รักษาแผล ของนักเรียนการเขียน


วันแห่งความรักปีนี้ ได้นั่งคิดทบทวนเรื่องความรัก รู้สึกว่าคนที่เราควรให้ความรักมากที่สุดคนนึง ที่เรามักจะลืมคือตัวเอง... แต่ว่ารักตัวเองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเห็นแก่ตัว เอาเปรียบคนอื่น แต่เป็นรัก เมตตา และดูแลเอาใจใส่ตัวเอง เพราะที่ผ่านมารู้สึกว่า แรงผลักบางอย่างในตัวมันทำให้รู้สึกเสมอว่า การคิดถึงตัวเอง หรือแม้แต่การพูดเรื่องตัวเอง เอาเรื่องตัวเองพูดให้คนอื่นฟัง เป็นรูปแบบนึงของความเห็นแก่ตัว... นี่เป็นลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ทำร้ายตัวเอง และสร้างปัญหาให้กับการเข้าเป็นนักเรียนใน "โรงเรียนนักเขียน" ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

วันแห่งความรักปีนี้ เลยขอใช้โอกาสให้ความรักกับตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการเอาเรื่องตัวเองมาเป็นหัวข้อ เป็นเนื้อหาในการเขียนอะไรให้คนอื่นอ่าน... หลายปีที่ผ่านมาไม่กล้าเขียนสิ่งเหล่านี้ให้คนอื่นอ่าน เพราะรู้สึกมันไม่น่าสนใจ ไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับใคร แต่ว่าวันนี้คิดใหม่ว่า ในฐานะนักเรียนที่ตั้งใจ จะร่ำเรียนฝึกฝนตัวเองให้เป็นนักเขียน ทรัพยากรของตัวเองนี่แหละน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าเอาแต่ของคนอื่นมา ทั้งเนื้อหา ทั้งมุมมอง ทั้งวิธีคิด ก็ไม่ต่างอะไรกับการตัดแปะรวบรวมหนังสือน่าอ่าน ไม่ได้เป็นการสร้างงานใหม่ให้คนอื่น... วันนี้จึงเป็นความตั้งใจที่จะเริ่มต้น...เริ่มต้นอีกครั้งอย่างจริงจัง... ที่จะสกัดตัวเองออกมาเป็นตัวหนังสือ มาเขียนไว้ในที่ ๆ คนอื่นอ่านได้... แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีใครมาอ่าน เพราะตั้งใจเขียนบอกเล่าผ่านลมไปเท่านั้น คิดว่าดีกว่าเขียน ๆ ๆ ลงในบันทึกการเดินทาง (journal) ในคอมพิวเตอร์ที่เขียนไว้เรื่อย ๆ มาหลายปี แล้วก็ผ่านไป เก็บไว้เงียบ ๆ อยู่ตรงนั้น

ปีนี้เป็นปีที่ห้าที่เริ่มต้นเข้า "โรงเรียนนักเขียน" แบบทุ่มเททั้งชีวิต ย้ายครอบครัว ทิ้งงานและเพื่อนร่วมงานที่รักและผูกพันธ์ เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกล ด้วยความฝันที่อยากเป็น "นักเขียน" ที่ทำงานเขียนให้คนอื่นอ่าน เพื่อถ่ายทอดและชักชวนผู้คนให้มองชีวิต มองโลก มองสังคม ในมุมมองใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขมากขึ้น... แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างในชีวิตทำให้ การทำงานเขียน แค่งานฝึกหัดเขียนในระหว่างการเรียน ต้องติดขัดมาหลายปี เขียนไม่ออก ทำไม่เสร็จซักที ทั้งที่เป็นงานที่ไม่ได้ต้องการคุณภาพอะไรมากเลย... มาค้นพบว่าอุปสรรคสำคัญ คือความรู้สึก "ไม่มั่นใจ" โดยเฉพาะความรู้สึกไม่มั่นใจว่า สิ่งที่เขียนออกไปจะอ่านรู้เรื่องมั๊ย จะเข้าท่าหรือปล่าว หรือวิธีคิดที่เอามาใช้อ้่าง เข้าใจถูกมั๊ย หรือภาษาที่ใช้เขียน ใช้ได้ถูกมั๊ย เพราะต้องเขียนในภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ และรู้สึกละอายว่า ผ่านมาตั้งหลายปีภาษานี้ก็ไม่ได้พัฒนามากเท่าที่ควรจะเป็น...

วันก่อนได้คุยกับครูผู้ดูแล คืออาจารย์ไบรอน กู๊ด (Byron Good) ท่านเป็น "นักเขียน" อาวุโสคนนึง ท่านให้ข้อคิดว่า การฝึกเป็น "นักเขียน" ต้องฝึกที่จะอดทน โดยเฉพาะ "อดทนกับความเจ็บปวดของการทำงานเขียนที่ห่วยแตก" ("endure the pain of bad writing")

วันนี้เลยตัดสินใจเริ่มเขียนบันทึกที่ “ห่วยแตก” นี้ลงในพื้นที่สาธารณะ เพื่อเปิดเผยความอ่อนด้อยในด้านการเขียน และการคิดของตัวเอง… เ็ป็นการฝึกที่จะเปิดแผลที่มักถูกปกปิดบิดเบือนด้วยคำนำหน้าชื่อ ด้วยตำแหน่ง ด้วยสถาบัน… แผลที่ปิดไว้มันอับชื้นไม่แ้ห้งสักที การเปิดออกมาในตอนแรก ๆ ก็จะแสบหน่อย แต่สักพักหวังว่ามันจะค่อย ๆ แห้ง ตกสะเก็ด และหายไป อาจเป็นแผลเป็นบ้าง แ่ต่ดีกว่าเก็บซ่อนไว้จนกลายเป็นหนองที่รักษาไม่หายสักที

หมายเลขบันทึก: 586149เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2015 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2015 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ลงมือเขียนได้เลยครับ คุณหมอ ;)...

ผม (น่าจะ) เคยไปนั่งโต๊ะและเก้าอี้ทำงานของคุณหมอด้วยครับ

บันทึกนี้ไม่ ห่วยแตก นะคะ ตรงข้ามเลย (ปลอบใจตนเองด้วยค่ะ)

คุณหมอครับมาให้กำลังใจ

เขียนนะครับ

การเขียนต้องเริ่มจากเรื่องที่คุณหมอชอบเลย

รออ่านครับ

สู้ๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท