ชีวิตที่พอเพียง 4009. กลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย


 

               หนังสือ พลวัตกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย : การเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เป็นทุนการเมือง (พ.ศ. ๒๔๗๕ - ๒๕๖๐) เขียนโดย ดร. ชัยพงษ์ สำเนียง    เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยชุด ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศประวัติศาสตร์   ที่มี ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เป็นหัวหน้าโครงการ   เป็นเอกสารลำดับที่ ๒๑ 

ชื่อหนังสือบอกอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างทุนวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง    โดยที่ดั้งเดิมจ้าวนายฝ่ายเหนือยึดครอง  ต่อมานักธุรกิจค่อยๆ เติบโต และเข้าไปยึดฐานทางการเมืองเพื่อหาทางเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตน    โดยที่ลูกหลานของจ้าวนายฝ่ายเหนือก็มีการปรับตัว สร้างทุนเศรษฐกิจและทุนความรู้ขึ้นมาใช้สร้างทุนการเมืองด้วย     อ่านแล้วเห็นภาพหรือเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับชีวิตคนจริงๆ    และเห็นการเอื้อประโยชน์ระหว่างทุนธุรกิจ กับทุนการเมือง   

ความสนุกอยู่ที่มีเรื่องราวในชีวิตของนักการเมืองเด่นๆ ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน    เช่นนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์   นายณรงค์ วงศ์วรรณ   นายสุกิจ นิมมานเหมินท์   เรื่องราวของตระกูลนิมมานเหมินท์-ชุติมา    นายไกรสร ตันติพงศ์    นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์    ตระกูลบูรณุปกรณ์    ตระกูลชินวัตร  เป็นต้น   

สรุปได้ว่า ทุนการเมืองไทยเป็น “ทุนนิยมแอบอิง” หรือระบบอุปถัมภ์  ไม่ใช่ “ทุนนิยมเสรี” อย่างแท้จริง     มีทุนสายโลหิต  ทุนสายสัมพันธ์   ทุนสถานะในสังคม  และทุนปัญญาเป็นตัวประกอบ   โดยแน่นอนว่าทุนเงินเป็นทั้งเครื่องมือทางการเมือง และเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการเมือง 

ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยถูกกระตุ้นให้เติบโตขึ้นในยุคทักษิณ ชินวัตร   ผ่านการเมืองแบบประชานิยม    สร้าง “ระบบอุปถัมภ์ใหม่” ขึ้นในชนบท   ที่ชาวบ้านมุ่งรอรับอุปถัมภ์จากรัฐเพียงฝ่ายเดียว (หน้า ๑๔๘)    นี่คือการ “แปรนโยบายเป็นทุน” (หน้า ๑๓๘) ซึ่งทุนในที่นี้คือทุนทางการเมือง   นโยบายประชานิยมที่จี้ถูกจุดความต้องการของชาวบ้าน ทำให้คุณทักษิณได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายมากว่า ๒๐ ปี    น่าเสียดายที่ท่านขาดทุนความซื่อสัตย์เห็นแก่ส่วนรวมอย่างแท้จริง (๑)     

ผู้เขียน (ดร. ชัยพงษ์ สำเนียง) ไม่ได้นิยามคำว่า “ทุน” และเน้นที่ “กลุ่มทุน” มากกว่าเรื่อง “ทุน”    แต่ผมสนใจเรื่อง “ทุน” มากกว่า    และอยากรู้ว่า การเมืองเชื่อมโยงกับ “ทุน” ในลักษณะใดบ้าง    เห็นได้ชัดเจนว่า มีมากกว่าทุนที่เป็นเงิน   แต่ทุนที่เป็นเงินจำนวนมหาศาลอย่างที่คุณทักษิณมี ก็มีพลังอำนาจสูงมาก หากใช้เป็นอย่างที่คุณทักษิณใช้ 

ข้อเขียนชี้ว่า ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสังคมไทยด้านการตระหนักรู้ในพลังของตน   ในส่วนประชาชนทั่วไปที่เป็นคนชั้นกลางและล่าง    ว่าตนมีพลังการเมืองอยู่อย่างชอบธรรม ในการปกครองประเทศระบอบประชาธิปไตย    คนเหล่านี้รู้ทันว่าระบบการเมืองแบบเก่าเอื้อผลประโยชน์แก่กลุ่มผู้ครองอำนาจเก่า    พรรคของคุณทักษิณจึงผงาดขึ้นมา    และในช่วงหลังพรรคทางเลือกใหม่จึงดึงดูดคะแนนเสียงได้มากอย่างน่าตกใจ  

การเมืองมีพลวัต   ที่ผ่านมาเปลี่ยนผ่านจากรัฐราชการ สู่ธนกิจการเมือง    มีการสร้างระบบอุปถัมภ์ใหม่โดยกลุ่มทักษิณ    มีการเมืองระดับชาติ กับระดับท้องถิ่น ที่แตกต่างกัน    ในขณะเดียวกัน สังคมก็มีพลวัต    มีทวิลักษณ์ของเมือง-ชนบท    มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์จากแนวดิ่ง สู่แนวราบ มากขึ้น   

ในระดับภาค กลุ่มทุน กับ กลุ่มการเมือง เป็นกลุ่มเดียวกัน   

ขอขอบคุณ ดร. ชัยพงษ์ สำเนียง ที่กรุณามอบหนังสือเล่มนี้   

วิจารณ์ พานิช

๒ ก.ค. ๖๔ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 691703เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2021 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2021 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท