Issue-Based Engagement Platform ของมหาวิทยาลัย


 

ผมมีความเชื่อว่า ในยุคปัจจุบัน มหาวิทยาลัยต้องเชื่อมโยงกับภาคชีวิตจริง (real sectors) แบบเป็นภาคี หรือหุ้นส่วน (partner) กัน    ความสามารถนี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องของความเป็นความตาย หรือความอยู่รอดทีเดียว   

กลุ่มภาคีที่มหาวิทยาลัยจะต้องเชื่อมโยงหุ้นส่วนได้แก่

  • นักศึกษา
  • ภาคนโยบายของรัฐ
  • หน่วยงานภาคธุรกิจ  ทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อม
  • หน่วยงานภาครัฐ
  • ภาคประชาสังคม
  • ชุมชนท้องถิ่น 
  • ภาคศาสนา  ศิลปะ และวัฒนธรรม 

คงต้องยอมรับว่า โดยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยไทยไม่สันทัดในการทำงานวิชาการเชื่อมโยงกับภาคชีวิตจริง    เราเน้นทำงานวิชาการเพื่อวิชาการ    ไม่ได้ฝึกทำงานวิชาการเพื่อชีวิต (ของผู้คนวงกว้าง)    เราถนัดทำงานวิชาการเพื่อ academic impact   ไม่ถนัดทำงานวิชาการเพื่อ social and economic impact    พูดแรงๆ ได้ว่า ไม่รู้จัก social  และ economic impact ด้วยซ้ำไป   

ในฐานะนักเรียน   จ้องเรียนรู้จากทุกวงที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้อง    ผมรู้สึกมาตลอดว่า สภา มช. จัดการประชุมเพื่อใช้พลังของ complexity ในการขับเคลื่อนการพัฒนา มช. ผ่านการปฏิบัติงาน แล้วนำมาเสนอสภามหาวิทยาลัย    เพื่อให้กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิช่วยมองและช่วยเชื่อมโยงภาพใหญ่    รวมทั้งช่วยเชื่อมโยงภาคี

เนื่องจากกรรมการสภามหาวิทยาลัย ของ มช. มาจากหลากหลายภาคในสังคม   เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแต่ละด้าน และมีจิตสาธารณะสูง    ต้องการให้มหาวิทยาลัยเข้าไปเป็นหุ้นส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง   เมื่อฝ่ายบริหารนำเรื่องราวการริเริ่มสร้างสรรค์ทางวิชาการเพื่อเป้าหมายใหญ่ของบ้านเมือง เข้าเสนอในสภาฯ    กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ช่วยกันแนะนำโจทย์ที่เชื่อมโยงยิ่งขึ้น   และที่สำคัญยิ่งกว่าคือช่วยเชื่อมโยงภาคีหุ้นส่วนในภาคชีวิตจริงให้     

ตัวอย่างเช่น ในการประชุมสภา มช. เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีเรื่อง คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เข้ารายงานเพื่อทราบ    ผู้นำเสนอคือ รศ. ชูโชค อายุพงศ์ 

“โครงการศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและ พลังงาน และการดำเนินการภายใต้นโยบายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นมาเพื่อมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางสนับสนุนทางวิชาการแบบครบวงจรในด้านการบริการจัดการทรัพยากรน้ำ ครบวงจร โดยมีวิสัยทัศน์ที่ว่าเป็นศูนย์กลางทางวิชาการ สนับสนุนการวิจัยและถ่ายทอดความรู้ด้าน ทรัพยากรน้ำแบบครบวงจร เพื่อความเป็นเลิศในระดับชาติและนานาชาติ   โดยมีพันธกิจที่จะดำเนินการ ตามกรอบวิสัยทัศน์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจำนวน 4 ข้อ คือ 1) สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม 2) บูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรมร่วมกับทุกภาคส่วน 3) ถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมอย่างมี ประสิทธิภาพ และ 4) ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมอย่างทั่วถึง”

ทางศูนย์วางยุทธศาสตร์การดำเนินการเป็นขั้นตอนดีมาก มี ๓ ขั้น   คือ 

ระยะที่ 1 ระยะเวลา 1 ปี   ดำเนินกิจกรรม  (1) จัดตั้งหน่วยงานภายใน (Consortium) เพื่อเป็นหน่วยงานแกนกลางในการดำเนินกิจกรรม ของศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ  (2) สำรวจงานวิชาการและจัดทำคลังข้อมูลด้านวิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   (3) จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ หน่วยงานวิชาการที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งระดับชาติและนานาชาติเพื่อพัฒนาความร่วมมือ และพัฒนาเครือข่ายด้านการบริการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ   (4) จัดลำดับความสำคัญของวิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ     (5) จัดระบบการสื่อสารและประชาสัมพันธ์  

ระยะที่ 2 เวลาทำงาน 2 ปี    ดำเนินการ (1) สนับสนุนให้เกิดการบูรณาการการวิจัย   (2) ให้บริการทางวิชาการ   (3) การบริการด้านข้อมูล    (4) พัฒนาหลักสูตร    (5) ให้ความเห็นเชิงวิชาการเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 

ระยะที่ 3 เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ ๑ และระยะที่ ๒   

จะเห็นว่าทีมงานของศูนย์เตรียมคิดมาอย่างดีมาก   และได้รายงานข้อมูลการดำเนินการในปีแรกที่สะท้อนการทำงานที่มีคุณภาพสูงน่าชื่นชมมาก

ผมตีความว่า นี่คือ Engagement Management Platform  แบบ issue-based (คือเรื่องการจัดการน้ำ)    ที่ทำหน้าที่ engage ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก มช.   ที่ทุกมหาวิทยาลัยควรจัดกลไกการจัดการในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ของตน   

ในการณีนี้ มช. เลือกเรื่องการจัดการน้ำ ซึ่งรู้กันว่าเป็นประเด็นสำคัญตั้งแต่ระดับชุมชน  ประเทศ ภูมิภาค  และโลก    เป็นประเด็นที่คู่กับเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ    และในประเทศไทยมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง คือ สนทช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)    ที่ต้องการความร่วมมือพัฒนาระบบข้อมูลของประเทศ ที่จะทำให้ข้อมูลจากต่างหน่วยงานเชื่อมโยงกันได้    เป็นเรื่องใหญ่มาก   

กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อมูลเชื่อมโยงศูนย์สู่กิจกรรมของหลากหลายหน่วยงาน    เช่น มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ร่วมกับภาคี ๗ หน่วยงาน ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติป้องกันน้ำท่วมทั่วประเทศ (๑)   ซึ่งเป้าหมายของการจัดการน้ำก็มี ๔ ด้านคือ น้ำใช้  น้ำท่วม  น้ำแล้ง และน้ำเสีย    เมื่อเชื่อมโยงออกไปสู่มนุษย์ ก็เป็นเรื่อง สิ่งแวดล้อม  เศรษฐกิจ  และสังคม   

ดร. วิรไท สันติประภพ แนะให้เน้นทำงานแบบ solution-oriented   โดยเลือกเรื่องสำคัญนำมาดำเนินการ เพื่อหานวัตกรรมในการแก้ปัญหา   ผมจึงตีความต่อว่าเป็นเรื่องของการเลือกเรื่องทำ    โดยต้องตระหนักว่า เรื่องนี้ players แน่นขนัด   ต้องมีศาสตร์และศิลป์ของการร่วมเป็นภาคีหุ้นส่วน    ไม่เปะปะ ไม่ถูกจูง   รวมทั้งต้องพึงตระหนักว่า เรื่องน้ำเป็นชนวนขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรกันได้ด้วย   โดยเฉพาะระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรและภาคครัวเรือน     

ซึ่งหมายความว่าเรื่องน้ำเกี่ยวข้องกับกลุ่มภาคีหุ้นส่วนครบทุกกลุ่มภาคีที่เอ่ยตอนต้น     

นำมาเล่าเพื่อชี้โมเดลของการจัดระบบงาน university – public engagement (มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม)    ที่เป็น issue-based model   

วิจารณ์ พานิช

๒๖ มิ.ย. ๖๔    

 

     

หมายเลขบันทึก: 691770เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2021 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2021 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับอาจารย์ ทางศูนย์น้ำ มช. จะพยายามขับเคลื่อนให้มีผลลัพธ์ต่อสังคมให้มากที่สุดครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท