รวมทัศนะความคิดเห็นเรื่อง การยุบเลิก อปท.


รวมทัศนะความคิดเห็นเรื่อง การยุบเลิก อปท.

รวมทัศนะความคิดเห็นเรื่อง การยุบเลิก อปท.

[สรณะ เทพเนาว์, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, "รวมทรรศนะความคิดเห็นเรื่องการยุบเลิกอปท.", ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22585 <คอลัมน์การเมืองท้องถิ่น> #บทความพิเศษ]

สรณะ เทพเนาว์, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปกครองท้องถิ่น

ประเด็น การยุบ หรือไม่ยุบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์กันอยู่ มีการกล่าวถึงข้อดีข้อเสียกันพอสมควร ในระดับภาษาชาวบ้าน ๆ (ไม่เน้นวิชาการนัก) ลองมาประมวลฟังเสียงเหล่านั้นดูพอแยก ประเด็นการยุบ อปท. แยกได้เป็น 3 กรณี คือ

(1) การยุบเลิก อปท. โดยการยุบเลิกไม่มีการปกครองรูปแบบ อบจ. [1]

(2) การยกฐานะ อบต. เป็นการปกครองรูปแบบ "เทศบาล" ยุบเลิกไม่มีการปกครองรูปแบบ อบต.

(3) การควบรวม อปท. (Amalgamation) ที่มีขนาดเล็กเข้าด้วยกันเป็น อปท.ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ มีศักยภาพ ประสิทธิภาพมากขึ้น

อนึ่ง มีข้อเสนอให้เปลี่ยนคำว่า "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" (อปท.) จากเดิมในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาใช้ว่า "องค์กรบริหารท้องถิ่น" เนื่องจากท้องถิ่นเป็นองค์กรสำหรับบริการสาธารณะและพัฒนาตามความต้องการของประชาชน [2] ในที่นี้ขอใช้คำว่า อปท. ไปก่อน


กรณีที่ 1 การยุบเลิก อปท. โดยการยุบเลิกไม่มีการปกครองรูปแบบ อบจ.

ประเด็นการยุบเลิก ไม่มีรูปแบบการปกครอง อบจ. ยังมีข้อถกเถียงกัน ยังไม่ได้ข้อยุติในหลายฝ่ายว่า สมควรจะยุบ อบจ. หรือคงรูปแบบ "อบจ." ไว้ เพียงแต่ปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ และโครงสร้าง อบจ. ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่มีการปกครอง 3 ส่วน คือ การบริหารราชการส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า ประเด็นการยุบ หรือไม่ยุบ อบจ. มิใช่ประเด็นปัญหาหลัก ประเด็นอยู่ที่ อบจ. สามารถที่จะจัดบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความอยู่ดีกินดีให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้หรือไม่ต่างหาก

โดยกำหนดให้ อบจ. เป็นการปกครองท้องถิ่นใน "ระดับบน" (Upper Tier) เป็นท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา เป็นฝ่ายอำนวยการ กล่าวคือให้เปลี่ยนอำนาจหน้าที่จากเดิมที่ให้บริการสาธารณะทั่วไปเหมือนท้องถิ่นอื่น เปลี่ยนใหม่ให้บริหารจัดการในอำนาจหน้าที่ที่ท้องถิ่นขนาดเล็ก หรือท้องถิ่นโดยทั่วไปไม่สามารถดำเนินการได้ หรือ กระทำได้แต่มีข้อจำกัด หรือไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ภารกิจในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในการจัดการศึกษาขนาดใหญ่การรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพขนาดใหญ่การจัดการประปาไฟฟ้าการจัดการน้ำเสียการจัดการขยะ มลพิษ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นต้น

ล่าสุดซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ให้คงเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 รูปแบบ [3] คือ รูปแบบทั่วไป และรูปแบบพิเศษ รูปแบบทั่วไป หมายถึง รูปแบบที่ใช้กับองค์ปกครองท้องถิ่นทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ท้องถิ่นระดับจังหวัด (Upper Tier) และท้องถิ่นต่ำกว่าระดับจังหวัด (Lower Tier) รูปแบบพิเศษ หมายถึง รูปแบบที่กำหนดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ อันมีลักษณะแตกต่างออกไปจากรูปแบบทั่วไป

ปัจจุบันมีกฎหมายการบริหารราชการท้องถิ่นพิเศษรอการผลักดันอยู่ 3 ฉบับ [4] คือ แม่สอด เกาะสมุย และแหลมฉบัง

ข้อดี

1. เป็นดำรงสถานะเดิมไว้ (Status quo) ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อใคร ไม่มีผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย (no stakeholder) แต่ต้องปรับปรุงแบ่งแยกภารกิจให้ชัดเจน อบจ.ควรจะทำงานในลักษณะโครงสร้างขนาดใหญ่และเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ในหลายๆเทศบาลกับอบต. เป็นต้น

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เสนอเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2554 สรุปว่า [5] เนื่องจากราชการส่วนภูมิภาคเป็นสายอำนาจบัญชาการที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งสามารถเข้าไปแทรกแซงหรือทับซ้อนกับอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่น ดังนั้น ในอนาคตจึงมีความจำเป็นต้องยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค หรือการบริหารราชการส่วนภูมิภาคควรหมดไปตาม พรบ.กระจายอำนาจสู่ส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่นประกอบด้วย 2 กลไกหลัก คือ กลไกแรกเป็นการบริหารจัดการตนเองของชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น ด้วยรูปแบบและกลไกแบบประชาสังคม ซึ่งมีอยู่แต่ดั้งเดิมและหลากหลายในแต่ละพื้นที่ สอดประสานกับกลไกที่สองคือ การบริหารราชการหรือการปกครองท้องถิ่น ซึ่งได้รับการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่จากรัฐบาล

ซึ่งในที่สุดก็จะเหลือเพียงราชการบริหารส่วนกลาง กับราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่ง อปท. ที่เป็นโครงสร้างส่วนบน (ระดับบน Upper Tier) ที่ยังคงเหลืออยู่ก็คือ อบจ. นั่นเอง

2. ในการบริหารจัดการหรือการบริการสาธารณะ (Public Service) ในอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นนั้น หากเป็นภารกิจที่สำคัญมีภาระมากจนกระทั่งท้องถิ่นขนาดเล็กไม่สามารถดำเนินการได้ แล้วมอบอำนาจให้ราชการบริหารส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการ เป็นการไม่ถูกต้องตามหลัก "การกระจายอำนาจ" ในระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น หน่วยดำเนินการบริการสาธารณะต้องเป็นท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพที่จะดำเนินการภารกิจนั้นได้

3. เพื่ออุดช่องว่างและเป็นที่พึ่งของท้องถิ่น โดยเฉพาะในส่วนที่ท้องถิ่นขาด หรือในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนว่าอยู่ในความดูแลของหน่วยงานใด อาทิ เรื่องถนนทางหลวงที่เชื่อมระหว่างตำบล อำเภอ กล่าวคือ ต้องปรับปรุงแบ่งแยกภารกิจให้ชัดเจน อบจ.ควรจะทำงานในลักษณะโครงสร้างขนาดใหญ่และเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ในหลายๆ เทศบาลกับ อบต. เป็นต้น

4. ช่วยลดปัญหาความทับซ้อนในพื้นที่ งบประมาณ ภาษี ระหว่างพื้นที่ อบจ.กับเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และยังกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลตรงจุดและชัดเจนมากขึ้น เพราะอบจ. เป็นองค์กรที่ทับซ้อนกับ อบต. และ เทศบาล [6] ไม่มีพื้นที่ที่เป็นของตนเอง

5. การยุบเลิก อบจ. แต่คง อบต. และ เทศบาลไว้ เพราะประชาชนยังตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิดกว่า อบจ. ที่สมาชิก อบจ. รู้สึกว่าตนเองมีสถานะภาพสูงส่งจนประชาชนเข้าไม่ถึง ความสัมพันธ์ของ อบจ. ห่างไกลกับประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า อบจ. คืออะไร มีหน้าที่ทำอะไร มีความเกี่ยวพันอะไรกับประชาชน ฯลฯ

6. ประหยัดงบประมาณรัฐบาลในการให้เงินอุดหนุน โดยเฉพาะงบประมาณเงินอุดหนุนจากภาครัฐบาล

ข้อเสีย

1. กระทบต่อผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ได้แก่ ข้าราชการ อบจ., นักการเมืองท้องถิ่น ที่จะต้องถูกยุบเลิก และถ่ายโอนตำแหน่ง

2. ในภารกิจการบริการสาธารณะขนาดใหญ่ อปท. ขนาดเล็กจะไม่สามารถดำเนินการได้แม้อาจแก้ไขได้โดยการร่วมมือกับ อปท.ข้างเคียง ในรูปแบบ "สหการ" หรืออื่นใด ก็อาจมีปัญหาทางปฏิบัติ ซึ่งในบางกรณีอาจไม่สามารถกระทำได้เลย

3. มีการต่อต้านจากนักการเมืองของ อบจ. ที่แยกไม่ออกจาก สส. เกือบทุกพรรค และความขัดแย้งทางการเมืองล้วนๆ

4. ปัญหาอิทธิพล การเมืองสกปรก โดยเฉพาะการมีอิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่น และมีช่องทางในการทุจริตมาก

5. สิ้นเปลืองงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณเงินอุดหนุนจากภาครัฐบาล


กรณีที่ 2 การยกฐานะ อบต. เป็นการปกครองรูปแบบ "เทศบาล" ยุบเลิกไม่มีการปกครองรูปแบบ อบต.

ข้อดี

1. รูปแบบเทศบาลเป็นการปกครองท้องถิ่นที่เป็นรูปแบบสากล มีฝ่ายบริการ และฝ่ายสภาถ่วงดุลอำนาจกันและกันแม้รูปแบบปัจจุบันของไทย จะเป็นรูปแบบ อปท.ที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากก็ตาม ซึ่งนานาอารยประเทศนำมาเป็นรูปแบบในการปกครองท้องถิ่น

2. เพื่อให้ อบต. เปลี่ยนฐานะรูปแบบเป็น เทศบาล ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่เหมือนกันทั่วประเทศ มีโครงสร้างที่เหมือนกันหมด

3. เมื่อยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลแล้วจะมีภาระตามกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม

4. เป็นส่วนราชการที่มีความรับผิดชอบในพื้นที่ขนาดเล็กเกินไป บางแห่งมีพื้นที่รับผิดชอบไม่ถึง 10 หมู่บ้าน มีประชาชนในความรับผิดชอบน้อยเกินไป บางแห่งมีประชาชนในความรับผิดชอบไม่ถึง 3000 - 4000 คน ต้องสิ้นเปลืองเงินเดือนค่าจ้างบุคลากร และ ค่าตอบแทน ส.อบต.ที่มีจำนวนมาก แต่ภารกิจความรับผิดชอบมีน้อย เนื่องจากมีขนาดเล็ก

ข้อเสีย

1. เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มบุคคลผู้สูญเสียประโยชน์ โดยเฉพาะการลดจำนวนสมาชิกสภา อปท. เหลือเพียง 12 คน หรือ 18 คน จากเดิมที่มี ส.อปท. ได้หมู่บ้านละ 2 คน

2. พื้นที่ อบต. บางส่วนอาจเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ที่ห่างไกล ทุรกันดาร เป็นป่าเขา เป็นเขตชนบท หรือ เป็นเขตที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ เช่น เป็นเกาะ เป็นชุมชนของเผ่าพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น ชาวเขา ชาวมุสลิม ฯ เป็นต้น อาจมีปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานในรูปแบบของเทศบาลได้

3. เมื่อยกฐานะเป็นเทศบาลแล้ว แต่การให้การบริการประชาชนอาจไม่ทั่วถึง เพราะเขตพื้นที่ของ อบต.เดิมมีพื้นที่กว้างขวางมาก สมาชิกลดลงทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง การพัฒนาก็ล่าช้ากว่าการเป็น อบต.

4. หลักการบริหารงาน อปท.ในรูปแบบเทศบาลเป็นการบริหารจัดการ อปท. "เขตพื้นที่เมือง" เป็นสำคัญ แต่เนื่องจากสภาพบ้านเมืองส่วนใหญ่ของ อบต. เป็นชนบท บ้านเมืองไม่แออัด การจราจรไม่วุ่นวาย ไม่จำเป็นต้องเอาระเบียบเทศบาลมาบริหารจัดการ จะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนยิ่งลำบากมากขึ้น เพราะคนชนบทคนท้องถิ่นอยู่กินแบบพื้นบ้านชีวิตเรียบง่ายรักความสันติสุข และ อบต.เป็นหน่วยงานที่เข้าถึงประชาชนใกล้ชิดที่สุดมองเห็นปัญหาจริงๆ

5. จำนวนสมาชิกจะเพิ่มหรือลดขึ้นอยู่กับจำนวนหมู่บ้าน สมาชิกที่เพิ่มขึ้นหมายถึงตัวแทนของประชาชน สามารถสะท้อนปัญหาได้มากขึ้น ตัวแทนลดลงหมายถึงการขาดความเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่นกับประชาชน


กรณีที่ 3 การควบรวมหรือการยุบรวม อปท. (Amalgamation) ที่มีขนาดเล็กเข้าด้วยกันเป็น อปท.ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ มีศักยภาพ ประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อดี

1. การพัฒนา อปท.ขนาดเล็ก ควรเหลือเพียง 2 ระดับ คือ 'อบจ.' ทำหน้าที่ระดับจังหวัด และ 'เทศบาล' ทำหน้าที่ระดับต่ำกว่าจังหวัด ส่วน อบต. ให้ยกฐานะเป็นเทศบาล และเทศบาลขนาดเล็ก ให้ยุบรวมเป็นเทศบาลขนาดใหญ่แทนสำหรับ อปท.ที่มีขนาดเล็ก ต้องมี "การควบรวม" เพราะ อปท.ขนาดเล็กไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้ภารกิจไม่ซ้ำซ้อนกัน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากร เป็นการประหยัดงบประมาณลง

อีกแนวคิดหนึ่งในการควบรวม อปท. เป็นเทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ จะทำให้ อปท. จากจำนวน 7,853 แห่ง เหลืออยู่ 865 แห่ง (รวม กทม.และเมืองพัทยา) คือ เทศบาลนคร / เทศบาลเมือง ก็ยังอยู่เช่นเดิม - ยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาล (ทั้งหมด) - ยุบรวม อบต. ยกฐานะเป็นเทศบาล - ยุบรวม อบต. กับเทศบาลข้างเคียง

2. ในมุมมองของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อ 27 มกราคม 2558 พล.อ.สำเริง พินกลาง ประธานคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ เข้ายื่นหนังสือแก่นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขอให้ยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายมิให้เกิดการทับซ้อนกัน และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ โดยภาคีเครือข่ายฯได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตต่างๆ ในหลายพื้นที่เพื่อมอบให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นข้อมูลประกอบการปฏิรูปประเทศ [7]

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในการยุบ อปท. แต่ ควรมีการควบรวม อปท.มากกว่าการยุบ เช่น กรณี ที่ภายใน 1 ตำบล มี อปท. 2 แห่ง ควรยุบเหลือเพียงแห่งเดียว หรือการควบรวม อปท.ขนาดเล็ก ต้องให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง [8]


ข้อเสีย

1. การบริหารงาน อปท. หรือ ท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ อาจมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงประชาชน ที่มีขั้นตอนยุ่งยาก ซับซ้อนของระบบราชการ (Red Tape)

2. อาจเกิดการผูกขาดตัดตอนรวบอำนาจโดยผู้มีอิทธิพล เข้ามาครอบงำการบริหารท้องถิ่นได้ง่าย

3. มีปัญหาเรื่อง "ขนาดที่เหมาะสม" (Maximize Size) ของ อปท. ว่าควรจะมีขนาดที่เหมาะสมจะพิจารณาจาก "มิติ" (Dimensions & Metry) ใด เพราะแต่ละท้องที่มีสภาพที่แตกต่างกัน การออกแบบให้มีรูปแบบ อปท.ที่เหมือนกันทั้งหมด จึงขัดแย้งกับ "บริบท" (Context) ของท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่ว่าจะพิจารณา ในแง่มิติด้านประชากร (ประชากรขั้นต่ำ 5,000, 10,000, 20,000 คน) มิติด้านพื้นที่ (ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5, 10, 15, 20 ตารางกิโลเมตร) หรือ มิติทางด้านเศรษฐกิจสังคมฯ (เช่น ความเป็น "เมือง" ความเป็น "ชนบท" ฯ) อื่นใด เป็นต้น


มีประเด็นแทรกที่ควรพิจารณาเรื่อง อปท. รูปแบบใหม่ที่ กำลังจะนำเสนอคือ รูปแบบ "จังหวัดจัดการตนเอง" หรือ "จังหวัดปกครองตนเอง" [9] ตามบริบทและความพร้อมของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีความเห็นโต้แย้งในรายละเอียดปลีกย่อย อาทิ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปัตตานี และประธานสมาพันธ์ อบจ.ภาคใต้ เห็นว่า "ไม่คาดหวังการถ่ายโอนภารกิจจากการปฏิรูปการเมืองมากนัก เพราะมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ อปท.ไม่สามารถบริหารได้ตามระบบจังหวัดจัดการตนเอง [10]

สรุปในความเห็นของ ผู้เขียน ตามสามแนวทางนี้ เป็นแนวทางที่หลายฝ่ายต่างมีความเห็นร่วมกัน มีแตกต่างในรายละเอียด และกรอบความคิด โดยเฉพาะการ "ควบรวม" หรือ "การยุบรวม" อปท. เพื่อให้ อปท. มีขนาดที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพใน "การจัดการบริการสาธารณะ" ที่สำคัญคือต้อง "ลดภาระรัฐบาลกลางลง" ไม่ว่าในด้านการงบประมาณหรือการอุดหนุนกำกับดูแล


ข้อเสนอปฏิรูปท้องถิ่นอื่นๆ โครงสร้างปฏิรูปท้องถิ่น

( ตามข้อเสนอแนะกรอบความเห็นร่วมสำหรับการปฏิรูปการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ) [11]

การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมแก่ อปท.ต้องเป็นธรรมในระดับที่เพียงพอกับการดูแลประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ พร้อมกับให้ตรากฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นใหม่ และแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปภายใต้กลไกประชาชน

"กฎหมายสำคัญที่ควรผลักดัน ได้แก่ ประมวลกฎหมายท้องถิ่น กฎหมายรายได้ท้องถิ่น กฎหมายกระจายอำนาจ กฎหมายบริหารงานบุคคลของท้องถิ่น" รายงาน ระบุ และเสนอต่อว่า เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องจัดตั้งสภาประชาชนปฏิรูปจังหวัดและท้องถิ่น รวมถึงสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติด้วย

สุดท้าย การเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของประชาชน โดยการเพิ่มบทบาทสภาพลเมือง รวมถึงประชาชนทั่วไป ในการเข้ามีส่วนร่วมบริหารจัดการท้องถิ่นทุกขั้นตอน เเละลดบทบาทของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในการตรวจสอบ อปท. เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานการตรวจสอบระดับเดียวกัน แต่มักอาศัยธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ตรวจในแต่ละภูมิภาค จนก่อให้เกิดความสับสนและขาดประสิทธิภาพการทำงานของ อปท.

ในขณะที่การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจมีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่สำคัญ คือ กรณีการบริหารจัดการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีข้อแนะนำให้เร่งกระจายอำนาจราชการสู่ท้องถิ่น ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และทำสัญญาจ้างผู้มีความรู้ความสามารถ

นอกจากนี้ควรให้ตำรวจอยู่ในสังกัดท้องถิ่นภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด และจัดสรรงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ให้อยู่ในการดูแลของรัฐบาลท้องถิ่นทุกระดับ พร้อมกับตั้งสภาพลเมืองภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงานและตรวจสอบหน่วยงานท้องถิ่นและข้าราชการด้วย (ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม: 2558, ปัจจุบันการจัดสรรเงินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 8,500 ล้านบาท ที่เป็นงบอุดหนุนทั่วไป และงบอุดหนุนเฉพาะกิจ 10,000 ล้านบาท)


ข้อเสนอของนายเชื้อ ฮั่นจินดา [12]

รูปแบบ อปท. ที่เสนอมีดังนี้

โมเดล 1 มีเทศบาลจังหวัดกับเทศบาลอำเภอ

รูปแบบที่ 1 คือรูปแบบที่เคยเผยแพร่ มี อปท.รูปแบบเดียวแต่เหลือสองชั้น คือ เทศบาลจังหวัด และเทศบาลอำเภอ ซึ่งอาจเห็นควรมีเทศบาลตำบลเพิ่มได้

โมเดล 2 มีเทศบาลจังหวัด

รูปแบบที่ 2 คือรูปแบบ หนึ่งจังหวัดหนึ่งท้องถิ่น เหลือเฉพาะเทศบาลจังหวัด คล้ายๆ จังหวัดจัดการตนเอง โดยเสนอให้เทศบาลจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในภารกิจใหญ่แยกออกไป โดยยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง (อบจ.,ทน.,ทม.) นำข้าราชการทั้งหมดไปสังกัดเทศบาลจังหวัด

โมเดล 3 หนึ่งอำเภอหนึ่งท้องถิ่น มีเทศบาลอำเภอ

รูปแบบที่ 3 คือรูปแบบ หนึ่งอำเภอหนึ่งท้องถิ่น เปรียบได้กับเอารูปแบบ กทม.มาใช้กับระดับอำเภอในต่างจังหวัด โดยเสนอให้มีรูปแบบเหมือน กทม. ยุบเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลใดเดิมมี 2 อปท. ให้ยุบเหลือ 1 อปท. ตั้งเป็นเขต ปลัด อปท.เป็น ผอ.เขต งานพัฒนาบริการขึ้นตรงต่อนายกเทศมนตรีอำเภอ ระบบงานบุคคลข้าราชการ อปท.ลูกจ้าง ขึ้นตรงต่อกรรมการบุคลจังหวัด ไม่ผ่านนายกเทศมนตรี

โมเดล 4 ยกเลิก อบจ. และ อบต.

รูปแบบที่ 4 เหลือ อปท.รูปแบบเดียวคือ เป็นเทศบาลทั้งหมด แต่มี 3 ลักษณะ คือ เทศบาลตำบล/เทศบาลเมือง/เทศบาลนคร (ยกเลิก อบจ./อบต.) ภายใต้หลักหนึ่งตำบลหนึ่งท้องถิ่นเท่านั้นและอาจมีจำนวนประชากรมาเป็นตัวกำหนด เช่น ตำบลใดประชากรไม่ถึง 4,000 คนให้ยุบรวม เป็นต้น

นอกจากนี้ได้เสนอแนวคิดให้มี "กองทุนเงินเดือนและสวัสดิการ" อยู่ส่วนกลางดูแลทั้งระบบ และเงินงบประมาณที่ส่วนกลางส่งมา อปท. (ทจ.,ทอ.,ทต. หรือ เขตตำบล) คือ งบบริหารและพัฒนาเท่านั้น กล่าวโดยสรุปภาพรวมจะเหลือ อปท. สามรูปแบบ คือ เทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ และ เทศบาลตำบล (ทจ.,ทอ.,ทต.)

[บทความนี้ นำเสนอ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558]

+++++++++++++++++++++++++++

อ้างอิงเพิ่มเติม

(1) "เทศบาล กับอบต. ข้อดีข้อเสียอย่างไร" , ข้อวิพากษ์ในเวบชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย,28 มีนาคม 2554, http://www.nitikon.com/boardyay/view.php?No=296

(2) "แนวคิด ปฏิรูปท้องถิ่นยุบ อบจ. อบต. ท่านเห็นอย่างไร !!" , หนังสือพิมพ์บีทีเคนิวส์ออนไลน์, 6 ตุลาคม 2557, http://btknewsonline.blogspot.com/2014/10/blog-post_37.html

(3) ขวัญใจรามัญ(นามแฝง) , "สมควรยุบอบต.หรือไม่" , ข้อวิพากษ์ในเวบท้องถิ่นนครศรีธรรมราช,18 พฤษภาคม 2555, http://www.nakhonlocal.go.th/webboards/show.php?Category=board&No=11611

(4) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "หลักการปกครองท้องถิ่น : ไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ", สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 2557, http://www.nmt.or.th/gs/Shared%20Documents/ข้อมูลเกี่ยวกับอปท/หลักการปกครองท้องถิ่น ไทย_ต่างประเทศเปรียบเทียบ.pdf

(5) มิ่งสรรพ์ขาวสอาด, "คอลัมน์ดุลยภาพดุลยพินิจ: ยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น!!!", มติชน, 20 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1424441983

(6) สมหมายปาริจฉัตต์, "ควบรวมท้องถิ่น", มติชน, 5 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1423132032

(7) สุนันท์ศรีจันทรา, "ยุบ อปท.ทิ้งดีไหม",12 พฤศจิกายน 2557, http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000130501

… องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมทั้งเทศบาลล้วนมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันกลายเป็นองค์กรที่ถูกใช้เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองและเป็นแหล่งซ่องสุมของนักการเมืองคุณภาพชั้นต่ำ …

(8) เสาวลักษณ์ปิติ, "แนวทางในการหารูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย : ศึกษากรณีการมีส่วน ร่วมของสภาองค์กรชุมชนในการบริหารกิจการท้องถิ่น", วิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2556, http://libdcms.nida.ac.th/thesis6/2556/b182388.pdf

(9) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย, "บทสรุปและข้อเสนอแนะ", (การสรุปถึงข้อดีและข้อเสียซึ่งเป็นจุดอ่อนและจุดแข็งของการปกครองท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ที่ศึกษา รวม 8ประเทศ), http://www.lawreform.go.th/lawreform/images/th/content/en/396/6505.doc

(10) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, "สรุปผลการศึกษาวิจัยโครงการประเมินผลนโยบายการกระจายอำนาจของไทยระยะ15 ปี", 25 พฤศจิกายน 2557, www.fpo.go.th/E-Book/pdf_file/1419232876.pdf

++++++++++++++++++

[1] รศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย และ อบจ.ขอนแก่น จัดงานสัมมนา "แนวทางการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" เมื่อวันที่ 17-19 มกราคม 2558 ได้แสดงปาฐกถาในเรื่อง ปฏิรูปการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นกับการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย โดยสรุปว่า ประเทศของเราต้องมีองค์กรปกครองท้องถิ่นตลอดไป แต่ต้องมีปรับตัวเองตามสภาพของกฎหมายรัฐธรรมนูญ,

ดูใน "ย้ำ!นักการเมืองไม่ต้องกลัวถูกยุบอบต.-เทศบาล", เดลินิวส์ (กรอบบ่าย), 30 มกราคม 2558 & "ท้องถิ่นดีเดย์12กพ.ฮือค้านยุบนัดนายก'อบจ.'ยื่น'เทียนฉาย'", มติชน, 30 มกราคม 2558& "เปรียบข้อดี-เสีย 'ยุบ อบจ.-เลือกตั้งผู้ว่าฯ' โหมดเปิดโครงสร้างปฏิรูปท้องถิ่น", สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org), 13 ตุลาคม 2557, http://www.isranews.org/thaireform-news-strategy/item/33592-thaireform1321057j.html & "วิษณุ ยัน นายกฯ ลั่นไม่ยุบ อปท.", ไทยรัฐออนไลน์, 8 ตุลาคม 2557, http://www.thairath.co.th/content/455403 & อบจ. อบต.กลายเป็นองค์กรมาเฟียประจำท้องถิ่น กลายเป็นสัญลักษณ์ของการทุจริต … โลกในอุดมคติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีแล้ว และจะไม่มีวันมี ตราบใดที่อันธพาลประจำแต่ละท้องถิ่น สามารถผูกขาดเป็น อบจ.และ อบต.มาตลอดนับสิบปี โลกในความเป็นจริงที่ประชาชนได้เห็นคือ อปท.เป็นอีกแหล่งบ่มเพาะเชื้อร้ายการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นการกระจายองค์กรมหาโกงไปสู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่มีเหตุผลที่ดีในการดำรง อปท.ต่อไป เพื่อตอกย้ำความล้มเหลวของระบบการเลือกตั้งแบบไทยๆ ในทุกระดับ เลือกเมื่อไหร่ นักการเมืองเลวๆ ก็เข้ามาอีก…ดูใน สุนันท์ ศรีจันทรา, "ยุบ อปท.ทิ้งดีไหม", 12 พฤศจิกายน 2557, http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000130501

[2] "อบต.หนุนแก้'อปท.'ในรัฐธรรมนูญ", มติชน, 11 กุมภาพันธ์ 2558.

[3] "กมธ.แหยงไม่ยุบอปท.แค่ปรับ", ไทยโพสต์, 2 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.thaipost.net/news/020215/102459

(กมธ.ยกร่างฯ ยันไม่ยุบ อปท. แต่จะปรับปรุงให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับบริบทสังคมวางกรอบเพื่อพัฒนาไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ) ดู "อนาคตท้องถิ่นโฉมใหม่ : ท้องถิ่นระดับจังหวัดและท้องถิ่นระดับต่ำกว่าจังหวัด พร้อมเห็นควรปรับ อบต. ให้เป็นเทศบาล", 13 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,57741.0

[4] "วิษณุ ยัน นายกฯ ลั่นไม่ยุบ อปท.", ไทยรัฐออนไลน์, 8 ตุลาคม 2557, อ้างแล้ว. &"เร่งรัดจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 'นครแม่สอด เกาะสมุย แหลมฉบัง'", 8 ตุลาคม 2557, http://www.isranews.org/thaireform-other-news/item/33469-odloc.html & ปั้น "เขต ศก.แม่สอด" กระตุ้นแสนล้าน หอฯ ชี้ 4 ข้อหลักท่องไว้ก่อนลงทุนพม่า, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 25 ตุลาคม 2557, http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9570000122738

[5]"ข้อเสนอรื้อโครงสร้างอำนาจ-หยั่งเชิงพรรควัดใจรัฐบาลใหม่", โพสต์ทูเดย์, 9 เมษายน 2554, http://m.posttoday.com/articlestory.php?id=84295&attr_id=0005

[6] เพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรที่ทับซ้อนกับ อบต. และ เทศบาลไม่มีพื้นที่ที่เป็นของตนเอง, การต่อต้านจากนักการเมืองของ อบจ. ที่แยกไม่ออกจาก สส. เกือบทุกพรรค และความขัดแย้งทางการเมืองล้วนๆ, ทั้งคอรัปชั่นในองค์กร อิทธิพล การเมืองสกปรกฯลฯ, อบต.,เทศบาล น่าจะคงไว้มากกว่า อบจ. เพราะประชาชนยังตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิดกว่า อบจ. ที่สมาชิก อบจ. รู้สึกว่าตนเองมีสถานะภาพสูงส่งจนประชาชนเข้าไม่ถึง ดูใน "ยุบ อบจ. แนวคิดที่ดีที่สุดเรื่องการบริหารส่วนท้องถิ่น", ข้อวิพากษ์ในเวบพันธุ์ทิพย์ดอทคอม, 3 มิถุนายน 2556, http://pantip.com/topic/30563466

[7] "ภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นฯ เรียกร้อง กมธ.สปช.ยุบรวม อปท.", 27 มกราคม 2558,

http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=3625#.VMdvXCzl-fF & "คกก.ภาคีต้านคอร์รัปชั่น ยื่น สปช.ยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น", ASTVผู้จัดการออนไลน์, 27 มกราคม 2558, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000010329

& ดู สมหมาย ปาริจฉัตต์, "ควบรวมท้องถิ่น", มติชน, 5 กุมภาพันธ์ 2558. … "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดนัดประชุมพิจารณารายมาตราในหมวดการกระจายอำนาจ วันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป...การยกประเด็นศักยภาพการจัดบริการสาธารณะกับการส่งเสริมความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนขึ้นมาเป็นเหตุผลสนับสนุนให้คงสภาพอยู่เช่นเดิม หรือให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง รูปแบบองค์กรใหม่ก็ตาม จึงมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แม้ในกลุ่มผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง แต่เมื่อไปยกเอาประเด็นทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้น มาเป็นเหตุผลหลักเพื่อกดดัน จึงถูกโต้กลับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทันทีทันควัน..."

[8] "รุมค้าน'ยุบอปท.'-ชี้ไม่ตรงจุด เผยร่างรธน.ชง'เลือกตั้งผู้ว่า'", มติชน (กรอบบ่าย), 2 กุมภาพันธ์ 2558 & ""กมธ.-อดีต ส.ส.ปชป." รุมค้านยุบ "อปท." แก้ปัญหาทุจริต", Spring News, 1 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.springnews.co.th/politics/183663

[9] สรัล มารู, ผู้ช่วยนักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, "ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ...."คำตอบหนึ่งของการ "ปฏิรูปประเทศ", 12 มกราคม 2557,http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1922

[10] "อปท.หวั่นถ่ายโอนตร.ล้มเหลว หนุนนำร่องพื้นที่3จว.ชายแดนใต้ ชี้ให้ประชาชนตัดสินผลสัมฤทธิ์", มติชน, 30 มกราคม 2558, http://www.southdeepoutlook.com/brief/84724/อปท.หวั่นถ่ายโอนตร.ล้มเหลว-หนุนนำร่องพื้นที่3จว.ชายแดนใต้-ชี้ให้ประชาชนตัดสินผลสัมฤทธิ์#.VORw8Czl-fE

[11] "เปรียบข้อดี-เสีย 'ยุบ อบจ.-เลือกตั้งผู้ว่าฯ' โหมดเปิดโครงสร้างปฏิรูปท้องถิ่น", สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org), 13 ตุลาคม 2557, http://www.isranews.org/thaireform-news-strategy/item/33592-thaireform1321057j.html

& ดูบทวิเคราะห์ในภาพรวมเบื้องต้นจากมวลสมาชิก สปช.ที่มาจากท้องถิ่นทั้งหมด ใน "นับหนึ่ง สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น", ASTVผู้จัดการรายวัน, 1 พฤศจิกายน 2557, http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9570000125704

[12] ดู เชื้อ ฮั่นจินดา, ประธานสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย, facebook, 18 กรกฎาคม 2557 (ข้อเสนอของเดิม) & "ยุบอบจ.-อบต.โมเดลท้องถิ่นรูปแบบใหม่", 13 สิงหาคม 2557, http://www.komchadluek.net/detail/20140813/190053.html

หมายเลขบันทึก: 586151เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2015 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2018 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท