สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ทอดถวาย ณ วัดมงคลชัยพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี (ทฤษฎีใหม่แห่งแรกของประเทศไทย)


สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ทอดถวาย 

ณ วัดมงคลชัยพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี 
ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. 

โดยมี นายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธี

วัดมงคลชัยพัฒนา เดิมชื่อวัดมงคล สร้างขึ้นในปลายรัชกาลที่ ๔ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๐) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกในรัชกาลที่ ๗ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๔ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามจากวัดมงคล เป็น “วัดมงคลชัยพัฒนา” เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส

และเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๖ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ของมูลนิธิชัยพัฒนา และได้บำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระราชทานพระบรมรูปหล่อโลหะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเก็บรักษาไว้  ณ อุโบสถวัดมงคลชัยพัฒนา

โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ ถือเป็น “ทฤษฎีใหม่” แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรที่มีพื้นที่ถือครองขนาดเล็กประมาณ ๑๕ ไร่ โดย

ขั้นที่ ๑  จัดแบ่งพื้นที่เป็น ๔ ส่วนคือ ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ กล่าวคือ ๓๐ % ส่วนแรก คือสระน้ำ / ๓๐ % ส่วนที่สอง คือการทำนา / ๓๐ % ส่วนที่สาม คือ การเพาะปลูกพืชไร่ พืชสวน และ ๑๐ % สุดท้ายคือที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และอื่นๆ  หากเกษตรกรประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑ แล้ว 

ขั้นที่ ๒ เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต รวมกันขายผลผลิต (การตลาด) 

ขั้นที่ ๓ คือการติดต่อร่วมมือกับแหล่งเงินและแหล่งพลังงาน ตั้งและบริหารโรงสี ตั้งและบริหารร้านสหกรณ์ (กิจกรรมรวมกันซื้อ และรวมกันขาย เพื่อ เกิดการประหยัดเนื่องจากระดับขนาดจากการรวมกัน และรวมใจกัน) ช่วยกันลงทุน และพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ยังได้พระราชทานพระราชดำริ การพัฒนาตามหลัก “บวร” โดยนำวัดซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในสังคมมาร่วมกันพัฒนาชุมชนกับชาวบ้าน โรงเรียน หรือส่วนราชการ ส่งผลให้เกิดความความสัมพันธ์ที่ดี ความสามัคคี และการร่วมมือกันของคนในชุมชนที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตนเองให้มีความเข้มแข็ง

เริ่มนาทีที่ ๑๕:๑๕

 

พีระพงศ์ วาระเสน บ๊อบบี้
นักการสหกรณ์ด้วยหัวใจ 💚
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๒ = การสหกรณ์
วันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ปี ฉลู



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท