ความเป็นระบบเปิดของมหาวิทยาลัยไทย


 

หากจะให้มหาวิทยาลัยไทยทำหน้าที่หัวรถจักร ในการสร้างนวัตกรรมให้แก่ประเทศได้อย่างจริงจัง   ต้องหาทางส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นระบบเปิดมากกว่านี้ ในเรื่องบุคลากร   พฤติกรรมที่สะท้อนความเป็นระบบปิดของมหาวิทยาลัยไทยในที่นี้ดูจากพฤติกรรมการรับอาจารย์ใหม่ และการสรรหาผู้บริหาร   

มหาวิทยาลัยหลักๆ ของไทยยังคงรับอาจารย์ใหม่แบบเน้นที่ “ลูกหม้อ” คือรับคนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยนั้นๆ เป็นหลัก    ในช่วงเวลากว่าห้าสิบปีที่ผมรับรู้    ปัจจัยนี้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด    ที่ผมเห็นจากอาจารย์โรงเรียนแพทย์     ที่มีคนจบจากจุฬาฯ มาเป็นอาจารย์และเติบโตที่ศิริราช หรือรามาธิบดี    หรือสลับกัน    หรือผู้จบจาก มอ. มาเป็นใหญ่เป็นโตทำประโยชน์แก่ศิริราช  ตัวอย่างชัดๆ เช่น ศ. นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม จบจาก มช.   มาเป็นอาจารย์โด่งดังด้านการพัฒนาวัคซีนโควิด ที่จุฬา    เป็นต้น

ผมคิดว่า ที่ในวงวิชาชีพแพทย์เป็นเช่นนี้เพราะมีกลไกช่วย ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ    คือระบบอินเทิร์น  ระบบแพทย์ใช้ทุน  และระบบฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง    ที่เปิดช่องให้แพทย์จบใหม่ต้องผละจากอ้อมอกของสถาบันแม่    ออกไปเผชิญโลกกว้าง   และมีโอกาสไปแสดงความสามารถที่โรงเรียนแพทย์อื่น    จนได้รับการชักชวนให้อยู่เป็นอาจารย์   

ผมอยากทราบว่า ระบบบัณฑิตศึกษา มีผลคล้ายๆ กันในสาขาวิชาอื่นๆ บ้างหรือไม่    ผมเดาว่าน่าจะมีผลบ้าง  แต่น่าจะไม่มากเท่าสาขาแพทย์   

แต่ที่น่าจะมีผลมากในการทำให้ระบบอุดมศึกษาไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด คือการสรรหาผู้บริหารระดับสูง   หรือหัวหน้าโครงการที่มีความสำคัญสูง   ที่เริ่มจากการตั้งเป้าว่ามหาวิทยาลัยต้องการสร้างผลงานยิ่งใหญ่เรื่องอะไร    และคนที่จะมาเป็นผู้นำต้องมีความสามารถและคุณสมบัติอย่างไรบ้าง    คนเช่นนั้นเป็นใครบ้าง    อยู่ที่ไหน  ทำอย่างไรจะเชื้อเชิญให้เขามารับหน้าที่   

จะเห็นว่า สภาพนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มต้นที่ระบบกำกับดูแลมหาวิทยาลัย  คือสภามหาวิทยาลัย     ที่ต้องทำงานอย่างมุ่งมั่นมีเป้าหมาย และมีความทุ่มเท และรับผิดชอบสูง   เน้นให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบเชิงเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง    กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องประกอบด้วยคนที่มีความเข้าใจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย    และเข้าทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างเอาจริงเอาจัง    ผมไม่เคยเห็นสภามหาวิทยาลัยที่มีลักษณะเช่นนี้ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่ผมเคยเป็นนายกสภา

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสภามหาวิทยาลัยไทยอยู่ในสภาพที่ผู้ปฏิบัติงานกุมอำนาจ     แม้จะมีกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสภา    แต่รายละเอียดต่างๆ นำไปสู่สภาพที่สภามหาวิทยาลัยทำงานแนวอนุรักษ์ มากกว่าแนวปฏิรูป   ในเรื่องการสรรหาหรือแสวงหาผู้นำทางวิชาการ   

เข้าใจว่านอกจากมหาวิทยาลัยตั้งใหม่ มหาวิทยาลัยไทยไม่เคยกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของหน่วยงาน  ว่าต้องการให้ทำงานริเริ่มสร้างสรรค์ในแนวใด    และเพื่อบรรลุผล จะหาผู้นำที่ดีที่สุดมาทำหน้าที่ได้อย่างไร    ผมเดาว่า ผู้ใหญ่ของสภามหาวิทยาลัย และของมหาวิทยาลัย ไม่คิดแบบนี้  เพราะมีตัวอย่างคนแล้วคนเล่า ที่เมื่อได้คนแบบนั้นมาทำงาน   พบว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในหน่วยงาน   ความฝันให้มาเป็นผู้นำเพื่อบรรลุผล    กลายเป็นต้องมาจัดการความขัดแย้ง    และมักไม่สำเร็จ   

ผมเคยไปเห็นการ “ผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน” ทางวิชาการที่อังกฤษ ราวๆ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๒๓   ที่ The Royal Postgraduate Medical School (RPMS)    ที่เขาดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย และอย่างเอาจริงเอาจังมาก   โดยที่ตำแหน่งที่เขาสรรหาเป็นตำแหน่ง Department Head    คือหัวหน้าภาควิชาโลหิตวิทยา    ที่เขาพูดกันว่าสำคัญกว่าตำแหน่งคณบดี    คือที่นั่นและในสมัยนั้น    ที่ RPMS มี dean ทำหน้าที่ดูแลงานธุรการ    ส่วน head of department ที่เรียกกันว่า Professor    เป็นผู้นำทางวิชาการอย่างอิสระ    และเป็นผู้ดึงดูดทรัพยากรทั้งหลายเข้ามา    หัวหน้าภาควิชาของเขาจึงมีอิทธิพล มีชื่อเสียงกว่าคณบดีอย่างเทียบกันไม่ติดเลย   ที่ RPMS สมัยนั้น เขาให้ head of department หมุนเวียนกันไปทำหน้าที่คณบดีคนละ ๑ ปี   

ในวงวิชาการ อำนาจแท้จริง อยู่ที่การสร้างผลงานวิชาการ   ไม่ใช่อำนาจจากกฎระเบียบ    กฎระเบียบเป็นเพียงข้อตกลงเพื่อให้งานดำเนินไปได้    กฎระเบียบทำหน้าที่รับใช้การผลิตผลงาน    ไม่ใช่การผลิตผลงานรับใช้กฎระเบียบ    นี่คืออุดมการณ์ของวงการวิชาการอังกฤษที่ผมไปสัมผัสเมื่อกว่าสี่สิบปีก่อน   

เหตุการณ์สำคัญที่ ในตอนนั้นคือ Sir John Dacie หัวหน้าภาควิชาโลหิตวิทยา เกษียณอายุ    เข้าใจว่าอายุเกิน ๗๐    ท่านผู้นี้เขียนอภิตำราด้าน Hemolytic Anemia ที่มี ๓ เล่มติดต่อกัน   ถือเป็นคัมภีร์ด้านโรคโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก ที่ดีที่สุดในโลก    และในสหราชอาณาจักรท่านได้ชื่อว่า Professor of the Professors   ซึ่งหมายความว่าท่านมีลูกศิษย์ไปเป็นศาสตราจารย์ด้านโลหิตวิทยา ทั่วประเทศ     มีคนกล่าวว่า “รองเท้าของท่านใหญ่มากจนหาคนมาสวมแทนยากมาก”   

ผมทราบข่าวว่า คณะกรรมการสรรหาไปปิ๊งศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นยักษ์ใหญ่ของโลกด้านการวิจัยเกี่ยวกับเหล็กกับเลือด   ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาที่โรงเรียนแพทย์ของแคว้น Wales ที่นคร Cardiff    เท่ากับว่าทาง RPMS ตกลงใจเปลี่ยนจุดเน้นของภาควิชาโลหิตวิทยา จากเด่นด้านเลิอดจางจากเม็ดเลือดแดงแตก   ไปเด่นด้านเลือดจางจากภาวะขาดเหล็ก   ซึ่งถือว่าตัดสินใจเด็ดเดี่ยวมาก   

แต่มาติดขัดตอนเจรจากัน    เขาไม่เจรจากันที่เงินเดือน แต่เจรจากันที่ทรัพยากรเพื่อผลิตผลงาน    ท่านศาสตราจารย์ที่ Cardiff บอกว่า ท่านได้รับทุนวิจัยมากมาย และมีทีมงานกว่า ๒๐ คน    รวมทั้งเครื่องมือใหญ่ๆ จำนวนมาก     หากตัวท่านย้ายมา ก็ต้องย้ายทั้งทีม    คือทั้งคนและเครื่องมือ    จึงต้องการทั้งตำแหน่งงาน และพื้นที่ห้องปฏิบัติการ    ที่ทาง RPMS ต้องจัดการเอาคนออก และเอาเครื่องมือออก    ให้ทีมของท่านย้ายมาได้    เจรจากันไม่สำเร็จ    ท่านก็ไม่ย้าย    และทาง RPMS ก็ต้องหาคนใหม่    ในที่สุดก็ได้ยักษ์ใหญ่ด้านเลือดจางจากเม็ดเลือดแดงแตกมาจากอิตาลี    คือ  Professor Lucio Luzzatto ที่สนิทกับ อ. หมอประเวศ วะสี มาก    และผมเคยจัดการให้ภรรยาของท่านคือ Paola Luzzatto ไปฝึกปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์นานาชาติ   

ที่เล่ามา ก็เพื่อยกตัวอย่างความเป็นระบบเปิดของมหาวิทยาลัย   มหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษเขาเปิดในพ้นที่โลก    และเนื่องจากเขามีกำลังต่อรอง ที่จะได้คนที่เติบโตถึงขั้นสูงสุดทางวิชาการแล้ว    เขาจึงใช้โอกาสนั้น โดยไม่เอาข้อจำกัดว่ามาจากต่างแคว้น หรือต่างประเทศ   และวัฒนธรรมการทำงานของเขาก็เอื้อให้คนนอกที่มาทำหน้าที่ผู้นำคนใหม่สามารถอยู่ได้    ไม่โดนคณาจารย์ต่อต้านจนอยู่ไม่ได้    ซึ่งกรณี Prof. Luzzatto ก็ไม่ง่าย ท่านต้องระวังตัวแจ   ผมทราบเพราะผมสนิทกับท่าน   

วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ย. ๖๔

        

หมายเลขบันทึก: 692575เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2021 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2021 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this insightful article.

Comparing this to politics among (European) soccer clubs (for profit business organizations), we can see a depth of human mind and underlining cultures.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท