Developmental Evaluation : 1. ประเมินเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน


DE ไม่ใช่แค่ประเมินเพื่อเรียนรู้ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อค้นหาลู่ทางสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง เป็นการประเมินเพื่อใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ประเมินเพื่อประเมิน

ผมค่อยๆ ค้นพบเครื่องมือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาเชิงระบบ ที่สังคมไทยเราอ่อนแอมาก    จากหนังสือในตระกูล Developmental Evaluation (DE) หลายเล่ม ได้แก่

เป็นเครื่องมือสำหรับขับเคลื่อนพัฒนาการเชิงระบบ    ของระบบที่ซับซ้อนและเป็นพลวัต (complex-adaptive systems)    ที่ผมเขียนถึงมาหลายปี (๑)   ในความใฝ่ฝันที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของสังคม ของบ้านเมือง    โดยก่อนหน้าผมเห็นแต่ทฤษฎี ไม่เห็นเครื่องมือ    บัดนี้ได้เครื่องมือแล้ว    จึงดีใจดั่งได้แก้ว   

ผมยังอ่านหนังสือเหล่านี้ไม่หมด    หรือยังไม่จบสักเล่มเดียว    แต่ก็พอจะจับคุณค่าของเครื่องมือที่เรียกว่า Developmental Evaluation นี้ได้    จึงนำมา ลปรร.  เผื่อจะมีคนสนใจ    โดยในตอนแรกๆ จะจับที่คุณค่าของเครื่องมือนี้    ซึ่งก็จะเชื่อมโยงสู่วิธีใช้

ในความเห็นของผม ชื่อ DE เป็นชื่อที่ผิด    เพราะชื่อมันเน้นการประเมิน    แต่คุณค่าจริงๆ อยู่ที่การเรียนรู้ (learning)    เข้าใจว่าได้ชื่อนี้ เพราะมันพัฒนามาจากการประเมิน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมิน    ชื่อที่เด่นที่สุดคือ Michael Quinn Patton    ซึ่งเมื่อเข้าไปอ่านประวัติของเขาตามลิ้งค์ ก็ได้คำมาอีกคำหนึ่งคือ utilization-focused evaluation    ซึ่งหมายถึงการประเมินในตระกูลที่เน้นการเอากระบวนการและผลการประเมินไปใช้ประโยชน์    และในบทที่ ๑ ของหนังสือ Developmental Evaluation : Applying Complexity Concepts to Enhance Innovation and Use (2012) บอกชัดเจนว่าชื่อ Developmental Evaluation เกิดขึ้นระหว่างการทำงานของท่าน

ผลประโยชน์ที่ต้องการเน้นในบันทึกตอนที่ ๑ นี้ เป็นเรื่องของการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ   ที่มี ๒ ชั้น    คือชั้นผู้ปฏิบัติงานร่วมกัน ที่เรามักเรียกว่าเป็นกระบวนการ KM – Knowledge Management หรือการจัดการความรู้    แต่ DE เข้ามาช่วยให้เกิดการเรียนรู้ชั้นที่ ๒  คือมีคนนอกที่เป็นนักประเมิน มาช่วยเก็บข้อมูลและทำกระบวนการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้กว้างขวางขึ้น มีภาคีหุ้นส่วนของงานนั้นมาร่วมเรียนรู้ด้วย    เกิดการเรียนรู้ไม่ใช่แค่ที่เป็น single-loop learning    แต่เกิดการเรียนรู้ที่เป็น multiple-loop learning    และในที่นี้เราอยากให้เกิด systems learning    ที่มีการมองการเรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ คุณค่าสูง ร่วมกัน

ระบบที่ผมคลั่งใคล้ต้องการอุทิศชีวิตช่วงสุดท้ายเข้าไปผลักดันในฐานะ “คนนอก” คือ ระบบการศึกษา ที่มีลักษณะ resistant to change สูงมาก    เฉพาะความรู้ หรือ ข้อมูลหลักฐาน ทำงานไม่ได้ผล    ต้องการเครื่องมือสร้างความสั่นสะเทือนทางใจ หรือทางอารมณ์ ร่วมกันหลายฝ่าย    และผมเชื่อว่า DE จะใช้ได้ผล    

อ่านจากหนังสือชุดนี้แล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า    ศาสตร์ด้านการประเมินได้ก้าวหน้าไปมาก    แต่ในประเทศไทยเรายังยึดติดอยู่ที่กระบวนทัศน์เก่าของการประเมิน    ที่เน้นประเมินเพื่อตัดสินว่า มีการดำเนินกิจกรรมได้ผลตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่    ที่เรียกว่าเป็น การประเมินเพื่อตัดสิน (summative evaluation)   

กระบวนทัศน์ใหม่ของการประเมิน เน้นที่การใช้กระบวนการของการประเมินเพื่อสร้างการพัฒนา    ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ developmental evaluation (DE)   และทำให้ผู้ประเมินต้องเป็นทั้งผู้ประเมิน (evaluator)  และเป็น วิทยากรกระบวนการ (facilitator) หรือกระบวนกร พร้อมกัน     ตามที่ระบุในหนังสือเล่มสุดท้ายข้างบน   

อาจเรียก DE ได้อีกชื่อหนึ่งว่า การประเมินเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง    ที่การเปลี่ยนแปลงนั้น ขับเคลื่อนโดยผู้เกี่ยวข้องกับกิจการที่ประเมินทั้งระบบ   

ผมตีความว่า DE เป็นเครื่องมือใช้ โครงการนำร่อง (pilot project)  ให้เกิดพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบ    ที่เรียกว่า “การขยายผล” (scale-up)    ในรูปแบบใหม่  มุมมองใหม่    คือมองระบบเป็นระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว ไม่ใช่ระบบที่ simple & linear   ที่ภายใต้ simple & linear mindset เมื่อโครงการนำร่องได้ผลดี ก็หวังเอาไปใช้ขยายผลตามรูปแบบตายตัว    จากการสั่งการจากเบื้องบน    ซึ่งพิสูจน์แล้วพิสูจน์เล่าในหลากหลายประเทศรวมทั้งไทย ว่าไม่ได้ผล      

กระบวนการใน DE   โดยเฉพาะในขั้นตอนการสะท้อนคิดร่วมกัน จากข้อมูลที่ทีมประเมินรวบรวมมา ภายใต้วิธีการที่แม่นยำ และคำนึงถึงบริบท    เมื่อนำมาจัดกระบวนการตีความผลตามข้อมูล โดยมีสมาชิกจากทุกภาคส่วนของระบบนั้นๆ เข้าร่วมกระบวนการ    ผู้ประเมินที่ทำหน้าที่กระบวนกร  จะสร้างเป้าหมายร่วม ว่าการประเมินและกระบวนการตีความ มีเป้าหมายสำคัญที่ผลกระทบต่อสังคมหรือบ้านเมือง    เลยจากผลประโยชน์ของกิจการนั้นและส่วนอื่นๆ ของระบบ    แต่ในการตีความผู้เข้าร่วมตีความจากมุมมองของหน่วยงานหรือวงการของตนได้    เพื่อเวทีสะท้อนคิดจะได้รับมุมมองที่หลากหลาย    แล้วในที่สุดกระบวนกรจะต้องดำเนินการกระบวนการสะท้อนคิดสู่ข้อสรุปว่า ผลการประเมินให้ความรู้ความเข้าใจอะไรบ้าง    และนำไปสู่ข้อเสนอแนะให้มีการเปลี่ยนแปลงที่จุดใดบ้างในระบบ  และเปลี่ยนแปลงสู่สภาพใด   

จะเห็นว่า DE ไม่ใช่แค่ประเมินเพื่อเรียนรู้ร่วมกันเท่านั้น    แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อค้นหาลู่ทางสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง    เป็นการประเมินเพื่อใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ประเมินเพื่อประเมิน

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ก.ค. ๖๓

หมายเลขบันทึก: 680315เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2020 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2020 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท