลขคณิต เรขาคณิต ดาราศาสตร์ ดนตรี และการพูด ส่วนแหล่งอารยธรรมอินเดีย มีวิชาศิลปศาสตร์  ๑๘ ประการ ที่สอนเฉพาะกษัตริย์หรือชนชั้นปกครองเท่านั้น ….  บทบาทของ “กิลด์” สมาคมวิชาชีพ พ่อค้า น้อยลง 
  • ยุคที่ ๓  เริ่มหลังจากมีการปฏิบัติอุตสาหกรรม ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เข้ามาเปลี่ยนการศึกษาจากที่เน้นกระบวนการคิด มาเป็นเน้น “ความรู้” และ “วิจัย" หาความรู้ใหม่ เริ่มยุคของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เน้นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ (เทคโนโลยี) ต้องการคนมาทำงาน การศึกษามุ่งป้อนคนเข้าโรงงาน … ระบบการศึกษาแบบ “กิลด์” วิวัฒนามาเป็น การศึกษาแบบไซโล (ดูภาพด้านล่าง) …. แยกวิชาออกจากอาชีพ สอนวิชาไม่ได้สอนอาชีพ … (เกิดอะไรขึ้นถ้าคนทำหลักสูตรผู้กำหนดวิชาไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ทำอาชีพ…. นี่คือเหตุที่เรียนไปไม่มีงานทำ)

  • ยุคที่ ๔ เรียกกันว่า การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 หรือการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมคนสำหรับอนาคต(ที่ไม่รู้) …. ท่านยกเอาคำทำนายของ Salman Khann ผู้บุกเบิกห้องเรียนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ที่ทำนายการศึกษาในปี 2060 ว่าจะมีลักษณะ ๔ ประการ ได้แก่  ๑) ห้องเรียนจะเปลี่ยนไป (เรียนได้ทุกที่) ๒) ไม่กำหนดเวลาว่าจะต้องเริ่มหรือจบเมื่อใด แต่เปลี่ยนไปเน้นผลสัมฤทธิ์แทน  (เรียนได้ทุกเวลา) ๓) ครูเปลี่ยนเป็นโค้ช ๔) คน 99% ในโลกจะรู้หนังสือ…. และยกตัวอย่าง disruption ทางการศึกษาอันเกิดมาจากเทคโนโลยี เช่น VR (Visual Reality), AR (Augmented Reality), AI (Artificial Intelligence), และ Collaborative Platforms. … ซึ่งครูอาจารย์จะต้องรู้จักธรรมชาติของผู้เรียนยุค Gen-Z และ ยุค Alpha ดังสไลด์ต่อไปนี้ 

ที่มาที่ไปการศึกษาทั่วไป 

จากความเป็นมาของการศึกษา ๔ ยุค …. ผมจับประเด็นและตีความสิ่งที่ท่านเล่าเกี่ยวกับที่มาของการศึกษาทั่วไป ได้ว่า …..

  • การศึกษาแบ่งได้เป็น ๒ องค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นทั้งสองส่วน คือ “การศึกษาเพื่อสร้างอาชีพ” (ยุคที่ ๑ และ ๓) กับ “การศึกษาเพื่อสร้างเสรีชน" (ยุคที่ ๒)  
  • การศึกษาทั่วไป คือ การศึกษาเพื่อสร้างเสรีชน สร้างคนหรือมนุษย์ที่สมบูรณ์ … ก็คือ การจัดการศึกษาคล้ายยุคที่ ๒ ที่ถูกบดเบียดไป ให้กลับมา เน้นให้คนมีคุณธรรม รู้รอบ มีทักษะการคิด และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

การศึกษาสำหรับพลเมืองในอนาคต 

ปัญหาสำคัญคือ ไม่มีใครรู้  ครูอาจารย์จะต้องเตรียมการศึกษาสำหรับคนใน ๖๐ ปีข้างหน้า … สิ่งที่การศึกษาไทยจะต้องเตรียมรับไว้  (ที่จับประเด็นได้) มีดังนี้ 

  • ความเหลื่อมล้ำ …. ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน (ดูจากบัญชีธนาคาร) ซึ่งเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่เอื้อคนมีเงินทุน แหล่งเงินทุนที่เอื้อให้คนมีทรัพย์สิน คนมีทรัพย์สินที่เข้าถึงการบริการของรัฐได้มากกว่าและได้เปรียบเรื่องภาษี ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่กระบวนการยุติธรรมและการศึกษาก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนต่างชนชั้น 
    • คนไทยที่อายุ ๒๑ ปี (ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔) จำนวน ๑๐ คน มีจบ ป.ตรีหรือ ปวส. เพียง ๓.๕ คน มีงานทำ ๒.๕ คน ตกงาน ๑ คน ทำงานเป็นกรรมกรแรงงานขั้นต่ำ ๖.๕ คน ซึ่งจบ ม.ปลาย ๓.๕ คน จบ ม.ต้น ๑ คน และประถม ๒ คน 

  • สังคมผู้สูงวัยกำลังมา ประชากรเกิดใหม่น้อยลง  

  • การศึกษาเน้นแต่ใบปริญญา ไม่สนใจลงทุนกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ…. ระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบัน เป็นแบบกำหนดระยะเวลา… กำหนดว่า ช่วงอายุนี้จะต้องเรียนประถม  มัธยม ฯลฯ และการศึกษาในระบบดูแลแค่ช่วง 6-18 ปี (ช่วง flow) เท่านั้น …. (ทั้ง ๆ ที่ใช้งบประมาณกว่าปีละ ๖ แสนล้านบาท สูงกว่าทุกประเทศ) แต่ไม่ได้ดูแลคนที่เป็นกำลังงาน (ช่วง stock) ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๔๐ ล้านคน และยังปล่อยคนหลังเกษียณกว่า ๑๐ ล้านคน ให้หยุดฝึกฝนพัฒนาใด ๆ ….  

  • การสอนประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน ดูถูกเพื่อนบ้าน …. สอนความเป็นชาตินิยมที่ข่มเพื่อนบ้าน… ทั้ง ๆ ที่ประวัติศาสตร์การรบเป็นเรื่องของอาณาจักร ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งของปัจเจกชน 
  • อุปนิสัยเสียของคนไทยในปัจจุบัน … ที่ท่านก็รู้กันอยู่…. โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ไม่ปล่อยให้ฝึกโบยบินด้วยตนเอง

การศึกษาสำหรับสร้างพลเมืองในอนาคต 

ผมจับได้ว่า การศึกษาในอนาคตของคนไทยจะต้อง….. 

  • เป็น all for education จริง ๆ  คือ ทุกส่วนของสังคมมาช่วยกัน โดยเฉพาะพ่อแม่ต้องเลี้ยงลูก “ให้เป็น” …. ไม่ใช่ห่อข้าวไปส่งลูกถึงมหาวิทยาลัย …. 
  • เท่าทันเทคโนโลยี … ไม่มีทางหลีกเลี่ยงหรือต่อต้าน … ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาให้เท่าทัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมด้านการศึกษาในโลกใหม่ …โดยเฉพาะโลกเสมือน 

  • จัดการศึกษาประวัติศาสตร์ใหม่ ให้เอื้อต่อความปรองดอง รัก เมตตา สามัคคีต่อเพื่อนบ้าน  เช่น  
    • สอนให้รู้จักวีรบุรุษของประเทศเพื่อนบ้าน …..  ไม่ใช่มองวีรบุรุษของเพื่อนบ้านเป็นกบฏ
    • สอนให้รู้จักวัฒนธรรมของศาสนาอื่น ๆ 
    • สอนให้รู้จักดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเท่าเทียม รู้จักการปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อเพื่อนบ้านที่เข้ามาใช้แรงงาน 

  • จัดการศึกษา upskill และ reskill สำหรับคนทำงาน ๔๐ ล้านคน ซึ่งเป็นคนที่มีผลต่อการสร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ 
  • จัดการศึกษาที่สมดุลทั้ง การสร้าง “เสรีชน” และ เตรียมคนให้ “พร้อมงาน” 

การศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างพลเมืองในอนาคต 

การศึกษาทั่วไปควรให้ความสำคัญกับ “การเตรียมคนสู่ชีวิต” ให้สอดคล้องกับการศึกษาเพื่อ “เตรียมคนสู่อาชีพ” ในสาขาต่าง ๆ   

  • ดึงเอาการศึกษาสร้างเสรีชน เช่นเดียวกับ 7 วิชาศิลปศาสตร์ ให้คืนความสำคัญกลับมา หลังจากที่โดนเบียดบังจากการศึกษายุควิทยาศาสตร์ 

  • สอนให้เท่าทันสมัย เทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

  • สอนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมโลก สามารถแข่งขันได้ 
    • เทรนด์ Green, Sustianable, Circular world 
    • แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติ …. โดยเฉพาะการเตรียมรับมือกับภัยใกล้ตัว …. น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล 
    • Metaverse
    • Crypto Currency 
    • ฯลฯ 

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙

หลังจากสรุปการตีความมาถึงตรงนี้ ผมสรุปว่า สิ่งที่ GE  ควรจะทำคือ  ทำให้อาจารย์ผู้สอน GE  สามารถเล่าเรื่องที่ผมสรุปมานี้ให้นิสิตฟัง สอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาวิชาที่ตนเองสอนอย่างแนบเนียน  และทำให้เขาตระหนัก เกิดแรงบันดาลใจ เตรียมตนเองพร้อมรับโลกในศตวรรษใหม่ด้วยตนเอง  

…..

ขอบพระคุณที่ให้โอกาสได้ไปเรียนรู้ครับ 

 

หมายเลขบันทึก: 693303เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2021 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2021 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท