สินทรัพย์ (assets) ของมหาวิทยาลัย


         การประชุมสภา มวล. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.49  กระตุกใจให้ผมเขียนบันทึกนี้

         สภา มวล. พิจารณาสถานภาพทางการเงินของมหาวิทยาลัย   มีการวิเคราะห์ให้เห็นภาพฐานะทางการเงิน   ความมั่นคง   การใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์   ความคุ้มค่าในการดำเนินการ ฯลฯ   แสดงภาพเปรียบเทียบระหว่างปี 2548 & 2549 น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

         แต่ผมคิดว่าวิธีคิดที่นำเสนอนี้   เป็นวิธีคิดในกรอบกระบวนทัศน์ธุรกิจ   ไม่ใช่กรอบกระบวนทัศน์อุดมศึกษา   และจริง ๆ แล้วในประเทศไทยไม่มีฐานคิดเชิงกระบวนทัศน์ว่าด้วย "สินทรัพย์" ของสถาบันอุดมศึกษา   ซึ่งน่าจะมี "สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้" (intangible assets) มากกว่า "สินทรัพย์ที่จับต้องได้" (tangible assets) หลายเท่า

         ประเทศไทยเราน่าจะได้พัฒนากระบวนทัศน์ว่าด้วยสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ของระบบอุดมศึกษา   พัฒนาวิธีการจัดการ "แปลงสินทรัพย์เป็นทุน" ของสถาบันอุดมศึกษา   นำเอาสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มาสร้างคุณค่าและมูลค่าสำหรับทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ

         สภามหาวิทยาลัยที่อยู่นอกระบบราชการ   น่าจะต้องพิจารณา "ฐานะของสินทรัพย์" ของมหาวิทยาลัยทุกปี   คือไม่ใช่พิจารณาแค่ฐานะทางการเงิน

         ท่าน รมต. ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  เห็นด้วยกับการพัฒนาแนวคิดและวิธีการจัดการสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ของมหาวิทยาลัย   โดยท่านเสนอว่า "สินทรัพย์นามธรรม" นี้ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ
          - ทุนความรู้ (knowledge capital)
          - ทุนสังคม (social capital)
          - ทุนคุณธรรม (moral capital)

         คุณหญิงสุพัตรา  มาศดิตถ์ สนใจเรื่องนี้มาก   รับจะประสานงานการพูดคุยกันเพื่อพัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นในประเทศไทย

         ใครรู้จักนักวิชาการที่มีความรู้และประสบการณ์ในการคิดคำนวณหรือจัดการสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้   กรุณาแนะนำตัวให้ผมด้วย   เราจะติดต่อเชิญมาเสวนาหาทางขับเคลื่อนเรื่องนี้ขึ้นในสังคมไทยครับ

วิจารณ์  พานิช
 23 ธ.ค.49

 

หมายเลขบันทึก: 69211เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2006 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะมีสินทรัพย์  มากน้อย   ก็ต้องมี(มาตรฐาน)บัญชีลงบันทึก ทั้งส่วนที่ออกดอกผลเอง จาก ผลงานที่แพร่เชื้อไปแล้ว  ( impact  factor  ?  ) และ ที่สะสมเพิ่มใหม่

สินทรัพย์ทั้ง ครุภัณฑ์ ( กลุ่มสามัคคีธรรม ที่ลปรร )   และ ละมุลภัณฑ์ ( กลุ่มหน่ออ่อนที่ยังไม่แข็งแรง )

หรือ ความคิดดีๆ ที่นำสังคมได้  เสริมพลังชุมชนได้พอสมควร  แต่อาจจะถามจากลูกค้าตัวจริง เช่น  บัณฑิต  ชุมชนใกล้เคียงใกล้ชิด มวล.  ว่า เขารับรู้ถึงบทบาทตรงนี้ของ มวล อย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท