ชีวิตที่พอเพียง 4000a. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (98a) เก็บเกี่ยวสินทรัพย์ทางปัญญาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา


บันทึกการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) เพื่อแลกเปลี่ยนแก่ผู้เกี่ยวข้อง  เป็นตัวกระตุ้นให้ช่วยกันคิดต่อ และที่สำคัญยิ่งกว่า เอาไปดำเนินการ  เป็น reflection แบบเปิดใจ  ซึ่งหมายความว่า อาจมีส่วนที่ผิดมากกว่าส่วนที่ถูกต้อง 

ชีวิตที่พอเพียง 4000a. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (98a) เก็บเกี่ยวสินทรัพย์ทางปัญญาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา

วันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๑๐ - ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔  ผมใช้เวลาเต็มวัน ตั้งแต่ ๙.๐๐ - ๑๘.๓๐ น. ทั้งสองวัน เพื่อจ้องเก็บเกี่ยวสินทรัพย์ทางปัญญา (intellectual capital) ที่เกิดขึ้นจากโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองที่ดำเนินการโดย กสศ.  สองวันนี้เป็นกิจกรรมประชุมปฏิบัติการ DE  ปลายน้ำ ที่ออกแบบและดำเนินการโดยทีมมูลนิธิสยามกัมมาจล นำโดยคุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) ผู้จัดการมูลนิธิ    ผู้เข้าร่วมคือทีมโค้ชภายนอกของโครงการ รวม ๕ ทีม    และมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์อีกจำนวนหนึ่ง    รวมประมาณ ๙๐ คน    เป็นการสัมมนา ออนไลน์    ที่ผู้เข้าร่วมอยู่ทุกภาคของประเทศ     และเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยแต่มีความสุข    

บันทึกนี้ และที่จะมีต่อเนื่องไปอีกรวมสองสามบันทึก   เป็นบันทึกการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ของผม    เพื่อแลกเปลี่ยนแก่ผู้เกี่ยวข้อง     เป็นตัวกระตุ้นให้ช่วยกันคิดต่อ และที่สำคัญยิ่งกว่า เอาไปดำเนินการ   เป็น reflection แบบเปิดใจ    ซึ่งหมายความว่า อาจมีส่วนที่ผิดมากกว่าส่วนที่ถูกต้อง     

เป้าหมายหลักของการสัมมนาคือ เพื่อให้ผู้เข้าร่วม โดยเฉพาะทีมพี่เลี้ยง (โค้ชภายนอกโรงเรียน) ๕ ทีม เรียนรู้วิธีใช้ DE      และนำไปโค้ชให้โรงเรียนในโครงการใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้จากการทำงาน (๑)   โดยที่คุณเปาออกแบบกระบวนการให้ได้เรียนรู้ DE จากการทำหน้าที่โค้ชภายนอกให้แก่โรงเรียนในโครงการ มาเป็นเวลา ๑ ปีเศษ เกิดการเรียนรู้สูงยิ่ง    และปูทางสู่การปรับวิธีทำงานในอีก ๑ ปีข้างหน้าด้วย        

แต่ผมเข้าร่วมประชุมเพื่อจ้องค้นหาขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    แล้วก็พบขุมทรัพย์(หรือสินทรัพย์ทางปัญญา) ในลักษณะเป็น “เพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน” จำนวนมาก    จึงนำมาเขียนเสนอให้ กสศ. นำไปพิจารณาว่าผมตาฝาดไปหรือเปล่า   หากน่าจะเป็นจริงตามที่ผมเสนอ   จะได้ขุดเอาไปเจียระไน   

  ย้ำนะครับ ว่า “สินทรัพย์ทางปัญญา” ที่ผมเสนอ ยังต้องนำไป “เจียระไน” หรือดำเนินการต่อ   จึงจะเกิดคุณค่า (values) อย่างแท้จริง   

สินทรัพย์แรก คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนครับ   ทีมมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา บอกว่าในโรงเรียน ๗๖ โรงเรียนนั้น    พบว่ามีผู้อำนวยการเกรด เอ อยู่ ๓๖ ท่าน    เขามีเกณฑ์ในการให้เกรด แต่ผมจะไม่เล่า    แต่จะเสนอวิธีนำมาใช้เป็นตัวคูณในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ระบบการศึกษาไทย   

ทีมมูลนิธิสตาร์ฟิช ก็มีการให้เกรดในทำนองเดียวกัน   มีผู้อำนวยการเกรด เอ ๓๙ คน จากจำนวนทั้งหมด ๙๑ คน   

หลังการสัมมนา ผมขอรายงานของทั้ง ๕ ทีมพี่เลี้ยงมารวบรวมข้อมูล    ได้ตัวเลขรวมเท่าที่มีการประเมิน ว่าพบผู้อำนวยการเกรด เอ  ๑๘๔ ท่าน จากทั้งหมด ๔๑๗ ท่าน    คิดเป็นร้อยละ ๔๔    

ที่จริงผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์ว่าบริหารโรงเรียนให้มีคุณภาพสูงขึ้น ก็มักจะ มีคนเห็น “ความแวววาว” อยู่แล้ว  และมักทำหน้าที่เป็นวิทยากร หรือมีครูโรงเรียนอื่นมาดูงานเพื่อขอเรียนรู้วิธีการจัดการโรงเรียนอยู่แล้ว    แต่ผมจะเสนอวิธีเจียระไน ให้แวววาวในคุณค่าต่อบ้านเมืองยิ่งขึ้นไปอีก   

วิธีหนึ่งทำได้โดยนำเอาการวัด ES – Effect Size ของการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนของท่านผู้อำนวยการเหล่านี้    เทียบกับผลของโรงเรียนอื่นๆ ในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    นี่คือ “การเจียระไน” ด้วยข้อมูลหลักฐานผลงาน    งานนี้ กสศ. ต้องเป็นผู้ริเริ่ม และจัดการโครงการ   โดยควรเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนา Q-Info ให้เอื้อความสะดวกต่อการเก็บและเปรียบเทียบข้อมูลนี้   

เมื่อได้ข้อมูลหลักฐานยืนยัน ของนักเรียนในระดับสูง   ก็จัดการให้ผู้อำนวยการผลงานระดับสูงเหล่านี้ ได้สื่อสารสังคมทั้งผ่านเว็บไซต์ของโรงเรียน (เว็บไซต์ของโรงเรียนในสังกัดราชการควรได้รับการปรับปรุงให้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของโรงเรียน)    และผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชี่ยล ในโอกาสที่เหมาะสม   เพื่อสื่อสารวิธีการยกระดับคุณภาพของโรงเรียนตามบริบทหรือสภาพความเป็นจริงของโรงเรียน   และสื่อสารว่านักเรียนได้รับประโยชน์อย่างไร    ครูในโรงเรียนทำงานร่วมกันอย่างไร    ผู้ปกครองและคนในชุมชนมีส่วนร่วมยกระดับคุณภาพผลการเรียนของนักเรียนอย่างไร     

เน้นสื่อสารเพื่อการเรียนรู้   และเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา และขับเคลื่อนสังคมให้สนับสนุนระบบการศึกษาเป็น    ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของลูกหลานตนเอง    ไม่ใช่สื่อสารเพื่ออวดความสำเร็จ         

หลักการสำคัญคือ ไม่สื่อสารศิลปินเดี่ยว   แต่สื่อสารผู้บริหารโรงเรียนที่มีเป้าที่ผลการเรียนของนักเรียนเป็นหลัก    และมีการทำงานเป็นทีมและเป็นเครือข่าย    โรงเรียนพัฒนาขึ้นเป็นองค์กรเรียนรู้   

อัตราการพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนในเครือข่ายทั้ง ๕ เครือข่าย ขึ้นเป็นผู้อำนวยการเกรดเอ คือ ๑๘๔ จากทั้งหมด ๔๑๗ ท่าน คิดเป็นร้อยละ ๔๔   สมมติว่าเมื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อมูล ES ผลงานที่นักเรียน    เหลือเพียงหนึ่งในห้า    ก็จะได้ผู้อำนวยการผลงานเด่นจริงๆ ประมาณร้อยละ ๑๐ ของทั้งหมด   หากอนุโลมใช้ประมาณการตัวเลขนี้ในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งหมด ที่มีโรงเรียมทั้งหมด ๗๒๗ โรงเรียน   ก็จะมีผู้อำนวยการผลงานเด่นจริงๆ ราวๆ ๗๐ ท่าน   มากพอที่จะนำมาขับเคลื่อนการเรียนรู้เรื่องโรงเรียนดี  และแนวทางเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของประเทศ 

นี่คือการเจียระไนผู้บริหารโรงเรียน สู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ในระบบการศึกษา 

สินทรัพย์ที่สอง ที่ค้นพบคือครู    ทีมงานของมูลนิธิสตาร์ฟิช บอกว่า     ได้ใช้วิธีพัฒนาครูแกนนำขึ้นทำงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนทุกโรงเรียนในเครือข่าย    รวมทั้งสิ้น ๒๕๑ คน     หลัง ๑ ปีเศษ ๑๑๔ คนเป็นครูแกนนำเกรดเอ    คิดเป็นร้อยละ ๔๕    ซึ่งก็ต้องตรวจสอบข้อมูลยืนยันผลงานด้วย ES ของผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน   สมมติว่ายืนยันได้ ประมาณร้อยละ ๑๐ ของครูแกนนำ ก็จะได้ครูเชี่ยวชาญการจัดการเรียนการสอนและการสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ประมาณ ๑๒ คน   

เรื่องครูแกนนำ (master teacher) นี้   ทุกทีมพี่เลี้ยงในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ได้รับคำแนะนำให้สร้างขึ้นในโรงเรียน เรียกว่า “โค้ชภายใน”    และแต่ละทีมพี่เลี้ยงก็มีวิธีสร้างและใช้ประโยชน์ครูแกนนำหลากหลายวิธี    ผมฟังการสัมมนาแล้วสรุปกับตนเองว่า “ครูแกนนำ” มี ๒ แบบ คือแบบที่เกิดจากการจัดตั้ง อย่างที่ทีมพี่เลี้ยงมูลนิธิสตาร์ฟิชทำ      กับแบบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ    เป็นครูที่เอาใจใส่ศิษย์ หาวิธีช่วยให้ศิษย์ได้เรียนรู้ครบด้าน และหาทางช่วยเหลือศิษย์ที่มีความต้องการพิเศษ    ผู้อำนวยการและเพื่อนครูเห็นผลงาน และให้การยอมรับหรือยกย่อง   จึงเป็นครูแกนนำที่ตเองสถาปนาตนเอง    ครูแบบนี้แหละครับที่ควรเข้าไปหนุนให้เรียนรู้เชิงหลักการหรือวิชาการให้ความรู้แน่นขึ้น   และให้โอกาสร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน    เป็นกำลังสำคัญร่วมกับผู้อำนวยการ   

ผมรวบรวมผลการประเมินหา ครูเกรด เอ ของทั้ง ๕ ทีมพี่เลี้ยง     พบ ๓๗๖ คน  จากทั้งหมดที่ประเมิน ๑,๘๐๖ คน    คิดเป็นร้อยละ ๒๑      

กสศ. น่าจะส่งเสริมให้มีการค้นหาครูแกนนำทั้งสองแบบ   และพิสูจน์ผลงาน effect size ของนักเรียนที่ท่านสอน     แล้วหาวิธีส่งเสริมให้ท่านทำงานร่วมกับ ผอ. สร้างทีมเปลี่ยนแปลง ในโรงเรียนอย่างเป็นระบบและเข้มแข็งยิ่งขึ้น   รวมทั้งเผื่อแผ่แก่โรงเรียนอื่นในเครือข่ายและนอกเครือข่ายได้ด้วยตามความเหมาะสม    รวมทั้งส่งเสริมให้มีส่วนสื่อสารสาธารณะ ว่าโรงเรียนในชนบทสามารถพัฒนาตนเองได้   ครูในชนบททำงานสร้างผลกระทบสูงแก่ศิษย์ได้     โดยครูเหล่านี้ช่วยทำหน้าที่สื่อสารสาธารณะว่า    จะให้ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ต้องการการสนับสนุนอะไรบ้าง      

 สินทรัพย์ที่สาม คือระบบข้อมูล    กสศ. มีระบบ iSEE  และระบบ Q-Info    ที่ควรดำเนินการ “เจียระไน” ต่อ     ให้เชื่อมโยงกัน   ให้สามารถติดตามนักเรียนได้หลังออกจากโรงเรียน    ให้รองรับระบบการทดสอบหา Effect Size  และหา correlation ระหว่างผล ES และมาตรการต่างๆ และตัวบุคคลในระบบโรงเรียน รวมทั้งระบบเครือข่ายได้   

ระบบข้อมูลนี้ ต้องปรับให้เอื้อความสะดวกต่อการทำงานของโรงเรียน   และเอื้อต่อการวิเคราะห์ข้อมูลหาหลักฐาน (evidence) ยืนยันผลงานของโรงเรียน ของผู้บริหาร ของครูรายทีมและรายคน ของกิจกรรม PLC   ของเครือข่ายในพื้นที่สนับสนุนโรงเรียน   

งานปรับระบบข้อมูลนี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก และท้าทายสูงต่อ กสศ.   

สินทรัพย์ที่สี่   PLC – Professional Learning Community    บางทีมพี่เลี้ยงมีการให้เกรดกระบวนการ PLC ของโรงเรียน   โรงเรียนที่ได้เกรด เอ คือเป้าหมายของการตรวจสอบผลงานเพิ่มเติม    โดยดู ES ของนักเรียน     PLC กลุ่ม เอ ที่ ES สูง คือสินทรัพย์ของแท้    ที่ควรนำมาสร้างคุณค่าต่อ ด้วย ๓ มาตรการ คือ  (๑) ให้สมาชิก PLC ร่วมกัน สะท้อนคิดเพื่อถอดบทเรียน ว่า กระบวนการ PLC ที่มีพลังต่อการยกระดับ ES เป็นอย่างไร   มีลู่ทางดำเนินการต่อเนื่องให้เกิดผลดีต่อนักเรียนและต่อครู เพิ่มขึ้นอีก ได้อย่างไร    แล้วนำออกสื่อสารสังคม และใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนอื่น   (๒) ทีมพี่เลี้ยงต่างทีม ร่วมกันจัด “PLC ของ PLC”  ข้ามโรงเรียน   โดยทำเป็น online PLC สำหรับใช้ตลอดไป (แม้โควิดผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งผมเดาว่าคงจะอีกหลายปี)    และต่อไปเมื่อโอกาสอำนวย อาจเสริมด้วย onsite PLC ในเครือข่ายโรงเรียน   ซึ่งาจเรียกว่าเป็น peer site visit   (๓) สื่อสารสังคม ให้สังคมตระหนักว่า โรงเรียนที่ดีนั้น ครูต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา   กระบวนการนี้ต้องการการส่งเสริมสนับสนุนทั้งจากต้นสังกัด  พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน  และชุมชนโดยรอบโรงเรียน      

สินทรัพย์ที่ห้า   กระบวนทัศน์เติบโต (growth mindset)    ที่เห็นในพฤติกรรมต่างๆ ในโรงเรียนที่เข้าโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    ซึ่งก็หมายความว่า ในบางกิจกรรม ในบางทีมพี่เลี้ยง บางโรงเรียน ผมเห็น กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง ( fixed mindset) ด้วย    เช่นการให้คะแนนบางกิจกรรมว่าได้เกรด ๕   

หากไม่ได้กำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน   แล้วประเมินตามการบรรลุเป้าหมายนั้นเท่านั้น     การให้เกรดผลการดำเนินการเรื่องใดก็ตาม ว่าได้คะแนนเต็ม เสี่ยงต่อการปลูกฝังกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง     ผมเองอยากให้คนในวงการศึกษามีจริตการประเมินเพื่อเป้าหมาย DLL – double loop learning  คือประเมินแล้วไม่เพียง feedback เพื่อการปรับปรุงวิธีการทำงาน (single loop learning) เท่านั้น    ยังมุ่ง feedback ไปยังตัวเป้าหมาย    ว่าน่าจะยกระดับเป้าหมาย หรือปรับตัวเป้าหมาย ให้ทรงคุณค่ายิ่งขึ้น (double loop learning) ได้อย่างไร   

คำว่า “ดีที่สุด”  “ดีเลิศ”  เสี่ยงต่อการปลูกฝังกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง     ในการให้ผลการประเมิน ไม่ว่าได้เกรดใด  ควรหมายเหตุด้วย “โอกาสพัฒนา” ด้วยเสมอ   สำหรับเป็นวัคซีนป้องกันการเผลอสมาทาน fixed mindset   

เราต้องช่วยกันส่งเสริมให้ ผอ. ครู และผู้เกี่ยวข้อง ปลูกฝัง และพัฒนา กระบวนทัศน์เติบโตให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนความเป็นองค์กรเรียนรู้ของโรงเรียน ให้จงได้    นี่คือพลังที่เป็นลมส่ง หรือเป็นแรงฝืด สำคัญ ในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย    กระบวนทัศน์หยุดนิ่งเป็นแรงฝืด    กระบวนทัศน์พัฒนาเป็นลมส่ง     คนในสังคมมีส่วนกระตุ้นความเป็นกระบวนทัศน์แบบใดแบบหนึ่งในสองแบบนี้   ผู้บังคับบัญชาส่วนกลางของระบบการศึกษายิ่งมีส่วนสูงยิ่งกว่า   

สินทรัพย์ที่หก  Effect Size    เป็นสินทรัพย์ที่ฝังอยู่ลึกกว่า ๕ สินทรัพย์ข้างต้น    คือยังไม่โผล่คุณค่าออกมาให้เห็น   และยังต้องทำกระบวนการเพื่อให้ทีมพี่เลี้ยงใช้เป็น และคำนวณโดยใช้สูตรเดียวกัน  และให้มีระบบข้อมูลอำนวยความสะดวกแก่ครู รวมทั้งข้อมูลในต่างโรงเรียนเชื่อมต่อถึงกันได้    เพื่อ กสศ. สามารถวิเคราะห์ correlation ของ ES กับมาตรการแต่ละแบบ ตัวแปรแต่ละตัว ได้   

ES เป็นสินทรัพย์เชิงเครื่องมือ  สำหรับใช้ยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อสรุปหรือข้ออ้างต่างๆ    คือเป็นเครื่องมือสร้าง evidence   ทั้งให้ครูใช้ประเมินผลงานของตนเอง    ใช้เป็นเครื่องมือหนุนเสริมพลังของ PLC   และสำหรับใช้สื่อสารสาธารณะ ให้มีหลักฐานยืนยันอย่างน่าเชื่อถือ   

นั่นหมายความว่า ต้องมีกลไกตรวจสอบความแม่นยำของ ES ของแต่ละทีมพี่เลี้ยง และแต่ละโรงเรียน    เราให้เกียรติ ให้อิสระแก่ครูและโรงเรียน ให้ประเมิน ES เอง     แต่ก็มีระบบสนับสนุน ช่วยยืนยันความแม่นยำ และความน่าเชื่อถือของผลการประเมินนั้น    … เชื่อและให้เกียรติ ตามด้วยการสนับสนุนให้ได้รับความเชื่อถือด้วยระบบประกันคุณภาพของ ES    

มีต่อ               

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.ค. ๖๔      

 

หมายเลขบันทึก: 691555เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2021 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2021 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท