ชีวิตที่พอเพียง 4005a. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (98a) เก็บเกี่ยวสินทรัพย์ทางปัญญาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา  ตอนที่ ๓ (จบ)


ชีวิตที่พอเพียง 4005a. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (98a) เก็บเกี่ยวสินทรัพย์ทางปัญญาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา   ตอนที่ ๓ (จบ) 

ตอนที่ ๑    ตอนที่ ๒ 

ขอทบทวนว่า ใน ตอนที่ ๑ ได้ระบุ “สินทรัพย์” ๖ ประการ สำหรับนำไปเจียระไน ให้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา คือ (๑) ผู้อำนวยการโรงเรียน  (๒) ครู  (๓) ระบบข้อมูล  (๔) PLC  (๕) Growth Mindset  (๖) Effect Size   

ใน ตอนที่ ๒ ได้ระบุ “สินทรัพย์” เพิ่มอีก ๖ ประการคือ (๗) โรงเรียนร่วมผลิตครูคุณภาพ   (๘) เขตพื้นที่การศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน  (๙) ภาคีสนับสนุนโรงเรียน   (๑๐) โรงเรียนนอกโครงการที่สนใจใช้วิธีการของ TSQP  (๑๑) หลักสูตรฐานสมรรถนะระดับโรงเรียน   (๑๒) วิธีประเมินนักเรียน 

ตอนที่ ๓ นี้ เป็นตอนสุดท้ายของบันทึกชุดขุดมหาสมบัติทางการศึกษา จากโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง   สำหรับนำไป “เจียระไน” สร้างคุณค่าต่อการพัฒนาคุณภาพผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในวงกว้าง     โดยเสนอ “สินทรัพย์” สำหรับนำไป “เจียระไน” ต่อ อีก ๖ ประการ คือ (๑๓) สถาบันผลิตครู ได้บัณฑิตครูที่เป็นนักเรียนรู้ต่อเนื่อง   (๑๔) โรงเรียนพัฒนานักเรียนเป็นรายคน[VP1]    (๑๕) ระบบช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ   (๑๖) กระบวนการ Developmental Evaluation   (๑๗) เครื่องมือป้องกันนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษา   (๑๘) พื้นที่เรียนรู้ร่วม 

 สินทรัพย์ที่สิบสาม   สถาบันผลิตครู ได้บัณฑิตครูที่เป็นนักเรียนรู้ต่อเนื่อง 

ที่จริงในสินทรัพย์ที่ ๗ ได้ระบุว่าโรงเรียนร่วมผลิตครูเป็นสินทรัพย์     จริงๆ แล้วโรงเรียนเหล่านี้จะเป็นสินทรัพย์ได้ต้องมีสถาบันผลิตครูแนวใหม่ ที่เป็นครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑   

ได้เล่าแล้วว่า ใน ๑๑ ทีมพี่เลี้ยงของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มีอยู่ ๔ ทีมที่มาจากสถาบันผลิตครู    และผมเห็นความตั้งใจใช้ประสบการณ์จากโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เอาไปพัฒนาการจัดการหลักสูตรผลิตครูของตน คือทีม มน. กับทีม มรภ. ภูเก็ต    

อย่างไรก็ตาม น่าจะมีสถาบันผลิตครูที่ไม่อยู่ในโครงการ ที่ต้องการเรียนรู้และพัฒนาตนเองด้วย   เพราะผมคาดการณ์ว่า ในไม่ช้ารัฐจะต้องปิดสถาบันผลิตครูให้เหลือน้อยลงตามความต้องการครูที่ลดลง     เพื่อประหยัดทรัพยากรของชาติ    หรือเพื่อใช้ทรัพยากรของชาติ (ที่มีจำกัดลงมากในช่วง ๕ ปีต่อจากนี้) อย่างคุ้มค่าสูงสุด     สถาบันที่จะต้องปิดตัวลงคือสถาบันที่คุณภาพต่ำ   

และเนื่องจาก กสศ. มีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีสถาบันผลิตครู ๑๑ สถาบันอยู่ในโครงการ     น่าจะมีบางสถาบันที่เกิดการเรียนรู้สูง และต้องการยกระดับการเรียนรู้ขึ้นไปอีก   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้เชิงระบบ และการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานของตนเอง   

จึงเป็นโอกาสให้ กสศ. จัดวง DE สถาบันผลิตครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑  รับสมัครสถาบันที่ทำงานร่วมกับ กสศ. เข้าร่วม   และหากมีที่ว่างเหลือก็รับสถาบันภายนอกเข้ามาด้วย     ทั้งหมดนั้นเป็นการรับสมัครอย่างมีเงื่อนไข    คือสถาบันต้องส่งหัวหน้าทีมที่เป็นผู้รับผิดชอบงานผลิตบัณฑิตครูจริงๆ และทีมงาน สถาบันละ ๕ คน   ท่านเหล่านี้ต้องเข้าร่วมกิจกรรม DE ต้นน้ำ,   DE กลางน้ำ,   และ DE ปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง   และมีการเก็บข้อมูลเอามาตีความแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 

ผมมีความเห็นว่า สถาบันที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องออกค่าใช้จ่ายเอง    กสศ. สนับสนุนเพียงทีมวิทยากรกระบวนการ DE เท่านั้น    เพื่อให้ได้สถาบันเข้าร่วมที่ต้องการพัฒนาตนเองจริงๆ    ไม่ใช่เข้าร่วมเพราะเป็นของฟรี   

ผลลัพธ์ของวง DE สถาบันผลิตครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ นอกจากได้พัฒนาสถาบันผลิตครูแล้ว    ยังได้องค์ความรู้ที่เป็นทั้ง explicit knowledge  และ tacit knowledge สำหรับดำเนินการผลิตครูคุณภาพสูง     และ กสศ. ต้องไม่ลืมนำความรู้ในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการศึกษา (ที่สกัดได้จากวง DE) ออกสื่อสารสาธารณะด้วย   เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนไทยว่าด้วยครูดี     

 

สินทรัพย์ที่สิบสี่  โรงเรียนพัฒนานักเรียนเป็นรายคน[VP2]    

ทีมพี่เลี้ยงที่เอ่ยเรื่องนี้อย่างจริงจังคือทีมมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา     ทีม ม. ศรีปทุมใช้คำว่า ครูดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึง     

ผมเดาว่าน่าจะมีโรงเรียนจำนวนหนึ่งที่มุ่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง   

เป้าหมายเพื่อพัฒนาการดำเนินการในระดับโรงเรียนอย่างเป็นระบบ    เป็นระบบที่เรียนรู้    ซึ่งหมายความว่ามีวง PLC ที่จับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง    นำปัญหาของนักเรียนเฉพาะรายมาปรึกษาหารือ หาวิธีการช่วยเหลือ    และเมื่อนำข้อคิดเห็นไปดำเนินการพร้อมเก็บข้อมูลผลที่เกิดขึ้น นำมาแชร์เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน   โดยในบางกรณี ขั้นตอนต่อไปอาจต้องแสวงหาวิธีการที่แตกต่างจากวิธีการเดิม    

จากประสบการณ์ในนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือหลากหลายแบบ นำไปสู่การจัดระบบช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียน 

วิธี “เจียระไน” โรงเรียนเหล่านี้คือ ประกาศรับสมัครสมาชิกเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาผู้เรียนเป็นรายคน    มีเงื่อนไขของการเป็นสมาชิก    โดยโรงเรียนสมาชิกจะได้รับสิทธิเข้าร่วมวง DE ต้นน้ำ   DE กลางน้ำ  และ DE ปลายน้ำ   ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนานักเรียนเป็นรายคน และการช่วยเหลือนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ  มาช่วยให้การวิพากษ์และให้คำแนะนำ   

เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จนพัฒนาเป็นระบบของโรงเรียนที่มีความยั่งยืนต่อเนื่อง  กระบวนการ DE โรงเรียนพัฒนาผู้เรียนเป็นรายคน น่าจะวางแผนไว้ ๓ ปี    และต้องไม่ลืมใช้ Effect Size ในการประเมินความก้าวหน้าของผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคน         

  

สินทรัพย์ที่สิบห้า    โรงเรียนที่มีระบบช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ

เรื่องนี้มีอยู่ใน TOR ของทีมพี่เลี้ยงในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    ที่หลายทีมรับปากว่าจะไปดำเนินการให้เกิดขึ้นในโรงเรียนในเครือข่าย    และสินทรัพย์นี้อาจรวมอยู่ในสินทรัพย์ที่ ๑๔ ก็ได้    แต่ผมคิดว่าระบบช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก น่าจะแยกออกมาเป็นสินทรัพย์ที่ ๑๕ น่าจะดีกว่า   

โดยมีเป้าหมายพัฒนาเป็นระบบที่บูรณาการอยู่ในงานปกติของโรงเรียน     ตามแนวทางของประเทศฟินแลนด์ (ที่ฟินแลนด์เรียกว่า การศึกษาพิเศษ)    โดย กสศ. อาจจัดทีมทบทวนความรู้เรื่องนี้ สำหรับนำมาถ่ายทอดให้แก่โรงเรียนที่ต้องการพัฒนาระบบอย่างจริงจัง

วิธีเจียระไน น่าจะคล้ายๆ สินทรัพย์ที่ ๑๔   คือรับสมัครโรงเรียนเป็นสมาชิกวงพัฒนา รวม ๒๐ โรงเรียน    โดยมีเงื่อนไขของการสมัคร    มีการเขียนเป้าหมายของการสมัครและมีการคัดเลือก    โดยที่ กสศ. สนับสนุนเพียงกระบวนการ DE ต้นน้ำ   DE กลางน้ำ   และ DE ปลายน้ำ เท่านั้น    ค่าใช้จ่ายอื่นโรงเรียนหรือต้นสังกัดออกเอง    โดยโรงเรียนอาจหาทุนสนับสนุนภายนอก   

โครงการนี้น่าจะเตรียมไว้ ๓ ปีเช่นเดียวกัน   และต้องนำเอาความรู้ที่เกิดขึ้นออกสื่อสารสาธารณะ    ให้ประชาชนเห็นว่า โรงเรียนที่มีคุณภาพช่วยเปลี่ยนอนาคตของลูกหลานของเขาได้

ที่สำคัญ ต้องใช้แนวความคิดของฟินแลนด์ ว่านักเรียนที่เป็นเด็กปกติ  ในบางวิชา หรือบางสถานการณ์ อาจกลายเป็นเด็กที่มีความต้องการความช่วยเหลือพิเศษชั่วคราว     ครูต้องฝึกทักษะรับรู้สภาพนี้ของศิษย์ และมีทักษะช่วยเหลือ   รวมทั้งโรงเรียนพัฒนาระบบช่วยเหลือ เพราะในหลายๆ กรณีอาจเกินกำลังครู   อาจต้องขอความช่วยเหลือบริการทางด้านสุขภาพ        

 

สินทรัพย์ที่สิบหก กระบวนการ Developmental Evaluation 

จะเห็นว่า เครื่องมือเจียระไน สินทรัพย์ทางปัญญาในระบบครู โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนนั้น    เครื่องมือสำคัญคือ DE    ซึ่งหมายความว่า ความเชื่อที่ซ่อนอยู่คือ   เป็นการเจียระไน ผ่านการปฏิบัติงานของครูและโรงเรียนนั้นๆ เอง     กระบวนการ หรือขั้นตอนใน DE ช่วยให้เจ้าของเรื่องคลี่เป้าหมาย ผลลัพธ์หลักๆ กิจกรรมเพื่อการบรรลุผลลัพธ์ ออกมาเรียนรู้ร่วมกัน   

มองในมุมหนึ่ง DE คือเครื่องมือจัดการความรู้ นั่นเอง   เป็นกระบวนการช่วยให้ทีมผู้ปฏิบัติเตรียมความรู้เชิงทฤษฎี (explicit knowledge)  เอาไปใช้งานอย่างมีเป้าหมายชัดเจน   และเมื่อดำเนินการก็เก็บข้อมูลเอามาตีความร่วมกัน ช่วยให้ความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge) แจ่มชัดขึ้น   และอาจตีความลึกและเชื่อมโยงขึ้นไปอีกจนกลายเป็นความรู้เชิงทฤษฎีชุดใหม่ (ที่อาจเป็นเพียงการปรับปรุงความรู้ชุดเดิมในบางจุด)     ที่จะลองนำไปประยุกต์ใช้ในรอบต่อไป   

เมื่อทำไปหลายๆ รอบเข้า  ความรู้ทฤษฎีที่ยกระดับขึ้นจากการปฏิบัติก็จะแจ่มชัดแน่นแฟ้น    ก็จะเกิดสมรรถนะ และวัฒนธรรมการสร้างความรู้จากการปฏิบัติงานขึ้นในวงการศึกษาไทย    เป็นสภาพที่ไม่มีในอดีต    แต่ผมคาดหวังว่า หาก กสศ. ส่งเสริมวง DE ในเป้าหมาย และแนวทางที่เสนอในบันทึกชุดนี้รวม ๓ บันทึก ๑๘ สินทรัพย์    และดำเนินการต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าภายในเวลา ๓ - ๕ ปี หน่ออ่อนของวัฒนธรรมเรียนรู้จะก่อตัวขึ้นในระบบการศึกษาไทย             

 ระบบการศึกษาไทยจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็น “ระบบที่เรียนรู้”   

เมื่อเป็นระบบที่เรียนรู้ การดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพ และความเสมอภาคก็จะเกิดหรือริเริ่มขึ้นเองจากภายใน หน่วยงานด้านการศึกษา (ซึ่งหมายถึงโรงเรียน และหน่วยงานสนับสนุน)    เท่ากับ กสศ. ทำหน้าที่รดน้ำพรวนดิน ให้หน่ออ่อนของ “ระบบที่เรียนรู้” งอกงาม    เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา และปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา     ที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ในส่วนต่างๆ ของระบบการศึกษานั้นเอง     ไม่ใช่โดย กสศ. หรือหน่วยงานใดๆ เข้าไปทำหน้าที่แก้ไข 

 

สินทรัพย์ที่สิบเจ็ด   เครื่องมือป้องกันนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษา

ผมได้ความคิดเรื่องสินทรัพย์นี้ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม  ในการเสนอโครงการ TSQP ปี ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ ของทีมพี่เลี้ยง มอ. นำโดย รศ. ดร. ไพโรจน์ คีรีรัตน์ หลังจากเขียนข้อความข้างบนแล้ว    

ดร. ไพโรจน์บอกว่า จะดำเนินมาตรการลดอัตราการหลุดออกนอกระบบการศึกษา ในสถานการณ์โควิด ๑๙  ระบาด  ในกลุ่มนักเรียนจำนวนประมาณ ๒๐,๐๐๐ คนในโครงการที่ทีมของท่านเป็นพี่เลี้ยง จาก ร้อยละ ๑๐  ให้เหลือร้อยละ ๑    ตาม ppt presentation

 

จะเห็นว่า เครื่องมือที่ท่านใช้มี ๔ อย่างที่เชื่อมโยงกันคือ  (๑) เรียนรู้ด้วยตนเอง  (๒) คนที่บ้านช่วย  (๓) พบครูทางไกล  (๔) อบรมพ่อแม่ช่วยสอน   

ผมจึงเกิดความคิดว่า แนวคิดนี้เป็น “สินทรัพย์” ที่ กสศ. ควรนำมา “เจียระไน” ต่อ     ให้เกิดคุณค่ากว้างขวางต่อสังคมไทย    โดยรับสมัคร “โรงเรียนต้นแบบลดจำนวนนักเรียนออกกลางคันเนื่องจากสถานการณ์โควิด”     ซึ่งที่จริงน่าจะเรียกว่า “โรงเรียนมุ่งเรียนรู้และพัฒนา” มากกว่า    โดยผมเสนอว่าควรรับสมัครเพียง ๑๐ - ๒๐ โรงเรียนเท่านั้น    โดยมีการกำหนดเงื่อนไข     และระบุให้ชัดว่า จะไม่มีเงินสนับสนุนใดๆ ทั้งสิ้น    สิ่งที่สนับสนุนคือ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ โดยมีทีม facilitator ช่วยสนับสนุน   

เท่ากับว่า กระบวนการ “เจียระไนเพชร” นี้    เป็นการช่วยให้โรงเรียนที่ทีมงานของโรงเรียนมีอุดมการณ์เพื่อนักเรียนของตนได้บรรลุเป้าหมายได้ตามสภาพบริบทจริง ทรัพยากรจริง เท่าที่มีอยู่     โดย กสศ. ต้องไม่ลืมร้องขอให้ทีมพี่เลี้ยงทั้ง ๑๑ ทีม ช่วยสื่อสารให้โรงเรียนในเครือข่ายรับทราบโอกาสนี้     

 

สินทรัพย์ที่ ๑๘  พื้นที่เรียนรู้ร่วม

นี่ก็เช่นเดียวกัน ได้จากการนำเสนอของ รศ. ดร. ไพโรจน์ คีรีรัตน์ ดังนี้

 

ทำให้ผมเกิดความคิดว่า ไม่ว่าในสถานการณ์ใด นักเรียนควรได้เรียนรู้ใน “พื้นที่การเรียนรู้ร่วม”    ไม่ใช่เรียนรู้ในพื้นที่ห้องเรียนหรือโรงเรียนเท่านั้น    พื้นที่ที่บ้าน  ในชุมชน และสภาพแวดล้อมของสังคม ต้องจัดเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย   

วิธี  “เจียระไนเพชร” ชิ้นนี้ ก็น่าจะทำแนวเดียวกันกับ สินทรัพย์ที่สิบเจ็ด    คือจัด PLC ของ “โรงเรียนนักจัดพื้นที่การเรียนรู้ร่วม”    เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ    นำผลการดำเนินการใน ๑ ปี ออกสื่อสารสังคม     

 

เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาระบบการศึกษาไทย  คือการส่งเสริมให้หน่วยหลักของระบบ คือครูและโรงเรียน    มีวัฒนธรรมและสมรรถนะการเรียนรู้ต่อเนื่องด้วยตนเอง    ไม่ใช่รอให้กลไกภายนอกมาถ่ายทอดความรู้ใหม่ให้     กลไกภายนอกเป็นกลไกเสริม  ไม่ใช่กลไกหลัก   

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ค. ๖๔            

 

 [VP1]

 [VP2]



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท