คนพิการกับความรอบรู้ด้านสุขภาพตามแนวทาง CBR เครือข่ายภาคเหนือ 5 จังหวัด


AAR ประชุมออนไลน์ โครงการพัฒนากลไกการทำงานผ่านศูนย์บริการและหน่วยจัดการให้คนพิการมีความรอบรู้ด้านสุขภาพตามแนว CBR เครือข่ายภาคเหนือ 5 จังหวัด (เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง เชียงราย และแม่ฮ่องสอน) โดยการสนับสนุนจาก สสส. สำนัก 9

22 สิงหาคม 2564 ประชุมรอบค่ำ สั้นๆชั่วโมงเศษกำลังดี เพราะปกติผมจะไม่รับประชุมรอบเย็น-ค่ำอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเวลาพักผ่อนและเวลาครอบครัว วันนี้จำเป็นและก็ใช้เวลาไม่นาน เลย โอเค

โครงการมี 5 จังหวัด รวม 15 ตำบลก็จริง แต่วันนี้เป็นการเตรียมความพร้อมโครงการย่อยในระดับพื้นที่ตำบล ของ ลำปางและแม่ฮ่องสอนได้มาทำความรู้จักกับพี่น้องที่จะมาร่วมเป็นเครือข่ายงาน CBR จากตำบลต่างๆส่วนใหญ่มาจากทาง รพ.สต. โดยต่างเป็น “ลมใต้ปีก” หนุนซึ่งกันและกัน

 

แม่ฮ่องสอนเราผลักดันอยู่ในโครงการนี้ 2 ตำบล  คือ ตำบลห้วยโป่ง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน
และตำบลสบป่อง อ.ปางมะผ้า

ตำบลห้วยโป่ง วันนี้หมออดิศร ผอ.รพ.สต.มาเอง อาจจะงานล้นมือเพราะต้องไปช่วยเป็นเลขาให้ พชอ.เมืองด้วย แต่ก็มองภาพที่จะขยายต่อผลสำเร็จไปอีกหลายตำบลได้ไม่ยาก

ส่วนตำบลสบป่อง อันนี้ ผมรับมาเป็นผู้ก่อการเอง โดยมี รพ.ปางมะผ้า คอยเป็นภาคี

แต่หลักๆรอบนี้ CBR หรือ Community Based Rehabilitation การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบมีส่วนร่วม 5 มิติ (สุขภาพ  การศึกษา ความเป็นอยู่ สังคม การเสริมพลัง) จะเน้นไปที่เป้าหมายรูปธรรม 3 ข้อ คือ

1.เกิดการรวมกลุ่มคนทำงานที่เข้าใจและศรัทธาต่อแนวคิด CBR คนพิการ (ซึ่งสมาชิกในกลุ่มไม่จำเป็นต้องเป็นคนพิการทั้งหมด) โดยจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรคนพิการที่สามารถเชื่อมกับภาครัฐได้
2.เกิดการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการที่ขับเคลื่อนงานตามแนวคิด CBR 
3.เกิดบทเรียนความรู้ ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งคนอื่นสามารถมาเรียนรู้แล้วนำไปใช้ขยายผลต่อได้ โดยมีการพัฒนาเป็นองค์ความรู้แบบองค์รวม

แต่ละพื้นที่จะทำอย่างไรนั้น ไปออกแบบกระบวนการภายในมาเอง กลยุทธ์ กิจกรรมแต่ละแห่ง ไม่จำต้องเหมือนกัน 
งบประมาณไม่มาก  แสนสาม กับระยะเวลา 18 เดือน  เฉลี่ยเดือนละไม่ถึงหมื่น แต่จะทำอย่างไร สำหรับพื้นที่ตำบลแต่ละที่ก็ต้องไปออกแบบมา

ทีมกลาง คือ ทีมศูนย์บริการคนพิการ ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ก็จะลงไปช่วยหนุนในพื้นที่เป็นระยะๆ ให้คำปรึกษา เป็นทีมพี่เลี้ยง พร้อมจัดพื้นที่และกระบวนการเรียนรู้ในเครื่องต่างๆที่ใช้กับ CBR ให้

 

 

สำหรับแม่ฮ่องสอน ตำบลห้วยโป่ง เป็นตำบลเข้มแข็ง มีฐานเดิมเรื่องธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ และศูนย์ฟื้นฟูคนพิการใน รพ.สต. กระบวนการมีส่วนร่วมที่ชุมชน คนเฒ่าคนแก่ ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง มีชมรมผู้สูงอายุ และอีกหลายกลุ่มที่เข้มแข็งก็เป็นต้นทุนที่ทำเอาไว้ดีมาก แค่ต่อยอด CBR คนพิการเข้าไป ไม่น่าจะรันโครงการนี้ยาก

ส่วนตำบลปางมะผ้า ถึงแม้จะมีศูนย์บริการคนพิการใน อบต. ใน รพ. แต่หลักคิดก็ยังเป็นแบบ Symphathy คือมุ่งสงเคราะห์อยู่มาก เจ้าหน้าที่ยังขาดความเข้าใจ ขาดความตระหนักในคุณค่าและความจำเป็นของงาน CBR  เท่าที่ทำและเห็นกันว่าได้สองราก หลักๆคือ สุขภาพและก็มีรากที่สองคือความเป็นอยู่ ก็มีการปรับสภาพบ้านอยู่บ้าง ยังขาดอีกสามราก คือ การศึกษา สังคม และการเสริมพลัง  

อันนี้จะทำอย่างไร อืมม.... ผมก็ไม่ใช่ราชการ ไม่ได้มีตำแหน่งในสายงานสุขภาพระดับตำบล อำเภอ ซะด้วย แต่เมื่อรับมาก็ต้องคิด ต้องขอเวลาแป๊บ แต่เบื้องต้นต้องหาคนดีที่มีใจ มีความกล้าเปลี่ยนแปลง  และมีเวลาเรียนรู้ด้วยนะ ไม่งั้นมาช่วยแต่ไม่เข้าใจจะเหนื่อยกว่าเก่า เพราะต้องมาตามแก้ ทำงานยากแล้ว ต้องมาปรับความคิดกันตลอดนี่ทอนกำลังมาก อย่างนั้นก็ไม่เอา

พ่อหลวงอนันต์ หัวหน้าโครงการว่าจุดนี้สำคัญ คือ ทีม ที่ต้องมี 5 คนหลัก ที่สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ทุกครั้ง มุ่งมั่นเอาจริง

เหลียวซ้ายแลขวา พื้นที่ตำบลสบป่องอำเภอปางมะผ้า  เริ่มต้นท่าจะเหนื่อย เพราะอาจจะต้องคิดนอกกรอบมากกว่าที่อื่นที่เขามีต้นทุนมาดี มี รพ.สต.มาลุยเอง ผมคงต้องดึงขุนพลจากอำเภออื่นๆในแม่ฮ่องสอน หรืออาจจะรวมถึงต่างจังหวัดมาร่วมด้วยช่วยเสริมพลังกัน

 


งานจะเริ่ม 1 ธันวาคม ช่วงนี้ ขอทุกพื้นที่ตำบลในโครงการ ที่ถือเป็นโครงการย่อยไปเขียน Proposal ที่มีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ล้อกับโครงการใหญ่ และใช้โครงการย่อยที่เราส่งกันไปนี้ เป็นตัวกำกับกระบวนการทำงานและกิจกรรมทั้ง 18 เดือน

ธนูเมื่อขึ้นสาย ก็ต้องง้างเต็มกำลังล่ะครับ
 

หมายเลขบันทึก: 692159เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2021 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2021 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท