เลี้ยงดูปูเสื่อ


เลี้ยงดูปูเสื่อ

" เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ
ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ
อย่างเลิศดีตามมีและตามเกิด
ให้เพลินเพลิดกายากว่าจะกลับ"

บทละครเรื่อง พระร่วง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำนวน "เลี้ยงดูปูเสื่อ" หมายถึง ต้อนรับเลี้ยงดูด้วยอาหารการกินอย่างดี

ตัวอย่าง
แขกไปไทยมาก็ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อเขาให้ดี อย่าให้ใครตำหนิเราได้

ที่มาของสำนวน " เลี้ยงดูปูเสื่อ" สมัยก่อนบ้านเรือนทั่วไปไม่ได้มีเฟอร์นิเจอร์ ชุดรับแขก โต๊ะกินข้าว หรือเตียงนอน เมื่อต้อนรับแขกจึงต้องจัดสถานที่ด้วยการปูเสื่อรองนั่งหรือรองนอน เป็นการแสดงให้รู้ว่าเป็นแขกพิเศษ เสื่อจึงเป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ใช้งานได้อเนกประสงค์ เป็นที่มาของสำนวนที่ใช้เรียกการต้อนรับอย่างดีว่า " เลี้ยงดูปูเสื่อ"

อาการกุลีกุจอปูเสื่อต้อนรับแขกเป็นการแสดงน้ำใจและเต็มใจของเจ้าของบ้าน หลังจากนั้นจะยกขันน้ำ กาน้ำชา บุหรี่ เชี่ยนหมากมารับแขก และตั้งสำรับอาหารการกินเลี้ยงดูแขกอย่างเต็มที่ หากไปบ้านไหนเจ้าของบ้านนิ่งเฉย ปล่อยให้นั่งกับพื้นกระดานโล่งๆ แสดงว่าเจ้าของบ้านไม่เต็มใจต้อนรับและเป็นการไล่แขกกลายๆ

ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน นางทองประศรีสู่ขอนางพิมพิลาไลยให้พลายแก้ว ได้กล่าวถึงการต้อนรับแขกมีเนื้อความดังนี้

"...ครู่หนึ่งถึงบ้านศรีประจัน
แกตัวสั่นร้องเรียกให้ดูหมา
ศรีประจันเปิดหน้าต่างพลางแลมา
เห็นแล้วเรียกข้าด่าอึงไป
อีนั่นอ้ายนี่อีขี้ครอก
แขกมาหาบอกแก่กูไม่
บ่าวกลัวตัวสั่นลงบันได
วิ่งไขว่มารับขึ้นเรือนพลัน
แล้วเอาเสื่อสาดมาลาดปู
หมากพลูใส่เชี่ยนขมีขมัน
มานั่งล้อมพร้อมหน้าพูดจากัน
ศรีประจันปราศรัยทายทัก..."

การทอเสื่อเป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น โดยท้องถิ่นใดมีต้นกกก็ทอเสื่อกก ท้องถิ่นใดมีต้นกระจูดก็ทอเสื่อกระจูด เสื่อในอดีตเป็นของใช้ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับปูนั่งหรือนอน จนถึงมีคำกล่าวว่า บ้านใดไม่มีเสื่อ ถือว่า พ่อ แม่ ลูกเกียจคร้าน ไม่มีฝีมือ หนุ่มสาวที่กำลังจะแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่หรือขึ้นเรือนใหม่ จะต้องเตรียมที่นอน หมอน มุ้ง ส่วนเสื่อฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมทอสะสมไว้เป็นของขึ้นเรือน นอกจากนี้ยังทอเพื่อถวายเป็นไทยทานให้กับวัด เพื่อบำรุงพุทธศาสนาในฤดูเทศกาลต่างๆ และยังนำเสื่อที่ทอไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย

วัสดุที่นำมาทอเป็นเสื่อหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าสาด คือพืชล้มลุกที่เรียกว่า กก ซึ่งถือเป็นพืชล้มลุกที่มีความทนต่อสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี กกมีอยู่ 2 ชนิด คือ กกเหลี่ยมหรือที่ชาวบ้านเรียกทั่วไปว่า ผือ กับ กกกลมหรือภาษาถิ่นเรียกว่า ไหล

 

กก เป็น พืชล้มลุกในวงศ์ Cyperaceae ขึ้นในที่ชุ่มแฉะ มีหัวเหมือนข่าแต่เล็กกว่าและแตกแขนงเป็นต้น กกกลมนิยมใช้ในการทอเสื่อเพราะผิวจะเหนียวและอ่อนนุ่ม เมื่อทอเป็นเสื่อแล้วจะมีความนิ่มนวลน่าใช้ หาดขัดถูก็จะเป็นมันน่าดู ส่วนกกเหลี่ยมหรือผือ มีลำต้นเป็นสามเหลี่ยม ผิวของกกชนิดนี้จะแข็งกรอบและไม่เหนียว จึงไม่ค่อยนิยมนำมาใช้ทำเสื่อเพราะไม่ทน

ขั้นตอนที่สำคัญในการทอเสื่อกก มีดังนี้

1. การปลูกกกหรือทำนากก เป็นการเริ่มต้นสร้างวัสดุในการทอเสื่อ เริ่มตั้งแต่เตรียมที่ดินจนถึงเก็บเกี่ยวได้ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน

2. การตัดกก จะใช้มีดเล็กตัดเกือบถึงโคนต้นกก แล้วนำมาคัดแยกตามขนาดความยาว ตัดดอกทิ้งเพื่อกรีดเป็นเส้น

3. การกรีดจะใช้มีดปลายแหลมที่ทำมาจากใบเลื่อย กรีดแบ่งครึ่งกกแต่ละเส้นเพื่อให้แห้งง่าย

4. นำกกที่กรีดเป็นเส้นแล้วไปตาก โดยแผ่วางเรียงเป็นแนวยาว จากนั้นนำมามัดเป็นมัดเล็กๆแล้วตากอีก 2 วันให้เส้นกกแห้ง

5. การย้อมสี นำกกที่ตากแห้งแล้วมามัดแช่น้ำราว 10 ชั่วโมง เพื่อให้เส้นนิ่ม จากนั้นนำไปต้มน้ำให้เดือด ใส่สีย้อม ต้มเป็นเวลา 10-15 นาที จึงนำไปแช่น้ำ แล้วจึงนำขึ้นตากในที่ร่มมีลมพัดผ่าน 3-4 วัน เมื่อเส้นกกแห้งสนิทก็สามารถนำไปทอได้

6. การทอเสื่อจะร้อยเส้นเอ็นกับฟีมเป็นเส้นยืนตามขนาดของคืบที่กำหนด แล้วใช้เส้นกกใส่กระสวยทอเรียงเป็นเส้นนอนคล้ายการทอผ้า การใส่ลวดลายนิยมใส่ตอนแรกและตอนสุดท้ายของการทอเมื่อจะเต็มผืน

7. เมื่อทอได้เต็มผืนก็มัดริมเสื่อ ตัดเสื่อออกจากกี่ ตัดริมอีกครั้ง พร้อมแต่งเสื่อให้มีความเรียบร้อยสวยงาม

8. ส่วนราคาในการขายขึ้นอยู่กับขนาดกว้างซึ่งวัดเป็นคืบ เริ่มต้นจากเสื่อธรรมดา 5 คืบ ราคาเริ่มต้นที่ผืนละ 80 บาท จนถึงเสื่อสี ขนาด 7 คืบ ราคาเริ่มต้นที่ ผืนละ 250 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลวดลายของเสื่อแต่ละผืนด้วย

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อื่นเข้ามาทดแทนการใช้เสื่อกกมากมาย เช่น เสื่อน้ำมัน พรม กระเบื้องปูพื้น ทำให้กระแสความนิยมในการใช้เสื่อกกลดลง และคนรุ่นใหม่ก็สนใจภูมิปัญญาด้านการทอเสื่อกกน้อยลง จึงมีการอนุรักษ์ และพัฒนาเสื่อกกสู่ผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆเพื่อให้ตอบสนองความต้องการในยุคปัจจุบัน

แม้ว่าในบางครั้งสำนวน “ เลี้ยงดูปูเสื่อ” จะถูกนำมาใช้ในทางลบ แต่ที่มาของสำนวนนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจไมตรีของคนไทยที่ต่อผู้มาเยือน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่ชาวต่างชาติประทับใจและดึงดูดใจให้กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งเมื่อมีโอกาส

 

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต 

 

หมายเลขบันทึก: 692590เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2021 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท