ดราม่าโควิดระลอกที่ 4 ตอน 2


ดราม่าโควิดระลอกที่ 4 ตอน 2

2 สิงหาคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

มาต่อกันตอนที่ 2 แต่มีประเด็นมากมายที่จะกล่าว ขอจำกัดเพียงบางประเด็นในบางแง่มุมและด้วยข้อจำกัดของหน้ากระดาษ จากประเด็นโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลามไปประเด็นการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ วัคซีนโควิดก็กลายเป็นวัคซีนการเมืองไป ปราบโควิดอยู่ดีๆ ก็หันมาปราบปราม จับกุม ม็อบคนรุ่นใหม่ผู้เห็นต่างทางความคิด และกำราบสื่อออนไลน์ว่าแพร่ข่าวเท็จ (Fake News) [2]สร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน เช่น การนำเสนอข่าวการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องการบริหารการจัดหา การจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้าฯ การบริหารจัดการโควิดผิดพลาด ทำโควิดระบาด การรักษาคนติดเชื้อ คนป่วย การปล่อยให้มีคนตายบนถนน การเยียวยาชาวบ้าน/ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่ครบถ้วน ล่าช้า ฯลฯ เป็นต้น โดยใช้กฎหมายความมั่นคงที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขัดรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับโดยไม่มีเหตุผลจำเป็น

ขอยกความเห็นสุดๆ มาวิพากษ์เน้นมิติในบริบทของท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นมีภารกิจหน้าที่หลากหลาย อาทิเช่น ในเรื่อง โรงพยาบาลสนาม (Field Hospitel), สถานที่กักกันเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค LQ (Local Quarantine), ศูนย์แยกกักในชุมชน เพื่อลดการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกในชุมชนนั้น หรือศูนย์พักคอยสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว CI (Community Isolation), การกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว HI (Home Isolation), บุคลากรทำหน้าที่ด่านหน้าซึ่งต้องได้รับวัคซีนทุกคนโดยไม่ต้องมีข้อแม้, การเบิกงบประมาณสนับสนุนช่วยเหลือ การทำงาน การปฏิบัติ การประสานงานฯ เป็นต้น

 

หน้าที่และอำนาจ อปท.ตามข้อกฎหมาย และระเบียบ

 

กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้น เป็นภัยจากโรคระบาด “ในคน” ที่แตกต่างจากภัยประเภทอื่นอีกด้วย ที่สามารถระบาดข้ามพื้นที่ของ อปท.ข้ามจังหวัด ข้ามพื้นที่ได้ทั่วโลก

มีการถกเถียงเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ อปท.ในการป้องกันและควบคุมโรคนั้น ได้ตราบัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อปท. ระดับ พ.ร.บ. จึงมิใช่ว่าหน่วยงานใด หรือผู้ใดต้องมาตีความและให้ความเห็นหรือมีคำสั่งเพื่อ ”หักล้างหรือยกเว้นบทบัญญัติตามกฎหมาย (พ.ร.บ.) ได้ ซึ่งอาจมีการฟ้องร้อง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยาด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ อปท.ละเลยไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจดังกล่าว นี่คือประเด็น ตามกฎหมายหลัก พ.ร.บ.จัดตั้ง อ.ป.ท. คือ

(1) การป้องกันและควบคุมโรค กรณี อบจ. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขต ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 45(8) และ ตามข้อ 14 แห่งกฎกระทรวง พ.ศ.2541 และ พ.ร.บ.อบจ.ฯ มาตรา 45(9) และ ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 17(19) 

(2) ​การป้องกันและควบคุมโรค กรณี อบต. ตามอำนาจหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 67 (3) องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ในการป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ (4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16 (19) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ในการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและการรักษาพยาบาล 

(3) การป้องกันและควบคุมโรค กรณี หน้าที่ของเทศบาลต้องทำในเขต เพื่อป้องกันและระงับโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขถึง(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มาตรา 50(4) และหน้าที่อาจจัดทำ ตามมาตรา 51(6) ในการ ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16 (19) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ในการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและการรักษาพยาบาล 

 

กฎหมายลำดับรอง หรืออนุบัญญัติเกี่ยวข้อง

 

(1) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 ข้อ 15 ข้อ 18 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 ​ข้อ 6

(2) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 91 ภายใต้บังคับข้อ 89 ในกรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น

(3) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 79 วรรคสอง การซื้อหรือจ้างตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน

นอกจากนี้ อปท.ยังสามารถอนุโลมใช้หลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น

 

ระวังการเบิกจ่ายงบโควิดอาจซ้ำซ้อน

 

ศูนย์พักคอย (CI) กับการตั้งโรงพยาบาลสนามในระดับพื้นที่ อบต. เทศบาล อบจ. ต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มอบหมายให้เปิดศูนย์ (อำนาจผู้ว่าฯ) [3] อปท.ก็สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ในค่าใช้จ่ายหรือร่วมกันเบิกจ่ายในศูนย์นั้น รวมถึงค่าใช้จ่ายที่กักตัวสำหรับกลุ่มเสี่ยงด้วย

จะต้องได้รับมอบหมายจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดให้เปิดศูนย์ก่อนจะดำเนินการ อปท.จึงจะดำเนินการเบิกจ่ายได้ ตามหนังสือสั่งการ ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติอย่างน้อยหนังสือ 4 ฉบับ [4] ที่ใช้ถ้อยคำเดียวกัน สาระสำคัญว่า ถ้าจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ในระดับพื้นที่ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ มุ่งใช้เงินงบประมาณ สปสช. เป็นสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงการเบิกจ่ายซ้ำซ้อน

ผู้ป่วยที่ผ่านเข้าระบบการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มากักและรักษาตัวที่บ้าน (HI) หรือเข้าศูนย์พักคอย (CI) โรงพยาบาลจะเคลมสิทธิงบจัดบริการสาธารณสุข ในค่ารักษาและอื่นที่เกี่ยวข้องจาก สปสช.ได้ทั้งหมด (100%) ดังนั้น นอกจากการจัดเตรียมสถานที่ฯ ค่าอื่นๆ รพ.จะดำเนินการเองทั้งหมด อปท.จึงเบิกค่าอาหารคนป่วย ของใช้ส่วนตัว ยาและเวชเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาไม่ได้ เพราะ ท้องถิ่นหลายแห่งไม่มีหน่วยบริการสาธารณสุข จะเป็นการเบิกจ่ายที่ซ้ำซ้อนกับโรงพยาบาลที่เคลมค่าใช้จ่ายตรงนี้จาก สปสช.แล้ว ยกเว้น ทางโรงพยาบาลให้ อปท.จ่ายค่าอาหารคนป่วยได้คนละ 200 บาท/คน/วัน เป็นต้น

ฉะนั้น แม้จะมีหนังสือสั่งการในการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อโควิดแล้วก็ตาม การให้ตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ได้ย่อมมีค่าใช้จ่ายมาก และเมื่อสถานการณ์โรคโควิดผ่อนคลายซาลง แม้อาจจะอีกหลายปี ก็อาจกลายเป็นเผือกร้อนแก่ชาวท้องถิ่นได้ โดยเฉพาะการหาผลงานของหน่วยตรวจสอบจากความผิดพลาดบกพร่อง รวมทั้งการทุจริตและหรือการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนราชการของ อปท.

อย่างไรก็ตาม อย่าชะล่าใจว่าตาม พ.ร.บ. จัดตั้งฯ ที่แก้ไขใหม่ ได้บัญญัติ กำหนดให้ความคุ้มครองการจ่ายเงินที่เทศบาลได้จ่ายไปแล้วก่อนวันที่ระเบียบในเรื่องนั้นใช้บังคับก็ได้ แต่ให้คุ้มครองได้เฉพาะที่ได้จ่ายไปโดยสุจริตและเป็นไปตามหนังสือสั่งการหรือหนังสือกำหนดแนวทางปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทยที่ออกก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ เช่นได้แก่ มาตรา 32 [5] แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ดังนั้น ในกรณีถูกมอบหมายและเราจ่ายโดยมีหนังสือแจ้งมา “มีคำสั่ง ประกาศหรือหนังสือแจ้งให้ดำเนินการ” ก็สามารถเบิกจ่ายได้ทุกกรณี หากถูกทักท้วงเมื่อใดก็สามารถยก พ.ร.บ. จัดตั้งฯ เป็นข้อต่อสู้ สตง. ที่เรียกเงินคืนได้

 

การแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อโควิดอย่าโฟกัสผิดจุด

 

โรคระบาด (Outbreak/Epidemic) [6] ทำให้เกิดวัคซีน และวัคซีนก็เป็นต้นเหตุของการระบาดของโรค เพราะวัคซีนผลิตขายเชิงพาณิชย์ เป็นธุรกิจมีผลประโยชน์ เจ้าของผู้ผลิตวัคซีนจึงชอบที่มีคนติดเชื้อมาก เพราะจะขายได้ การกลายพันธุ์ของเชื้อ (Mutation) [7]ไม่ว่ากรณีใดๆ ทำให้ต้องมีวัคซีนตัวใหม่ขึ้นเรื่อยๆ จนตามไม่ทัน การผลิตวัคซีนใหม่ๆ ที่อ้างประสิทธิภาพดีกว่ามีผลในการเกทับกันเรื่องคุณภาพวัคซีน แม้ว่าวัคซีนจะมิใช่ยารักษา แต่ “วัคซีนทุกยี่ห้อทำให้กันตาย” ได้ ฉะนั้น การฉีดวัคซีนมิใช่การรักษา เพียงแต่เป็นการป้องกัน หรือหากมีการติดโรคก็จะทำให้อาการไม่รุนแรง วัคซีนไม่ใช่สิ่งวิเศษ ที่แก้ปัญหาได้หมด เพราะฉีดวัคซีนแล้ว หากภูมิคุ้มกันลดลงตามประสิทธิภาพตามระยะเวลา โอกาสติดเชื้อได้อีก วัคซีนเป็นการเร่งให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) [8] โดยเร็ว โดยไม่ปล่อยให้เชื้อโรคระบาดไปตามธรรมชาติซึ่งจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่า และเกิดความสูญเสียมากกว่า เช่น ในช่วงแรกของการระบาด มีคนตายเป็นจำนวนมากที่ประเทศอิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เพราะ เป็นโรคติดเชื้อ “อุบัติใหม่” (Emerging Infectious Diseases) [9] ที่ยังไม่มียารักษา และยังไม่มีวัคซีน ในภาวะสถานการณ์ที่ยังไม่มีความแน่นอนในการบริหารจัดการป้องกันและควบคุมโรคเช่นนี้ วิธีการระมัดระวังป้องกันตัวเองกัน ดีที่สุด หาความรู้ หาข้อมูล เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ และในภาวะเช่นนี้ ให้หวังพึ่งตนเองไว้ก่อน อย่าหวังพึ่งใคร นี่ไม่ใช่ เฟคนิวส์ เพราะไม่ได้ทำให้ใครหวาดกลัว ที่จะต้องถูกดำเนินคดี และน่าเสียดาย ที่เขาเพิ่งกำลังจะทำการแก้ไขปมปัญหาที่เกิดแล้ว เพราะตอนนี้เขาไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว

หากโฟกัสผิดจุดจึงไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างใด เมื่อทุกคนโฟกัสมุ่งเป้าไปที่วัคซีน (Vaccines) จึงตกเป็นเหยื่อของคนขายวัคซีน เดินตามเกมส์เจ้าของวัคซีน มันจึงล้มเหลวในการป้องกันโรคโควิด ซ้ำยังเกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งความขัดแย้งในสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และระบบการสาธารณสุขล่ม มีข้อเสนอในช่วงที่มีปัญหาข้อจำกัดในการกระจาย จัดสรรวัคซีนที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง รวมถึงการบริหารจัดการที่ผิดพลาดอื่น ลองเปลี่ยนไปโฟกัสใหม่ที่ “การควบคุมป้องกันตนเอง แบบไม่ต้องรอวัคซีน” ได้แก่

(1) การจำกัดวงของโรค รัฐทุ่มงบประมาณในการป้องกันคนปลอดโรคให้ห่างแหล่งโรค จำกัดการทำกิจกรรมกลุ่ม และระดมเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อ การรักษาคนติดเชื้อ ให้หายเป็นพื้นที่ๆ ไป ทั้งนี้ต้องยอมรับข้อมูลที่เป็นจริง อย่าปิดบังจำนวนข้อมูล สถานการณ์ก็จะลดการระบาด แต่ยังไม่เปิดประเทศ

(2) หยุดนิ่งพื้นที่การระบาด โดยอัดเงินงบประมาณช่วยเหลือลงไปเฉพาะแห่ง ติดเชื้อพบเชื้อที่หมู่บ้านใด ไปรักษาในบ้านนั้น ให้มันจบตรงนั้น  ใช้ “การแพทย์ทางเลือก” (Alternative Medical) [10]เช่น การแพทย์แผนไทย (Traditional Thai medicine) เพราะโควิดยังไม่มียารักษา เร่งรักษาด้วยสมุนไพรไทยที่ทดลองแล้วเห็นๆ ว่าได้ผล 

(3) สำหรับเรื่องวัคซีนที่ยังมีข้อจำกัด เพราะมีน้อย หรือ หายังไม่ได้ เน้นหาวัคซีนดีรีบเอามาฉีดให้แก่แพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าเสียก่อนโดยเร็ว

 

ประเด็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก 

 

ในที่นี้หมายถึงการบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จรวบอำนาจตามสไตล์ทหาร โดยเฉพาะความคิดเห็นและการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ “โควิด-19” ปกติการนำเสนอข่าวหรือความคิดเห็นใด หากทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ต้องมีคำว่า “เป็นเท็จ” ด้วย จึงจะเข้าองค์ประกอบแห่งความผิด แต่ประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ข้อ 1 [11] ประกอบ ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 [12] (มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน) นักกฎหมายสงสัยว่าผู้ร่างประกาศฯ จงใจตัดคำว่า “เป็นเท็จ” ออก นั่นหมายความว่า แม้เป็นเรื่องจริงแต่หากทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวก็ผิดได้ด้วย เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น (Freedom of Expression) เป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 34 [13]ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้...” ฉะนั้น ข้อกำหนดนี้จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน มันน้องๆ มาตรา 44 ทีเดียว “เป็นเผด็จการหางโผล่” [14]

นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่ถือเป็น “บุคคลสาธารณะ” (Public figure) [15] มีค่าตอบแทนเงินเดือน และมีอำนาจบริหารใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของคนทั้งประเทศ ดังนั้น ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินงบประมาณ ย่อมมีอำนาจวิพากษ์วิจารณ์ติเตียนเสนอแนะ รวมทั้งสะท้อนความจริงที่เขาได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้ หากประชาชนเห็นว่า มีการบริหารจัดการแบบโง่ผิดพลาดล้มเหลวฯ รวมทั้งบริหารแบบแย่ เช่น การแสวงประโยชน์หรือมีทับซ้อนในผลประโยชน์ไม่โปร่งใสใดๆ จากวัคซีนบางยี่ห้อ โดยเอาชีวิตคนไทยไปเสี่ยง ทั้งที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 47 [16] วรรคสาม บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ประชาชนจึงด่ารัฐบาลและรัฐมนตรีได้

ที่สำคัญคือ นักการเมืองเป็นผู้อาสาเข้าไปทำงานรับใช้ประชาชนเอง เป็นบุคคลสาธารณะ หากทนต่อคำด่าว่าติเตียนไม่ได้ ก็ต้องลาออกไป มิใช่การใช้วิธีออกกฎหมายเพื่อปิดปากประชาชนเช่นนี้ นี่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลที่มิได้มาจากประชาชนที่แท้จริง หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยตรงๆ ที่มีความชอบธรรมในตำแหน่ง เขาจะไม่กล้าออกข้อกำหนดที่ขัดต่อหลักนิติธรรม และขัดใจประชาชนเช่นนี้

เหตุที่ประชาชนไม่ชอบ หรือความไม่ชอบธรรมต่างๆ ปรากฏมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่ประชาชนยังรอจังหวะ และไม่สบโอกาส มีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนที่เขาลำบากออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่มาของรัฐบาลมีรอยด่าง นายกรัฐมนตรีอาศัยฐานเสียง ส.ว.250 คน ที่แต่งตั้งเองเพื่อมา “รักษาฐานอำนาจ และสืบทอดอำนาจ” ของตนต่อๆ ไป แม้ก่อนหน้านั้น 3 ปี (ปี 2557-2560) ก็ได้บริหารจัดการประเทศชั่วคราวไปแล้วช่วงหนึ่ง แต่ไม่พอ จะเอาอีกนับไปนับมาถึงปัจจุบันกว่า 7 ปี คงไม่ลืมจำได้ว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา...” 

 

คน อปท.เหนื่อยมาก กับเรื่องค่อนข้างไร้สาระนานา วอนขออำนาจรัฐอย่าลืมคนท้องถิ่นเพราะ เขาเหล่านั้นเป็น “กองหน้า-ด่านหน้า” ในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดเช่นกัน


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine & Woothi Patisampitawut, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 6 สิงหาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/268517

[2]นิยามความหมายของคำว่า “Fake News” มีขอบข่ายเพียงใด เป็นที่น่าสงสัยของนักกฎหมาย เพราะคำว่า ข่าวปลอม ข่าวเท็จ ข่าวลวง ต้องไม่เป็นความจริง (real) หรือเป็นเท็จ

ข่าวปลอม หรือ ข่าวลวง (Fake news) เป็นการหนังสือพิมพ์เหลือง (yellow journalism) หรือการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งประกอบด้วยสารสนเทศผิดหรือเรื่องหลอกลวงอย่างจงใจ ไม่ว่าจะเผยแพร่ผ่านสื่อข่าวตีพิมพ์ การแพร่สัญญาณตามปกติ หรือสื่อสังคมออนไลน์ ข่าวปลอมมักถูกเขียนและพิมพ์เผยแพร่ โดยมีความประสงค์เพื่อชักนำบุคคลในทางที่ผิด เพื่อสร้างความเสียหายต่อหน่วยงาน นิติบุคคลหรือบุคคล หรือเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ทางการเงินหรือเพื่อชักจูงการเมือง ผู้สร้างข่าวปลอมมักใช้ข้อความพาดหัวในลักษณะเร้าอารมณ์ หลอกลวง หรือกุขึ้นทั้งหมดเพื่อเพิ่มยอดผู้อ่าน การแบ่งปันออนไลน์ และรายได้จากคลิกอินเทอร์เน็ต ซึ่งในกรณีหลัง คล้ายกับพาดหัว “คลิกเบต” (Clickbait) ออนไลน์เร้าอารมณ์และอาศัยรายได้จากการโฆษณาจากกิจกรรมนี้ โดยไม่สนใจว่าเรื่องที่พิมพ์นั้นจะถูกต้องหรือไม่ นอกจากเหตุผลทางเศรษฐกิจแล้ว การสร้างและเผยแพร่ข่าวปลอมอาจมีการปฏิบัติการอย่างเป็นระบบเพื่อหวังผลทางการเมือง และใช้เทคนิคบิดเบือนหรือการชักจูงทางจิตวิทยา (การครอบงำทางจิตวิทยา) เช่น การ “แกสไลต์” หรือการสร้างทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เพื่อให้ผู้บริโภคสารสนเทศเกิดความสับสน หรือตั้งคำถามกับข้อเท็จจริงหรือข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่ ข่าวปลอมที่จงใจชักจูงในทางที่ผิด (manipulative) และหลอกลวงแตกต่างจากการเสียดสีหรือการล้อชัดเจน ซึ่งตั้งใจสร้างความตลกขบขันไม่ใช่ชักจูงผู้ชมให้เข้าใจผิด, จากวิกิพีเดีย, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2563

[3]มหาดไทย ปลดล็อก! ระเบียบฯ เบิกค่าใช้จ่ายจัดตั้ง “รพ.สนามท้องถิ่น” ทั่วประเทศ ไฟเขียว “ผู้บริหาร อปท.” พิจารณาเบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น เหมาะสม และประหยัด หลังระเบียบฉบับเดิม ให้ “เบิกจ่าย” แต่ไม่เกินอัตราตามที่ “กระทรวงการคลัง” กำหนด

ดู มท.ปลดล็อก! ระเบียบฯ เบิกจ่ายจัดตั้ง “รพ.สนามท้องถิ่น” ทั่วประเทศ ไฟเขียว “ผู้บริหาร อปท.” พิจารณาเบิกจ่ายโดย ผู้จัดการออนไลน์, 27 กรกฎาคม 2564, https://mgronline.com/politics/detail/9640000073417

[4]อ้างจาก เฟซบุ๊ก เพชร โพสาราช, ดู หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว1562 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อ้างถึง

หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว4116 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการการดำเนินการและการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) , http://dn.core-website.com/public/dispatch_upload/backend/core_dispatch_258427_1.pdfhttps://www.moicovid.com/wp-content/uploads/2021/08/2021-07-19...pdf 

& หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว4281 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เรื่อง การเบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จัดตั้งสถานที่ในการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคติดเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 (โควิด-19)http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2021/7/25804_1_1627360539168.pdf?time=1627362808270 

& หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0820.2/ว4290 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เรื่อง การจัดการมูลฝอยติดเชื้อชุมชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19), https://www.moicovid.com/wp-content/uploads/2021/08/2021-07-27.pdf

[5]มาตรา 32 ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามมาตรา 67 (9) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จะกำหนดให้ความคุ้มครองการจ่ายเงินที่เทศบาลได้จ่ายไปแล้วก่อนวันที่ระเบียบในเรื่องนั้นใช้บังคับก็ได้ แต่ให้คุ้มครองได้เฉพาะที่ได้จ่ายไปโดยสุจริตและเป็นไปตามหนังสือสั่งการหรือหนังสือกำหนดแนวทางปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทยที่ออกก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามมาตรา 67 (9) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และมีการกำหนดให้ความคุ้มครองการจ่ายเงินที่เทศบาลได้จ่ายไปแล้วก่อนวันที่ระเบียบดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะที่ได้จ่ายไปโดยสุจริตและเป็นไปตามหนังสือสั่งการหรือหนังสือกำหนดแนวทางปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทย ให้มีผลใช้บังคับได้

[6]การระบาด(Outbreak/Epidemic)คือ การมีผู้ป่วยมากกว่าจำนวนปกติที่คาดหมาย ณ สถานที่ หรือในประชากร ที่ช่วงเวลาหนึ่ง (1) มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันในอดีต เช่น ค่ามัธยฐาน 5 ปี (2) มีผู้ป่วยตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ในระยะเวลาอันสั้น หลังจากมีกิจกรรมด้วยกัน (3) ผู้ป่วยด้วยโรคที่ไม่เคยพบในพื้นที่ แม้แต่เพียง 1 ราย

ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พ.ศ.2559 (ปรับปรุงล่าสุดตามที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 4/2561 วันที่ 20 ธันวาคม 2561)

1. กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง 2. ไข้กาฬหลังแอ่น 3. ไข้ดำแดง 4. ไข้เด็งกี่ 5. ไข้ปวดข้อยุงลาย 6. ไข้มาลาเรีย 7. ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 8. ไข้สมองอักเสบชนิดญี่ปุ่น 9. ไข้สมองอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 10. ไข้หวัดนก 11. ไข้หวัดใหญ่ 12. ไข้หัด 13. ไข้หัดเยอรมัน 14. ไข้เอนเทอริค 15. ไข้เอนเทอโรไวรัสคอตีบ 16. คอตีบ 17. คางทูม 18. ซิฟิลิส 19. บาดทะยัก 20. โปลิโอ 21. แผลริมอ่อน 22. พยาธิทริคิเนลลา 23. เมลิออยโดสิส 24. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิ 25. เยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 26. เริมของอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก 27. โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ชนิด เอ บีซี ดี และอี

ดู หลักระบาดวิทยาการเฝ้าระวังทางสาธารณสุขและการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยา โดย นพ.เจษฎา ธนกิจเจริญกุล กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค, https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2/files/01_Priciple%20of%20Epi%20PHsurveillance%20and%20OB%20investigation_JT%20edit%20BG.pdf

[7]การกลายพันธุ์ (Mutation)หมายถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงของยีน ทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาใหม่มีลักษณะแตกต่างจากกลุ่มปกติ การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตมี 2 ระดับ คือ ระดับโครโมโซม (chromosomal mutation) และระดับยีนหรือโมเลกุล ดีเอ็นเอ (DNA gene mutation), วิกิพีเดีย

[8]Herd immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ หมายถึงภูมิคุ้มกันของหมู่คนจำนวนมากในชุมชน บางคนจึงใช้คำว่า “Community immunity” เกิดได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่

(1) ภูมิคุ้มกันที่เกิดตามธรรมชาติ เกิดจากคนเราเกิดติดเชื้อ (เช่น เชื้อหวัด ไข้หวัดใหญ่) เข้าร่างกาย แล้วร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นขึ้นมาได้เอง เมื่อรับเชื้อครั้งใหม่ภูมิคุ้มกันก็จะทำลายเชื้อ ทำให้ไม่เป็นโรคนั้นๆ ได้

(2) ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน ทำให้ป้องกันโรคได้ กล่าวคือ หลังจากร่างกายได้รับวัคซีนจนมีภูมิคุ้มกันแล้ว เมื่อติดเชื้อ (ซึ่งมีวัคซีนใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อชนิดนั้นได้ เช่น วัคซีนป้องกันหัด หรือไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น) ก็จะไม่เป็นโรคนั้นๆ

ในการป้องกันการระบาดของโรค ด้วยหลักของ herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่นั้น จำเป็นต้องทำให้คนส่วนใหญ่ในชุมชน (ราวๆ ร้อยละ 80 ขึ้นไป) เกิดภูมิคุ้มกัน จะโดยธรรมชาติ (รอให้คนหมู่มากติดเชื้อกันแล้ว) หรือโดยการฉีดวัคซีน (คนที่ยังปกติดีได้รับวัคซีนกันเกือบถ้วนทั่ว) หรือทั้งสองอย่างรวมกันก็ได้

 ดู ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity), ชี้โรค-แจงยา เรื่องโดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ, กรมสุขภาพจิต, 8 กรกฎาคม 2564, https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2339

[9]โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ หรือ โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ (Emerging Infectious Diseases, EID) คือโรคที่เกิดจากสาเหตุการติดเชื้อโรคหรือโรคที่ติดต่อกันได้ ที่มีการอุบัติเกิดเพิ่มมากขึ้นในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นภัยคุกคามมากขึ้นแก่มนุษยชาติในอนาคตต่อไป เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุหลักของโรคนี้, วิกิพีเดีย

ดู คู่มืออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ, แนวทางปฏิบัติการรับการระบาดของโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ โรคไข้หวัดนกและโรคไข้หวัดใหญ่ (H1N1) โดย คณะกรรมการโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำโรงพยาบาลนครพิงค์, มกราคม พ.ศ.2554, 

http://www.nkp-hospital.go.th/th/department/health/hFile/rID105-55.pdf

[10]การแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) สาขาเฉพาะทางการแพทย์ เป็นศาสตร์เพื่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรคที่นอกเหนือจากศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นการปฏิบัติใดๆ ที่ถูกหยิบยกว่ามีผลในการรักษาโรคอะไรก็ตามที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ”หลักฐาน”ที่มีการเก็บรวบรวมโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ มันประกอบไปด้วยความหลากหลายของการดูแลสุขภาพ ผลิตภัณฑ์และการบำบัดรักษาต่างๆ ตัวอย่างเช่นการปฏิบัติทางการแพทย์แบบใหม่และดั้งเดิมเช่น การรักษาโรคด้วยโรคเดียวกัน (homeopathy) ธรรมชาติบำบัด (naturopathy) การจัดกระดูก (chiropractic) การแพทย์พลังงาน (energy medicine) รูปแบบต่างๆ ของการฝังเข็ม แพทย์แผน​​จีน อายุรเวท และการรักษาตามความเชื่อของคริสเตียน และการรักษาโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการดูแลสุขภาพแผนปัจจุบันบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์, วิกิพีเดีย

[11]ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) มีผล 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 170 ง วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 หน้า 1-2, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/170/T_0001.PDF 

ข้อ 1 ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

[12]ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27), ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 154 ง วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 หน้า 1-6, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/154/T_0001.PDF 

ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิด ความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

[13]มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน

เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

[14]“เผด็จการหางโผล่” อ้างจาก เฟซบุ๊ก บรรณ แก้วฉ่ำ

[15]บุคคลสาธารณะ (Public Figure)เป็นศัพท์ทางกฎหมายซึ่งใช้ในบริบทของความผิดฐานหมิ่นประมาท (การโฆษณาหมิ่นประมาทและการกล่าวหมิ่นประมาท) เช่นเดียวกันกับการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล บุคคลสาธารณะ อย่างเช่น นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียง หรือผู้นำธุรกิจ ไม่สามารถฟ้องร้องข้อความผิด ๆ ที่เป็นโทษได้ ยกเว้นจะมีหลักฐานชี้ว่านักเขียนหรือผู้ตีพิมพ์นั้นกระทำโดยมีเจตนามุ่งร้าย (รู้ถึงความผิดหรือไม่ใส่ใจต่อข้อเท็จจริงอย่างประมาทเลินเล่อ) ภาระการพิสูจน์ในความผิดฐานหมิ่นประมาทจะมีสูงกว่าในคดีของบุคคลสาธารณะ

บุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงยิ่งขึ้นไปนั้น ถือเป็นบุคคลตัวอย่าง ที่ถือว่ามีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อพฤติกรรม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของประชากรทั่วไป, วิกิพีเดีย

[16]มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ

บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท