บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในการให้คำปรึกษาผู้ป่วยกลัวการกลืนได้ใน21วัน


Phagophobia อยู่ในประเภทของโรควิตกกังวล เรียกว่าโรคกลัวการกลืน ความกลัวและความวิตกกังวลจะเกิดเมื่อมีสิ่งมากระตุ้น เช่น อาหาร  อาการที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะที่หลีกเลี่ยงการกลืนทั้งอาหาร น้ำ และยา , เหงื่อแตก , ใจสั่น , วิตกกังวลแบะมีความเครียดสูง เมื่อต้องทานอาหาร ส่งผลให้ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะนั้น อาจเกิดภาวะอื่นๆตามมา เช่น ขาดสารอาหารที่จำเป็น ขาดน้ำ น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น

สาเหตุ อาจเกินขึ้นมาจากประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับอาหาร ทั้งเคยประสบด้วยตนเองและได้รับคำบอกเล่าหรือได้เห็นมา 

วิธีแก้ไขปัญหา ควรพบแพทย์หรือนักบำบัดเพื่อรักษาอาการกลัวการกลืน เพื่อไม่ให้มีความรุนแรงขึ้นจนกระทบกับชีวิตประจำวันไปมากกว่าเดิม

 

บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในการให้คำปรึกษาผู้ป่วยกลัวการกลืนได้ใน21วัน

วันที่1: (เจอผู้ป่วยครั้งแรก)

ทักทายผู้ป่วยด้วยความเป็นมิตรและเมตตาอยากช่วยเหลือ ให้ความรู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดเผยเรื่องราวได้อย่างสบายใจ สร้างความเชื่อมั่น (Therapuetic use of self and relationship) สอบถามสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องที่มาหานักกิจกรรมบำบัดว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เปิดใจรับฟังอย่างมี sympathy และ empathy ไม่ตัดสินถูกผิดและโทษผู้ป่วยในประสบการณ์ที่เคยได้รับมา (deep listening) เมื่อได้ความประกอบกับการอ่านเคสแล้วว่ามีปัญหากลัวการกลืน ให้ทำการประเมินการกลืนต่อว่านอกจากเป็นเรื่องประสบการณ์แล้วยังมีสิ่งที่ทำให้มีภาวะกลัวการกลืนจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยหรือไม่ โดยใช้การประเมิน Dry swallowing test , Water swallowing test และ ใช้แบบทดสอบกลืนลำบากเบื้องต้นทางกิจกรรมบำบัด เพื่อดูว่ามีภาวะกลืนลำบากร่วมด้วยหรือไม่ โดยในตัวอย่างนี้จะกล่าวถึงแบบทดสอบกลืนลำบากเบื้องต้นทางกิจกรรมบำบัดดังนี้

  • กลั้นหายใจนับ 1-2-3 แล้วกลืนน้ำลาย ใช้มือแตะบริเวณลูกกระเดือก ตรวจสอบว่าหากลูกกระเดือกขยับขึ้น-ลงแสดงว่าไม่พบปัญหา
  • หากมีปัญหาให้ประเมินต่อ โดยดันลูกกระเดือกไปในแนวทิศขึ้นเล็กน้อย ค้างไว้ ปล่อยมือ แล้วกลืนน้ำลาย หากไม่แข็งแรงจะรู้สึกพะอืดพะอม สาเหตจากการกลืนกับการหายใจไม่สัมพันธ์กัน
  • ให้ลิ้นแตะระหว่างฟันหน้าแล้วกลืน ถ้ากลืนยาก กล้ามเนื้อการกลืนและลิ้นไม่แข็งแรง จะทำให้กินเร็วจะสำลักง่าย
  • ลิ้นแตะเพดานบนแล้วกลืน ถ้ากลืนลำบากจะมีการขยับหัว

แล้วนำข้อมูลที่ได้มาประกอบกับการวางแผนรักษาต่อไปในวันอื่นๆ ประกอบกับการสังเกตถึง non-verbal ของผู้รับบริการขณะทำการประเมิน เช่น เหงื่อออก กระวนกระวาย หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว 

***แต่หากผู้ป่วยได้รับการยืนยันวินิจฉัยจากแพทย์มาแล้วว่ากลัวการกลืน (Phagophobia) ให้ลดขั้นตอนประเมินข้างต้นด้านบนลง เน้นที่การสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารที่กินประจำว่าหากไม่ได้กินอาหารแบบปกติแล้วมีอะไรทดแทนนำประเภทความข้นเหลวอาหารจากข้อมูลมาจัดว่าความสามารถของผู้ป่วยในปัจจุบัน สามารถทานอาหารข้นเหลวได้ในระดับใด ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารข้นเหลวระดับ1เสมอ เพราะความสามารถของผู้ป่วยนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละราย

หลังจากที่ทำการประเมินข้างต้นแล้ว ต่อมาให้ชวนผู้ป่วยปรับวิธีคิดและทัศนคติต่อการกลืน เพื่อให้ลดความวิตกกังวลที่ส่งผลต่อการกลืน ใช้เทคนิค CBT (Cognitive behavioral therapy) และ MI (Motivational interviewing) ในการสัมภาษณ์ ค้นหาชุดความคิดอัตโนมัติที่ทำให้รู้สึกว่าการกลืนเป็นเรื่องน่ากลัว เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ให้ตั้งคำถามต่อถึงเหตุการณ์ที่อาจเป็นตัวตั้งต้นของชุดความคิดนั้น พร้อมกับถามถึงวิธีแก้ปัญหาเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ตั้งต้นที่นำไปสู่การกลัวการกลืน เขียนข้อดี-ข้อเสีย เกี่ยวกับการกลืนกินอาหารปกติได้และการที่กลืนอาหารปกติไม่ได้ ให้ผู้รับบริการชั่งระหว่างข้อดี-เสีย เพื่อให้เห็นถึงสิ่งที่เขาจะได้รับเมื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว และความพร้อม/ความมั่นใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถามทั้งในระยะต้นของการสัมภาษณ์และท้ายบทสัมภาษณ์ นำผลมาเปรียบเทียบกันว่าผู้ป่วยเมื่อได้คุยแล้วมีความคืบหน้าของการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดหรือไม่

สุดท้ายให้Home program กับผู้ป่วยในการให้เขียนสิ่งดีๆที่ได้พูดคุยกับนักกิจกรรมบำบัด เขียนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจถึงการเปลี่ยนแปลงการกลืนอาหาร เขียนบอกให้กำลังใจตัวเองว่าสามารถทำได้ เผื่อวันใดที่รู้สึกยากหรือท้อแท้ในการฝึกให้กลับมาอ่านข้อความของวันแรกเติมเชื้อไฟอีกครั้ง

 

วันที่2: (Home program)

 


วันที่3: (เตรียมความพร้อมของจิตใจก่อนการฝึกกลืน)

ฝึกการรู้ถึงสติของตนเอง ให้อยู่กับตัวในปัจจุบัน :

  1. จัดบรรยากาศที่เป็นส่วนตัวและเงียบสงบให้ผู้รับบริการหลับตาลง นึกถึงความคิดในสมองของตนเองเกี่ยวกับการกลืนอาหารที่จะฝึก หากมีความคิดลบ ให้เปล่งเสียงออกมาว่าหยุดคิดลบ
  2. เคาะคลายอารมณ์ลบโดยใช้มือข้างถนัด บริเวณกลางกระหม่อม และ/หรือ ระหว่างหัวคิ้วสองข้าง แล้วพูดตามจังหวะการเคาะว่า “เราจะเปิดใจ ยอมรับ และรักตัวเองให้มากๆหายกลัว มั่นใจ หายเศร้า เข้มแข็ง หายโกรธ ให้อภัย” ต้ังสติ เดินช้าๆ ไปมาบริเวณที่สงบผ่อนคลาย ปรับร่างกายไม่ให้ก้มคองอตัว เพื่อไม่ชวนย้ำคิดติดอดีต
  3. ให้เคาะต่อมไทมัสตรงบริเวณกลางหน้าอกเหนือราวนมให้หายใจเข้าลึกๆ กลั่นค้างไว้ นับในใจ 1-2-3 แล้วถอนหายใจออกทางจมูกแรงๆพร้อมออกเสียง “เฮอ!” ดังๆ ทำ3-5รอบ

ทำการตรวจสอบทราบถึงแนวทางการพัฒนาสมองส่วนหน้าด้านการบริหารจัดการความคิด อารมณ์ และการกระทำในกิจกรรมการดำเนินชีวิต :

  1. ให้ผู้รับบริการหลับตาเดินขึ้นด้านหน้าทีละก้าวพร้อมกับตอบคำถามทีละข้อว่า “คุณอยากพัฒนาตัวเองอย่างไร” “คุณอยากเห็นอะไรในการเปลี่ยนแปลง” และ”เห็นภาพตัวเองที่ทีการพัฒนาขึ้น กำลังอยู่กับใคร ที่ไหน เมื่อไร”
  2. ให้ผู้รับบริการลืมตา แล้วคิดวิเคราะห์ผ่านการเขียนลงกระดาษA4ว่า “จากกิจกรรมนี้ คุณจะตั้งเป้าหมายในการพัฒนาความสามารถของตนเอง ปรับปรุงนิสัยของตัวเอง หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตให้มีความสุขขึ้นเป็นรูปธรรมได้อย่างไร”

สุดท้าย สร้างความเข้าใจให้ผู้ป่วยเกี่ยวกับกระบวนการกลืนของร่างกายว่ามีกลไกทำงานอย่างไรบ้าง และร่างกายมีการป้องกันตนเอง เช่น การสำลัก เมื่อทราบแล้วชวนให้ผู้ป่วยคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล ใช้สมองซีกซ้ายคิดให้เป็นว่ามีเหตุและผลอะไรที่ทำให้กลืนปลอดภัยไม่สำลัก หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สำลักเหล่านั้น  ก่อนจะให้ท่าออกกำลังกายการฝึกลิ้น-ปากให้ทำงานประสานกัน กำหนดให้ฝึกตอนก่อนกินอาหารและก่อนแปรงฟัน ประมาณ5ครั้งก่อนที่จะกินอาหารและก่อนแปรงฟันทุกครั้ง ดังรูปที่แนบไว้

ก่อนจากกัน บอกให้ผู้ป่วยเตรียมอาหารมาด้วยในการพบกันวันรุ่งขึ้น สำคัญที่ในการเลือกอาหารนี้ควรเป็น

  1. อาหารที่ผู้ป่วยเลือกเอง
  2. อาหารที่ผู้ป่วยชอบ
  3. อาหารที่ผู้ป่วยอยากทอลองทานเอง

 

วันที่4 : (ฝึกทานอาหารจริง)

นักกิจกรรมบำบัดจัดอาหารในเกรดที่ผู้ป่วยได้ทำการประเมินไปแล้วว่าอยู่ในระดับใดรสชาติควรมีรสไม่จัดเพื่อไม่ให้กระตุ้นการรับสัมผัสที่ดีกว่าคนปกติ นำมาจัดโต๊ะร่วมกับสิ่งที่ผู้ป่วยนำมาด้วย ทำในห้องที่สงบและปลอดภัย รวมถึงให้ควบคุมอุณหภูมิของอาหารให้อยู่ที่30-40องศาเซลเซียส ร่วมกับการให้ดมกลิ่น Black pepper oli (ในที่นี้หากผู้ป่วยได้กลิ่นฉุนไม่ได้ให้ละออกไป) ก็สามารถช่วยให้ลดการสำลักลงเช่นเดียวกัน

ก่อนที่จะทำการฝึกทานอาหารและกลืนนั้น ประเมินเกี่ยวกับความพร้อมและความตึงเครียดก่อนเริ่มกิจกรรมด้วยวิธีดังนี้

  1. ให้ผู้รับบริการนั่งหลับตา ทบทวนว่า”มีความตึงเครียดบริเวณใดของร่างกาย เริ่มจากใบหน้า รอบหัวใจ และบริเวณท้อง ถ้ามี มีในบริเวณใด ให้คะแนนความเครียด จาก0(ไม่มี)-10(มีมากที่สุด) ผู้ประเมินรอฟังคำตอบและบันทึกข้อมูล
  2. ถ้ามีระดับความเครียดในะคะแนน >6/10 ให้ชวนเคาะคลายอารมณ์ลบพร้อมกันกับผู้ประเมิน คือ ใช้นิ้วชี้กลางสองข้างเคาะระหว่างหัวคิ้ว พร้อมพูดว่า “มั่นใจ มั่นใจ มั่นใจ หายกลัว หายกลัว หายกลัว” เคาะบริเวณกลางอกใต้ต่อปุ่มกระดูก ไหปลาร้า พร้อมพูดว่า “เข้มแข็ง เข้มแข็ง เข้มแข็ง หายเศร้า หายเศร้า หายเศร้า”  เคาะสีข้างลำตัวใต้ต่อรักแร้หนึ่งฝ่ามือ พร้อมพูดว่า “ให้อภัย ให้อภัย ให้อภัย หายโกรธ หายโกรธ หายโกรธ”
  3. เมื่อเสร็จแล้วให้ผู้ป่วยหลับตาและถามซ้ำว่า”มีอารมณ์ตึงเคณียดลดลงหรือเพิ่มขึ้น” ถ้า <6/10 ให้หยุดทำ หากยังมีคะแนน >6/10 ให้ชวนเคาะคลายอารมณ์ลบพร้อมกันกับผู้ประเมินอีก 3 รอบ แล้วทํากระบวนการประเมินอารมณ์ตึงเครียดอีกครั้งว่ามีระดับลดลงไหม ถ้าได้ 3/10 ถือว่าอารมณ์ตึงเครียดลดลง

ปรับความคิดบวกและสร้างความมั่นใจก่อนลงมือทำจริงโดย ฝึกจินตนาการภาพ โดยให้ผู้ป่วยนึกถึงภาพขณะรับประทานอาหารที่ชอบ อย่างเอร็ดอร่อย กินเก่ง สามารถกินได้ทุกอย่าง แล้วปรับภาพให้ชัด เมื่อใดมีภาพความกลัวเกิดขึ้น ก็ให้พูดเสียงดังๆให้ตัวเองได้ยิน 3 ครั้ง ว่า “ลบออกไป มั่นใจ กลืนได้ดี” ต่อด้วยเป่าลมหายใจออกทางปากยาวๆ 3 ครั้ง

ฝึกการทานและกลืน

  1. เริ่มจากให้ผู้บำบัดกระตุ้นการหลั่งน้ำลายเตรียมคลุกเคล้าอาหาร โดยใช้ก้านไม้พันสำลี กดไปบริเวณข้างลิ้นของผู้รับบริการและค่อยๆเลื่อนเข้าสู่กลางลิ้น ไม่ควรทำเร็วจนไปกระตุ้นการสำลักของผู้รับบริการ เสร็จแล้วลองให้ผู้รับบริการก้มคอเล็กน้อย นับ1-2-3-4-5แล้วกลืน ทำทั้งหมด 3 ครั้ง
  2. เริ่มทานอาหารจริง ให้ผู้รับบริการตักอาหารที่คุ้นเคยด้วยขนาดชิ้นคำเล็กบริเวณปลายช้อน นำเข้าปากโดยวางที่ปลายลิ้นและปัดอาหารเคี้ยวในข้างที่ถนัดก่อนประมาณ 10 ครั้ง ก้มคอลงเล็กน้อยแล้วหยุด คิด กลืน แยกหายใจ หากเป็นอาหารที่มีความแข็งให้วางที่บริเวณกรามเพื่อเคี้ยวได้สะดวกขึ้น และถ้าอาหารที่ทานเข้าไปแล้วทำให้รู้สึกไม่ดี เวียนหัว เหงื่อแตก อยากอาเจียน ให้คายออกมาอย่าฝืนทานเข้าไป
  3. สอบถามเกี่ยวกับสิ่งที่ทำเมื่อสักครู่ว่ารู้สึกเป็นอย่างไร ยังต้องปรับปรุงตรงไหนหรือไม่

 

วันที่5-10 : (Home program)

แนะนำผู้รับบริการเกี่ยวกับระดับความข้นเหลวของอาหาร ปรับให้เหมาะสมและมีความท้าทายความสามารถบ้างก่อนทานอาหารให้ออกกำลังกายลิ้นและปากเช่นเดิม เพิ่มกิจกรรมการเคี้ยวกลืน กิน บริโภคอาหารอย่างมีสติสัมปชัญญะ

  1. เร่ิมใช้นิ้วโป้งสัมผัสข้อต่อขากรรไกร ดันนิ้วชี้ไปตรงๆ ท่ีปลายคาง ขยับนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ให้ก้มคอเล็กน้อย ให้กลอกตามองลงพื้น แล้วกลืนน้ําลายเล็กน้อย
  2. เงยหน้าตรง ใช้ปลายลิ้นแตะตรงกลางเพดานใกล้ฟันบน
  3. ใช้นิ้วกลางแตะดันใต้คางเพื่อกระตุ้นน้ําลายชนิดใส ไล่ไปใกล้กับกกหู จนถึงใต้ต่อขากรรไกรล่าง เพื่อกระตุ้นน้ําลายชนิดข้น
  4. ใช้ช้อนยาวสแตนเลสจุ่มน้ําอุ่นสัก 3-5 วินาที นําหลังช้อนมาแตะนวด ปลายล้ินซีกข้างถนัดวนไปกลางลิ้นแล้วแตะเข้าไปอีกชิดลิ้นข้างซ้าย นำช้อนออก
  5. ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้แตะไล่ลงมาจากใต้คางช้าๆจนเลยคอหอยนิดหน่อย แล้วกลืนน้ำล่ยให้หมดภายในสองรอบ
  6. หากเกิน2 รอบ ให้เป่าลมแรงๆจากปาก3 ครั้ง ส่งเสียง อา อู โอ แล้วก้มหน้ามองต่ำขณะกลืนน้ำลาย
  7. สุดท้ายใช้มือแตะท้องแล้วกด รอบๆสะดือ และ/หรือ หันคอไปยังร่างกายข้างที่ถนัด หรือข้างที่รู้สึกมีแรงมากกว่างอ ตัวเล็กน้อยพร้อมก้มคอกลืนน้ําลาย ทําสัก 3 รอบ
  • ควรทำเป็นประจำทุกวันก่อนทานอาหาร ปรับให้เข้าไปอยู่กับกิจกรรมดำเนินชีวิต ควรฝึกเช้า-กลางวัน-เย็น หรือ ปรับการทานอาหารให้เป็น3-5 มื้อ/วัน ควบคู่การฝึก
  • สถานที่ฝึกในบ้านควรเป็นที่เงียบสงบ สามารถทำให้จดจ่อสติกับอาหารได้ ไม่ควรมีโทรทัศน์ มือถือ และการกินไปคุยไป ควรมีผู้ดูแลคอบดูอยู่ห่างๆหากผู้รับบริการเกิดความผิดพลาด

 

วันที่11 : (ตรวจสอบถึงผลก้าวหน้าที่ได้ฝึกไป 6 วัน)

ให้ผู้รับบริการบอกเล่าถึงการฝึกที่บ้านที่ผ่านมา พร้อมกับวัดระดับความมั่นใจอีกครั้งในการปรับระดับอาหารขึ้น1 ระดับ แต่ยังคงมีอาหารระดับเดิมอยู่แต่ไม่มากเท่าที่ผ่านมา เพิ่มระดับอาหารใหม่เป็นเมนูแทนของเดิม ให้ใช้วิธีการปรับอารมณ์ก่อนทานเช่นเดิม

 

วันที่12-20 : (Home program)

 

วันที่21 : (สิ้นสุดการบำบัด)

สอบถามเกี่ยวกับความคืบหน้าและความภูมิใจต่อตนเอง ในทั้งนี้ระดับอาหารที่ทานได้แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นระดับเดียวกับปกติที่ทาน(ระดับ7) เนื่องจากการบำบัดฟื้นฟูกลัวการกลืนใช้เวลาอย่างน้อย1ปี เพียงใน21วันหากมีความคืบหน้าในการทานอาหารได้แล้วมากขึ้น1-2ระดับ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

สุดท้ายพูดขอบคุณตัวเองที่ทำให้สำเร็จในเวลาที่วางแผนไว้ กอดตัวเองในท่าผีเสื้อ หายใจเข้าลึกออกยาวพร้อมกับขยับมือตบหน้าอกเบาๆ

 

ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก :

1.https://www.verywellmind.com/what-is-the-fear-of-swallowing-2671906

2.https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S134786131930773X

3. หนังสือ กิจกรรมการดำเนินชีวิตจิตเมตตา เขียนโดย ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์  เข็มทอง อาจารย์นักกิจกรรมบบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

4.

5.

หมายเลขบันทึก: 692573เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2021 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2021 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท