การท่องเที่ยวไทยกระแสน้ำเน่าที่ไม่ไหล


การท่องเที่ยวไทยกระแสน้ำเน่าที่ไม่ไหล

12 พฤศจิกายน 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

งานท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

 

การท่องเที่ยว (Tourism) [2] หมายถึง การเดินทางเพื่อความเพลิดเพลิน พักผ่อนหย่อนใจไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ในหลายมิติเช่นการท่องเที่ยว (1) เชิงเกษตร (2) เชิงนิเวศ (แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ) (3) เชิงวัฒนธรรม (ชมสถานที่วัฒนธรรม) (4) เชิงสุขภาพ (5) เชิงธุรกิจ (เช่นเยี่ยมเยียนธุรกิจ)

การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป[3] คงมิใช่การโหมโรงตีปี๊ป “ให้มีการท่องเที่ยวเฉยๆ” แต่ต้องมีเทคนิค จุดขายด้วย จึงจะรอด เศรษฐกิจรากหญ้าจะได้เดิน มิใช่ได้ประโยชน์แต่ธุรกิจตัวใหญ่ ตัวเล็กแค่ตัวประกอบ โตไม่ได้ เพราะตามกลไกตลาด (Market Mechanism) นั้น ปลาใหญ่ย่อมกินปลาเล็กเป็นธรรมดา รัฐต้องปกป้องคุ้มครอง สนับสนุนธุรกิจตัวเล็ก หรือ SMEs ชาวบ้านคนรากหญ้าด้วย ขอเปรียบการท่องเที่ยวไทยว่าเสมือน “กระแสน้ำที่ไม่ไหล น้ำก็เน่าเหม็น” ครั้นขับเคลื่อนให้กระแสน้ำไหลก็ยาก เพราะน้ำมันแย่แล้ว จะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวไทยขับเคลื่อนไปด้วยดี จากสถิติข้อมูลปี 2562 ภาคการท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้มูลค่าถึง 3 ล้านล้านบาท หรือเป็นสัดส่วน 20% ต่อ GDP[4] ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวไทยภายในประเทศมูลค่า 1 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 จากยอดนักท่องเที่ยวทั้งหมด 39.7 ล้านคน ฉะนั้น ไทยต้องหันมามองในประเด็นความบกพร่องที่มี ขอเสนอ “การท่องเที่ยวคุณภาพ” เปรียบว่าขาย “กุ้งมังกร” ตัวละ 4 พัน มิใช่ขายกุ้งตัวละ 500 เพราะศักยภาพของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนต่างกัน หากเน้นปริมาณ จำนวน ของนักท่องเที่ยวตามมิเตอร์ที่วัดปริมาณกัน เช่น นักท่องเที่ยวขาใหญ่ร่ำรวยจากอาหรับ แน่นอนว่ากุ้งมังกรตัวละ 4 พันก็ต้องขายได้ แม้จะมีนักท่องเที่ยวอาหรับมาเพียง 1 คนก็ตาม 

จากข้อมูลพบว่า มีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่หลั่งไหลมาเที่ยวประเทศไทยนับแต่ปี 2555 เป็นต้นมา มีจำนวนมากที่สุดถึงปีละ 11 ล้านคน[5] แต่หลังจากวิกฤตโควิด จีนปิดประเทศและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ไทยจึงไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน

 

ทำไมการท่องเที่ยวไทยหดหาย

 

สมัยก่อนหน้า คสช. รัฐบาลส่งเสริมเสนอให้ท้องถิ่นได้นำเงินของท้องถิ่นออกมาสมทบกับเงินทุนอุดหนุนส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว[6] เพื่อสร้าง “ห่วงโซ่การท่องเที่ยว” [7] (ซัพพลายเชน : Supply Chain) รวมห่วงโซ่ของกิจการที่เกี่ยวเนื่องนั้นๆ ให้เติบโต ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เพราะท้องถิ่นทั่วประเทศมีเกือบ 8 พันแห่ง การกระจายตัวของคนท้องถิ่นไปท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนนวัตกรรมในการการบริหารจัดการท้องถิ่น (Local Innovation) ย่อมกระจายเม็ดเงินได้ นี่ยังไม่รวมถึงการไปทัศนศึกษาดูงานต่างประเทศของ อปท.ด้วย ที่ทำให้ธุรกิจการบินเติบโต มีรายได้ เป็นต้น แต่น่าเสียดายที่หลังจากมี คสช. ได้ยุบเลิกโครงการนี้ไป อ้างว่ามีการทุจริต เบิกเท็จ สิ้นเปลืองงบประมาณ แถมมีการตรวจสอบย้อนหลังเอาโทษในโครงการทัศนศึกษาดูงาน (ท่องเที่ยว) ย้อนหลัง ทำให้เป็นผลงานแก่หน่วยตรวจสอบคือ สตง. และ ปปช.เป็นอย่างดี เพราะทำให้นักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการถูกกล่าวว่าทุจริตมิชอบมากราย นอกจากนี้ ยังตามมาด้วยมาตรการเข้มงวดในการจัดระเบียบทางสังคม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของ คสช.ทำให้ ธุรกิจโรงแรม บ้านพักรีสอร์ท ขายของชายหาด ถูกกระทบ 

ฉะนั้น หลังจากปี 2557 นับแต่ คสช.ถึงปัจจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยได้เริ่มฝ่อหดหาย การจัดระเบียบสังคมที่เข้มงวด ไม่เอื้อต่อการท่องเที่ยว มีการจับกุมผู้บุกรุก บังคับให้รื้อถอนอาคาร การรื้อรีสอร์ทบนเขา รื้อป้าย รื้อเต็นท์ รื้อถอนแผง ชายหาด ผู้ประกอบการบ้านพักรีสอร์ทถูกห้าม อ้างบุกรุกป่าไม้ ไม่ได้รับอนุญาต ปิดบังภูมิทัศน์ เพื่อความสวยงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การกระทำดังกล่าวทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวไม่เติบโต และเริ่มหดหายไป นี่เป็นการทำลายระบบการท่องเที่ยว และห่วงโซ่ที่เห็นชัดเจน 

 

เกมส์การหักเหลี่ยมธุรกิจสีเทาสีดำ

 

เป็นนิยายหรือว่าเรื่องบังเอิญก็ไม่ทราบ ในธุรกิจการท่องเที่ยว จะเกี่ยวกับ “ธุรกิจสีเทาสีดำ” [8] ว่ากันว่าเป็นการหักเหลี่ยมของ “กลุ่มบางกลุ่ม” แม้อาจยังไม่ถึงกับที่เรียกว่า “กลุ่มชนชั้นนำ” (Elite) ได้ก็ตาม แต่มันส่งผลกระทบการท่องเที่ยวไม่ทางบวก ก็ทางลบ หรือว่าเป็นการคานอำนาจกัน ให้สู่สภาวะต่อรองกัน สู่สมดุล แล้วแต่จะคิดกัน กิจกรรมซัพพลายเชนการท่องเที่ยว “วัตถุเอนเตอร์เทน” เช่น ยาเสพติด การพนัน(บ่อน) การขายบริการทางเพศ ที่เป็น “อบายมุข” ผิดกฎหมายทั้งหลาย เรียก “ธุรกิจสีเทา”(รวมถึงสีดำด้วย) อยู่ในอำนาจของตำรวจพื้นที่ มีระบบการส่งส่วย การเข้าไปเบรค ตัดตอน ทำลาย หรือการเข้าไปทำลาย “ฐานอำนาจในระบบส่วย” “ระบบหักหัวคิว” โดยกลุ่มทหาร โดยเฉพาะในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ หรือหมิ่นเหม่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย หรือภาษากฎหมายเรียกว่า “จ่ายสินบนหรือเงินสินบน” [9] (Bribery/kickback) ทำให้ธุรกิจสีเทาของตำรวจดังกล่าวหายไป หรือมีน้อยลง ที่น่าเป็นห่วงคือ การเข้าไปเสนอตัวทำลายดังกล่าว ทำให้ธุรกิจสีเทาเหล่ามีส่วนแบ่ง ที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ อันเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นมากขึ้นของผู้ประกอบการก็ได้

การหาเหตุตัดขากันทางธุรกิจ ขอยกกรณี การหนุนให้รื้อถอนรีสอร์ทที่บุกรุกภูทับเบิก[10] (วิวสวย มีชาวม้งปลูกกะหล่ำปลี) โดยกลุ่มนายทุน ผู้มีอำนาจที่มีกิจการรีสอร์ทใหญ่อยู่บริเวณใกล้เคียง (รีสอร์ทเขาค้อ อุทยานภูหินร่องกล้า) ขายไม่ออก ไม่มีนักท่องเที่ยวไปพักหรือใช้บริการ เพราะราคาแพงมาก แพงกว่า ธุรกิจโรงแรมขายไม่ออก แม้จะลดราคาค่าพักลงจากวันละ 2 หมื่นเหลือ 3 พัน จาก 3 พันเหลือ 8 ร้อย ก็ตาม ก็ยังไม่มีแขกพัก การเสนอให้รื้อถอนหรือทำลายคู่แข่งจึงเป็นทางออกที่เห็นๆ จึงมีการลุยล้างรื้อถอนรีสอร์ทภูทับเบิกที่มีภูทัศน์เรียกแขกนักท่องเที่ยวได้มากกว่าลงเสีย เหตุการณ์เช่นนี้ มีการดำเนินการที่อำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ ด้วยการให้รื้อถอนรีสอร์ท “ม่อนแจ่ม” [11] เช่นกัน

ซึ่งการรื้อถอนตามนโยบายแบบไม่มีการเยียวยาแก้ไข หรือการโอนอ่อนผ่อนปรน ทำลายธุรกิจการท่องเทียวลงหมด โอกาสที่ “นักท่องเที่ยวท้าทาย” แบบแสวงหาขาดหายไป ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ธุรกิจการท่องเที่ยวรวมซัพพลายเชนได้รับผลกระทบ และค่อยๆ หายไป เพราะ ในบริเวณภูทับเบิกดังกล่าวนั้น หากจะให้ถูกกฎหมายหมด ไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ทหลังใหญ่ รวมถึงวัดด้วย ก็ต้องจัดการให้เสมอกัน ไม่เลือกปฏิบัติ  รัฐต้องเข้าใจธุรกิจตัวเล็ก SMEs วิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ทั้งๆ ที่การท่องเที่ยวแบบนี้อาจไม่ทำลายธรรมชาติสักเท่าใด เพราะ การได้ไปนอนค้างแรมสูดโอโซน อากาศบริสุทธิ์ ท่ามกลางธรรมชาติขุนเขา ดูดาวเดือนที่สวยงามในหน้าหนาว ตอนเช้าได้ชมทะเลหมอก ก้อนเมฆ ที่ไหลไปตามภูเขามันช่างสวยงามและประทับใจผู้มาเยือนยิ่ง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่แปลกท้าทาย ที่รีสอร์ทโรงแรมใหญ่ไม่มี เช่น การทานกาแฟชาที่ต้มกาเตาเผาถ่าน การผิงไฟฟืน การเผาแครอทกิน การอาบน้ำห้องน้ำรั้วสังกะสี 

 

ชีวิตคือการเดินทางแต่ละก้าวจะพาเราไปข้างหน้า 

 

เป็นคำกล่าวถึงการท่องเที่ยว ในการจัดระเบียบสังคมของประเทศไทยที่ผ่านมานั้น หากเป็นแบบเข้มงวดกวดขัน โดยไม่มีการผ่อนปรน ก็จะเป็นการทำลายธุรกิจการท่องเที่ยวลง ทั้งโรงแรม รีสอร์ท โฮสเทล โฮมสเตย์ และซัพพลายเชนต่างๆ รวมถึงพนักงานบริการ ไกด์ สายการบิน รถไฟ รถทัวร์ รถเช่า รถลีมูซีน (Limousine) เรือสำราญ เรือเช่า รถยนต์รถจักรยานยนต์เช่า ร่มบิน อุปกรณ์ทางน้ำ ดำน้ำ รวมวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ด้วย ตัวอย่าง ธุรกิจการท่องเที่ยวประเภทท้าทาย แปลกๆ หลุดโลกหดหาย นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะหายไป เพราะเราคงไม่หวังการเดินถนนของนักท่องเที่ยวทั่วไปแบบ “ถนนคนเดิน” [12] (Walking Street) เช่น ถนนข้าวสาร กทม. ถนนช้างคลาน จ.เชียงใหม่ อำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน อำเภอเชียงคาน จ.เลย เท่านั้น แต่ให้รวมไปถึง การท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ ท่องป่าเขาลำเนาไพร การปีนเขา ดำน้ำ การท่องทะเล ร่มบิน เล่นสกีน้ำ ดูธรรมชาติ ดูสัตว์ป่า นอนป่า กางเต็นท์ กินบรรยากาศ สูดโอโซน การปั่นจักรยาน ขับมอเตอร์ไบค์ หรือ การเดินทางท่องเที่ยวแบบ “Trekking” [13] (การเดินป่าเดินเขา) หรือการท่องเที่ยวแบบไปเรื่อยๆ เป้กระเป๋าใบเดียว เช่น นักท่องเที่ยวจากยุโรป ที่หนีหนาวมา หรือ ที่ได้ลางานมาเที่ยว ช่วงนายจ้างให้โบนัสทริปพักผ่อนประจำปี เหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมาเที่ยวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่ขาด

 

การท่องเที่ยวของกลุ่ม “คนปลดปล่อย” “คนหลุดโลก” 

 

มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกมองว่าเป็นคนเพ้อฝัน พวกพังค์ (punk) ที่ชอบทำอะไรที่ท้าทาย โลดโผน ผจญภัย มาแปลกแบบเสรีชน เช่น ปาร์ตี้ฟูลมูน[14] (Full Moon Party) เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีเสรีในการท่องเที่ยว “ไปตามฝัน” ของเขา การท่องเที่ยวจะไม่มีหยุด ไม่มีหมด มีมาเรื่อยๆ คนเก่าก็จะมาเยือนอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันก็จะมีคนใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกในแต่ละปี เป็นกลุ่มคนนิยมเสรี สมัยก่อนจะเรียก “พวกฮิปปี้” [15] (hippie or hipster) ก็ไม่ผิด ที่ชอบความท้าทาย ความแปลกใหม่ให้แก่ชีวิต ที่ในประเทศของตนเองอาจไม่มี หรือมีก็ได้ แต่การได้มาทำกิจกรรมในต่างแดนยิ่งเร้าใจ สนุกสนานประทับใจกว่า ประกอบกับแหล่งพื้นที่ธรรมชาติที่สวยงาม แหล่งสูดโอโซนอันเป็นจุดขายสะดุดตาที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คาดหวัง ที่นอกเหนือจากการท่องเที่ยวธรรมดาทั่วไป เช่นพื้นที่ แถบทะเลแคริบเบียน แถบเอเซีย เกาะมัลดีฟส์ เกาะบาหลี เกาะภูเก็ต เกาะสมุย เกาะช้าง เขาค้อ ภูทับเบิกเพชรบูรณ์ ภูเรือเลย ดอยม่อนแจ่มแม่ริมเชียงใหม่ 

หลายคนเป็นกลุ่มเศรษฐี หรือเป็นคน “ที่มีเงินเที่ยว” ที่บางคนอาจเป็นวัยรุ่น หรือคนวัยทำงานที่ชอบเสรี นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือเป้าหมายที่ควรส่งเสริม กลุ่มนี้ชอบท่องกินลมชมบรรยากาศธรรมชาติ ปีนเขา ล่องแก่ง ดำน้ำ ตกปลา ส่องสัตว์ พักแพรีสอร์ท ล่องแพแม่น้ำ หรือเขื่อน ดูบั้งไฟพญานาค งานทำบุญบั้งไฟ แห่เทียนพรรษา มาเที่ยวงานเทศกาลประเพณีประจำภาคต่างๆ ที่จัดขึ้นทุกปี 

แน่นอนว่าในความท้าทายเหล่านี้ ย่อมมีของแปลกๆ ที่ไม่มีทั่วไปเสนอให้นักท่องเที่ยวที่ชอบการแสวงหาท้าทายได้เสพลิ้มลอง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วๆ ไป เหล้าถังหรือ “บักเก็ต”[16] รวมไปถึงที่อาจถือเป็น “ยาเสพติด” “บารากู่” [17] (Baraku : ยาสูบกล้อง หรือหม้อสูบยาสูบ แบบอาหรับ) “กัญชา” (เสรี) อาจมี “ใบกระท่อม” “มะเขือบ้า” [18] (ต้นลำโพง) “เห็ดเมา” [19] ที่มีสารเสพติดสารพิษให้เมา เคลิบเคลิ้ม (อาจถึงตาย)

 

การท่องเที่ยวต้องเอาทั้งเอากล่องหรือเอาเกียรติ

 

เป็นข้อคิด “การท่องเที่ยวแบบคุณภาพ” คือเอาทั้งกล่องเงิน และเกียรติคุณภาพ ทั้งสองอย่าง เพื่อเงินที่เยอะกว่า ไม่ใช่เพียงเศษเงิน แต่จะได้เป็นก้อนใหญ่กว่า ทั้งการท่องเที่ยวแบบชาวบ้าน โฮมสเตย์ นวัตวิถีชุมชน เช่น ที่บ้านคีรีวง[20] ตำบลกำโลน อำเภอลานสะกา จ.นครศรีธรรมชาติ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น “การอนุรักษ์ธรรมชาติ” สมุนไพรธรรมชาติ ชวนทานทุเรียน มังคุด และดื่มด่ำสูดโอโซนบริสุทธิ์ 

หากดูความเป็นมาจุดขายในซัพพลายเชนการท่องเที่ยว อาจมีธุรกิจที่เกื้อหนุน ก่อให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกมากมาย โดยเฉพาะในสิ่งดึงดูดที่เรียกกันว่า “Soft Power” [21] หรือที่แปลอย่างง่ายว่า คือ “อิทธิพลทางความคิดความเชื่อของสังคมที่ขับเคลื่อนสังคมได้” ขอยกตัวอย่างเช่น “ธุรกิจมูเตลู” (Mutelu) [22] หรือ “ธุรกิจสายมู” เกี่ยวกับ “ความเชื่อ ไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลัง ไปจนถึงเรื่องของดวงชะตา” วัตถุของบูชา พระเครื่อง ไปจนถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพทางความเชื่อ ทางศาสนา ที่สวยงาม น่าเคารพบูชา เป็นวัฒนธรรม สัญลักษณ์ เช่น วัดร่องขุ่น จ.เชียงรายที่สวยงาม เป็นจุดขายการท่องเที่ยวแก่ชาวจีน และ ชาวต่างประเทศทั่วไป แม้ว่า ธุรกิจสายมูนี้ จะมีการปั่นราคา สร้างความศรัทธานิยมมากันหลายรุ่น หลายละลอก นับแต่เรื่อง “จตุคามรามเทพ” [23] (ภาคใต้) ที่มีการจุดกระแสเมื่อสมัย 20 กว่าปีก่อน เป็นการปลุกกระแสความรักชาติ ให้ปลอบใจเห็นใจและเข้าใจชีวิตทหารชายแดนใต้ที่ยากลำบาก สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายชีวิต การเปิดประเด็นกระแส Soft Power ด้วย จตุคามรามเทพ ทำให้ธุรกิจสายมูในช่วงนั้นบูม ด้วยวงเงินสะพัดหลายล้าน ต่อมาราว 5-6 ปีที่แล้วกระแสสายมู “เรื่องไอ้ไข่” [24] (ภาคใต้) ทำให้การทำบุญผ้าป่ากฐินสะพัด งานนี้ฝ่ายตำรวจเป็นพระเอก เพราะสามารถระดมเงินลงทุนทำบุญได้มากมาย ล่าสุดก็มีธุรกิจ “พืชมงคล” กล้วยด่าง บอนสี ที่คล้ายกับความเชื่อเรื่อง “ว่านมหาโชค” ที่ผู้ชอบสะสมเชื่อว่ามีโชคดีมีชัย มีขวัญกำลังใจ มีโชคมีลาภในการทำงาน ก็เป็นกระแสหนึ่งในปัจจุบันเช่นกัน นี่ยังไม่รวมสายมูอื่นอีกมากมาย เช่น ชาวจีนมาเที่ยวไทยเพื่อมาดูพระเครื่อง สะสมพระเครื่อง หรือ นักแสดงต่างประเทศมาไทยเพื่อลงอาคม สักยันต์อักขระ ด้วยความเชื่อว่าสวยงาม ศักดิ์สิทธิ์ อยู่ยงคงกระพัน หรือกระแส “กัญชาเสรี” [25] “ปลดพืชกระท่อม” [26] ออกจากยาเสพติด ด้วยหวังจะบูมรากหญ้า สมุนไพรจาก “ยาเสพติด” ให้มาเป็น “ยาในการรักษาโรค”หรือใช้ประโยชน์ทางอื่น เช่น เส้นใยกัญชา หากมีแผนงานการส่งเสริมให้เป็นห่วงโซ่หนึ่งของการท่องเที่ยวได้ก็จะดี เช่น เส้นใยกัญชาทำผ้า กัญชาทำยา ทำเครื่องดื่ม ใช้เสพ ฯลฯ หรือ ใบกระท่อมก็อาจทำได้เช่นกัญชา ยกเว้นเส้นใย

นอกจากนโยบายของรัฐแล้ว ปัจจัยสำนึกรับผิดชอบของคนท้องถิ่น ต้องเป็นที่ศรัทธาเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น ในเรื่องความปลอดภัยทางอาชญากรรม ปล้น จี้ ข่มขืน รวมไปถึงการฆาตกรรม เช่น ข่าวการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวหญิงที่เกาะเต่า ที่เกาะสมุย ที่เกาะภูเก็ต ได้ทำลายความเชื่อมันของนักท่องเที่ยวลง ฝากข้อคิดความหวังบูมการท่องเที่ยว ที่กล่าวแต่แรกว่าเสมือนกระแสน้ำที่ไม่ไหลไม่หมุนเวียน เนื่องจากน้ำมันเน่าเหม็นแล้ว ให้มันได้ไหลหมุนเวียนเป็นน้ำดี ที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต รากหญ้าลืมตาอ้าปากได้ โดยเฉพาะในการเปิดประเทศช่วงโควิดรอบตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้เป็นต้นไป

 

เอาน้ำดีมาไล่น้ำเสียออกไป

 

ตอนนี้การท่องเที่ยวที่เปรียบว่ามีน้ำเสียมาก น้ำไม่ไหล เพราะน้ำเน่าแล้ว คือการสร้างน้ำใหม่น้ำดีที่สะอาดเพื่อไปไล่น้ำเสียออกไป มีเทคนิคง่ายอย่างแรกคือ “ต้องสร้างสำนึกพลังท้องถิ่น” ด้วยการ “ประสานส่งเสริมห่วงโซ่ซัพพลายเชน” ที่เป็น Soft Power หรือ เป็นองคาพยพต่างๆ ให้สอดคล้องส่งเสริมกันและกัน การเบรคหรือมาตรการตัดทอนใดๆ ที่ไม่ส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว “ต้องยกเลิก หรือผ่อนผัน” เพื่อให้น้ำเสียไหลออกไปน้ำดีมาแทน ทั้งนี้ในส่วนของท้องถิ่นต้องรองรับว่า ควรจะทำอะไร จะมีกิจการพัฒนาอะไรแก่ท้องถิ่นได้บ้าง ฝ่ายรัฐจะทำอะไรได้บ้าง รัฐบาลควรส่งเสริมท้องถิ่นได้ในทางใดบ้าง ที่สำคัญคือในมาตรการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 นั้น ทั้งภาครัฐและท้องถิ่นต้องร่วมมือผสานกันในทุกรูปแบบ เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับฟื้นมาสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด เพื่อไปสู่ “การท่องเที่ยวคุณภาพ”


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 12 พฤศจิกายน 2564, https://siamrath.co.th/n/296772  

[2]การท่องเที่ยว (Tourism) หมายถึง การเดินทาง โดยระยะทางมากกว่า 40 กิโลเมตรจากบ้าน เพื่อจุดประสงค์ในการพักผ่อนหย่อนใจ การท่องเที่ยวในประเทศไทยได้มีพัฒนาการมาตั้งแต่ พ.ศ.2467 สมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ครั้งทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟ ซึ่งในครั้งนั้นการท่องเที่ยวในประเทศไทย ยังเป็นการท่องเที่ยวเพื่อชมธรรมชาติและสถานที่ราชการ หรือสถานที่สำคัญที่ทางชาวต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยสร้างขึ้น แต่เมื่อประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมาทางองค์การท่องเที่ยวโลก (www.unwto.org)ได้มีการกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวได้ 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ (1) รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ (Natural based tourism) (2) รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม (Cultural based tourism) (3) รูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ (Special interest tourism) กำหนดโดย องค์กรการท่องเที่ยวของสหประชาชาติ (World Tourism Organization) : วิกิพีเดีย 

[3]ธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะเป็นอย่างไร ในวันเปิดประเทศ, moneybuffalo, 28 ตุลาคม 2564, https://www.moneybuffalo.in.th/economy/will-tourism-business-be-better-when-thailand-reopening-the-country & เปิดประเทศแล้ว ท่องเที่ยวไทยพร้อมหรือยัง, ประชาชาติธุรกิจ, 31 ตุลาคม 2564, https://www.prachachat.net/tourism/news-792334 

[4]“ท่องเที่ยวไทย” ในวันที่ไร้นักท่องเที่ยวต่างชาติ, Money Buffalo, 24 ตุลาคม 2563, https://www.moneybuffalo.in.th/business/local-attraction#:~:text=จากข้อมูลในปี%202562,ใน%203%20ของรายได้   

[5]จำนวนนักท่องเที่ยวย้อนหลัง 5ปี(2015 - 2020) จะพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยใน 5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนถึง 183 ล้านคน (6 ปี เฉลี่ยปีละ 30.5 ล้านคน) จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศโดยคิดเป็น % 5 อันดับสูงสุด ได้แก่ (1)China (2)Malaysia (3)Laos (4)Korea (5)Japan

ข้อมูลปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจากจีนมาไทยมากถึง 10.99 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด คือ นักท่องเที่ยวจากจีนมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย เกาหลี และลาว จึงกล่าวได้ว่านักท่องเที่ยวจากจีนมีบทบาทสูงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย โดยปีที่แล้ว โควิดทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยลดลงถึง 88.6% เทียบกับปี 2562 

ดู นักท่องเที่ยวจีน จะไม่กลับมาเร็วอย่างที่คิด โดย ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล, กรุงเทพธุรกิจ, 2 พฤศจิกายน 2564, https://www.bangkokbiznews.com/business/969360  & เที่ยวไทย’63 สะดุด “โควิด” นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย-รายได้เป็นศูนย์, ประชาชาติธุรกิจ, 1 มกราคม 2564, https://www.prachachat.net/tourism/news-584487 & สถิตินักท่องเที่ยว, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, https://www.mots.go.th/more_news_new.php?cid=411& จำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล : สพร.(องค์การมหาชน)ปี 2015-2020, https://data.go.th/blog/tourism-2015-2020

[6]อปท.ที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเดินทางศึกษาดูงาน ตามเงื่อนไข มีสิทธิรับรางวัลมูลค่า 100,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยงาน

ดู โครงการ “อปท.เที่ยวทั่วทิศ ช่วยเศรษฐกิจไทย” ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0891.4/2963 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2556, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2013/3/12040_1.pdf?time=1364257288308  

[7]“โซ่อุปทาน” (Supply chain) ในภาคอุตสาหกรรม หรือ “ห่วงโซ่การท่องเที่ยว” หรือ “ห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว” (Tourism Supply Chain) คือ ห่วงโซ่ที่ประกอบด้วย ผู้ค้าที่มีส่วนร่วมในแต่ละขั้นตอนของสินค้าและบริการไปจนถึงขั้นตอนการส่งมอบสินค้าให้ถึงมือลูกค้าในธุรกิจการท่องเที่ยว และเครือข่ายขององค์กรด้านการท่องเที่ยวที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์กิจกรรมและผลิตภัณฑ์สำหรับการท่องเที่ยว รวมไปถึงการส่งมอบบริการนั้นให้กับนักท่องเที่ยว การจัดองค์ประกอบของห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว โดยแบ่งส่วนประกอบออก เป็น 4 ส่วน ได้แก่ (1) ผู้จัดจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว (suppliers) (2) ผู้ประกอบการทัวร์ (tours operator) (3) ตัวแทนการท่องเที่ยว (agents) (4) ลูกค้า (customers)

ซึ่งโซ่อุปทานการท่องเที่ยวนั้น มีความใกล้เคียงกับความหมายของช่องทางการจัดจำหน่าย (Distribution Channel) มีความหมายคล้ายคลึงกับห่วงโซ่คุณค่าท่องเที่ยว (Tourism Value Chain) ซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ผู้ส่งมอบวัตถุดิบและบริการ (Tourism Supplier), บริษัทนำเที่ยว (Tour Operator), บริษัทตัวแทนท่องเที่ยว (Travel Agent) และนักท่องเที่ยว (Tourist) ที่เป็นผู้มีบทบาทหลักคอยทำหน้าที่เชื่อมโยงประสานกันภายในโซ่อุปทานหนึ่งๆ ทั้งในแนวดิ่ง (Vertical) และในแนวราบ (Horizontal) ตั้งแต่ต้นน้ำ (Upstream) จนถึงปลายน้ำ (Downstream), อ้างจาก กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2559

Tourism Supply Chain Management (TSCM) หรือ “การจัดการโซ่อุปทานการท่องเที่ยว” (Managing Tourism Supply Chain)ประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ๆ ดังนี้ (1) Supply Chains of Tourism services คือ e.g., lodging, F&B, freight transports.(2)Tourist logistics คือการเคลื่อนย้ายนักท่องเที่ยว ทั้งการเดินทาง ที่พักระหว่างทาง ข้อมูลการเดินทาง ฯลฯ

ดู ความหมายของโซ่อุปทานการท่องเที่ยว โดย รัตนา บุญเลิศ, https://sites.google.com/a/eisth.org/chiang-rai-special-economic-zone/-1-khwam-hmay-khxng-so-xupthan-kar-thxng-theiyw 

& การจัดการโซ่อุปทานการท่องเที่ยว : Tourism Supply Chain Management (TSCM) คืออะไร? โดย Pairach , 4 มีนาคม 2555, https://pairach.com/2012/03/04/การจัดการโซ่อุปทานการท/ 

& รูปแบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Tourism Supply Chain Management Model for Sustainable Tourism Development) โดย มนทิรา สังข์ทอง, ศิรวิทย์ กุลโรจนภัทร, และ วิชัย แหวนเพชร, หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาการบริหารการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา : Thaijo,ใน วารสารมหาจุฬาวิชาการ ปีที่ 7 ฉบับที่ 2, 27 สิงหาคม 2563, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JMA/article/download/193946/166459/#:~:text=ห่วงโซ่อุปทานของการ,ลูกค้าในธุรกิจ%20การท่องเที่ยว&text=และเครือข่ายขององค์กร,าหรับการท่องเที่ยว 

[8]รูปแบบของการทุจริต ตามแนวคิดของ Hridenheimer (1978)คือ (1) การทุจริตสีดำ (Black Corruption) เป็นการทุจริตที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่ามีความผิดและสมควรถูกตำหนิ (2) การทุจริตสีเทา (Grey Corruption) เป็นการกระทำที่คนส่วนหนึ่งเห็นว่าควรถูกลงโทษ แต่อีกส่วนหนึ่งเห็นแตกต่างออกไป และคนส่วนใหญ่มีความเห็นคลุมเครือ (3) การทุจริตสีขาว (White Corruption) เป็นการกระทำที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะชนชั้นนำในสังคมเห็นว่ายอมรับได้ เช่น การแซงแถว การใช้อภิสิทธิ์ การให้ค่าน้ำร้อนน้ำชา เป็นต้น (เป็นการทุจริตที่น่ากลัวที่สุด)

ดู แนวโน้มของคอรัปชั่นในประเทศไทย (The Trend of Corruption in Thailand) โดยจารุวรรณ สุขุมาลพงษ์ กลุ่มงานกฎหมาย 2 สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, กันยายน 2556, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=1484 

[9]มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่สำคัญ คือ (1) เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับเงินจากธุรกิจเอกชน (Extortion) (2) ธุรกิจเอกชนให้สินบน (การติดสินบน : bribery) หรือ (3) ธุรกิจเอกชนให้ผลประโยชน์ภายหลัง (จ่ายเงินสินบน : kickbacks) แก่เจ้าหน้าที่รัฐ ให้ตัดสินใจทำ หรือไม่ทำอะไรบางอย่างที่ทำให้ผู้ให้สินบนได้รับผลประโยชน์เหนือคู่แข่งรายอื่น และ (4) รวมถึงการจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ (Facility Payments) ฉะนั้น องค์กรภาคราชการและเอกชนที่มีนโยบาย “คุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วย” (Integrity and Transparency)ต้องต่อต้าน “การทุจริต” (Anti-Bribery, Anti-Corruption หรือ ABAC) 

สมาคมต่อต้านการทุจริตสากล (Association of Certificated Fraud Examiners – ACFE) เป็นองค์กรวิชาชีพสากล (Professional) เป็นองค์กรที่สร้างขึ้นเพื่อต่อสู้ การฉ้อโกง และการหลอกลวงในการดำเนินธุรกิจ องค์กรก่อตั้งขึ้นในปี 2531 และมีสำนักงานใหญ่ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส เป็นหน่วยงานรับรองสำหรับมืออาชีพที่มี ผู้ตรวจสอบการทุจริตที่ผ่านการรับรอง (CFE) การกำหนด 

ACFE กำหนดว่าการให้และรับ สินบน หรือ Bribery เป็นรูปแบบหนึ่งของการทุจริตในกลุ่ม Corruption (มี 4 รูปแบบ) เช่นเดียวกับ ผลประโยชน์ทับซ้อน โดย ACFE ไม่ได้จำกัดว่าสินบนจะต้องเป็นทรัพย์สินเท่านั้น แต่หมายรวมถึง ผลประโยชน์ ในลักษณะใดก็ได้ ที่ให้และรับกันโดยทุจริต แยกเป็น 3 แบบคือ แบบที่ 1 สินบน คือ ผลประโยชน์ ใดๆ ที่ให้หรือเสนอว่าจะให้ และรับหรือตอบสนองว่าจะรับ เพื่อเป็นการจูงใจ ให้กระทำการ หรือไม่กระทำใดๆ แบบที่ 2 การให้สิ่งตอบแทนโดยมิชอบ (Illegal gratuities) มีความคล้ายคลึงกับสินบน แต่ต่างกันตรงที่เป็นการให้ผลประโยชน์เพื่อตอบแทนการกระทำ หรือการไม่กระทำใดๆ หรือที่บางคนใช้คำสวยๆ ว่าเป็น สินน้ำใจ นั่นแหละ สุดท้าย แบบที่ 3 การขู่กรรโชกทางเศรษฐกิจ (Economic extortion) จะเป็นกรณีที่คนให้นั้น เดิมทีก็ไม่ได้อยากจะให้หรอก แต่ผู้มีอำนาจเรียกรับ หรือขู่ว่าถ้าไม่ให้ก็จะเกิดผลเสียหาย ซึ่งถ้าคนถูกเรียก ถูกขู่ไม่ ตามน้ำ ก็คงจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของท่านเหล่านั้นสักเท่าไหร่

ดู แนวโน้มของคอรัปชั่นในประเทศไทย (The Trend of Corruption in Thailand), กันยายน 2556, อ้างแล้ว & ทำความรู้จักกับ สินบน โดย act: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย), 2 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.anticorruption.in.th/2016/th/detail/104/1/ทำความรู้จักกับ-สินบน& “สินบน” มีกี่แบบ, โดย antifraud.in.th, 14 พฤษภาคม 2562, https://www.blockdit.com/posts/5cae76f674b5010afae11fa6   

[10]ข่าวเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563 กรมป่าไม้ พร้อมด้วยฝ่ายปกครองเข้าตรวจสอบการบุกรุกป่าภูทับเบิก บริเวณจุดชมวิวผาหัวสิงห์ พบ 3 แปลงเป็นผู้บุกรุกรายเดิม ใช้คำสั่ง คสช. ที่ 35/2559 รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกทันที ขณะที่พบอีก 5 จุดขยายทำรีสอร์ตใหม่ถูกจับดำเนินคดีทันที

ดู รื้อเต็นท์-รีสอร์ต บนผาหัวสิงห์รุกป่าภูทับเบิก, Thai PBS, 11 กรกฎาคม 2563, https://news.thaipbs.or.th/content/294476#:~:text=กรมป่าไม้%20พร้อมด้วย,ใหม่ถูกจับดำเนินคดีทันที

[11]รื้อแล้วรีสอร์ท “ม่อนแจ่ม เชียงใหม่”, สยามรัฐออนไลน์, 12 กรกฎาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/169070 

[12]ถนนคนเดิน (Walking street)หรือเป็นตลาดนัด มีหลายแห่งตามเมืองท่องเที่ยว เช่น ถนนคนเดินท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อกว่า 14 ปีก่อน ต่อมาได้ย้ายมาที่ปัจจุบัน คือตรงถนนราชดำเนิน และถนนพระปกเกล้า ตั้งแต่ หน้าวัดพระสิงห์ ไปจนถึงประตูท่าแพ เป็นถนนคนเดินวันอาทิตย์ หรือ กรุงเทพมหานครก็มีที่ถนนเยาวราช สีลม ข้าวสาร หรือ ถนนคนเดินภูเก็ต หลาดใหญ่ หรือ ถนนคนเดินพัทยา หรือ ถนนคนเดินบางแสน เป็นต้น ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม จัดต่อเนื่อง ถนนคนเดิน เดิน กิน ชิม เที่ยว

[13]การเที่ยวแบบ trekking คือการเที่ยวที่ต้องเดินเท้า ไปในสถานที่ธรรมชาติต่างๆ มักจะเป็นป่าเขา และมักจะอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเลพอสมควร ซึ่งการเดินเท้าไปเป็นระยะทางไกล ไปเป็นเวลาหลายๆวัน และต้องแบกของใช้ส่วนตัวติดตัวไปบ้าง แม้ว่าจะมีลูกหาบหรือ porter ช่วย ดังนั้นต้องเตรียมตัวอย่างดี สุขภาพร่างกายโดยทั่วไปต้องแข็งแรง

[14]ฟูลมูนปาร์ตี้ (Full Moon Party แปลว่า งานฉลองพระจันทร์วันเพ็ญ) เป็นงานฉลองบนชายหาด จัดขึ้นที่หาดริ้น เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทุกๆ คืนที่พระจันทร์เต็มดวง ฟูลมูนปาร์ตี้เคยเป็นฉากสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง Last Stop for Paul และมีเนื้อหาส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ไทยเรื่อง ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น ฟูลมูนปาร์ตี้บนเกาะพะงันเริ่มต้นขึ้นเมื่อราว 30 ปีก่อน จากกลุ่มนักท่องเที่ยวไม่กี่คนที่หลบหนีความวุ่นวายของเกาะสมุยมา : วิกิพีเดีย

[15]คำว่าฮิปปี้ (Hippie) มาจากคำว่า ฮิปสเตอร์ (hipster) ซึ่งถูกใช้เรียกพวกที่ทำตัวแตกต่างจากคนส่วนมากในสังคม ซึ่งวิถีชีวิตของฮิปปี้จะมีลักษณะที่เป็นอิสระ รักในสันติภาพ ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง มักชอบทำตัวแปลกแยกออกจากสังคม ต่อต้านระบบทุนนิยม ชอบอยู่กับธรรมชาติอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กินมังสวิรัติ หลงใหลในพุทธศาสนา ชอบสวดมนต์ : วิกิพีเดีย

[16]เอาเหล้าใส่ถัง ใส่โซดา น้ำแข็ง ใส่หลอด แล้วยกดูด สูตรทำบัคเก็ต เหล้าอะไรก็ได้แบนหนึ่ง เช่น 1.แสงโสม หงส์ทอง 2.สไปรซ์ 1 กระป๋อง 3.กระทิงแดง 1 ขวด ผับที่เกาะสมุยเสิร์ฟเป็นถัง (บัคเก็ต) : เวบ pantip

[17]บารากู่ (Baraku)เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับสูบ/ดูดควันที่ผ่านน้ำ มีลักษณะคล้ายขวดรูปทรงสูง ด้านฐานป่องออกเพื่อบรรจุน้ำ ส่วนคอขวดยาวทรงสูงแคบ และด้านบนสุดมีถ้วยบรรจุสาร/ตัวยาที่ต้องการเสพ โดยใช้กระดาษอะลูมินัมฟอยล์หุ้มปิดด้านบน และเจาะรูไว้ ซึ่งจะใช้ถ่านหรือความร้อนจากไฟฟ้าเพื่อชักนำให้เกิดการเผาไหม้สารภายในถ้วยได้ควันที่ต้องการ นอกจากนี้การควบคุมระดับน้ำที่ใส่ไว้ด้านล่างซึ่งมีความสำคัญต่อรสในการเสพ เพราะ ควันจะลงไปผ่านน้ำ จากนั้นผู้เสพจะดูด/สูบด้วยท่อสายยาวที่ต่อออกมาบริเวณด้านล่าง ทั้งนี้การสูบบารากู่ต่างจากการสูบบุหรี่ทั่วไป โดยการสูบบารากู่จะสูบจากควันผสมกลิ่นที่ผ่านน้ำแทน

[18]มะเขือบ้าหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าลำโพงขาว เป็นไม้ล้มลุก มีลักษณะใบและผลคล้ายมะเขือ ผลยาวขนาด 4-5 เซนติเมตรมีหนามขรุขระ ในผลมะเขือบ้าจะมีสารพิษประเภทอัลคาลอยชื่อว่า สโคโปลามีน ฮายโอไซอามีนและอโทรปีน (Scopolamine,Hyoscyamine,Atropine) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทอัตโนมัติ หลังกินประมาณ 5 –10 นาที ทำให้เกิดอาการคอแห้ง ลิ้นแข็ง หัวใจเต้นเร็ว เสียสติคล้ายคนบ้าและอาการดังกล่าวจะหายภายใน 2-3 วัน เนื่องจากร่างกายจะขับพิษออกทางปัสสาวะ ดู อันตรายมะเขือบ้าเปิบไม่ระวังมีสิทธิ์เดี้ยง, ผู้จัดการออนไลน์, 6 มีนาคม 2548, https://mgronline.com/qol/detail/9480000032111  

[19]เห็ดเมา หรือเห็ดขี้ควาย เป็นเห็ดที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ชอบขึ้นตามขี้ควายแห้ง มีสีเหลืองซีดคล้ายๆ สีฟางแห้ง บนหัวของร่มจะออกสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ ส่วนก้านที่ใกล้จะถึงตัวร่มจะมีแผ่นเนื้อเยื่อบางๆ สีขาวแผ่ออกรอบก้าน แผ่นนี้มีรูปร่างจะคล้ายๆ วงแหวน คนที่กินเห็ดนี้เข้าไปจะมีอาการมึนเมา ประสาทหลอน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้

ดู หมอแล็บเตือน อย่ากินเห็ดเมา ชี้คือยาเสพติดให้โทษ หากใช้เกินขนาดมีฤทธิ์รุนแรงถึงตาย, ผู้จัดการออนไลน์, 17 มีนาคม 2564, https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000025695 

[20]หมู่บ้านคีรีวง (Kiriwong village) ชุมชนเป็นต้นแบบในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขาและสายน้ำ การันตีคุณภาพจากรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประจำปี พ.ศ.2541

เป็น “หมู่บ้านแห่งอากาศสดสะอาด” ปี 2552 กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบอากาศของเมืองคีรีวงและพบค่า AQI หรือค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 17-49 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่ดีมากหากเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย

ดู ชุมชนบ้านคีรีวง นครศรีธรรมราช, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), 23 กันยายน 2562, https://thai.tourismthailand.org/Attraction/ชุมชนบ้านคีรีวง & เที่ยวบ้านคีรีวง เมืองในหุบเขาแดนใต้, AEC10NEWS, 6 พฤษภาคม 2562, https://aec10news.com/contents/travel/822/   

[21]นิยามแบบแคบๆ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)หมายถึงอำนาจในการชักจูงหรือโน้มน้าวประเทศอื่นให้ปฏิบัติตามที่ตนประสงค์ โดยการสร้างเสน่ห์ ภาพลักษณ์ ความชื่นชม และความสมัครใจ พร้อมที่จะร่วมมือกันต่อไป อำนาจในลักษณะนี้จะได้รับการยอมรับมากกว่าการออกคำสั่งโดยใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ หรืออำนาจเชิงบังคับอย่างอำนาจทางทหาร ที่เรียกว่า ฮาร์ดพาวเวอร์ (Hard Power) นั่นเอง

ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย มีผู้คนหลากหลายที่พยายามชี้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ของไทย เช่น ต้มยำกุ้ง (อาหาร), นวดไทย, มวยไทย, ละครไทย/ภาพยนตร์ไทย เป็นต้น 

ดู ซอฟต์พาวเวอร์ คืออะไร โดย ชำนาญ จันทร์เรือง, ในมองมุมใหม่, กรุงเทพธุรกิจ, 27 ตุลาคม 2564, https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/968174

[22]คำว่า “มูเตลู” (Mutelu) คำนี้ เดิมมาจากภาพยนตร์ของอินโดนีเซีย ชื่อว่า Penangkal limu Teluh ภาษาอังกฤษชื่อว่า Antidote for witchcraft หรือ เมเตลู ศึกไสยศาสตร์ กำกับโดย S.A Karim เป็นหนังสยองขวัญคลาสสิก ออกฉายในปี 1979 

เริ่มเป็นคำฮิตติดเทรนด์ตั้งแต่ช่วงที่ตะกรุดแฟชั่นหรือกำไลข้อมือเครื่องรางเริ่มมาแรง ด้วยความที่บรรดานักแสดง ศิลปิน เซเลบคนดังต่างหันมาใส่เครื่องรางจากแบรนด์อย่าง ไลลา อมูเลต ที่ผสมผสานเครื่องรางตามความเชื่อแบบไทยเข้ากับแฟชั่นได้อย่างลงตัวและสวยงาม สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันจนคนทั่วไปเริ่มไปตามหามาบูชากันบ้าง กลายเป็นเทรนด์ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง และเป็นที่มาของชื่อเรียกติดปากว่า กำไลมูเตลู

ดู สายมูเตลู คืออะไร มีที่มาจากไหน พร้อมพาคุณไปสำรวจความเชื่อสายมูของแต่ละประเทศ, โดยกองบรรณาธิการ ShopBack Blog TH, 30 กันยายน 2563, https://www.shopback.co.th/blog/sm-hi-สายมูเตลู-คือ/  & มูเตลู มาจากไหน แปลว่าอะไร, innnews, 17 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.innnews.co.th/horoscope/news_40779/ & “มูเตลู” ในโลกธุรกิจ เมื่อคนไทยต้องการที่พึ่งช่วงโควิด, ประชาชาติธุรกิจ, 6 สิงหาคม 2564, https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-732999     

[23]จตุคามรามเทพ หมายถึง เทพรักษาวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช สององค์ คือ ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ ซึ่งเดิมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์เป็นเทพชั้นสูง และมีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย แต่เมื่อภูมิภาคแถบอุษาคเนย์นี้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาเข้ามา ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ จึงถูกเปลี่ยนสถานะเป็นเทวดารักษา ปี 2530 : วิกิพีเดีย ดู เปิดเซฟพ่อท่านหงบ พบ “จตุคามรามเทพ” รุ่นแรกปี 30 วัตถุมงคลต้นฉบับอื้อ, ไทยรัฐออนไลน์, 6 กรกฎาคม 2562, https://www.thairath.co.th/news/society/1608336   

[24]ไอ้ไข่วัดเจดีย์” หรือ “ตาไข่วัดเจดีย์”คือรูปไม้แกะสลักของเด็กชายอายุ 9-10 ขวบ ตั้งอยู่ในศาลาในวัดเจดีย์ เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ ณ วัดแห่งนี้ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน ตั้งแต่ละแวกใกล้วัด ไปจนถึงต่างจังหวัดในแถบภาคใต้ทั้งหมด โดยจุดสร้างชื่อของ “ไอ้ไข่” คือ “ขอได้ไหว้รับ” ของหายจะได้คืน

วัดเจดีย์ หรือ วัดไอ้ไข่ ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อก่อนนั้นเคยเป็นวัดร้าง ตำนานว่าสร้างมาแล้วมากกว่าพันปี เหลือเพียงเจดีย์โบราณ ที่อยู่ตรงบริเวณโบสถ์ในปัจจุบัน จนเมื่อประมาณปี พ.ศ.2500 ก็ได้มีการบูรณะวัดเจดีย์ขึ้นมาใหม่ 

ดู เปิดตำนาน ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ ชื่อดัง แห่ง นครศรีธรรมราช, ทรูไอดี, 15 กันยายน 2563, https://travel.trueid.net/detail/9V6j8GWrY4pV

[25]“กัญชาเสรี” เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงของพรรคภูมิใจไทย ในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ปี 2562 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจาก พื้นที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่ ถือเป็นแหล่งผลิตกัญชาที่มีคุณภาพดีที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก และกัญชาที่ปลูกในไทยไทย ก็ให้สารที่นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ดีที่สุด

ดู กัญชาเสรี, โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, สถาบันพระปกเกล้า, 2563, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=กัญชาเสรี   

[26]วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงปลดล็อค ให้พืชกระท่อมไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป หลังเริ่มมีผลบังคับใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 วันนี้เป็นวันแรก โดยให้ถือว่าประชาชนสามารถปลูกพืชกระท่อมได้อย่างเสรี หรือจะบริโภคก็สามารถทำได้ ส่วนกรณีการเทียบสัดส่วน 4×100 ยังเป็นการผิดกฎหมายอยู่ โดยสาระสำคัญการบังคับใช้กฎหมายคือให้ผู้ที่ปลูกกระท่อม ไว้ครอบครองสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบดเคี้ยวได้ และปลูกต้นกระท่อมเพิ่มเติมได้ 

ดู ปลดล็อค”กระท่อม” แล้ววันนี้ ปชช.ปลูกได้เสรี ส่งออก-นำเข้าต้องขออนุญาต, ฐานเศรษฐกิจ, 24 สิงหาคม 2564, https://www.thansettakij.com/politics/493058  



ความเห็น (1)

Excellent background material for tourism operators and students. Salute!

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท