ปัญหาจิปาถะของท้องถิ่นขนาดเล็ก


ปัญหาจิปาถะของท้องถิ่นขนาดเล็ก

23 กรกฎาคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) คือยุคทองของท้องถิ่น

การปกครองท้องถิ่นไทย ถือกำเนิดเริ่มจากยกฐานะ “สุขาภิบาลท่าฉลอม” [2] (ปัจจุบันเทศบาลนครสมุทรสาคร) จังหวัดสมุทรสาคร ในปี 2448 นับเวลาได้ 118 ปี แต่พัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของไทยยังล้มลุกคลุกคลานไม่ก้าวหน้า ในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 “ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน” เป็น “ยุครุ่งเรืองยุคทอง” [3] เพราะมีการตรากฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนในการกระจายอำนาจขึ้นในปี 2542 ที่ต่อเนื่องจากกฎหมายสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (ใช้บังคับตั้งแต่ 2 มีนาคม 2538) ที่มีการยกฐานะสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จนครบทั่วประเทศในปี 2538-2542 และมีการเปลี่ยนรูปแบบสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากนายก อปท.ที่มาจากสภา เป็นนายก อปท.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ในปี 2543-2546 ที่เรียกว่า “การบริหารแบบสภาและผู้บริหารที่มีอำนาจมาก” (Strong - Executive) หรือ “รูปแบบนายกเทศมนตรีเข้มแข็ง” (The Strong Mayor Form) [4] ทั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 

 

ตำนานสามทหารเสือ  

คือ “ปลัด-คลัง-ช่าง” อบต.รุ่นบุกเบิก แปลงมาจาก “ครูคลังช่างหมอ” สี่งานหลักในการพัฒนาชนบท (Rural Development) ได้มีการยกฐานะสภาตำบลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท [5] ขึ้นเป็น อบต. ครบทั่วประเทศ มีการบรรจุเจ้าหน้าที่รุ่นแรกในช่วงปี 2540-2542 ที่เรียกฉายาว่า “สามทหารเสือ” ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เพราะมีการยกฐานะ อบต.รุ่นแรกปี 2538 จำนวน 1,617 แห่ง [6] อบต.รุ่นที่สองต้นปี 2539 จำนวน 2,143 แห่ง [7] อบต.รุ่นที่สามปลายปี 2539 จำนวน 3,637 แห่ง [8] รวมทั้งสิ้น 6.397 แห่ง

ในที่นี้ขอเสนอปัญหาการบริหารจัดการพัฒนาภายในจิปาถะที่พบเห็นบ่อยหลากหลายของ อปท.ขนาดเล็ก เช่น อบต.ที่มีจำนวนมากที่สุดใน ที่ควรพิจารณาแก้ไขเร่งด่วน อาทิเช่น

 

ภาพรวมปัญหาการบริหารจัดการพัฒนาท้องถิ่น 

(1) ปัญหาการทุจริตครบวงจร การทุจริตคอรัปชั่น มีทุจริตเชิงนโยบาย เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง (พัสดุ)งบประมาณไม่เกิน 5 แสนบาท [9] ผู้บริหารรวมหัวหน้าฝ่ายประจำ มีพฤติกรรมชงเองกินเอง มีปัญหาผู้นำกินหัวคิวหักหัวคิว รวมทั้งการจัดสรรงานจ้างให้พวกพ้อง หรือการทับซ้อนในผลประโยชน์ ฯลฯ เป็นต้น กระบวนการยุติธรรม ต้องทำงานรวดเร็ว สตง. ปปช. ปปท. เมื่อทุจริตต้องเด็ดขาด รวดเร็วบางแห่งใช้เวลา 10 ปี ยังไม่ตัดสินชี้มูล หรือตัดสินแล้ว ผู้กำกับดูแลมิได้ดำเนินการสอบสวนถอดถอน ทำให้นักการเมืองไม่เกรงกลัว หรือ หากนายกฯ ถูกชี้มูลเรื่อง ทุจริต ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ กฎหมายที่เอาผิดนักการเมืองควรเป็นบทหนัก ไม่ใช่เอาหนักเฉพาะกับข้าราชการฝ่ายประจำ

(2) ปัญหาเอกสารสิทธิ์ [10] เนื่องจาก อบต.ชนบทหลายแห่งเป็นเขตพื้นที่ป่า หรือป่าสงวน มีปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ทำกิน ราษฎรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน (โฉนด หรือ น.ส.3)

(3) ปัญหาการจัดการขยะ โดยเฉพาะ อปท. ที่เป็นเขตเมือง ไม่มีที่ทิ้งขยะ รวมทั้งขยะพิษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะติดเชื้อ เป็นต้น โดย “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร” [11] (Clusters) กรม สถ. 2561

(4) ปัญหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ว่าจะหาน้ำจากที่ใด บริหารการจัดการน้ำ น้ำท่วมเมือง การวางระบบท่อ การไหลเวียนของน้ำ ฯ ด้วย และ รวมปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า สาธารณูปโภคสาธารณูปการอื่น ฯ มีการถ่ายโอนถนนลาดยางที่ต้องคืนให้กรมทางหลวง เพราะ เกินศักยภาพ อบต. ต้องใช้เงินเยอะ ไม่มีงบซ่อม ยกเว้น อบต./ทต.ใดที่ผู้บริหารมีคอนเน็กชันกับนักการเมืองระดับประเทศจึงจะได้งบมาซ่อมแซมปรับปรุงถนน ภารกิจถ่ายโอนมา อปท. แต่บุคลากร อปท.ไม่พอ ระเบียบปฏิบัติเปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่มาตรฐาน เพราะมีการยกเว้น ผ่อนปรน จนอาจเสียศูนย์ หรือมีปัญหาทางปฏิบัติ

(5) ปัญหารายได้ อปท.ทั้งที่จัดเก็บเองและรัฐจัดสรรให้มีไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เพราะ รัฐบาลลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภดส.) มาก ท้องถิ่นปัจจุบัน รายได้จึงลดลงมาก [12] ขาดงบบริหารจัดการ ขาดงบพัฒนาท้องถิ่น มีแต่แผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี แต่ไม่มีเงินงบประมาณพัฒนาเพียงพอ โดยเฉพาะใน อปท.ขนาดเล็ก เพียงพอเฉพาะรายจ่ายประจำเท่านั้น สำหรับการใช้จ่ายเงินสะสม ก็มีน้อย หรือนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นตามนโยบายรัฐบาล เมื่อชาวบ้านเดือดร้อนจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อปท.บางแห่งถูก สตง.ตรวจสอบการจ่ายเงินสะสมผิด สตง.ไม่ให้ใช้เงินสะสม ต้องมีการคืนเงินสะสม เช่น สภาและผู้บริหารฯ จ่ายเกิน หรือ จ่ายโดยไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมายโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ทำให้การปิดงบดุลประจำปีไม่ได้มาหลายปีแล้ว

(6) ปัญหาความยากจน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท [13] ยังไม่มีการปรับขึ้น รัฐบาลควรทำทันที เป็นปัญหาเรื้อรังมานานตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2554-ปัจจุบัน เช่นเขตเศรษฐกิจ เขตเมืองใหญ่ฯ เพราะ น้ำมันที่ปรับขึ้น ให้ปรับลงทุกชนิด ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับขึ้นทุกชนิดต้องควบคุม ทำความเป็นอยู่ในเศรษฐกิจชาวบ้านรากหญ้า ส่งเสริมเศรษฐกิจ อาชีพ พืชผลการเกษตร การค้าขาย ให้คนประชาชนมีรายได้ อยู่ดีกินดี ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล การพัฒนา ต้องพัฒนาคนเป็นอันดับแรก สร้างงาน สร้างอาชีพโดยเร็ว ต้องมองความสำคัญของคนเป็นหลัก นี่คือผู้นำที่แท้จริง

(7) ขั้นตอนการจัดซื้อจ้างมีแต่หลักฐานยุ่งยากไม่ลดขั้นตอน สร้างปัญหาให้ผู้ปฏิบัติงาน นี่ขนาดยุ่งยากก็ยังมีการทุจริตกันได้ ก็เพราะมีช่องทางการทุจริตมาก ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติลำบากใจ ปัญหานี้ต้องแก้ที่กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง บางอย่างเห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพราะ ขั้นตอนยุ่งยากแล้วยังไม่พอ ต้องระวังพวกชงเองกินเอง มีส่วนได้เสีย ต้องระวังการทำผิดระเบียบ ผิดกฎหมายฮั้ว การล็อกสเปก การเอื้อประโยชน์ฯ ตามมาตรา 12 [14] ฯลฯ เป็นต้น ยกตัวอย่างปัญหา เช่น การลดขั้นตอนพัสดุ ควรมีระบบยืมเงินพร้อมส่งใช้ โดยการกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้าง(ไม่เกิน)ไว้ โดยนำใบเสร็จร้านที่เข้าระบบ เป็นหลักฐานคืนเงิน ปัญหาระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนฯ ปัญหาการส่งเสริมพัสดุผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ตามหนังสือสั่งการ ว 89 มีขั้นตอนพัสดุเบิกจ่ายที่ลำบากมากขึ้น ควรแก้ไขให้สะดวก ง่าย ผ่อนปรนดูที่ความสะดวก สมประโยชน์ คุ้มค่า และเจตนา ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก

(8) ปัญหาการควบคุมติดเชื้อโคโรนา (โควิด 19) เช่น ในเขตเมือง เขตที่มีโรงงานอุตสาหกรรม มีพนักงานติดโควิดมาก แต่ขาดมาตรการป้องกันควบคุมที่ดี มีมารับคนไข้ออกไป แต่ไม่มีการพ่นยา เกรงการแพร่กระจายของโรคมาติดเด็กข้างนอกอันตรายมาก ในการเปิดชั้นเรียน หรือ ศพด. 

(9) ปัญหาระบบแผนหนึ่งเดียว (One Plan) [15] เช่น แผนพัฒนาท้องถิ่น (16.1) จะต้องเอาแผนแม่บทชุมชนหรือหมู่บ้านไปบรรจุไว้ในแผนตำบล แล้วบรรจุไปไว้ในเทศบัญญัติ (16.2) ไม่ใช่บรรจุแผนเอาตามนโยบายของผู้บริหาร (16.3) แผนจะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อจัดความสำคัญของโครงการ ก่อนหลังตามความแร่งด่วน ไม่ใช่เขียนตั้งไว้เฉยๆ เต็มไปหมดแล้วจัดทำโครงการไม่ได้

(10) อปท. มีจำนวนมากที่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ขาด งบประมาณ และศักยภาพการบริการจัดการบริการสาธารณะ เพื่อการพัฒนาให้ประชาชนในพื้นที่ ควรมีการ “ควบรวม อปท.” [16] (Amalgamation, Merging Local Unit) อบจ.ควรเปลี่ยนโครงสร้าง บทบาทหน้าที่เสียใหม่ หรือ สมควรยุบเพราะไม่มีพื้นที่พัฒนา ไม่ใช่การจัดสรรให้งบ อบจ.ปีละมากๆ เพื่อไปทำในเขตพื้นที่เทศบาลหรือ อบต. ควรจัดงบลงโดยตรงเทศบาลหรือ อบต. เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ ย่อมรู้ปัญหาความเดือดร้อนของตนดีกว่า ควรมีราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นเท่านั้น เหมือนเช่นญี่ปุ่นที่ทำมานานแล้ว เพราะว่า ปัญหาความไม่เข้าใจและตระหนักในหน้าที่และอำนาจในการปกครองครองส่วนท้องถิ่น ที่ส่วนกลางส่วนภูมิภาคเข้าไปมีความรับผิดชอบ ก้าวก่าย ควบคุมบังคับบัญชา ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนนำไปสู่ปัญหาท้องถิ่นอื่นตามมาไม่รู้จบ

(11) สุดยอดของปัญหาที่ทับถมสะสมกันมาที่สุดยอด เช่น ปัญหางบประมาณที่ล่าช้า กระบวนการ red tape ควรยกเลิกการรายงานในระบบต่างๆ ที่ต้องรายงานต่อกรม ปัญหาการรายงานที่ซ้ำซาก ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อ​ อปท.แต่หน่วยงานอื่นเอาไปใช้เป็นผลงานตัวเอง ปัญหาการประเมินที่ซ้ำซ้อน ปัญหาการสั่งการที่คลุมเครือ ปัญหาการรายงานเร่งด่วนสั่งตอนเช้า จะเอาตอนเที่ยง ปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติในการทำงานมีมากทุกกระทรวง ทบวง กรม การกระจายอำนาจขอให้กระจายจริงมิใช่กระจายเพียงชื่อ หรือกระทรวง กรมอื่นกระจายงานให้ทำ ในระบบรายงานต่างๆ เช่น ELAAS, e-GP ฯลฯ เป็นต้น

(12) รัฐบาล จงใจเลี้ยงนักการเมืองท้องถิ่นเอาไว้เป็นฐานเสียงเชิง "ประชานิยม" ตุนคะแนนเลือกตั้งฝ่ายรัฐบาลในสมัยหน้า เช่น ออกระเบียบข้อยกเว้น อำนาจวงเงินผู้บริหารท้องถิ่นในการจัดซื้อจัดจ้างวิธีเฉพาะเจาะจงจากวงเงิน 100,000 บาท [17]เป็น 500,000 บาท จึงมีการแบ่งซอยโครงการเหลือไม่เกิน 500,000 บาท เป็นการผูกขาดผู้รับเหมา ล็อกสเปก เอื้อประโยชน์ ฯ ใครให้ส่วนต่างเงินทอนดีกว่าก็เอาคนนั้น กระทบต่อคุณภาพประสิทธิภาพของงานซื้องานจ้าง สูญเสียงบฯ ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มทำโครงการด้วยซ้ำ ส่งผลกระทบต่อนายช่างหรือผู้ควบคุมงานจ้าง(ก่อสร้าง) ข้าราชการผู้ตรวจรับงานจ้างเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ (สตง. ป.ป.ช. ป.ป.ท.) มาตรวจสอบ ควรยกเลิกวงเงินอำนาจการพัสดุเท่าเดิมเพียง 100,000 บาท นายกฯ ต้องมีความรู้เรื่องกฎหมายจัดชื้อจ้างและต้องมีคุณธรรม

(13) ให้ลดบทบาทอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ในการกำกับดู หรือการควบคุมลง หรือ ควรมีมาตรการ ดำเนินการกรณีที่ผู้กำกับดูแลฯ ละเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการตามกฎหมาย หรือ ผู้กำกับดูแลใช้อำนาจเกินกฎหมายกำหนด เป็นต้น ในทางกลับกัน มีปัญหาว่าทุกหน่วยงานราชการสั่งใช้และขอทั้งงบทั้งคนของ อปท.ได้ โดยนายกฯและปลัด ที่ไม่เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายบัญญัติ หรือด้วยความเกรงใจ อยากออกหน้า ฯลฯ ซึ่งไม่ถูกต้องและอาจผิดกฎหมายด้วย 

(14) ชาวบ้านอยากมีการเลือกตั้ง อบต. ใจจะขาดแล้ว เพราะไม่ได้เลือกตั้งมานานมากกว่า 7-10 ปีแล้ว อยู่กันแบบเดิมมานานพอแล้ว จึงมีแต่ปัญหาจนแก้ไม่ได้ ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งนั่นแหละ จึงจะได้แก้ปัญหาตรงจุด อาจเหมือนกันเกือบทุก อปท. โดยเฉพาะ อปท.เล็กๆ ที่นายกอยู่ยาวนาน บางคนจึงไม่ค่อยสนใจงานพัฒนา ต้องจัดการเลือกตั้งโดยด่วน และให้มีเลือกตั้งทุก 4 ปี

 

ปัญหาเรื้อรังการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น 

(1) ข้อสังเกตองค์กรกลางบริหารงานบุคคล [18] (CPO : Central Personnel Organization or CPA : Central Personnel Agency) หรือที่เรียกย่อว่า “ก. กลาง” รวม 3 ก. คือ ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. และ ก. จังหวัดทั้ง 228 แห่ง (76x3=228 แห่ง) คือตัวปัญหา ควรยุบรวมเหลือเพียง ก. เดียว ที่เหลือ ก.จังหวัดให้เป็น “อนุ ก.” (ผู้ช่วยเหลือ) ทั้งหมด เพราะ องค์กรกลางต้องมีเอกภาพ และ มีลักษณะโครงสร้างองค์กรเป็นแบบ "คณะกรรมการอิสระ" ที่เรียกว่า "Commission" มิใช่ "Committee"

 (2) ปัญหาผู้บริหารมีอำนาจมากเกินไป (Tremendous) มากจนข้าราชการต้องยอม มิเช่นนั้นจะเสียสิทธิเจริญก้าวหน้า เช่น อำนาจการบริหารงานบุคคล งานพัสดุฯ การตัดสินใจอยู่ที่นายกคนเดียว เห็นว่าการบริหารงานบุคคลควรเป็นอำนาจของปลัดท้องถิ่นช่วยกลั่นกรอง ตรวจสอบตามระเบียบฯ อปท.หลายแห่งบุตรหลานผู้บริหารท้องถิ่นเต็มสำนักงาน การสั่งการบังคับบัญชาไม่มีวินัยสั่งการยาก บริหารงานคนล้นเกินงาน แต่งานจริงก็ยังขาดอยู่ เพราะเอาคนไม่ตรงงานมาอัดไว้เกิน เป็นปัญหาในแต่ละท้องที่ไม่เหมือนกัน เพียงแต่ฝ่ายบริหารจะเริ่มแก้ไขให้หรือไม่ อย่างไร แต่ก็ไม่ทำ 

 (3) ขาดความยุติธรรมตามระบบคุณธรรมมากที่สุด ขาดความก้าวหน้าในสายงาน ขาดการ “เติบโตตามสายงานอาชีพ” (Career Path) [19] ความก้าวหน้าในสายงานไม่มีอยู่จริง ย้ายยาก ปัญหาการพิจารณาความดีความชอบ มีการเลือกปฏิบัติ ผู้นำ ผู้บังคับบัญชา หัวหน้างานต้องเป็นกลางอย่าลำเอียง ปัญหาข้าราชการที่ไม่สนองนโยบายโดนกลั่นแกล้ง ถูกแป๊กขั้น ไม่เลื่อนระดับ ไม่ให้กำหนดกรอบตำแหน่งชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ ชำนาญงาน อาวุโส เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานดีเพียงใดก็ถูกตำหนิ แม้พยายามอดทนเพื่อให้การเลือกตั้งผ่านไปได้นายกคนใหม่อาจจะดีขึ้น แต่ก็ได้แต่เฝ้ารอการเลือกตั้ง อบต.ที่จะมีขึ้นอีกนาน สุดท้ายก็ต้องย้ายหนี ชำนาญการก็ไม่ได้ทำ เพราะย้ายไปตำแหน่งที่ไม่เกื้อกูล ข้าราชการสายงานผู้บริหาร ปลัด ผอ.กอง เป็นคนของนักการเมือง ข้าราชการสายปฏิบัติอยู่ยากมีทางเดียวคือย้ายออก 

(4) ขาดบุคลากรตามกรอบอัตรากำลัง เช่น ผอ.กอง พัสดุ ช่าง จัดเก็บรายได้ฯ มีไม่ครบ บริบทของผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานจ้าง บางรายยังไม่เข้าใจข้อกฎหมายและหน้าที่ของตนเอง ยังมีระบบเส้นสายอุปถัมภ์เด็กฝาก หรือได้ตำแหน่งแต่ไม่เหมาะสมกับปริมาณงานที่ทำ (ไม่ทำงาน) การขาดบุคลากรเฉพาะทางนายช่างโยธาควรสรรหาด่วนที่สุด ขาดอัตราตำแหน่งสายงานผู้บริหารที่ว่างนานมาก การชะลอสอบยิ่งยาวนาน ควรให้มีโอนย้ายก่อน (ปลดล็อกตำแหน่ง) ปัญหาบุคลากรส่วนเกิน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกินจำเป็น เพราะการกำหนดกรอบโครงสร้างที่ไม่สมดุล เช่น พนักงานจ้างหรือลูกจ้าง (เหมาบริหาร)

(5) ปัญหาสมรรถนะ ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ เช่น สมรรถนะต่ำ ทำงานไม่เป็น ทำเฉพาะเรื่องเอาหน้า ออกอีเวนต์ หาผลประโยชน์ส่วนตน นิยมทุจริต คนล้นงาน เจ้าหน้าที่เช้าชาม เย็นชาม หลายคนขี้เมา ขาดขวัญกำลังใจ นายช่างเป็นผู้รับเหมา ไม่มีวินัย ชู้สาว มาสาย ขาดความรับผิดชอบ ฯลฯ ในสายงานผู้บริหารฝ่ายประจำ เป็นเจ้าที่อยู่โยงนานเกินไป ผูกขาด อิทธิพล รากงอก ฯลฯ ควรย้ายทุกรอบ 4 ปีป้องกันการสร้างฐานอำนาจที่ฉ้อฉล การอบรมข้าราชการบรรจุใหม่จำเป็นยิ่งและมีหลักสูตรที่ชัดเจน

(6) ตามหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเปิดเผยจำนวนกรอบอัตรากำลัง และอัตราว่างของแต่ละท้องถิ่น เพื่อป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย ช่วยเหลือพวกพ้อง ระบบอุปถัมภ์ ฯลฯ เช่น ข้าราชการ ก.พ.มีการเผยแพร่ประกาศเปิดเผย แต่กรณีท้องถิ่นไม่มีเผยแพร่ เพราะเหตุใด

 

หลายปัญหาข้างต้นเป็น “ปัญหาโลกแตก” เดิมๆ ของท้องถิ่น ทางออกที่ขอนำเสนอก็คือ ท้องถิ่นต้อง (1) มี “ประมวลกฎหมายท้องถิ่น” [20] และ (2) มี "สำนักงานคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ" (สทช.) [21]


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 23 กรกฎาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/259880 

[2]สำหรับสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของเมืองไทย ถือกำเนิดเกิดขึ้นที่ "ท่าฉลอม" จังหวัดสมุทรสาคร (The first provincial sanitation district of Thailand) ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) โดยตั้งคณะกรรมชุดแรก ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคนในพื้นที่รวมกัน 9 คน

ดู เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของเมืองไทย มีที่มาอย่างไร จัดมาให้อ่านกันจ้า, 2563, 

https://khunnaiver.blogspot.com/2020/07/The-first-provincial-sanitation-district-Thailand.html 

& ท่าฉลอม” สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของประเทศไทย, ท่าฉลอม” สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของประเทศไทย, http://www.smsmba.ru.ac.th/index_files/NR/Ferryboat%20Service/14%20Appindix%204.pdf 

[3]120 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย (พ.ศ.2440-2560) : พัฒนาการ และเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของรัฐไทย(120 Years of Thai Local Administration (2440-2560 B.E.): Evolution and Historical Conditions of Thai State) : Thai JO by T Mala, 2017, ไททัศน์ มาลา (Titus Mala), มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, ใน ThaiJO, วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2560), https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-peace/article/download/79287/pdf_15/

[4]การปกครองครองท้องถิ่นในต่างประเทศ โดย ชำนาญ จันทร์เรือง, 2563, https://pubadm.crru.ac.th/pub_web2020/pubfile/toky/การปกครองท้องถิ่นในต่างประเทศ.pdf 

[5]พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 40 สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทหรือตามเกณฑ์รายได้เฉลี่ยในวรรคสองอาจจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลได้ โดยทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในประกาศนั้นให้ระบุชื่อและเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลไว้ด้วย

การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์รายได้เฉลี่ยของสภาตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

[6]ประกาศ มท. เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ลงวันที่ 2 มีนาคม 2538 ตามมาตรา 40 และมาตรา 95, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 6 ง ลงวันที่ 3 มีนาคม 2538 หน้า 1-63, (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2538/E/006/1.PDF 

[7]ประกาศ มท. เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ลงวันที่ 19 มกราคม 2539 ตามมาตรา 40 และมาตรา 41, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เล่ม 113 ตอนที่ 9ง ลงวันที่ 30 มกราคม 2539 หน้า 5-219, (มีผลเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป), http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER19/DRAWER023/GENERAL/DATA0000/00000069.PDF  

[8]ประกาศ มท. เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2539 ตามมาตรา 40 และมาตรา 41, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 52 ง ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 หน้า 1-365, (มีผลเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2539/E/052/1.PDF  

[9]การจัดซื้อครุภัณฑ์วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง กรณีตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 (2) (ข) วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท

วิธีเฉพาะเจาะจง(ระเบียบฯ ข้อ 78 - 81 และ พ.ร.บ.มาตรา 56 (2) ) ได้แก่ วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติ ตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคา รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ออกตามความในมาตรา 96 วรรคสอง

[10]ข้อมูลเก่าตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 กำหนดเป้าหมายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการใช้ประโยชน์ โดยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ ตลอดจนลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดิน ที่มีปัญหาต่างๆ ได้แก่ ดินเปรี้ยว ดินเค็ม และดินขาดอินทรีย์วัตถุ ไม่น้อยกว่าจำนวน 10 ล้านไร่ ในปี 2542 หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรืออุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะไปทับซ้อนที่ทำกินของเกษตรกร ย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่ยากจน แผนงานดังกล่าว ยังขาดแนวทางและวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน อีกทั้งยังมิได้ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้ทราบอย่างทั่วถึง 

4.3 การจัดการปัญหาการถือครองที่ดินและที่ทำกินในเขตที่ดินสงวนหวงห้าม

4.3.1 กรณีที่ดินที่ราษฎรเข้าไปทำกิน ก่อนมีการประกาศเป็นเขตที่ดินสงวนหวงห้าม

ก. การมีสิทธิในที่ดินทำกินเพื่อเลี้ยงชีพ มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศ จึงจำเป็นที่รัฐพึงจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนที่ไร้ที่ทำกิน เนื่องจากกรณีดังกล่าวในสถานที่และจำนวนที่เหมาะสม ตามศักยภาพและสมรรถนะของที่ดินพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า

ข. ปัญหาเกี่ยวกับหลักฐานกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือการถือครองที่ดิน อันเกิดจากการประกาศทับซ้อนที่ทำกินของราษฎร รัฐควรรีบเร่งตรวจสอบสิทธิ์ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งนี้รัฐควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สอบสิทธิ์ โดยการนำพยานหลักฐานอื่นๆ อาทิเช่น ตอไม้ พันธุ์ไม้ มาสอบสิทธิ์ได้ ไม่ใช่จากภาพถ่ายทางอากาศเพียงอย่างเดียว 

ดู การแก้ปัญหาสิทธิที่อยู่และที่ดินทำกิน, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ข่าวเศรษฐกิจ InfoQuest, 29 ธันวาคม 2547, https://www.ryt9.com/s/ryt9/162366

& การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยชุมชนท้องถิ่นในโครงการสนับสนุนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบท ปี 2558, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2558, https://ref.codi.or.th/attachments/article/33/report_landfix2558_131158.pdf 

[11]เพื่อผลักดันให้มีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ดู หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0810.5/ว 4593 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2561 เรื่อง การจัดตั้ง “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2018/8/20347_1_1534489620747.pdf?time=1534506815785    

[12]หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.3/ว 1467 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 เรื่อง การตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2563, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2021/7/25719_1_1625831616479.pdf 

[13]รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีนโยบายเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ในระยะแรกมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นำร่องก่อน 7 จังหวัดที่มีความพร้อม คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี ภูเก็ต (นำร่อง 1 มกราคม 2555) และ นโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบ จากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อภาคการผลิตว่า หากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 การปรับค่าจ้างครั้งล่าสุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้น

“นิด้าโพล” ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท” พบว่าผลเสียคือราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะปรับตัวสูงขึ้น ธุรกิจ/ผู้ประกอบการอาจขาดทุนหรือเลิกกิจการ อัตราคนว่างงานเพิ่มขึ้น นายจ้างลดพนักงาน มีการจ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ดำเนินธุรกิจส่งออก เป็นต้น

ข้อเสนอแนะเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐ ในมาตรการของภาครัฐเพื่อเยียวยาผลกระทบ 2 แบบ คือ (1) มาตรการให้การสนับสนุนทางการเงิน และ (2) มาตรการทางด้านภาษี

คณะผู้วิจัยเสนอทางเลือกในการบรรเทาผลกระทบและปัญหาดังกล่าว ดังนี้

(1) รัฐบาลปรับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นให้กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีโดยอัตโนมัติ

(2) รัฐบาลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นขั้นบันได 2 ขั้น (โดยใช้มติของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง)

(2.1) ปีแรก (ปี 2556) ปรับเพิ่มค่าจ้าง 27-55 บาทให้กับแรงงาน 18 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ (12 จังหวัด) อยู่ในภาคกลาง

(2.2) จังหวัดที่ได้ขึ้นค่าจ้าง 300 บาทไปแล้ว 7 จังหวัด ต้องขึ้นค่าครองชีพให้โดยอัตโนมัติตามดัชนีค่าครองชีพ เช่น กรุงเทพฯ ในปี 2556 จะเพิ่มเป็น 311 บาท นครปฐม 309 บาท นนทบุรี 313 บาท ปทุมธานี 314 บาท ภูเก็ต 317 บาท สมุทรสาครและสมุทรปราการ เพิ่มเท่ากัน คือ 318 บาท

(2.3) ปีที่สอง (ปี 2557) จะขึ้นให้จนครบ 300 บาททุกจังหวัด โดยจะมีอีก 52 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (20 จังหวัด) ภาคเหนือ (15 จังหวัด) และภาคใต้ (10 จังหวัด)

สำหรับจังหวัดที่ขึ้นค่าจ้างเกินไปแล้ว ก็ต้องมีการปรับค่าครองชีพให้โดยอัตโนมัติเช่น กรุงเทพฯ ปี 2556 อยู่ที่ 311 บาท ถ้าค่าครองชีพเพิ่มจากปี 2556 ประมาณร้อยละ 4 ค่าจ้างขั้นต่ำจะกลายเป็น 323 บาทในปี 2557

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามค่าครองชีพ เพื่อมิให้แรงงานยากจนกว่าเมื่อปีก่อนเท่านั้น ยังมิได้พิจารณาผลิตภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น (หรือเรียกว่าค่าจ้างคุณภาพ) ซึ่งนายจ้างเพิ่มเงินเดือนให้ได้ ข้อดีของทางเลือกนี้คือไม่เป็นภาระของผู้ประกอบการมากเกินไป และอำนาจซื้อของลูกจ้างก็ไม่ลดลง

ดู ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันและเงินเดือนปริญญาตริ 15,000บาท, รายงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ฉบับที่ 101 เดือนมีนาคม 2557, 

https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2014/04/wb101.pdf 

& ลูกจ้าง7จว.เฮนำร่องค่าแรงขั้นต่ำ300บ., โพสต์ทูเดย์, 5 กันยายน 2554, https://www.posttoday.com/social/general/109011 

& การประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที 7), ส่านักงานคณะกรรมการค่าจ้าง สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน, https://www.mol.go.th/wp-content/uploads/sites/2/2019/07/Wage_MOL_2556_v1_for22Nov2012.pdf 

& คำชี้แจงประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที 7), ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป, ตุลาคม 2555, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER7/DRAWER067/GENERAL/DATA0000/00000016.PDF  

[14]พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

มาตรา 12 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท 

[15]แผนหนึ่งเดียว เป็น “การเชื่อมโยงและบูรณาการแผนระดับนโยบายสู่แผนในระดับพื้นที่(One Plan) หรือ ” การจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ ให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันในทุกระดับจนเกิดเป็นแผนเดียวกัน (One Plan) หรือ “การจัดทำ และประสานแผนพัฒนาในระดับพื้นที่เป็นลักษณะแผนเดียวกัน“ (One Plan) ทั้งนี้ เพื่อให้แผนมีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันในทุกระดับเป็นแผนเดียวกัน (One Plan)เกิดการบูรณาการการจัดแผนในระดับพื้นที่ตั้งแต่ต้น

ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐข้อ 4.2 กำหนดให้ภาครัฐบริหารงานแบบบูรณาการโดยมียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายและเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกระดับ ทุกประเด็น ทุกภารกิจ ทุกพื้นที่ ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ.2562 โดย คณะกรรมการบริหารงานตำบลแบบบูรณาการ (ก.บ.ต.)

ดู การบูรณาการเชื่อมโยงแผนการพัฒนาพื้นที่ ONE PLAN : สถานการณ์และปัญหาของเศรษฐกิจในระดับฐานราก,อัจฉราวรรณ มณีขัติย์ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน, 2562, https://district.cdd.go.th/nikhomkhamsoi/wp-content/uploads/sites/511/2019/09/ONE-PLAN_CDD.pdf

& ยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่นในมิติใหม่, สยามรัฐออนไลน์, 31 สิงหาคม 2562, https://siamrath.co.th/n/99974 

& ONE PLAN โดย โคมขวัญ (Khwannapa Sukkorn), 3 กรกฎาคม 2563, https://www.facebook.com/Dr.Khwan/posts/157163315972913/  

[16]การควบรวม (Amalgamation, Merging Local Unit) อปท.ขนาดเล็กๆ เข้าด้วยกันเพื่อประสิทธิภาพในการจัดบริการสาธารณะ ซึ่งธนาคารโลก (นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการ ธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ได้จัดทำรายงานเสนอไว้ เมื่อปี 2555 ว่า มีปัญหาความเหลื่อมล้ำการจัดสรรงบประมาณ กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ขณะที่การกระจายอำนาจยังไม่มีประสิทธิภาพ แนะควบรวม อปท. ขนาดเล็ก แต่ระบบของไทยคงทำลำบาก ซึ่งถ้าไม่ควบรวมกัน ธนาคารโลกก็มีทางเลือกอื่นเพื่อทำให้เกิดการประสิทธิภาพการบริการสาธารณะ

ดู เปิดรายงานธนาคารโลก ชี้ประเทศไทยบริหารงบประมาณรัฐบาลกลาง-ท้องถิ่น ไร้ประสิทธิภาพ สร้างความเหลื่อมล้ำ, thaipublica, 11 พฤษภาคม 2555, https://thaipublica.org/2012/05/world-bank-report-the-federal-budget-local/

& สรณะ เทพเนาว์, รวมทัศนะความคิดเห็นเรื่อง การยุบเลิก อปท., 15 กุมภาพันธ์ 2558, ใน ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22585 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ, http://www.gotoknow.org/posts/586151

[17]แต่เดิมใช้ อปท.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 12 การซื้อหรือการจ้างกระทำได้ 5 วิธี คือ (1) วิธีตกลงราคา ... ข้อ 13 การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท

ต่อมา เพื่อความคล่องตัวสอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยออกหนังสือให้ขยายระยะเวลากำหนดวงเงินวิธีการจัดหาพัสดุ โดยยกเว้นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กระทรวงมหาดไทย ตาม ข้อ 4 ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดวงเงินการซื้อหรือการจ้าง ดังนี้ 

- วงเงินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาไม่เกิน 500,000 บาท 

ดู ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 แก้ไขฉบับที่ 10 พ.ศ.2558, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 230 ง วันที่ 25 กันยายน 2558 หน้า 1, https://www.obtnongpan.go.th/index/load_data/?doc=9939 

& หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว5347 ลงวันที่ 20 กันยายน 2559 เรื่อง การขยายระยะเวลากำหนดวงเงินวิธีการจัดหาพัสดุ โดยยกเว้นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว1856 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2559 เรื่อง การขยายระยะเวลากำหนดวงเงินวิธีการจัดหาพัสดุ โดยยกเว้นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2016/9/17198_1_1474356153482.pdf

[18]“องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ” หมายถึง หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เสนอแนะเพื่อกำหนดนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐในภาพรวม และ/หรือกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ และ/หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐถือปฏิบัติ ตลอดจนกำกับติดตามการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนราชการและ/หรือหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามนโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และ/หรือเงื่อนไขดังกล่าว

ดู องค์กรกลางบริหารงานบุคคลทางการศึกษา โดย  กล้า ทองขาว (ผู้เขียน), 2553, https://www.dpu.ac.th/ces/upload/km/1377584911.pdf 

& ประเด็นร่าง พรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 8 : ปัญหาสำคัญในมุมมองจากองค์กรกลาง, 

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย โดย Phachern Thammasarangkoon, 28 ธันวาคม 2560, https://www.gotoknow.org/posts/643678  

& องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐมีแต่คณะกรรมการเท่านั้นหรือ ? โดย วิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์, ในประชาไท, 25 พฤษภาคม 2561, https://prachatai.com/journal/2018/11/79572 

[19]Career Path หมายถึง เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ อธิบายง่ายๆ คือ เราเริ่มต้นทำงานใน ตำแหน่งใด จากตำแหน่งนี้เราจะเติบโตไปเป็นอะไรได้บ้าง สูงสุดแล้วเราอยากเป็นอะไร อยากไปถึงไหน ซึ่งเมื่อมีเป้าหมายแล้ว เราควรมีการวางแผนเส้นทางเดินว่าเราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไรด้วย

ภายใต้กรอบการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management : HRM) การพัฒนาบุคลากร หมายถึง การเพิ่มเติมความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และการปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีความเชี่ยวชาญในการทำงานมากขึ้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานด้วยความสุข ด้วยการส่งเสริมอุดมการณ์และทำความเข้าใจกับภารกิจขององค์กร โดยใช้เครื่องมือการบริหารทรัพยากรบุคคลมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น จัดทำระบบสมรรถนะทุกตำแหน่งงาน และนำสมรรถนะมาใช้ในทุกกระบวนการของการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมถึงการวางแผนอัตรากำลัง วางแผนผู้สืบทอดตำแหน่ง (succession plan) การพัฒนาลูกจ้างให้มีสมรรถนะที่เหมาะสมกับการเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กร จัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (career path) จัดทำแผนการพัฒนาสมรรถะที่มีรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลาย จัดทำแผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan: IDP) และ แผนปฏิบัติงานรายบุคคล (Individual Action Plan : IAP) จัดทำแผนฝึกอบรมประจำปี สร้างค่านิยมและวัฒนธรรมการทำงานแบบพี่น้อง ความชื่อสัตย์ และความโปร่งใส ทบทวนและนำระบบการระเมินผลการปฏิบัติงานอย่างจริงจังทั้งประเมินผลงานและประเมินผลเพื่อต่อสัญญาจ้าง ส่งเสริมให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ พัฒนาโปรแกรมเพื่อสร้างความผูกพันต่อองค์กร ทบทวนการระบบการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ 

ดู คู่มือแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ.2563 - 2565, สำนักงาน ก.พ., https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/attachment/page/guide_civilservice_update.pdf

[20]ดู ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, 2560, http://www.dla.go.th/pub/256005_1.pdf  

[21]สภาการปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งชาติ คืออะไร (ตามแนวทางของ ดร.โกวิทย์ พวงงาม), ในเฟซบุ๊กสมาพันธ์นิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 11 สิงหาคม 2563,

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=171167291116336&id=101283488104717 

& มองมุมใหม่การกระจายอำนาจ สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยโกวิทย์ พวงงาม, กรุงเทพฯ : มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์, 2562, https://kpi-lib.com/library/books/kpibook-27040/ 

& ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม “รัฐให้ความสำคัญไปที่ท้องถิ่นน้อย", สยามรัฐออนไลน์, 12 ตุลาคม 2562, https://siamrath.co.th/n/108294  



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท