ผ่าพิภพ Self-regulation


ผ่าพิภพ Self-regulation ฉบับผู้ปกครอง

     จากผลงานวิจัยของ University of Helsinki, Finland (Merja Hautakangas, Kristiina Kumpulainen and Lotta Uusitalo 2021) พบว่า empathy ของคุณครูมีผลในการส่งเสริมทำให้เด็กมีการพัฒนาทักษะ self-regulation ได้มากกว่าคุณครูที่ขาด empathy 

(อ้างอิง :  https://doi.org/10.1080/03004430.2021.1918125)

     จากผลงานวิจัยของ Pennsylvania State University (Niyantri Ravindran , Breana G. Genaro, and Pamela M. Cole 2021) พบว่า พฤติกรรมของผู้ปกครองสามารถมีบทบาทในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็ก การเชื่อมโยงพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่เฉพาะเจาะจงกับกลยุทธ์การดูแลเด็กจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการกำกับตนเองของเด็ก (self-regulation)

(อ้างอิง : https://doi.org/10.1111/cdev.13563 )

     จากงานวิจัยโปรแกรมการเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์สำหรับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กวัยแรกเกิด-เด็กอายุ 5 ปี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช (เสาวลักษณ์ ดวงสุวรรณ 2564) กล่าวว่า รูปแบบการเลี้ยงดูที่มีประสิทธิภาพสามารถหล่อหลอมให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้มีความสามารถในการปรับตัว มีพฤติกรรมทางสังคมที่หมาะสม มีความสามารถในการกำกับตัวเอง (self-regulation) และมีความฉลาดทางอารมณ์

      จากงานวิจัยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นพบว่า การดูแลของผู้ปกครองมีส่วนในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะ self-regulation ในเด็ก ดังนั้นพวกเราจึงได้เรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับ self-regulation ในเด็กสำหรับผู้ปกครอง พร้อมทั้งมีการประยุกต์ใช้ความรู้กิจกรรมบำบัดเข้ามาส่งเสริมมากขึ้น โดยจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน

  1. ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ self-regulation เพื่อให้ผู้กครองได้เข้าใจตัวเด็กมากขึ้น เพิ่ม empathy ในการจัดการดูแล โดยจะอธิบายเกี่ยวกับลักษณะอาการ ผลกระทบ ความสำคัญของทักษะ self-regulation ในเด็ก และช่วงวัยที่เหมาะสมกับการพัฒนาทักษะ self-regulation มากที่สุด 
  2. อธิบายเทคนิคต่างๆในการรับมือกับเด็กที่มีปัญหาด้าน self-regulation พร้อมทั้งเทคนิคในการรับมือกับตัวผู้ปกครองเอง เพื่อช่วยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตัวผู้ปกครองกับเด็กที่เป็นผลดีต่อการพัฒนาทักษะ self-regulation ในเด็ก
  3. แนะนำกิจกรรมที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมทักษะ self-regulation ในเด็ก

Self-regulation คืออะไร?

  • William & Shellenberger ให้นิยามของการกำกับตนเอง (Self-regulation) ว่า คือความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมาย หรือคงไว้ซึ่งการเกิดพฤติกรรมอันเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสมตามเป้าหมาย หรือเหมาะสมตามสถานการณ์ (William & Shellenberger,1994 
  • การกำกับตนเอง ประกอบไปด้วยการกำกับตนเองในหลายด้าน แต่โดยภาพรวมนักวิจัยหลายท่านเห็นพ้องตรงกันว่ามี 2 ด้านหลัก ๆ คือ การกำกับอารมณ์ตนเอง (emotional regulation) และการกำกับพฤติกรรมตนเอง (behavioral regulation) (Calkins et al.,1998; Clark et al., 2008; Eallmyr, 2010; McClelland et al.,2015; Shields, Cicchetti, & Ryan, 1994)

การกำกับพฤติกรรมตนเอง (behavioral regulation) ประกอบไปด้วยทักษะ 3 ด้าน คือ

  1. การใส่ใจต่อสิ่งเร้า คือ ความสามารถในการเปลี่ยนความสนใจจากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่งที่จำเป็น (attention flexibility) รวมถึงสามารถเพิกเฉยต่อสิ่งรบกวนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องได้ (attention control)
  2. ความจำระยะสั้น คือ ความสามารถในการจดจำข้อมูลให้ได้นานพอจนกว่าจะทำงานเสร็จ ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำตามคำสั่ง หรือทำตามแผนการต่างๆ โดยเฉพาะงานที่มีหลายขั้นตอน
  3. การยับยั้งพฤติกรรม คือ ความสามารถในการยับยั้งพฤติกรรมตามความเคยชินเพื่อเปลี่ยนไปทำพฤติกรรมใหม่ที่เหมาะสม และเป็นที่น่าพอใจทางสังคมมากกว่า

        สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า Self-regulation คือ ความสามารถในการกำกับและยับยั้งชั่งใจตนเอง โดยผ่านความสามารถรู้คิดพิจารณาไตร่ตรองว่าทำตัวเช่นไรจึงเหมาะควร (Behavioral Self-Regulation) และจะระงับปรับจูนอารมณ์ความรู้สึกเมื่อถูกกระทบได้อย่างไร (Emotional Self-Regulation) 

“ Self-regulation = ไม่วู่วาม+หักห้ามใจได้ ”


ความสำคัญของ self-regulation

  • นักวิจัยหลายกลุ่มได้ให้ความเห็นว่าการกำกับตนเองถือเป็นความสำเร็จสูงสุดสำหรับเด็กอนุบาล (Bronson, 2000; Eisenberg, Smith, Sandovsky, Spinrad, Baumeister & Vohs, 2004) เพราะการกำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตนเองได้นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุคคลต่อความสำเร็จในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในการเรียน การทำงาน และรวมไปถึงการใช้ชีวิตโดยรวมของวัยผู้ใหญ่ต่อไปด้วย
  • Blair & Diamond (2008) เสนอว่าในเด็กอนุบาล ผู้ใหญ่ควรจะมุ่งพัฒนาให้เกิดทักษะในการกำกับอารมณ์ตนเอง และการกำกับพฤติกรรมตนเอง เพราะจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนตลอดช่วงวัยเรียนได้มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะทางวิชาการ เนื่องจากการเรียนด้านวิชาการต้องอาศัยพัฒนาการทางปัญญาซึ่งเด็กแต่ละคนอาจยังพัฒนาได้ไม่เท่ากันและการเรียนการสอนในห้องเรียนอาจจะไม่สอดคล้องกับพัฒนาการด้านความเข้าใจของเด็ก ดังนั้นเด็กอนุบาลหากการเรียนการสอนเน้นไปที่การฝึกให้เด็กมีการกำกับตนเองให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้สำเร็จลุล่วงน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่ากับวัยและเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่ครูสอนได้ดีกว่า
  • จากงานวิจัยของคุณ Elena Savina (2020) ได้สรุปไว้ว่าการกำกับตนเองอย่างมีประสิทธิผล มีบทบาทสำคัญต่อการปรับตัวในโรงเรียนของเด็กๆ และเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จทางการศึกษา การพัฒนาทักษะการกำกับตนเองไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเท่านั้น แต่ยังป้องกันปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กได้อีกด้วย ทักษะการกำกับตนเองจึงถือเป็นปัจจัยป้องกันความล้มเหลวในการเรียน และควรได้รับการส่งเสริมตั้งแต่ปฐมวัย เนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะยาว และเป็นพื้นฐานในการประสบความสำเร็จในชีวิต 

        (อ้างอิง : https://doi.org/10.1007/s10643-020-01094-w)

         จากข้อมูลที่ได้ทั้งหมด สามารถสรุปได้ว่า การเสริมสร้างการกำกับตนเองตั้งแต่วัยอนุบาล จะช่วยให้เด็กสามารถมีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ และมีความประพฤติที่เหมาะสมตามบรรทัดฐานของสังคม นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาให้เด็กประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคตอีกด้วย 
 

ตัวอย่างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในเด็ก (Areas of occupation)

  • ด้านการทำกิจวัตรประจำวัน (ADLs) : เด็กอาจมีความยากลำบากในการยอมรับการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันที่เคยทำเป็นประจำ หรือขาดความยืดหยุ่น เช่น ปกติก่อนไปโรงเรียนคุณแม่จะทำข้าวไข่เจียวให้กิน แต่วันนี้คุณแม่เปลี่ยนมาทำข้าวต้ม เด็กก็จะรู้สึกหยุดหงิด โมโห และไม่ยอมทาน
  • ด้านการเรียน (Education) : เด็กจะหันเหความสนใจได้ง่าย ยากที่จะมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนตรงหน้าได้ อาจจะเห็นเด็กลุกจากที่นั่งไปทำสิ่งอื่นในขณะที่คุณครูกำลังสอน หรือทำการบ้านไม่เสร็จตามเวลา ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนลดลง
  • ด้านการเล่น (Play) : เด็กอาจขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถความคุมอารมณ์ และพฤติกรรมของตนเองได้ เช่น เด็กอาจแสดงออกด้วยการแย่งของเล่นที่ตัวเองอยากเล่นมาจากเพื่อน หรือมีการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว จนทำให้ไม่สามารถเล่นร่วมกับผู้อื่นได้
  • ด้านการเข้าสังคม (Social participation) : เด็กอาจมีความยากลำบากในควบคุมตนเองให้ทำตามกฎระเบียบ หรือบรรทัดฐานของสังคม รวมถึงไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตนเองเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายได้ เช่น เด็กที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และทำให้เด็กปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ๆได้ยาก

 

วิธีการรับมือกับเด็กที่ขาดทักษะ self-regulation

  • Therapeutic use of self for parents : Self-regulations การยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ตนเองของเด็ก มีความสัมพันธ์กับปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของเด็ก กล่าวคือ ปัจจัยภายใน เป็นทักษะพื้นฐานดั้งเดิมของเด็ก ส่วนปัจจัยภายนอก ได้รับอิทธิพลจากการขัดเกลา การเลี้ยงดู อบรม สั่งสอนของครอบครัวและสังคม
  • การเสริมสร้างทักษะ Self-Regulation 
  1. สายสัมพันธ์ที่อบอุ่นปลอดภัยคือหัวใจสำคัญ ที่แสดงความรักความเอาใจใส่เป็นทั้งคำพูดและการกระทำ
  2. ไม่เลี้ยงลูกแบบเสรีฟรีสไตล์จนเกินไป ควรวางขอบเขต มีกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติจนเป็นกิจวัตร และฝึกให้รู้รับผิดชอบหน้าที่
  3. เปิดโอกาสให้ฝึกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองและมีความเหมาะสมกับวัย โดยครอบครัวคอยให้คำแนะนำ ปรับปรุงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  4. เป็นแบบอย่างที่ดี ตั้งเป้า และติดตามพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ โดยเด็กเล็กวัยก่อนเรียนควรเริ่มฝึกให้รอคอย การแก้ปัญหาเล็กน้อยด้วยตนเอง แสดงออกและระงับอารมณ์ได้
  • วิธีจัดการอารมณ์เด็กกับพ่อแม่ : การจัดการอารมณ์ โดยมี Mindfulness หรือการมีสติตระหนักรู้ และช่วยให้สามารถควบคุมอารมณ์และควบคุมตนเองในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมี 2 เทคนิคสำหรับเด็กและผู้ปกครอง
  1. เทคนิค S.T.O.P : บอกขั้นตอนให้เด็กๆ เพื่อหยุดสังเกตและจับไปที่ความรู้สึก ณ ปัจจุบัน

STOP - หยุดพักจากสิ่งที่กำลังกระทำอยู่

TAKE A BREAK - ดึงใจจดจ่อที่ลมหายใจเข้าออก สูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ

OBSERVE - สังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในความคิด และทบทวนสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

PROCEED - เมื่อจับสถานการณ์ทั้งหมดไว้แล้วค่อยดำเนินสิ่งที่ทำอยู่ต่อไป

 

2. เทคนิค R.A.I.N : ใช้จัดการอารมณ์ขั้วลบของพ่อแม่ เป็นต้นแบบการควบคุมอารมณ์ที่ผู้ใหญ่ควรปฏิบัติให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง

RECOGNIZE - มองสถานการณ์ด้วยความสงบ

ACCEPT - ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งว้าวุ่นใจและพยายามแก้ไขเดี๋ยวนั้นทันที

INVESTIGATE - สำรวจความรู้สึกที่ปะทุขึ้นให้ละเอียด ซึมซับความเจ็บปวดเสียใจ หรือชื่นใจมีความสุข จนกระทั่งบรรเทาเบาบางลง

NON-IDENTIFICATION - วางเฉยกับความรู้สึก มองอารมณ์ลบเป็นขณะชั่วแล่นไม่เอามาขยายต่อในใจและจำกัดนิยามตนเอง


Activity for self-regulation in children

กิจกรรมตามวัยเพื่อส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการและการควบคุมตนเอง

  • สำหรับเด็กอายุ 6- 18 เดือน : หัวใจสำคัญของกิจกรรมสำหรับเด็กวัยนี้คือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดูโดยการเลือกกิจกรรมให้เน้นที่กิจกรรมที่เด็กสนใจและสนุกสนานไปพร้อม ๆ กับผู้เลี้ยงดูโดยระยะเวลาเล่นควรให้เด็กเป็นผู้กำหนดเองคือหากเด็กหมดความสนใจควรเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นแทน

ตัวอย่างกิจกรรม

- การเล่นจ๊ะเอ๋ ตบแผะ หรือร้องเพลงที่มีเสียงสัมผัสคล้องจอง

- การเล่นซ่อนของ

  • สำหรับเด็กอายุ 18 เดือน – 3 ปี : ในวัยนี้ “ภาษา” เป็นตัวช่วยสำคัญในการฝึกฝนทักษะการบริหารจัดการและการควบคุมตนเอง

ตัวอย่างกิจกรรม

- การเล่นที่ต้องใช้การเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง กระโดด โยนหรือเตะบอล

- การเล่นที่มีกฎกติกาง่ายๆ

- การเล่นจับคู่สิ่งของ

- การเล่นสมมติ

  • สำหรับเด็กอายุ 3 – 5 ปี : ช่วงวัยอนุบาลเป็นช่วงเวลาที่ทักษะการบริหารจัดการและการควบคุมตนเองจะพัฒนาขึ้นมากที่สุดดังนั้นสิ่งสำคัญคือการปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับความสามารถของเด็กอยู่เสมอโดยมีเป้าหมายคือเด็กสามารถควบคุมตนเองได้ดังนั้นเมื่อสังเกตว่าเด็กพร้อมผู้ปกครองควรค่อยๆลดการควบคุมดูแลและช่วยเหลือลง

ตัวอย่างกิจกรรม

- การเล่นเชิงจินตนาการที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสในการวางแผนการเล่นตามจินตนาการด้วยตนเอง

- การอ่านหนังสือนิทาน

  • สำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี : เด็กวัยนี้จะสามารถเล่นเกมส์ที่มีกฎกติกาหรือเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากขึ้นความท้าทายเป็นสิ่งที่สำคัญการเพิ่มความท้าทายทีละเล็กทีละน้อยไม่ง่ายจนไม่น่าสนใจและไม่ยากจนทำไม่ได้จะเป็นบันไดสำคัญในการสร้างนิสัยการจัดการกับปัญหาได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างกิจกรรม

- การเล่นเกมไพ่และเกมกระดาน

- กิจกรรมกีฬา

- กิจกรรมที่ใช้เหตุผลและการวางแผน เช่น เกมเขาวงกต อักษรไขว้

  • สำหรับเด็กวัยรุ่น : วัยนี้เป็นวัยที่ทักษะการบริหารจัดการและการควบคุมตนเองยังพัฒนาไม่เท่าผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่มักคาดหวังว่าเด็กจะสามารถจัดการงานต่างๆได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าผู้ใหญ่การช่วยฝึกทักษะการบริหารจัดการและการควบคุมตนเองสามารถทำได้โดย

        จากข้อมูลกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะ self-regulation ในแต่ละช่วงวัยของ พญ.ณิชา ทัศน์ชาญชัย และผศ.พญ.จริยา จุฑาภิสิทธิ์ แพทย์ผู้ช่วยและกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี พวกเราจึงได้วิเคราะห์กิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมทักษะ self-regulation กับวัยเด็กช่วงอนุบาล คือ “เล่านิทานอย่างไรให้เกิด self-regulation ในเด็ก” 

 

กิจกรรมเล่านิทานอย่างไรเพื่อให้เกิด self-regulation 

      เป็นกิจกรรมที่จะเน้นให้ตัวผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกับตัวเด็กผ่านการทำกิจกรรม เพราะจากงานวิจัยโปรแกรมการเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์สำหรับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กวัยแรกเกิด-เด็กอายุ 5 ปี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช (เสาวลักษณ์ ดวงสุวรรณ 2564) กล่าวว่า “การเลี้ยงดูที่มีประสิทธิภาพจะส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถในการปรับตัว และมีพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสมได้“

     นอกการนี้กิจกรรมการเล่านิทานจะช่วยทำให้เกิดความผูกพันทางอารมณ์ของเด็กในช่วงวัยอนุบาลมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง ทำให้เด็กเกิดทักษะในด้านต่างๆ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถเรียนรู้การแก้ไขปัญหาได้ ตลอดจนมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี

      กิจกรรมเล่านิทานอย่างไรเพื่อให้เกิด self-regulation ในเด็ก มีรูปแบบกิจกรรมที่อ้างอิงจากงานวิจัยของ University of Helsinki, Finland (Merja Hautakangas, Kristiina Kumpulainen and Lotta Uusitalo 2021)  คือการให้คุณครูวาดรูป comic เป็นช่องๆ พร้อมทั้งให้เด็กได้มีส่วนร่วมโดยการใช้ตัวเองเป็นตัวละครที่อยากเป็นและช่วยดำเนินเรื่องไปพร้อมๆกับ comic ที่คุณครูวาด ซึ่งพวกเราก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของไทยและหลักการทางกิจกรรม (therapeutic use of self) ดังนี้

การปรับให้เข้ากับบริบทไทยโดยการใช้  “นิทานชาดก”

      นิทานชาดกสามารถส่งเสริมและพัฒนาให้เด็กมีพฤติกรรมการกำกับตนเองสูงขึ้น เนื่องจากการใช้นิทานชาดกมาใช้ในการจัดประสบการณ์ช่วยทำให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินและสนุกสนานกับการทำกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีข้อคิดในช่วงท้ายที่ให้กับเด็กทำให้มีการพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรม ความเมตตา กรุณามากขึ้น  (Juthathip Oboom, Pattanan Wongwitchayut 2020)

หลักการ Approach ของผู้ปกครองในการทำกิจกรรม

  1. Choose ผู้ปกครองเปิดโอกาสให้เด็กเลือกหนังสือนิทานและตัวละครที่อยากเป็นตามความสนใจ

  2. Thinking ผู้ปกครองกระตุ้นให้เด็กคิดตามตัวละครที่เลือกในสถานการณ์ต่างๆโดยที่ผู้ปกครองอาจถามเพิ่มเติมจากเนื้อเรื่อง เช่น ตั้งคำถาม หรือเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นระหว่างเล่านิทานเพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของเนื้อเรื่อง 

  3. Challenge ผู้ปกครองเพิ่มความซับซ้อนของสถานการณ์ที่จำลองเพื่อถามและกระตุ้นให้เด็กคิด จากเนื้อเรื่องของนิทาน ให้มีความท้าทายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นทักษะการคิดแก้ไขปัญหา

     ซึ่งจากหลักการข้อที่ 2 และ 3 จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทักษะ self-regulation ผ่านการดำเนินเรื่องของนิทาน โดยตัวเด็กได้มีการพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆของนิทานเรื่องนั้น อีกทั้งยังได้แรงกระตุ้นจากผู้ปกครองที่จะคอยตั้งคำถามหรือเปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ปกครอง ทำให้ได้เรียนรู้มุมมองที่หลากหลายมากขึ้น และเมื่อผู้ปกครองมีการท้าทายสถานการณ์ต่างๆในนิทานก็จะทำให้เด็กได้เรียนรู้การปรับตัวที่เหมาะสมมากขึ้น นำไปสู่การมีพฤติกรรมการปรับตัวและการแก้ไขปัญหาทางสังคมที่เหมาะสมมากขึ้นในอนาคต

     นอกจากนี้ยังมีการ Motivation technique เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจของเด็กโดยการให้ Positive Reinforcements หรือแรงเสริมทางบวก

  • ให้คำชื่นชม : ให้คำชื่นชมระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งขณะอ่านหนังสือนิทาน หรือ การแสดงออกพฤติกรรมเล็กๆที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
  • ให้รางวัล : เป็นสิ่งของหรืออนุญาตให้เด็กทำกิจกรรมอย่างอื่นตามใจชอบ แต่ไม่ควรให้รางวัลบ่อยจนเกินไป




 

อ้างอิง (References)

  1. Merja Hautakangas, Kristiina Kumpulainen and Lotta Uusitalo. (2021). Children developing self-regulation skills in a Kids’ Skills intervention programme in Finnish Early Childhood Education and Care. https://doi.org/10.1080/03004430.2021.1918125 
  2. Niyantri Ravindran, Breana G. Genaro, and Pamela M. (2021). Parental Structuring in Response to Toddler Negative Emotion Predicts Children’s Later Use of Distraction as a Self-Regulation Strategy for Waiting. https://doi.org/10.1111/cdev.13563
  3. Elena Savina. (2020). Self-regulation in Preschool and Early Elementary Classrooms: Why It Is Important and How to Promote It. https://doi.org/10.1007/s10643-020-01094-w
  4. Juthathip Oboom, Pattanan Wongwitchayut. (2020). Experience Management to Promote Self-Regulation Behaviors of Early Childhood Children Through Allegories. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jsa-journal/article/download/240835/164277/ 
  5. พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์. (2559). การเสริมสร้างการกำกับพฤติกรรมของตนเองสำหรับเด็กอนุบาล สืบค้นจาก http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55273
  6. พญ. ณิชาทัศน์ชาญชัย, ผศ. พญ. จริยาจุฑาภิสิทธิ์. (ไม่ปรากฏ). กิจกรรมตามวัยเพื่อส่งเสริมทักษะการบริหารและการควบคุมตนเอง. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. สืบค้นจาก http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20161129093332.pdf 
  7. เสาวลักษณ์ ดวงสุวรรณ. (ไม่ปรากฏ). ผลของโปรแกรมการเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์ สำหรับพ่อแม่หรือผู้ลี้ยงดูเด็กวัยแรกเกิด - 5 ปี. สืบค้นจาก https://www.nakhonsihealth.org/wp-content/uploads/2021/01/บทความ_ความผูกพันทางอารมณ์_แก้ไขตามข้อเสน.docx 
  8. บุญชนก ธรรมวงศา. (2063). Self-Regulation: มีเป้าหมาย กำกับตัวเอง หักห้ามใจ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน. สืบค้นจาก https://thepotential.org/knowledge/self-regulation 


จัดทำโดย

ซอฟฟา สาและ 6223001
พรพิมล อ่อนคำ 6223027
สุพิชชา พุฒมาเล 6223032
อานีตา โต๊ะจิ 6223034


 

หมายเลขบันทึก: 692569เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2021 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2021 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท