บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในการให้คำปรึกษาผู้ป่วยกลัวการกลืนได้ใน 21 วัน ทำอย่างไร


บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในการให้คำปรึกษาผู้ป่วยกลัวการกลืนได้ใน 21 วัน ทำอย่างไร

ภาวะกลัวการกลืนนั้น คือภาวะที่ผู้ป่วยรู้สึกกลัวว่าอาหารหรือเครื่องดื่มจะตกค้างหรือหลุดเข้าไปในหลอดลม เนื่องจากอาจมีประสบการณ์สำลัก และกลัวว่าตนจะหายใจไม่ออก จนมีอาการกลัวออกมาทางกายและทางความรู้สึก ส่งผลต่อการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อร่างกาย

 

นักกิจกรรมบำบัดสามารถช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง?

นักกิจกรรมบำบัดสามารถทำการประเมินภาวะการกลืน หาสาเหตุ ฝึกองค์ประกอบในการกลืนหากมีปัญหา ให้คำแนะนำในการฝึกและช่วยให้ผู้รับบริการก้าวข้ามภาวะกลัวการกลืนให้ได้

 

ภายใน 21 วันนั้น นักกิจกรรมบำบัดจะมีบทบาทหน้าที่อย่างไร

วันที่ 1-3

เมื่อเจอผู้รับบริการ สิ่งแรกที่เราจะทำคือการรวบรวมข้อมูลผ่านการประเมินและการสัมภาษณ์ ดังนั้นสิ่งที่จะทำคือ

-ประเมินความสามารถในการกลืนซึ่งในกรณีที่ผู้รับบริการยังไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองโดยแพทย์อาจมีการส่งต่อเพื่อตรวจประเมินโดยละเอียด เช่นการใช้ Video fluoroscopy (เป็นการใช้เอ็กซเรย์ เพื่อบันทึกผลขณะที่ผู้รับบริการกลืนอาหารหรือเครื่องดื่มที่ผสมสารทึบแสง)

ในส่วนการประเมินของนักกิจกรรมบำบัดนั้นจะมีการประเมินเป็นขั้นตอนคือ

-สัมภาษณ์ประวัติส่วนตัว ข้อมูลเบื้องต้น และสอบถามเกี่ยวกับภาวะกลัวการกลืนเพื่อหาสาเหตุ 

-ทดสอบการกลืนด้วยน้ำลาย (Dry swallow test): ให้ผู้รับบริการกลั้นหายใจ นับ 1 2 3 แล้วกลืนน้ำลาย โดยนักกิจกรรมบำบัดสัมผัสบริเวณลูกกระเดือกเพื่อดูทิศทางของลูกกระเดือกขณะกลืนหรือความผิดปกติอื่น ๆ 

-ทดสอบการกลืนด้วยน้ำ (Water swallow test): โดยจะมีการกลืนน้ำในปริมาณตั้งแต่

3 ml, 5 ml, 10 ml, 20 ml เมื่อเกิน 20 ml จึงจะสามารถฝึกการกลืนด้วยอาหารได้ หลังกลืนน้ำสังเกตอาการผิดปกติหรือไม่ (เช่น สำลัก ไอ กระแอม และภาวะสำลักเงียบ) หากพบความผิดปกติจะถือว่าไม่ผ่าน

-ประเมินการกลืนด้วยอาหาร ด้วยอุปกรณ์การประเมินคือ ไม้กดลิ้น น้ำดื่ม ข้าวและแกง เพื่อวัดระดับความสามารถในการกลืน ความรุนแรงของภาวะกลัวการกลืน โดยจะมีวิธีการคือการใช้ไม้กดลิ้น กระตุ้นน้ำลาย ด้วยการให้ผู้รับบริการแลบลิ้นออกมาและใช้ไม้กดลิ้น กดไปทั่ว ๆ บริเวณลิ้น จากนั้นให้ดื่มน้ำครึ่งแก้วอย่างรวดเร็ว ขณะนักกิจกรรมบำบัดเงยคางผู้รับบริการเล็กน้อยเพื่อทดสอบว่าผู้รับบริการกลืนน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีน้ำไหลไปที่หลอดลมหรือไม่ จากนั้นเป็นการให้ทานข้าวและแกงอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเคี้ยว ให้กลืนทันทีและดื่มน้ำตาม จากนั้นผู้บำบัดใช้ไม้กดลิ้นเพื่อเช็คว่าสามารถกลืนอาหารได้หมดหรือไม่

ในส่วนของการประเมินเหล่านี้ ต้องทดสอบเพื่อให้ทราบความรุนแรงของอาการกลัวการกลืนรวมถึงประสิทธิภาพขององค์ประกอบและคุณภาพในการกลืนซึ่งจะนำไปสู่การระบุปัญหาและการตั้งเป้าประสงค์ต่อไป

 

วันที่ 4

-การให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุที่ของภาวะกลัวการกลืน และข้อมูลเบื้องต้นของกระบวนการกลืนและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้รับบริการรับรู้เหตุผลถึงการเข้ารับการบำบัดและเข้าใจเหตุผลในความกลัวของตัวเอง

-ใช้เทคนิค Cognitive restructure เพื่อประเมินความคิดของผู้รับบริการที่ส่งผลต่อความกลัวการกลืน จากนั้นตั้งคำถาม ทดสอบความคิดอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับรู้รูปแบบความคิดที่อาจบิดเบือนไปร่วมกัน นำไปสู่การปรับแก้และท้าทายความคิด เทคนิคนี้ถูกใช้โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับบริการตระหนักถึงความคิดลบที่ส่งผลต่ออาการและปรับความคิดให้เป็นบวกมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างให้ผู้รับบริการมีความมั่นใจในการเอาชนะปัญหาในอนาคต 

 

วันที่ 5

-เทคนิค บริหารกล้ามเนื้อลิ้น มีวิธีการคือ ใช้ลิ้นแตะริมฝีปากบน แตะริมฝีปากล่าง แตะริมฝีปากทางด้านซ้ายและขวา จากนั้นนับ 1-2-3 กลืน โดยให้ทำก่อนทานอาหารและก่อนแปรงฟัน เพื่อช่วยให้ลิ้นเหยียดและแข็งแรงมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดความไวของการรับสัมผัสที่ลิ้น และจะมีการแนะนำเป็น Home program 

 

วันที่ 6-9

-ผู้รับบริการที่มีภาวะกลัวการกลืนส่วนใหญ่มักมีปัญหาในเรื่องของการรับความรู้สึกไวกว่าปกติ (Hypersensitivity) ดังนั้นจึงจะใช้เทคนิค learning by doing with tactile desensitization โดยใช้นิ้วผู้บำบัดหรือไม้พันสำลี กดค้าง นวด คลึง บริเวณที่มีการรับความรู้สึกไวผิดปกติ เพื่อเป็นการลดความไวต่อการรับความรู้สึกลง

-เทคนิค learning by doing with texture desensitization ด้วยวิธีการใช้ไม้พันสำลีค่อย ๆ กดไปยังบริเวณลิ้นและเปลี่ยนวัสดุบริเวณปลายไม้ให้มีความหยาบมากขึ้น เช่น ไม้พันสำลี-แปรงขนนุ่ม-ผ้าฝ้าย-ผ้ากระสอบ เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถปรับระดับการรับความรู้สึกให้ใกล้เคียงกับปกติได้

 

วันที่ 10 - 12

-เทคนิคที่จะใช้คือ Graded exposure โดยขั้นตอนแรกคือการระบุสถานการณ์หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการกลัววิตกกังวลให้เป็นรูปธรรมซึ่งอาจมีมากกว่า 1 อย่าง แต่เราจะเลือกที่เจาะจงเพียงหนึ่งอย่าง โดยจะใช้การเขียนในกระดาษ จากนั้นให้คะแนนระดับความกังวลและความกลัวจาก 0 – 10 เรียงเป็นลำดับ 
ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการวางแผนเพื่อเผชิญหน้ากับความกลัวตามลำดับ โดยอันดับแรกจะใช้การจินตนาการถึงการกลืน รูปภาพ วิดีโอ ตามลำดับและหาวิธีจัดการความเครียดและความกังวลร่วมกัน ขณะที่ทำการ exposure ผู้บำบัดจะต้องอยู่ข้าง ๆ เมื่อจบ Session ผู้บำบัดจะต้องบันทึกความระดับความวิตกกังวลและกลัว ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำการ exposure ระหว่างการทำ และหลังการทำ exposure ซึ่งคะแนนหลังทำ exposure ควรลดลงอย่างน้อย 50% หรือคะแนน 4/10 ก่อนจะเริ่มการ Graded exposure ในระดับถัดไป 

เทคนิคนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถควบคุมและจัดการกับความกลัวกังวลที่ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวได้ดีขึ้น ผ่านการท้าทายความกลัวตามลำดับขั้น

-เมื่อมีความวิตกกังวลหรือความกลัวเกิดขึ้น จะแนะนำเทคนิค Relaxation: Breathing exercise 4-7-8 เพื่อลดอาการทางกายที่เกิดขึ้น โดยแนะนำให้ผู้รับบริการฟังเสียงในใจตนเองว่า “กำลังกลัวอะไร” ต่อด้วยการพูดให้ตัวเองได้ยินด้วยน้ำเสียงที่เข้มแข็ง “หายกลัว กล้าลองทำดู มั่นใจ” จากนั้นหายใจเข้าทางจมูก นับ 1-2-3-4 กลั้นหายใจนำลมหายใจไปที่ท้อง นับ 1-2-3-4-5-6-7 แล้วผ่อนลมหายใจออกทางปาก นับ 1-2-3-4-5-6-7-8 ทำให้ผู้รับบริการมีสติมากขึ้น และมีความคิดที่เป็นบวกมากขึ้น ประเมินสีหน้าท่าทางว่ามีความผ่อนคลายขึ้น จึงยุติการทำ หากไม่ ให้ทำต่อ 2-3 ครั้ง

 

 

วันที่ 13

-ยังคงมีการใช้ Grade exposure ร่วมกับการประเมินสีหน้าท่าทาง และการให้คะแนนความวิตกกังวลและความกลัวเพื่อนำไปสู่การเผชิญกับความกลัวในขั้นต่อไป

-ให้เทคนิค Education และ Teaching and learning ในการให้ความรู้ในเรื่องของโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อปรับมื้ออาหารในสอดคล้องกับสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร หรืออาจส่งต่อให้นักโภชนาการได้

 

วันที่ 14

-ใช้เทคนิค Graded exposure โดยจะเริ่มใช้อาหารเข้ามามีส่วนในการฝึก เป็นการใช้อาหารที่ผู้รับบริการทานได้ ที่ผู้รับบริการอยากทาน จากนั้นจะใช้การตักเป็นชิ้นเล็ก ๆ แนะนำการวางบริเวณกลางลิ้น ซึ่งอาจจะใช้การอมก่อน ยังไม่ถึงขั้นสามารถกลืนได้ จากนั้นพูดคุยและแก้ปัญหาเกี่ยวกับความกังวลร่วมกัน

เทคนิคนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถควบคุมและจัดการกับความกลัวกังวลที่ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวได้ดีขึ้น ผ่านการท้าทายความกลัวตามลำดับขั้น ซึ่งเป็นขั้นต่อจากการใช้จินตนาการและรูปภาพหรือวิดีโอ

จากนั้นดูผลการประเมินการให้คะแนนความวิตกกังวลและความกลัว หากลดลงอย่างน้อย 4/10 จะยุติการใช้ เทคนิค Graded exposure เพื่อนำไปสู่การฝึกขั้นต่อไป

-เทคนิคที่ใช้สำหรับจัดการอารมณ์กลัวและความกังวลก่อนเริ่มทำการฝึกคือ Emotional tapping หรือการเคาะอารมณ์ วิธีการทำคือ

ให้ผู้รับบริการถอดแว่นตา จากนั้นใช้ 2 นิ้วหรือ 3 นิ้ว งอเล็กน้อย เคาะบริเวณหัวคิ้วทั้งสองข้างหรือบริเวณกระหม่อม พร้อมพูดออกมาว่า “มั่นใจ มั่นใจ มั่นใจ หายกลัว หายกลัว  หายกลัว” เพื่อให้ผู้รับบริการคลายกังวลพร้อมรับการฝึก สังเกตเมื่อผู้รับบริการมีท่าทางที่มั่นใจขึ้น ผ่อนคลาย จึงยุติการทำ หากไม่ ทำต่ออีก 2-3 ครั้ง

 

วันที่ 15

-เทคนิค Positioning หรือการจัดท่าของผู้รับบริการให้เหมาะสมคือ นั่งหลังตรง 90 องศา สะโพก เข่า ข้อเท้า งอ 90 องศา ข้อศอกและแขนวางบนโต๊ะหรือยื่นมาทางด้านหน้า ขณะกลืนก้มศีรษะลงเล็กน้อย เพื่อให้ท่าทางของผู้รับบริการเหมาะสมกับการกลืน ป้องกันการสำลักอาหาร

-เทคนิค บริหารกล้ามเนื้อลิ้น มีวิธีการคือ ใช้ลิ้นแตะริมฝีปากบน แตะริมฝีปากล่าง แตะริมฝีปากทางด้านซ้ายและขวา จากนั้นนับ 1-2-3 กลืน โดยให้ทำก่อนทานอาหารและก่อนแปรงฟัน เพื่อช่วยให้ลิ้นเหยียดและแข็งแรงมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดความไวของการรับสัมผัสที่ลิ้น และจะมีการแนะนำเป็น Home program 

-เทคนิค Environmental modification การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การฝึกคือ ให้ฝึกในห้องที่มีความเงียบสงบ มีความเป็นส่วนตัว บรรยากาศผ่อนคลาย มีอุปกรณ์ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ เพื่อให้ลดความกังวลของผู้รับบริการขณะการฝึก

- ใช้เทคนิค Dietary management การปรับเปลี่ยนความข้นหนืดของอาหาร โดยจะพิจารณาความข้นหนืดของอาหารตามมาตรฐาน International Dysphagia Diet Standardization Initiative: IDDSI 
โดยจะเริ่มจะลำดับขั้นที่ผู้รับบริการสามารถกลืนได้ และมีอาหารที่ผู้รับบริการอยากทานด้วยตามลำดับ ให้เลือกจากสิ่งที่ผู้รับบริการชอบ และให้ผู้รับบริการลองด้วยตัวเอง

แนะนำการวางตำแหน่งของอาหาร ให้วางบริเวณกลางลิ้นเพื่อให้สามารถเคี้ยวได้

-มื้อที่ 1: ซุปข้าวโพด+นมขาดมันเนย 

-มื้อที่ 2: โจ๊กปั่น+ไข่ตุ๋น+น้ำส้มคั้นไม่มีกากไม่ใส่น้ำแข็ง

-มื้อที่ 3: โยเกิร์ตรสธรรมชาติ

อาหารสำหรับวันนี้จะเป็นอาหารในระดับที่ 3 อาหารเหลวข้น Liquidized (IDDSI) และเครื่องดื่มในระดับที่ 2 หนืดน้อย Mildly thick (IDDSI) และ ระดับที่ 1 หนืดเล็กน้อย Slightly thick (IDDSI)

เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเพิ่มระดับของอาหารที่สามารถกลืนได้ในอนาคต

 

วันที่ 16

-ใช้เทคนิค Dietary management การปรับเปลี่ยนความข้นหนืดของอาหาร โดยจะพิจารณาความข้นหนืดของอาหารตามมาตรฐาน International Dysphagia Diet Standardization Initiative: IDDSI

-มื้อที่ 1: ซุปฟักทอง + นมเปรี้ยว

-มื้อที่ 2: โจ๊กไข่ลวก + น้ำผลไม้รวมเข้มข้นไม่ใส่น้ำแข็ง

-มื้อที่ 3: ไข่ตุ๋น

อาหารสำหรับวันนี้จะเป็นอาหารในระดับที่ 3 อาหารเหลวข้น Liquidized (IDDSI) และเครื่องดื่มในระดับที่ 2 หนืดน้อย Mildly thick (IDDSI) และระดับที่ 3 หนืดปานกลาง Moderately thick (IDDSI) ซึ่งจะมีระดับที่ท้าทายอีกระดับคือ อาหารระดับที่ 4 อาหารบดละเอียด Pureed (IDDSI) 

 

วันที่ 17

-ใช้เทคนิค Dietary management การปรับเปลี่ยนความข้นหนืดของอาหาร โดยจะพิจารณาความข้นหนืดของอาหารตามมาตรฐาน International Dysphagia Diet Standardization Initiative: IDDSI

-มื้อที่ 1: น้ำเต้าหู้

-มื้อที่ 2: โจ๊กข้าวกล้องงอก + ไข่ลวก

-มื้อที่ 3: กล้วยน้ำว้าบด

เครื่องดื่มสำหรับวันนี้จะอยู่ในระดับที่ 2 หนืดน้อย Mildly thick (IDDSI) ซึ่งจะอาหารที่ท้าทายอีกระดับคือ อาหารระดับที่ 5 อาหารสับละเอียด&ชุ่มน้ำ Minced & Moist (IDDSI) 

-เมื่อมีความวิตกกังวลหรือความกลัวเกิดขึ้นระหว่างการฝึก จะแนะนำเทคนิค Relaxation: Breathing exercise 4-7-8 เพื่อลดอาการทางกายที่เกิดขึ้น โดยแนะนำให้ผู้รับบริการฟังเสียงในใจตนเองว่า “กำลังกลัวอะไร” ต่อด้วยการพูดให้ตัวเองได้ยินด้วยน้ำเสียงที่เข้มแข็ง “หายกลัว กล้าลองทำดู มั่นใจ” จากนั้นหายใจเข้าทางจมูก นับ 1-2-3-4 กลั้นหายใจนำลมหายใจไปที่ท้อง นับ 1-2-3-4-5-6-7 แล้วผ่อนลมหายใจออกทางปาก นับ 1-2-3-4-5-6-7-8 ทำให้ผู้รับบริการมีสติมากขึ้น และมีความคิดที่เป็นบวกมากขึ้น สังเกตสีหน้าท่าทางของผู้รับบริการหากผู้รับบริการมีสีหน้าดีขึ้น ผ่อนคลาย จึงยุติการทำ หากไม่ ให้ทำต่อ 2-3 ครั้ง

 

วันที่ 18

-ใช้เทคนิค Dietary management การปรับเปลี่ยนความข้นหนืดของอาหาร โดยจะพิจารณาความข้นหนืดของอาหารตามมาตรฐาน International Dysphagia Diet Standardization Initiative: IDDSI

-มื้อที่ 1: เต้าฮวยน้ำขิง

-มื้อที่ 2: เนื้อหมูอบบดละเอียด + ข้าวบดละเอียด น้ำผลไม้กรองกากไม่ใส่น้ำแข็ง

-มื้อที่ 3: มันบด

อาหารสำหรับวันนี้จะเป็นอาหารในระดับที่ 4 อาหารบดละเอียด Pureed (IDDSI) 

เครื่องดื่มในระดับที่ 2 หนืดน้อย Mildly thick (IDDSI) ซึ่งจะมีระดับที่ท้าทายอีกระดับคือ อาหารระดับที่ 5 อาหารสับละเอียด&ชุ่มน้ำ Minced & Moist (IDDSI)

-แนะนำให้ผู้รับบริการเคี้ยวอย่างช้า ๆ อย่างน้อย 20 ครั้ง และใช้มือข้างที่ไม่ถนัดตักอาหารเข้าปากเพื่อกระตุ้นให้ผู้รับบริการมีสติขณะการอ้าปาก เคี้ยว และกลืน

 

วันที่ 19

-ใช้เทคนิค Dietary management การปรับเปลี่ยนความข้นหนืดของอาหาร โดยจะพิจารณาความข้นหนืดของอาหารตามมาตรฐาน International Dysphagia Diet Standardization Initiative: IDDSI

-มื้อที่ 1: หมูตุ๋นเปื่อย + โจ๊กข้น + น้ำกระเจี๊ยบไม่ใส่น้ำแข็ง

-มื้อที่ 2: เนื้อปลาต้ม + ข้าวต้มข้น + น้ำเปล่า

-มื้อที่ 3: มะละกอ

อาหารสำหรับวันนี้จะเป็นอาหารในระดับที่ 4 อาหารบดละเอียด Pureed (IDDSI) 

เครื่องดื่มในระดับที่ 0 เหลว/ไม่หนืด Thin (IDDSI) ซึ่งจะมีระดับที่ท้าทายคือ อาหารระดับที่ 5 อาหารสับละเอียด&ชุ่มน้ำ Minced & Moist (IDDSI) และอาหารระดับที่ 6 อาหารอ่อน ชิ้นเล็ก Soft bite-sized (IDDSI)

 

วันที่ 20

-ใช้เทคนิค Dietary management การปรับเปลี่ยนความข้นหนืดของอาหาร โดยจะพิจารณาความข้นหนืดของอาหารตามมาตรฐาน International Dysphagia Diet Standardization Initiative: IDDSI

-มื้อที่ 1: ไข่ต้ม + ข้าวต้มข้น

-มื้อที่ 2: แพนเค้กจุ่มนม

-มื้อที่ 3: ฟักทองต้ม + น้ำใบเตยไม่ใส่น้ำแข็ง

อาหารสำหรับวันนี้จะเป็น อาหารระดับที่ 5 อาหารสับละเอียด&ชุ่มน้ำ Minced & Moist (IDDSI)  เครื่องดื่มในระดับที่ 0 เหลว/ไม่หนืด Thin (IDDSI) ซึ่งจะมีระดับที่ท้าทายคืออาหารระดับที่ 6 อาหารอ่อน ชิ้นเล็ก Soft bite-sized (IDDSI)

 

และวันสุดท้าย วันที่ 21

-ใช้เทคนิค Dietary management การปรับเปลี่ยนความข้นหนืดของอาหาร โดยจะพิจารณาความข้นหนืดของอาหารตามมาตรฐาน International Dysphagia Diet Standardization Initiative: IDDSI

-มื้อที่ 1: มักกะโรนีน้ำ + น้ำเก๊กฮวยใส่น้ำแข็ง

-มื้อที่ 2: ต้มจับฉ่าย + ข้าวต้มข้น

-มื้อที่ 3: มะม่วงสุก 

อาหารสำหรับวันนี้จะเป็น อาหารระดับที่ 5 อาหารสับละเอียด&ชุ่มน้ำ Minced & Moist (IDDSI)  เครื่องดื่มในระดับที่ 0 เหลว/ไม่หนืด Thin (IDDSI) ซึ่งจะมีระดับที่ท้าทายคืออาหารระดับที่ 6 อาหารอ่อน ชิ้นเล็ก Soft bite-sized (IDDSI)
แนะนำการทำ Home program ในการทำการปรับเปลี่ยนความข้นหนืดของอาหาร

-ใช้เทคนิค Cognitive restructure ซ้ำ เพื่อประเมินความคิดของผู้รับบริการที่ส่งผลต่อความกลัวการกลืนหลังจากการฝึก จากนั้นอาจใช้เทคนิค Motivational interviewing เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มแรงจูงใจและความมั่นใจในการก้าวข้ามความกลัวการกลืน

 

         ระยะเวลาในการฝึกรวมถึงพัฒนาการในการฝึกนั้นขึ้นอยู่กับความแตกต่างของแต่ละบุคคล ซึ่งบางท่านอาจใช้เวลาเป็นปี หากท่านพบว่าตนเองมีความรู้สึกกลัวขณะที่กลืนอาหาร น้ำ หรือยา จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ท่านควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการแก้ไขก่อนจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในอนาคต

         ขอบพระคุณค่ะ

แหล่งอ้างอิง :

-เอกสารประกอบการสอนวิชา PTOT226 กิจกรรมบำบัดเพื่อสุขภาพร่างกาย เรื่อง Swallowing Rehabilitation โดย อ.ดร.ก.บ.สุรชาต ทองชุมสิน อาจารย์ผู้สอน สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

-เอกสารประกอบการสอนวิชา PTOT 339 กิจกรรมบำบัดจิตสังคม 2 เรื่อง Cognitive behavior therapy (CBT) โดย อ.ก.บ.มะลิวัลย์ เรือนคำ อาจารย์ผู้สอน สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

-เอกสารประกอบการสอนวิชา PTOT 339 กิจกรรมบำบัดจิตสังคม 2 เรื่อง Motivational Interviewing (MI) โดย อ.ก.บ.มะลิวัลย์ เรือนคำ อาจารย์ผู้สอน สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

-คู่มือแนวทางทางเวชปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก Clinic Practice Guidelines: dysphagia โดย สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

-หนังสือ ‘กิจกรรมการดำเนินชีวิตจิตเมตตา Compassionate occupation’ โดย ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์ผู้สอน สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/02739615.2020.1870117

https://www.talkplus.org.uk/Graded_Exposure.pdf

https://www.ot-works.com/2019/07/exposure-therapy-and-ot/

https://www.youtube.com/watch?v=HCmhvyTPM34.

https://www.youtube.com/watch?v=HMwoWRGDEtc

https://www.verywellmind.com/what-is-the-fear-of-swallowing-2671906

 

หมายเลขบันทึก: 692554เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2021 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2021 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท