เล่าขานตำนานชุมชนชาวงิ้วรายนครชัยศรี


เล่าขานตำนานชุมชนชาวงิ้วรายนครชัยศรี

โดย ดร.ธนสาร บัลลังก์ปัทมา

เล่าขานตำนานชุมชนชาวงิ้วรายนครชัยศรี เป็นการบันทึกเรื่องราวชุมชนชาวงิ้วรายนครชัยศรี มีจุดเริ่มต้นจากคุณชยพล กนกพฤกษ์ ประธานชมรมชาวงิ้วราย (ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดงิ้วราย) ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ จึงได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ได้จัดกิจกรรมเสวนาประวัติ เล่าเรื่องอดีตความทรงจำจากคนงิ้วราย ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ จากนั้นได้มีการรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นต้นฉบับหนังสือโดยคุณโจ้(จำชื่อจริงไม่ได้) มฤคพิทักษ์ อดีตนักเขียนสารคดีและบทความจากหนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์

1. รำลึกอดีตงิ้วราย ยุครุ่งเรือง

ชุมชนงิ้วรายในอดีตยุครุ่งเรือง ปี พ.ศ. 2470-2515 งิ้วรายเป็นท่าเทียบเรือของบริษัท สุพรรณขนส่ง ที่รับส่งผู้คนและสินค้าจากสุพรรณ บางเลน เพื่อมาต่อรถไฟที่สถานีรถไฟวัดงิ้วรายเข้าสู่กรุงเทพฯ หรือลงใต้ผ่านทางสถานีวัดงิ้วราย นครชัยศรี นครปฐม มุ่งสู่ภาคใต้ และเป็นแหล่งรับสินค้าจากที่ต่าง ๆ สู่สุพรรบุรี จากสถานีรถไฟข้ามถนนเล็กๆ เพื่อไปท่าเรือ ผ่านถนนซีเมนต์สั้น ๆ กว้างประมาณ 3 เมตร ความยาวตลอดทางประมาณ 200 เมตร เนืองแน่นไปด้วยผู้คน สองฟากถนนเป็นห้องแถวไม้ปลูกเรียงรายต่อกัน และยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน บ้านแต่ละหลังล้วนประกอบอาชีพค้าขาย มีร้านขายสินค้านานาชนิด ร้านขายอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ ร้านโชห่วยขายของชำ เครื่องมือช่าง แผงขายผัก ร้านขายยา ร้านอาหารทะเล นอกจากี้ยังมีโรงงานปลาทูนึ่งอีก 3-4 แห่ง ที่รับปลาทูจากเพชรบุรีและมาทางเรือจากมหาชัยสมุทรสาครมานึ่งขาย รวมถึงบรรดากุ้งหอย ปู ปลาทะเล จากมหาชัย สมุทรสาคร อีกด้วย เลยตลาดไปนิดจะไปอีกนิดเป็นโรงระหัด นอกจากนี้ยังมีผลไม้นานาชนิด โดยในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน เงาะโรงเรียนจากนาสาร จังหวัดสุราษฏร์ธานี จะถูกส่งมาที่งิ้วรายทางรถไฟ พร้อมกันสินค้าต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาชีพคนรับจ้างเข็นรถรับส่งสินค้าสิบกว่าคน ด้วยอัตราค่าแรงเที่ยวละ 1 บาท ช่วงเวลาที่งิ้วรายรุ่งเรืองจะมีเงินสะพัดวันละหลายพันบาท (ราคาข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยวยุคนั้นชามละ 1 บาท) ก่อนที่ชุมชนงิ้วรายจะเริ่มซบเซาลงพร้อมกับการมาของถนนเพชรเกษมและถนนมาลัยแมนที่ทำให้การเดินทางสู่สุพรรณสะดวกขึ้น

งิ้วราย นอกจากเป็นย่านการค้าแล้ว ยังเคยเป็นจุดพักทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย จากงานวิจัยของจารุวรรณ ขำเพชร, รองศาสตราจารย์ ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่องเล่า และประสบการณ์ความทรงจำของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนงิ้วราย ที่เป็นชุมชนริมแม่น้ำนครชัยศรี อยู่ที่ตำบลงิ้วราย หรือชื่อเดิมคือตำบลท่าเรือ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน 2 ประเด็น คือ ความทรงจำเรื่องเศรษฐกิจของพื้นที่ที่เคยรุ่งเรืองอย่างมากของตลาดงิ้วราย และความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่เกี่ยวกับสถานีรถไฟ สัญญานเตือนภัย การหลบภัย การระเบิดสะพานเสาวภา จากความทรงจำที่สัมพันธ์กับพื้นที่ดังกล่าว พบว่า ทั้งความทรงจำ และประวัติศาสตร์มีความสัมพันธ์กันความทรงจำเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ส่วนประวัติศาสตร์ คือ การฟื้นภาพหวนคิดในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตการฟื้นคืนของความทรงจำ คือ การค้นหาบางสิ่งในอดีตดังที่ชุมชนงิ้วรายได้ร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ช่วงหนึ่งของสงครามโลก ครั้งที่ 2

2. งิ้วรายในวรรณคดีและวรรณกรรม

จากการสืบค้นประวัติศาสตร์จากวรรณคดีและวรรณกรรมไทย ที่กล่าวถึง "งิ้วราย" ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2475 จำนวน 4 เรื่อง คือ 1.นิราศพระประธม ของสุนทรภู่ พ.ศ. ๒๓๗๕ (อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) 2. โคลงนิราศพระประธม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์นิราศนี้ในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๗๗ เมื่อพระชนม์ ๒๖ พรรษา 3. นิราศพระปฐมของหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) พ.ศ. ๒๔๑๗ (อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕) และ 4. นิราศพระแท่นดงรัง ของหมื่นพรหมสมพัตสร (นายมี) หรือเสมียนมี เป็นกวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ร่วมสมัยกับสุนทรภู่ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๓๕๘ จนถึงในราว พ.ศ.๒๔๑๔ นอกจากนี้งิ้วรายในวรรณกรรมไทย หนังสือมังกรพลัดถิ่น ของ ช. ศรีงิ้วราย. 2546. สำนักพิมพ์เอดิสันเพรส โพรดักส์ มังกรพลัดถิ่น เป็นนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติ อิงประวัติศาสตร์ที่นำเสนอเรื่องราวผ่าน "เชียร" หนุ่มลูกครึ่งพ่อจีน แม่ไทย "เชียร"ถือกำเนิดที่งิ้วราย แต่ชีวิตพลิกผันทำให้ต้องไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตวันผู้ใหญ๋อยุู่ในเมืองจีน ท่ามกลางภาวะผันผวนทางการเมือง ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยเมื่ออายุเกือบหกสิบปีแล้ว ช. ศรีงิ้วราย เริ่มเรียนหนังสือในโรงเรียนจีน ก่อนจะมาเรียนโรงเรียนวัดงิ้วราย(พินพิทยาคาร) จนจบชั้นประถมศึกษา ในเรื่องมังกรพลัดถิ่น แบ่งออกเป็นสามภาค คือ สยาม-เมืองมาตุภูมิ เมื่อลูกมังกรเหยียบถ้ำปิตุนาคินทร์ และยุคปฏิวัติวัฒนธรรม โดยภาคที่เกี่ยวข้องกับชุมชนงิ้วรายในอดีต คือ ภาคแรกนั่นเอง เนื้อหากล่างถึงโรงเรียนจินเต็ก โรงเรียนจีนที่เชียรเรียนเป็นแห่งแรก แต่ต่อมาถูกสั่งปิด บรรยากาสช่วงญี่ปุ่นยกทัพมาตั้งทัพแถวนครชัยสรีและงิ้วราย อุทกภัย พ.ศ.๒๔๘๕ สะพานเสาวภา สะพานข้ามทางรถไฟถูกฝ่ายสัมพันะมิตรทิ้งระเบิดทำลายสะพาน การงมกุ้งงมปลา จับปลาสร้อย การทำน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน "วัดงิ้วราย-โรงเรียนที่หล่อหลอม" งานวัด และสะพานการโดยสารเือไกวยางไปสู่เมืองซัวเถา ในส่วนช่วงการใช้ชีวิตในเมืองจีน จะเป็นบรรยากาศของจีนช่วงมีการปฏิวัตินับว่าน่าอ่านน่าติดตาม และการกล่าวถึงเมืองซัวเถาที่คนจีนส่วนหนึ่งเดินทางมาประเทศไทยจะเป็นคนจีนจากเมืองซัวเถา (กล่าวถึงอำเภอโผวเล้ง ที่เป็นที่อำเภออหนึ่งที่มีคนเดินทางมาประเทศไทยจำนวนมาก)

3. งิ้วรายกับการเสด็จพระราชดำเนิน 3 กษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ในช่วงก่อนขุดคลองมหาสวัสดิ์ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปพระปฐมเจดีย์ได้ประทับแรมที่บ้านโรงหวด ต่อมาใน พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 1 ได้ประทับแรมที่บ้านงิ้วราย ดังระบุไว้ในจดหมายเหตุกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่บันทึกเรื่องราวการเสด็จประพาสต้นไว้ในจดหมายฉบับที่ 6 ระบุว่าวันที่ 30 กรกฎาคมจอดที่บ้านงิ้วราย แขวงเมืองนครไชยศรี และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จากบันทึหกสรุปข่าวในพระราชสำนัก 11 มีนาคม 2458 ระบุว่า พรุ่งนี้เวลาสามโมง จะเสด็จจากพระรางัวงสนามจันทร์ทางรถไฟมายังงิ้วราย เพื่อลงเรือไปทอดพระเนตรการประลองยุทธ์ทหารบก

4. งิ้วราย ศูนย์กลางการศึกษา

นอกจากโรงเรียนวัดงิ้วรายแล้ว งิ้วรายยังเป็นที่ตั้งโรงเรียนมัธยมของรัฐบาลแห่งแรกในอำเภอนครชัยศรี เมื่อปี 2540 คือ โรงเรียนงิ้วรายบุญมีรังสฤษฎ์ ซึ่งตั้งชื่อโรงเรียนตามนามของหลวงเตี่ยบุญมี เจ้าอาวาสวัดงิ้วรายในขณะนั้น นอกจากนี้ในอดีต ยังมีโรงเรียนราษฎร์ หรือโรงเรียนเอกชน คือ โรงเรียนสันทัด ก่อตั้งโดยครูสมพงษ์ โฆษะทัดและน้องสาว ซึ่งเป็นบุตรหลวงสันทัดสงคราม ส่วนปัจจุบันยังคงมีโรงเรียนอนุบาลเอกชนตั้งอยู่ 1 แห่ง ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี 2516 คือโรงเรียนอนุบาลศิริวิทย์ และมีสถานที่เตรียมความพร้อมนักเรียนที่เรียกกันว่าโรงเรียนรับจ้าง สองสามแห่ง ที่ไม่มีการขึ้นป้ายว่าเป็นโรงเรียนแต่รับสอนและดูแลนักเรียนวัยก่อนเข้าเรียน และมีโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนเพิ่มาอีก 1 แห่ง เมื่อปี 2561

5. เรือเมล์แดงสุพรรณ

เรือเมล์แดงสุพรรณเป็นเรือสองชั้น ชั้นบนสำหรับผู้โดยสาร (ไม่มีเก้าอี้) เมื่อลงเรือแล้วสามารถเลือกทำเลที่นั่งได้ตามใจชอบ หากต้องการเก้าอี้ผ้าใบต้องเสียเงินเพิ่ม มีที่นั่งแยกต่างหากสำหรับพระสงฆ์ เรียกว่าบาหลี แยกต่างหาก ค่าโดยสารจากงิ้วรายไปสุพรรณ คนละ 8 บาท ส่วนบริเวณชั้นล่างของเรือ เป็นพื้นที่สำหรับวางสินค้าและสิ่งของต่าง ๆ และบางส่วนใช้สำหรีับนั่งโดยสาร ใช้เวลาเดินทาง 8 ชั่วโมง

6. บุคคลที่ควรรู้จักและผู้มีบทบาทในชุมชน

พระครูปุริมานุรักษ์ (บุญมี จนฺทสิริ สุขาบูรณ์) หรือหลวงเตี่ยบุญมี, ตระกูลทองสิมา นายวุ่น ทองสิมา อดีตผู้จัดการบริษัท สุพรรณขนส่ง มาสู่รุ่นปัจจุบัน คือ นายกฯสมัชชา ทองสิมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย ผู้ทำงานเพื่อชาวงิ้วราย, ตระกูลมฤคพิทักษ์ กำนันเง็ง มฤคพิทักษ์ คุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ และคุณประสาร มฤคพิทักษ์, คุณชยพล กนกพฤกษ์ นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำชุมมชน ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำด้านการเกษตรอีกหลายท่านที่ต้องขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยนาม

หมายเลขบันทึก: 691776เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2021 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2021 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท