หมาเห็นเครื่องบิน


หมาเห็นเครื่องบิน

กิจการการบินของประเทศไทยเริ่มต้นในปีพ.ศ. 2454 ในรัชกาลที่ 6 โดยระหว่างวันที่ 2 - 8 กุมภาพันธ์ 2454 นักบินชาวเบลเยี่ยม ชื่อ ฟัน เดน บอร์น (Van den Born)ได้นำเครื่องบินออร์วิลล์ ไรท์ (Orville Wright) มาแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สนามม้าราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน

หลังจากนั้นประเทศไทยได้มีการพัฒนาด้านการบิน เช่น การส่งนายทหารไปศึกษาด้านการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2454 และมีการสั่งเครื่องบินชุดแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2456 ทั้งนี้กิจการด้านการบินในระยะแรกอยู่ในความรับผิดชอบของกรมจเรการช่างทหารบก โดยใช้สนามม้าราชกรีฑาสโมสรเป็นส่วนหนึ่งของสนามบิน และเรียกชื่อว่า สนามบินสระปทุม ในเวลาต่อมาสนามบินสระปทุมคับแคบ มีที่ตั้งไม่เหมาะสม จึงมีการเลือกพื้นที่สนามบินแห่งใหม่ที่ดอนเมือง เป็นสนามบินดอนเมือง โดยมีเครื่องบินลงปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2457 และได้มีการตั้งกรมการบินทหารบกมาดูแล ซึ่งนับเป็นการวางรากฐานของกิจการการบินไทย

ในปี พ.ศ. 2483 กองทัพบกได้จัดตั้งกองการบินพลเรือนขึ้นเพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ และอีก 8 ปีต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมการบินพลเรือน และได้ปรับปรุงสนามบินดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานสากล เรียกว่า "ท่าอากาศยานดอนเมือง" แล้วจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ "ท่าอากาศยานกรุงเทพ" เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2498

ต่อมารัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้จัดตั้งการท่าอากาศยานขึ้นเรียกว่า การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือ ทอท. และให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Airports Authority of Thailand มีชื่อย่อว่า AAT พนักงาน ทอท.ได้เข้าปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 จึงได้ถือเอาวันนี้เป็นวันสถาปนา ทอท.

ต่อมา ทอท.ได้ปรับเปลี่ยนแนวการบริหารงานเป็นเชิงธุรกิจมากยิ่งขึ้น การบริหารงานท่าอากาศยานกรุงเทพมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างมาก จนทำให้ ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะมั่นคงและมีศักยภาพที่จะพัฒนาท่าอากาศยานของไทยให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก ต่อมา ทอท.ได้รับโอนท่าอากาศยานสากลในส่วนภูมิภาคอีก 4 แห่งจากกรมการบินพาณิชย์มาดำเนินการตามลำดับ ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานเชียงราย(เปลี่ยนชื่อเป็น ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2546)

กิจการของ ทอท.เจริญรุดหน้าจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือการแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน จำกัด และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 โดยใช้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และยังคงใช้ชื่อย่อว่า ทอท.เช่นเดิม ส่วนภาษาอังกฤษใช้ว่า Airports of Thailand Public Company Limited เรียกโดยย่อว่า AOT

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2549 ทอท.ได้เปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานกรุงเทพจึงเปลี่ยนไปใช้ชื่อท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2550 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ ซึ่งให้การต้อนรับผู้เดินทางทั่วโลกปีละกว่า 40 ล้านคน

ปัจจุบันนี้มีสนามบินที่ใช้บินพาณิชย์ 33 แห่ง ได้แก่
1. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ BKK
2. ท่าอากาศยานดอนเมือง DMK
3. ท่าอากาศยานเชียงใหม่ CNX
4. ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย CEI
5  ท่าอากาศยานภูเก็ต HKT
6. ท่าอากาศยานหาดใหญ่ HDY
7. ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ KBV
8. ท่าอากาศยานขอนแก่น KKC
9. ท่าอากาศยานชุมพร CJM
10. ท่าอากาศยานตรัง TST
11.ท่าอากาศยานแม่สอด MAQ
12. ท่าอากาศยานนครพนม KOP
13. ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช NST
14. ท่าอากาศยานนราธิวาส NAW
15. ท่าอากาศยานน่านนคร NNT
16. ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ BFV
17. ท่าอากาศยานหัวหิน HHQ
18. ท่าอากาศยานพิษณุโลก PHS
19. ท่าอากาศยานแพร่ PRH
20. ท่าอากาศยานปาย PYY
21. ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน HGN
22. ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ROI
23. ท่าอากาศยานระนอง UNN
24. ท่าอากาศยานเลย LOE
25. ท่าอากาศยานลำปาง LPT
26. ท่าอากาศยานสกลนคร SNO
27. ท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี URT
28. ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี UTH
29. ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี UBP
30. ท่าอากาศยานตราดTDX
31. ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา)
32. ท่าอากาศยานสมุย USM
33. ท่าอากาศยานสุโขทัย THS

นอกจากนี้ยังมีสนามบินรองที่ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ อีก 38 แห่ง และโครงการที่กำลังจะเปิดบริการในอนาคตอีก 3 แห่ง ได้แก่
1. ท่าอากาศยานเบตง BTY
2. ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 2
3. ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 2 จังหวัดลำพูน

สำนวน "หมาเห็นเครื่องบิน " หมายถึง หวังสิ่งที่สูงเกินฐานะ อยากได้สิ่งที่เกินฐานะของตน

ที่มาของสำนวน หมาเห็นเครื่องบิน มาจากการที่เครื่องบินบินสูงมากถึง 40,000 ฟุต มองเห็นลิบๆ อยู่บนฟ้า สูงจนเกินกว่าหมาจะมองเห็นได้ เพราะหมาไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆที่ไกลออกไปได้ ขณะที่คนสามารถมองเห็นชัดเจนได้ในระยะ 75 ฟุต แต่หมาสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในระยะเพียง 20 ฟุตเท่านั้น

การที่สัตว์เลี้ยงอย่างหมาแมวจะได้ขึ้นเครื่องบินนั้นดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก แต่เมื่อธุรกิจการบินพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร จึงอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเฉพาะหมาแมวที่มีอายุมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป ที่ไม่เจ็บป่วยหรือตั้งท้องขึ้นเครื่องบินได้ ทั้งนี้ต้องแจ้งล่วงหน้ากับฝ่ายสำรองที่นั่งอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเดินทาง เนื่องจากสายการบินอนุญาตให้ขนส่งสัตว์เลี้ยงได้เพียงเที่ยวบินละ 2 กรงเท่านั้น และจำนวนสัตว์ 1 กรงต่อ 1 ตัวเท่านั้น

ในประเทศไทยมีสายการบินที่อนุญาตให้ขนส่งสัตว์เลี้ยงภายในประเทศได้ 3 สายการบิน ได้แก่ การบินไทย สายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์

แม้ว่าหมาจะสามารถขึ้นเครื่องบินได้ แต่ก็ต้องโหลดใต้ท้องเครื่องอย่างเดียว ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงขึ้นไปในห้องโดยสารหรือเคบินโดยเด็ดขาด

แต่ในอนาคตก็ไม่แน่เหมือนกัน น้องหมา อาจได้รับอนุญาตให้เข้าห้องโดยสารได้เช่นเดียวกับผู้โดยสารทั่วไป หรืออาจจะมีที่นั่งชั้นพิเศษสำหรับผู้โดยสารที่มีน้องหมาร่วมเดินทางด้วยก็ได้

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

หมายเลขบันทึก: 692571เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2021 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท